Skip to main content
sharethis

จำได้ว่ารู้จัก "ทะเลสาบสงขลา" ครั้งแรกในหนังสือสารคดีเล่มหนึ่งเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ภาพวิถีประมงพื้นบ้าน สะพานติณสูลานนท์พาดผ่านทะเลสาบ และ "โพงพาง" เครื่องมือพื้นบ้านของชาวประมง ปักเป็นแนวไม้ยาวเป็นหย่อมๆ สุดลูกหูลูกตายังคงอยู่ในความทรงจำ

จนวันที่เดินทางมาสัมผัสของจริง ไม่นึกว่า "ทะเลสาบสงขลา" ที่เคยรู้จักจะเปลี่ยนไปผิดหูผิดตา โพงพางที่เคยเห็นเป็นหย่อมๆ มาตอนนี้หนาแน่นจนที่เห็นหย่อมๆ นั้นกลายเป็นผืนน้ำไกลๆ แทน

"ทำไมเครื่องมือประมงเต็มทะเลสาบไปหมดเลยลุง"

"เดี๋ยวนี้ชาวประมงเยอะ ชุมชนรอบๆ ทะเลสาบมันขยายตัวมาก แต่สัตว์น้ำก็ลดลงไปมากเหมือน
กัน ที่ชัดที่สุดก็ตั้งแต่ท่าเรือน้ำลึกสร้างแนวหินกันคลื่นยื่นออกมาอีก" ลุงล้วน โรสิกะ ชาวบ้านบนเมือง หมู่7 ต.หัวเขา อ.สิงหนคร ซึ่งตั้งอยู่ข้างๆ ท่าเรือน้ำลึกสงขลาสะท้อนปัญหาสำคัญในเวลานี้ให้นักข่าวที่ลงพื้นที่กับโครงการสิทธิชุมชนศึกษากรณีลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาฟัง

ไม่ใช่เฉพาะเสียงสะท้อนจากชาวประมงเก่าแก่ในหมู่บ้านเท่านั้น การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ท่าเรือสงขลาเจาะอุโมงค์ให้น้ำลอด รวมทั้งรื้อแนวหินบังคับน้ำที่ก่อสร้างเพิ่มเติมออก เพื่อให้กระแสน้ำไหลได้สะดวกขึ้น ยิ่งทำให้แน่ใจได้ว่า "ท่าเรือสงขลา" กำลังเป็นประเด็นร้อนสำหรับคนรอบทะเลสาบ

อันที่จริง ท่าเรือที่สร้างบริเวณปากทะเลสาบแห่งนี้เปิดทำการมากว่า 16 ปีแล้ว โดยบริเวณนี้เป็นจุดเชื่อมต่อเพียงแห่งเดียวระหว่างทะเลอ่าวไทยกับทะเลสาบขนาดใหญ่ที่ทอดตัวยาวมาตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และเลยมาถึงสงขลา

ลุงล้วนเล่าว่า ท่าเรือที่ก่อสร้างโดยถมดินยื่นไปในทะเลกว่า 60 ไร่บริเวณปากทะเลสาบ เมื่อรวมกับแนวเขื่อนหินกันคลื่นเดิม 800 เมตร และ" รอบังคับน้ำ" ที่สร้างใหม่ เป็นคันหินยื่นไปในทะเลอีกกว่า 400 เมตร ทำให้ปิด "ร่องน้ำ" ที่จะไหลเข้าออกทะเลสาบไปถึง 2 ใน 3
การอุดตันของร่องน้ำนี้ สำหรับชาวเลรอบทะเลสาบแล้ว แทบไม่ต่างอะไรกับการอุดตันของเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงพวกเขา[b/]

ชาวประมงเก่าแก่อย่างลุงล้วน ใช้ชีวิตผูกพันอยู่กับทะเลไม่น้อยกว่า 30 ปีอธิบายด้วยสุ่มเสียงสำเนียงเจ้าถิ่นถึงร่องน้ำ 3 ร่อง ที่สัมพันธ์กับฤดูกาลและความอุดมสมบูรณ์ของปลา

