Skip to main content
sharethis

แม้ว่าตัวเลขของผลผลิตมวลรวมของโลกจะเพิ่มขึ้นตลอดมา แต่โลกที่เราเผชิญอยู่เวลานี้และในอนาคตเป็นโลกที่จนลง ไม่ว่าจะมองในแง่ความหมดเปลืองของทรัพยากรที่มีอยู่ หรือในแง่ของทรัพย์สมบัติที่อยู่ในมือของผู้คนส่วนใหญ่ของโลกก็มีปริมาณน้อยลงไปเรื่อยๆ

คนที่มีรายได้น้อยกว่า ๑ เหรียญสหรัฐมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก ๑.๑ พันล้านคนในปี ๑๙๘๕ เป็น ๑.๒ พันล้านคนในปี ๑๙๙๘ คาดว่าจำนวนนี้จะเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จากการศึกษาของธนาคารโลกพบว่า คนจนเหล่านี้กระจายอยู่ในยุโรปตะวันออก เอเชียใต้ ละตินอเมริกา คาริบเบียน และซับซาฮาราในแอฟริกา

ความยากจนที่เพิ่มขึ้นยังปรากฏแฝงอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วโดยทั่วไปด้วย เช่นในสหรัฐ รายได้ที่แท้จริงของแรงงาน (เมื่อคำนวณหักค่าเงินเฟ้อแล้ว) กลับลดลงไปเท่ากับปลายทศวรรษ ๑๙๕๐ เกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานในสหรัฐมีเพียงงาน part-time ทำเลี้ยงชีพเป็นปรกติ ในยุโรปตะวันตกซึ่งรายได้สำคัญส่วนหนึ่งของประชาชนมาจากสวัสดิการหลายรูปแบบที่รัฐจัดให้ แต่ในระยะหลังๆ มานี้ สวัสดิการเหล่านั้นกลับถูกตัดรอนโดยรัฐบาลทุกประเทศ แม้แต่ในประเทศที่พรรค " สังคมประชาธิปไตย" เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลก็ตาม ในเยอรมันซึ่งเคยเป็นประเทศที่อำนวยสวัสดิการสังคมอย่างดี ก็ประสบปัญหาเดียวกันนี้ ซ้ำแรงงานยังต้องยอมเพิ่มชั่วโมงทำงานในแต่ละสัปดาห์โดยไม่มีค่าตอบแทน เพื่อดึงให้อุตสาหกรรมไม่ปิดโรงงานย้ายไปยังแหล่งแรงงานราคาถูกในประเทศกำลังพัฒนา โบนัสเดือนที่ ๑๓ ซึ่งแรงงานเยอรมันเคยได้รับมาจนเป็นประเพณีกลายเป็นรายได้ที่ไม่แน่นอนดังเดิม อาจถูกลดหรือถูกงดได้

การกระจายความยากจนไปยังผู้คนเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่อาจหยุดยั้งได้นี้ เกิดขึ้นจากการกระจุกตัวของทรัพย์สมบัติไว้ในมือคนจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ในทางตรงกันข้ามกับความยากจน หากสำรวจความร่ำรวยในแต่ละประเทศ ก็จะพบปรากฏการณ์เดียวกันว่า คนรวยกลับถือครองทรัพย์สมบัติเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่คนจนมีส่วนแบ่งในทรัพย์สมบัติน้อยลงไปอย่างมากเช่นกัน

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ปรากฏการณ์ทั้งสองอย่างที่กล่าวแล้วนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน บางกรณีเกิดขึ้นในอัตราที่รุนแรงกว่าที่ปรากฏในระดับโลกด้วยซ้ำ

ปรากฏการณ์อันน่าเศร้าเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะกระแสโลกาภิวัตน์ที่ผลักดันและกำกับโดยบรรษัทข้ามชาติ กลายเป็นนโยบายของประเทศมหาอำนาจและองค์กรระหว่างชาติต่างๆ ในฐานะประเทศเล็กๆ ถึงไทยไม่อาจต้านทานกระแสโลกาภิวัตน์ของบรรษัทข้ามชาติได้โดยตรง แต่เราต้องรู้เท่าทัน และระมัดระวังสุขุมรอบคอบในการเปิดประเทศด้านต่างๆ โดยการนำเอาเงื่อนไขของสัญญาการค้าระหว่างประเทศมาสู่เวทีสาธารณะอย่างเปิดเผย นอกจากควรรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกันแล้ว ยังควรลงทุนกับการศึกษาวิจัยผลกระทบของเงื่อนไขต่างๆ ให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ

