Skip to main content
sharethis

รัฐบาลที่นำโดย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้ทำให้สังคมการเมืองไทยต้องพากันวิตกว่าบัดนี้การเมืองของไทยกำลังมุ่งหน้าไปสู่ระบบการเมืองแบบมหาอำนาจเชิงเดี่ยวเฉกเช่นเดียวกับการเมืองในระดับโลก โดยไม่มีพรรคการเมือง องค์กร หรือสถาบันอื่นใด สามารถขึ้นมามีบทบาทในการถ่วงดุลรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้ว่าการสร้างฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง (Strong Executive) จะเป็นเป้าหมายหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ เพื่อให้เกิดฝ่ายบริหารที่มีความมั่นคงและต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่รัฐธรรมนูญก็มิได้มุ่งหมายที่จะให้เกิดสภาวะของเผด็จการรัฐสภาที่มองเห็นคำวิจารณ์ หรือความเห็นต่างเป็นเพียงเสียงนกเสียงกาหรือเป็นความเห็นของวัวควาย และปฏิเสธการตรวจสอบจากองค์กรอื่น

ดังเห็นได้จากรัฐธรรมนูญได้สร้างกลไกและกระบวนการต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการตรวจสอบอย่างกว้างขวางด้วยเช่นกัน ดังการจัดตั้งองค์กรขึ้นทำหน้าที่กำกับและตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในหลายด้าน การรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

แต่ดูราวกับว่ากระบวนการต่างๆ เหล่านี้ไม่ประสบผลในความเป็นจริงแต่อย่างใด

การให้ความสำคัญแก่กระบวนการและกลไกในการตรวจสอบจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ไม่เกิดมหาอำนาจเดี่ยวขึ้นในสังคมไทย หรือเกิดขึ้นได้ยากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การพิจารณาถึงกระบวนการต่างๆ เพื่อควบคุมและกำกับรัฐบาลที่เข้มแข็งจึงเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการให้ความใส่ใจ ซึ่งในที่นี้มีประเด็นนำเสนอ ๓ ประเด็น คือ

๑. องค์กรอิสระ เป็นรูปแบบขององค์กรที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันโดยความคาดหวังว่าจะสามารถเข้ามามีบทบาทในฐานะขององค์กรตรวจสอบและควบคุมการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐในด้านต่างๆ ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นอิสระไม่ถูกครอบงำจากอิทธิพลหรืออำนาจของนักการเมือง

แต่ภายหลังจากที่มีการจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นและได้มีการปฏิบัติหน้าที่มาช่วงระยะเวลาหนึ่งจวบจนกระทั่งปัจจุบัน การทำงานของหลายองค์กรถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวทางการทำงานรวมถึงการแทรกแซงจากนักการเมือง องค์กรอิสระหลายองค์กรจึงจำเป็นต้องได้รับการทบทวนและประเมินถึงสภาพปัญหาอย่างน้อยที่ปรากฏอย่างชัดเจน คือ การแทรกแซงในกระบวนการสรรหาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญเช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และการแทรกแซงในขั้นตอนการทำงานขององค์กรอิสระ

นอกจากความยุ่งยากที่เกิดขึ้นกับองค์กรอิสระที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาแล้ว มีองค์กรอิสระอีกหลายองค์กรที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ยังไม่มีรัฐบาลใดนับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นต้นมา ให้ความสนใจในการผลักดันให้เกิดการจัดตั้งขึ้นซึ่งรวมถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ไม่เคยแสดงท่าทีด้วยเช่นกัน
ทั้งที่องค์กรอิสระเหล่านี้จะสามารถมีบทบาทอย่างมากต่อการปกป้องสิทธิของประชาชนในด้านต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้ถูกละเมิดทั้งจากหน่วยงานของรัฐและเอกชนอย่างกว้างขวาง จึงจำเป็นต้องมีการผลักดันให้เกิดการจัดตั้งองค์กรต่างๆ เหล่านี้ขึ้น