"เมื่อก่อนจะมีร่องน้ำ 3 ร่องในทะเลสาบสงขลา เวลาน้ำขึ้นน้ำลงมันจะเชี่ยวกราก และพากระแส
น้ำจืดและน้ำเค็มมาเจอกัน ทำให้กลายเป็นทะเลสาบ 3 น้ำ มีกุ้งปลาสมบูรณ์ ตอนน้ำขึ้นมันจะพัดเอาไข่ปลาและพันธุ์สัตว์น้ำต่างๆ เข้ามาเพื่อฟักตัวในทะเลสาบ เวลาน้ำลงมันก็จะผลักดันน้ำเสียออกไปด้วย"

"ร่องหนึ่งไหลไต่ไปตามริมฝั่งตอนที่ท่าเรือไม่มี ท่าปตท.ก็ไม่มี น้ำจะไหลทะลุไปออกหาดทรายแก้ว แต่พอมีท่าเรือน้ำลึกสร้างเป็นท่าทึบก็ปิดร่องน้ำ ร่องสองคือร่องที่ออกตรงไปทางทิศเหนือ ร่องสามคือร่องที่ออกมาแล้ววนกลับไปทางทิศใต้ พอถูกปิดไป 2 ส่วนกระแสน้ำก็อ่อนลงแล้วก็ส่งผลกระทบต่อพันธุ์สัตว์น้ำ และน้ำเสียที่ไม่ถูกผลักดันออกไป"

"ก่อนมีท่าเรือเราหาปลาได้ ปลาราคาถูกก็จริง แต่เราหาได้ พวกเราอาจจะยากจน แต่พวกเราก็ไม่ลำบาก แต่พอมีท่าเรือน้ำลึก และมีเขื่อนกั้นกระแสน้ำ เปลี่ยนกระแสน้ำ ปิดบังปากน้ำทะเลสาบ นอกเหนือจากเรายากจนแล้ว เรายังลำบากอีกด้วย" ลุงล้วนสรุปประสบการณ์กว่า 30 ปี

สำหรับผู้รับผิดชอบท่าเรืออย่าง "วัฒนชัย เรืองเลิศปัญญากุล" รองผู้อำนวยการท่าเรือสงขลา ซึ่งมาจากบริษัทเอกชนที่เข้ามาบริหารท่าเรือมองว่า

"เรื่องร่องน้ำ มันเป็นเรื่องของความเชื่อ ยังไม่มีการศึกษาจริงจัง จะรื้อท่าเรือทุกท่าก็ได้ไม่ว่า แต่คุณต้องมีทางเลือกในที่อื่นๆ เพราะอุตสาหกรรมโตเร็วมาก อย่างไรก็ต้องมีท่าเรือรองรับ"

"และถ้าจะบอกว่าท่าเรือสงขลา เป็นปัญหาก็ไปศึกษามาให้จริงจังว่าจะเอาหรือไม่เอาท่าเรือสงขลา ถ้าเอาจะแก้ปัญหาอย่างไรให้ปลาเข้าออก ผมตอบแทนไม่ได้เรื่องนี้ เพราะไม่มีข้อมูลและความรู้ จะทำอุโมงค์หรืออะไรก็ได้"

"วัฒนชัย" มาจากบริษัท เจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ทำสัญญากับกรมธนารักษ์เจ้าของท่าเรือสงขลา เพื่อบริหารจัดการท่าเรือมากว่า 15 ปี เพิ่งหมดสัญญาเมื่อปีที่แล้วและกำลังอยู่ระหว่างการเจรจา เขาสะท้อนถึงความเป็นคนกลาง ซึ่งไม่อาจรับผิดชอบกับความผิดพลาดจากอดีตได้