ในแง่การจัดการภายในประเทศ รัฐบาลใหม่ควรตระหนักว่า ความจริงแล้ว เรากำลังอยู่ในโลกที่จนลง ไม่ใช่โลกที่รวยขึ้น อันเราจะได้โอกาสหยิบฉวยความรวยนั้นมาใส่ตัวอย่างง่ายๆ

ฉะนั้น แทนที่จะผลักทุกคนออกไปเผชิญกับการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมในตลาดโลก รัฐบาลใหม่ควรคิดถึงการสร้างเกราะคุ้มกันที่จะรักษาประชาชนให้รอดพ้นจากการถูกบรรษัทข้ามชาติ (ซึ่งร่วมมือกับนายทุนชาติ) ปล้นสดมภ์

เกราะที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรกคือการรักษาฐานทรัพยากรของชาติเอาไว้ในมือของประชาชน รวมทั้งต้องเร่งกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรให้อยู่ในมือประชาชนเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนจะต้องทำด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ นโยบายนี้จะต้องไม่ทำให้ทรัพยากรการผลิตที่มีอยู่จำกัดหลุดไปจากมือของประชาชนที่ยากจน ทรัพย์สินสาธารณะที่ควรแปลงเป็นทุนต้องไม่รวมทรัพยากรการผลิตพื้นฐาน เช่น ที่ดิน น้ำ ป่า เป็นต้น

ความคิดที่ว่าจะสร้าง " เถ้าแก่" จำนวนน้อยขึ้นเพื่อให้เกิดการจ้างงานคนหมู่มาก ตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่าโลกนี้จะรวยขึ้น เพราะธุรกิจของเถ้าแก่ย่อมอยู่ได้โดยอาศัยตลาดโลกซึ่งจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แต่โลกกำลังจนลง จึงมีกำลังซื้อสินค้าของเถ้าแก่น้อยลง หรือมิฉะนั้นเถ้าแก่ก็ต้องผลิตสินค้าสำหรับคนจำนวนน้อยที่ใช้เทคโนโลยีสูงเท่านั้น ประชาชนที่ไม่มีฐานทรัพยากรอยู่ในมือเลยจึงไม่ใช่แรงงานที่เถ้าแก่ต้องการ เพราะความรู้ที่เขามีอยู่ไม่เหมาะกับการผลิตลักษณะนั้น

ตรงกันข้าม ฐานทรัพยากรที่อยู่ในมือประชาชนในเวลานี้ (หรือที่ควรจะกระจายออกไปให้มากขึ้น) กลับเป็นหลักประกันความมั่นคงแก่ชีวิตของเขายิ่งกว่าอื่นใดทั้งสิ้น ซึ่งเท่ากับมีหลักประกันความมั่นคงให้แก่ชาติไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเกิดความผันผวนใดๆ ในตลาดโลก ประเทศไทยก็จะเผชิญได้อย่างไม่ทรุดโทรมเกินไป ดังกรณีวิกฤตเศรษฐกิจที่เพิ่งผ่านมาชี้ให้เห็น

ฉะนั้น แทนที่จะนำเอาที่ดินไปเป็นทุนในรูปของเงินเพียงอย่างเดียว รัฐบาลใหม่ควรเพิ่มคุณภาพของทุนที่ดินเดิมซึ่งมีอยู่แล้ว โดยการสนับสนุนการผลิตด้านเกษตรกรรมที่ให้ความมั่นคงแก่ชีวิตของเกษตรกร เช่น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การเลิกปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพิ่มอำนาจต่อรองกับตลาดให้แก่เกษตรกรทั้งโดยกระบวนการผลิต การเก็บรักษาพืชผล และความร่วมมือในรูปสหกรณ์ชนิดต่างๆ เป็นต้น

แทนที่จะเน้นวัฒนธรรมกระแสทุน ที่เน้นแต่ความสำคัญของเงิน แบบใครเฮงใครได้ แล้วเอาตัวรอดไปคนเดียว รัฐบาลใหม่ควรเน้นวัฒนธรรมของการเอื้อเฟื้อแบ่งปัน การทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และการมัธยัสถ์อดออม ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นทรัพย์ซึ่งใช้เป็น " ทุน" ได้ทั้งสิ้น รัฐบาลควรเป็นหัวหอกสำคัญอันหนึ่งของการต่อต้านกระแสบริโภคนิยมซึ่งผลักให้คนหาเงินทั้งทางตรงทางคด เพื่อเอามาบำเรอความจำเป็นที่ถูกบริษัทร้านค้าสร้างขึ้น ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ความจำเป็นจริงของชีวิตเลย

