Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ - เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา มีการประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ และมีการพูดถึงการพัฒนามหาวิทยาลัยของไทยเพื่อก้าวไปสู่ World Calss University

ศ.นพ. อดุลย์ วิริยเวชกุล ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปัจจุบัน กระแสการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ รวมทั้งกระแสโลกาภิวัตน์ ได้มีผลต่อการอุดมศึกษาโดยทั่วไป สำหรับประเทศไทยได้รับผลกระทบในลักษณะรุนแรงและรวดเร็ว จะเห็นได้จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การขยายตัวเชิงปริมาณของอุดมศึกษา การเติบโตในภาคเศรษฐกิจส่งผลต่อการผลิตบัณฑิตอย่างมาก

"นอกจากนี้ กระแสโลกาภิวัตน์มีผลต่อโลกย่อส่วนมีขนาดเล็กลง บัณฑิตจึงต้องมีวิสัยทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ภูมิภาคและสากล และต้องเผชิญกับค่านิยมของสังคมไทยไปพร้อมๆ กัน ดังนั้น ในอนาคต แนวโน้มของสถาบันอุดมศึกษา คือต้องมีนวัตกรรมทางการศึกษา โดยเน้นคุณภาพและพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่ World Class University เพื่อนำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในระดับสากลได้ " ศ.นพ.อดุลย์ กล่าว

และในช่วงเช้า ได้มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง มหาวิทยาลัยไทยก้าวไปสู่มหาวิทยาลัยโลก โดยมี ศ.ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ประธานอำนวยการธนาคารสมอง นายกสภามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และนายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นผู้บรรยายให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่เข้าร่วมประชุมวิชาการในครั้งนี้ประมาณ 350 คน

ศ.ดร.สิปปนนท์ กล่าวว่า ลักษณะสังคมไทยในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงสังคมเมืองและสังคมชนบท แต่เป็นสังคมผู้ด้อยโอกาส เป็นสังคมพอเพียง สังคมฐานานุภาพตามแต่ละชนชั้น และยังเป็นสังคมการแข่งขันทางธุรกิจ และยุคสังคมไทยในขณะนี้ ถือว่าเป็นยุคที่ใช้กำลังกายต่อสู้ ใช้เงิน และความรู้เป็นอาวุธ เพราะฉะนั้น สำคัญที่สุด เราจะต้องตั้งคำถามกันว่า...เราจะให้สถาบัน อุดมศึกษาของไทยเป็นสมองและเป็นสติของสังคมหรือไม่

"ในมหาวิทยาลัยระดับโลก เขามีการประเมินจัดอันดับมหาวิทยาลัยกัน โดยมีการจัดอันดับนักศึกษาชั้นเยี่ยมจากทั่วโลก มีผลงานวิจัยของคณาจารย์ ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อเผยแพร่งานวิชา การกันอย่างต่อเนื่อง มีนักวิจัย อาจารย์ ศิลปินหลายแขนง มาบรรยายทักษะความรู้ให้นักศึกษาฟังกันทุกๆ วัน มีพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ วงดนตรีให้ได้เสพกันอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญ ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกสามารถวิจารณ์รัฐบาล วิจารณ์สังคมในเรื่องหลักๆ เป็นประจำ แต่ไม่ใช่อย่างที่รัฐเรียกกันว่าขาประจำ" ศ.ดร.สิปปนนท์ กล่าว

ศ.ดร.สิปปนนท์ ยังกล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยของไทย จะต้องมีบทบาทช่วยสนองตอบต่อสังคม ช่วยชี้นำสังคม ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้ทำกันมากนัก และต้องช่วยเตือนสติสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ทางอาจารย์มีบทบาทไม่เยอะ แต่ได้อาศัยบทบาทของนักศึกษาในยุคนั้น ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการเตือนสติสังคมค่อนข้างดี

"อย่างกรณีที่เกิดความรุนแรงในสังคมไทยในขณะนี้ หากทุกมหาวิทยาลัยมี "สถาบันสันติศึกษา" ขึ้นมา เชื่อว่า ปัญหาภาคใต้จะไม่เกิด นี่เป็นโจทย์ที่เราจะต้องทำหรือไม่ มหาวิทยาลัยจะต้องสร้างความรู้ เสพความรู้ และจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างสังคมไทยให้มีสันติกับตนเอง กับเพื่อนร่วมโลก และกับธรรมชาติ"

ศ.ดร.สิปปนนท์ ยังได้ให้ข้อเสนอ ถึงการจะพัฒนามหาวิทยาลัยไทยเพื่อนำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในระดับสากลได้ จะต้องผลิตอาจารย์ นักวิจัยที่มีคุณภาพ สนับสนุนการวิจัยให้เป็นล่ำเป็นสัน มีการจัดระบบ ประเภท ระดับสถาบันการศึกษาให้ชัดเจน เหมือนกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ได้แยกเป็น มหาวิทยาลัยวิจัย มหาวิทยาลัยสอน เป็นต้น โดยให้มหาวิทยาลัยวิจัย เป็นมหาวิทยาลัยกำกับ และให้มีอิสระในการบริหารภายใน

นอกจากนั้น ต้องมีการทำระบบ Demand side financing ให้จริงจัง โดยอาจมีการสนับสนุนทุนนักศึกษาให้สามารถเลือกสถานที่เรียนที่ไหนก็ได้ ตามแต่ตนเองชอบหรือถนัด และปฏิรูปการศึกษา โดยเน้นทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต คือ การสื่อสารทำความเข้าใจ เรียนรู้โลกทั้งโลก ทักษะทางด้านคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ และ การจัดการองค์กร

"สรุปแล้ว หากมีการปรับในลักษณะนี้ มหาวิทยาลัยวิจัย อาจเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกได้ภายใน 20 ปี หาก จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สนับสนุนแนวคิดนี้ และจะทำให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ มีคุณภาพสูงขึ้น" ศ.ดร.สิปปนนท์ กล่าวในตอนท้าย

ขณะที่มีการบรรยายเรื่อง "การพัฒนามหาวิทยาลัยของไทยเพื่อก้าวไปสู่ World Calss University" กันอยู่ ในห้องประชุม มีความสับสนใน พิธีลงนามสัตยาบันสภาอธิการบดีแห่งประเทศไทย ในประเด็นเรื่องการเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เรื่อง การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ซึ่งกำลังกลายเป็นประเด็นประเด็นความขัดแย้งกันอยู่ในขณะนี้ เมื่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ 17 แห่ง ไม่ยอมลงนาม และไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่ารีบเร่ง รีบร้อนผิดสังเกต

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net