"อันที่จริงท่าเรือนี้มันก็ไม่เหมาะสมตั้งแต่แรกแล้ว เพราะมันมีปัญหาเรื่องคลื่นและตะกอน แต่โครงการมันก็ยังเกิดขึ้นมา ซึ่งผมก็คงตอบไม่ได้ว่าทำไม"

อย่างไรก็ตาม เขาได้ให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาถึงความผิดพลาดบางประการของท่าเรือนับตั้งแต่การสร้างเขื่อนหินกันคลื่น ซึ่งคาดว่าจะทำให้ดินตะกอนทับถมร่องน้ำ อันเป็นธรรมชาติของท่าเรือโดยทั่วไปให้น้อยลง 20-25% ก็คำนวณจำนวนดินตะกอนที่จะทับถมร่องน้ำผิดไปราวครึ่งหนึ่ง

ทำให้ทุกวันนี้กรมเจ้าท่าต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขุดลอกร่องน้ำตลอด 4 กม. เพื่อให้เรือสินค้าขนาดใหญ่เข้าเทียบท่าได้ประมาณปีละ 15-16 ล้าน หากจ้างเอกชนก็อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 20-30 ล้าน

ในส่วนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น ราวปี 2538 มีโครงการศึกษาการขยายท่าเรืออีกเท่าตัวโดยการสนับสนุนเงินทุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เพราะคาดว่าท่าเรือสงขลาจะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเพิ่ม 20%

แต่ทุกวันนี้รองผอ.ท่าเรือสงขลาให้ข้อมูลว่า มีเรือเข้าเทียบท่าเฉลี่ย 1.5 ลำต่อวัน และท่าสำหรับเทียบเรือสินค้าและเรือคอนเทนเนอร์ มีการใช้งานเพียง 50%

"โอกาสขยายตัวทางเศรษฐกิจของท่าเรือสงขลาอยู่ที่ 3.5 % ถือว่าอิ่มตัวแล้ว นี่เป็นการประเมินช่วงก่อนเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ ส่วนอนาคตจะโตหรือไม่อยู่ที่โรงแยกก๊าซที่กำลังจะก่อสร้างที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ว่าจะมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องตามมามากแค่ไหน" วัฒนชัยอธิบายข้อมูลด้วยความเร็วสูง

โชคดีที่โครงการขยายท่าเรือนี้ถูกแช่แข็งไป เพราะไม่ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) เนื่องจากจะไปกระทบต่อการท่องเที่ยว แหล่งประวัติศาสตร์ในสิงหนคร อย่างไรก็ตาม ทางกรมเจ้าท่าได้เวนคืนที่ดินจากชาวบ้านมาหมดแล้ว และยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องจนทุกวันนี้ เพราะชาว
บ้านไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ โดยอ้างว่า กรมเจ้าท่าผิดข้อตกลงเรื่องที่อยู่ใหม่

"ตอนนี้พื้นที่นี้ก็กลายเป็นหมู่บ้านยาเสพติดที่ร้ายแรงที่สุดในอำเภอสิงหนครไปแล้ว เพราะไม่มีใครเข้ามาดูแล กรมเจ้าท่าถือว่าที่บริเวณนี้เป็นของเขา ดังนั้นทางอำเภอจะทำอะไรต้องขออนุญาตแม้ว่าจะเป็นสาธารณูปโภค เลยไม่มีการพัฒนาอะไร ปักเสาไฟก็ไม่ได้ ขอบ้านเลขที่ก็ไม่ได้ ไม่ได้ทั้งหมด" ลุงล้วนเล่า
---------------------