ฉะนั้นรัฐบาลจึงไม่ควรส่งเสริมการพนันทุกรูปแบบ ทัศนคติต่อชีวิตของนักการพนันคือการเสี่ยงดวง ไม่ใช่การทำงานด้วยความซื่อสัตย์ และมัธยัสถ์อดออม ยิ่งเรามีประชากรที่มีทัศนคติต่อชีวิตอย่างนี้เพิ่มมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ชาติต้องอับจนในโลกที่ยากจนมากขึ้นเพียงนั้น ยิ่งกว่านี้ การทำให้การพนันฝังตัวเข้าไปในระบบจัดการทางสังคมของรัฐ เช่นใช้เงินจากการพนันเพื่อเป็นทุนเล่าเรียนของนักเรียนยากจนก็ตาม ใช้เป็นเงินนอกงบประมาณสำหรับการพัฒนาในท้องถิ่นก็ตาม ก็เท่ากับเป็นการขยายผลร้ายของการพนันให้แก่สังคมหนักมากขึ้น เพราะทำให้รายได้จากการพนันเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ของระบบจัดการของรัฐ การพนันกลายเป็นสถาบันที่จำเป็นอันหนึ่งของรัฐเหมือนตำรวจ ทหาร กรมป่าไม้ หรือกระทรวงสาธารณสุข

อย่าลืมว่า รัฐไทยต้องใช้เวลาร่วมศตวรรษกว่าจะปลดตนเองจากแหล่งรายได้สำคัญคือการพนัน ยาฝิ่น และโสเภณีได้

รัฐบาลใหม่ควรถือว่าการกระจายรายได้ และการกระจายทรัพยากรการผลิตโดยเฉพาะที่ดิน เป็นนโยบายสำคัญที่สุดที่จะต้องเร่งดำเนินการ เพื่อทำให้เกิดตลาดภายในที่เข้มแข็ง แทนตลาดบริโภคนิยมโดยสินเชื่อ ความพอมีพอกินจะกระจายไปยังคนหมู่มาก รวมทั้งจะเกิดเงินทุนภายในมากขึ้นทำให้การพึ่งพิงทุนจากต่างประเทศลดลง แทนที่รัฐบาลจะเน้นแต่ความเติบโตทางเศรษฐกิจ ควรให้ความสำคัญกว่าแก่ความเป็นธรรม และความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพราะสองอย่างนี้ต่างหากที่จะทำให้คนไทยเผชิญกับความยากจนซึ่งขยายตัวในโลกปัจจุบันได้อย่างแข็งแรงกว่า ในขณะเดียวกันก็ทำให้ประชาธิปไตยไทยมีฐานของความเป็นจริงในชีวิตคน มากกว่าหีบบัตรเลือกตั้งซึ่งนับวันก็ยิ่งถูกกำกับควบคุมโดยธุรกิจการเมืองในรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้นทุกที

รัฐบาลใหม่ควรเข้าใจว่า ชัยชนะในการแข่งขันทางธุรกิจในโลกไม่ใช่ชัยชนะของชาติ ความยากจนที่แผ่ซ่านไปทั่วโลกดังที่กล่าวข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจที่ " ถึงฝั่ง" แล้วอาจไม่ได้ทำให้สังคมหรือประชาชนดีขึ้นแต่อย่างใด ชัยชนะที่แท้จริงของชาติมาจากความผาสุกและความมั่นคงในชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ใช่กำไรที่เพิ่มขึ้นของบางบริษัท หรือการเพิ่มขึ้นของมูลค่าหุ้นซึ่งมีคนจำนวนน้อยถือครองอยู่ ถึงอย่างไรต้องไม่ลืมคำของคาร์ล โปลันยีที่ว่า "เศรษฐกิจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคม" เท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมดของสังคมอยู่ที่เศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

เราใคร่เรียกร้องให้พี่น้องประชาชนอย่าไว้วางใจผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองที่อ้างว่าจะทำให้ประเทศไทยมั่งคั่งร่ำรวยเหมือนประเทศ G7 เพราะแสดงว่าเขาไม่ได้ใส่ใจสภาวการณ์ที่เป็นจริงของโลกและของประเทศ ในทางตรงกันข้าม พี่น้องประชาชนควรตรวจสอบความคิดของผู้สมัครว่า ไทยควรเตรียมการอย่างไรบ้างเพื่อเผชิญกับโลกที่ยากจน ผู้สมัครใส่ใจอย่างจริงจังต่อการกระจายทรัพยากรในประเทศหรือไม่ และจะใช้วิธีการอะไรบ้าง เขามองแต่การส่งออกเป็นสรณะหรือความยั่งยืนของทรัพยากรซึ่งเป็นฐานชีวิตให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ และเขามีนโยบายใดบ้างในการที่จะช่วยประกันความยั่งยืนนี้

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net