๒. สื่อมวลชน เป็นองค์กรที่มีบทบาทอย่างสำคัญต่อการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ เสรีภาพของสื่อมวลชนจึงมีความหมายอย่างมาก องค์กรอิสระในการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุและโทรทัศน์จึงต้องได้รับความสนใจเพราะเป็นองค์กรที่เข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลและวางกติกาในการใช้สื่อมวลชน ดังเห็นได้จากตัวแทนของรัฐและทุนต่างพยายามเข้ามามีส่วนในองค์กรนี้อย่างโจ๋งครึ่ม โดยไม่มีความรู้สึกว่าได้กระทำในสิ่งที่กำลังเป็นการโกงกินในระดับนโยบายแต่อย่างใด

ในเรื่องของการแทรกแซงสื่อ ปัจจุบันก็เกิดขึ้นในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมซึ่งเป็นการใช้อำนาจรัฐแบบดิบเถื่อน เช่น การทุบแท่นพิมพ์ ปิดโรงพิมพ์ มาสู่การเข้าเป็นผู้ถือหุ้น การซื้อโฆษณาในสื่อมวลชนต่างๆ เป็นมูลค่ามหาศาล รวมถึงการให้ประโยชน์ต่อตัวนักข่าว ฯลฯ ที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จนทุกวันนี้สื่อมวลชนเองก็อาจยังไม่ตระหนักว่ามีการแทรกแซงในการปฏิบัติหน้าที่ของตน

การวางกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมไม่ให้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งรวมถึงรัฐวิสาหกิจด้วยเข้ามาครอบงำสื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยทำให้เสรีภาพของสื่อมีความหมายเกิดขึ้นได้จริง

๓. ภาคประชาชน ด้วยความไร้น้ำยาขององค์กรอื่นดังที่ได้กล่าวมา บทบาทของภาคประชาชนในการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นปัญหาต่างๆ จึงมีความสำคัญในฐานะของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ได้ถูกจำกัดสิทธิไว้เพียงการหย่อนบัตรลงในหีบเลือกตั้งเท่านั้น และจะเป็นพลังที่สำคัญในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ดังเห็นได้จากการเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็งของประชาชนได้นำมาสู่การปรับปรุงแก้ไขนโยบายของรัฐ เช่น โครงการโรงงานบำบัดน้ำเสียที่สมุทรปราการ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงแก้ไของค์กรอิสระมิให้ถูกครอบงำ ตลอดจนการละเว้นการแทรกแซงด้วยอำนาจการเมืองและทุน ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก หากพรรคการเมืองที่จัดตั้งรัฐบาลคุมเสียงข้างมากในสภาอย่างเด็ดขาดเสียจน แม้แต่กระบวนการตรวจสอบภายในระบบการเมืองกระทำไม่ได้ เช่นความพยายามที่จะได้ที่นั่งในสภาเกิน ๔๐๐ ที่นั่ง เพื่อกีดกันมิให้ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีโดยสิ้นเชิง ในขณะที่รัฐบาลมีความมั่นคงทางการเมืองจนเกินความจำเป็นเช่นนี้ ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่รัฐบาลย่อมฟังเสียงของประชาชนน้อยลง รัฐบาลแน่ใจได้ว่า ไม่ว่าประชาชนจะเคลื่อนไหวอย่างไร ก็ไม่สามารถทำให้เสียงของส.ส.ในสังกัดพรรคการเมืองของตนหวั่นไหวไปได้ เราจึงมีแต่ส.ส.ที่มีหน้าที่ยกมือและรับเงินเดือนเท่านั้น ไม่อาจมีตัวแทนที่แท้จริงของประชาชนในการตรวจสอบและมีส่วนร่วมทางการเมืองของเราได้

ฉะนั้น เราจึงใคร่เรียกร้องให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลย์อำนาจในระบบการเมืองตามสมควร เช่นเมื่อเลือกส.ส.เขตจากพรรคใด ก็จะไม่เลือกส.ส.ตามบัญชีรายชื่อจากพรรคนั้นอีก เป็นต้น ในขณะเดียวกันควรหลีกเลี่ยงที่จะเลือกพรรคการเมืองที่ไม่มีหลักการ พร้อมจะร่วมรัฐบาลไม่เลือกหน้าเลือกฤดู เพราะพรรคการเมืองประเภทนี้ยิ่งทำให้กลไกการตรวจสอบในระบบการเมืองยิ่งเป็นไปไม่ได้มากขึ้น

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net