ปัญหาที่ได้รับฟังมาจากการสำรวจพื้นที่ชั่วข้ามคืนนี้ เป็นเพียงมิติเดียวของปัญหาทะเลสาบสงขลา ซึ่งได้ถูกหยิบยกขึ้นมาแลกเปลี่ยนในเวทีสัมมนาเรื่อง "เหลียวหลังแลหน้า ท่าเรือน้ำลึกสงขลาถึงทะเลสาบ" ที่จัดขึ้นที่สถาบันทักษิณคดี เมื่อวันที่ 28-29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อันนับได้ว่าเป็นเวทีประวัติศาสตร์ที่เกิดการแลกเปลี่ยนกันระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

"การพัฒนามันต้องมีบางส่วนได้ บางส่วนเสีย อยู่ที่ว่าเรารับได้ไหม ท่าเรือสงขลาจะให้ทุบทิ้งคงไม่ได้ แต่จะแก้ปัญหาอย่างไรเป็นอีกส่วนหนึ่ง เพราะตอนนี้นโยบายของรัฐบาลมุ่งลงน้ำ คุยเรื่องแลนด์บริดจ์หมดแล้ว ตราบใดที่น้ำมันยังพุ่งอย่างนี้" ถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชน์นาวี กล่าวตอนหนึ่งบนเวทีหลังจากรับฟังปัญหาจากตัวแทนชาวบ้านมาตลอดเช้า

ส่วนการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของชาวบ้านนั้น จะต้องมีการนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และให้สถาบันอุดมศึกษาทำการศึกษาอีกครั้ง

"การศึกษาเรื่องกระแสน้ำในทะเลสาบนั้นไม่มีเลย และมีงานวิชาการที่ศึกษาความลึกของร่องน้ำครั้งเดียวเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ส่วนเรื่องตะกอนปากอ่าวก็มี ดร.ดนัย ลิมปดนัย ทำคนเดียวเมื่อปี2520" รศ.ดร.เริงชัย ตันสกุล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงงานวิชาการที่พอจะใช้เป็นข้อมูลพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นได้

เมื่องานวิชาการยังไม่มีทีท่าว่าจะเป็นรูปเป็นร่าง ขณะที่ "ร่องน้ำ" ของชาวประมง สำหรับรัฐแล้วก็ยังไม่หนักแน่นพอที่นำมาใช้ประกอบการตัดสินใจใดๆ งานนี้แม้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ก็ดูเหมือนยังห่างไกลจากทางออกของปัญหา อันเป็นผลมาจาก "การพัฒนา" ที่ขาดการมีส่วนร่วมในอดีต

"เมื่อก่อนไม่มีใครคิดว่าท่าเรือจะสร้างปัญหา ผมเป็นเลขานุการสภาอบต. ก็มีส่วนในการเห็นชอบให้สร้าง เพราะไม่รู้ว่าเขาจะทำกันอย่างไร ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทะเลจะถูกถม" ลุงล้วนกล่าวถึงความผิดพลาดของตนเองที่สะท้อนบริบทหลายๆ อย่างของสังคม

สำหรับคนที่ชีวิตขึ้นตรงต่อทะเลสาบ "ท่าเรือสงขลา" กำลังเป็นปัญหาสำคัญสำหรับพวกเขา ขณะเดียวกันการขยายตัวของประมงพื้นบ้านก็เป็นปัญหาโดยตัวเองด้วยเช่นกัน กระทั่งมีการพูดถึงการจัดระเบียบเครื่องมือประมง

ยังไม่นับรวมถึงปัญหาใหญ่อื่นๆ อีกหลายประการ ทั้งการขยายตัวของท่าเทียบเรือ อาทิ ท่าเรือของปตท. ที่มีการขยายใหญ่โตอยู่ข้างๆ ท่าเรือน้ำลึก การทำนากุ้ง การรุกล้ำของน้ำเค็ม การแย่งชิงน้ำจืดเพื่อการเกษตร น้ำเสียที่เพิ่มมากขึ้น ฯลฯ

จึงไม่อาจคาดเดาได้ว่าการมาเยือนครั้งหน้า "ทะเลสาบสงขลา" จะเป็นเช่นใด.

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net