รายงานพิเศษ: ศิลปินร่วมคัดค้านกระเช้าไฟฟ้าดอยหลวงเชียงดาว

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

…หากใครติดตามข่าวความเคลื่อนไหวในเรื่อง สิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว ก็คงพอจะรู้ว่า ขณะนี้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำลังจ้างนักวิชาการจากบริษัทต่างชาติ เข้าไปศึกษาสำรวจความเป็นไปได้ในเรื่อง การสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาวกันอยู่

ซึ่งทำให้หลายๆ คนที่มีหัวใจรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อดรู้สึกวิตกกังวลและห่วงใยกันไม่ได้ว่า…ความสวยสดงดงามของดอยหลวงเชียงดาว ฤาจะถึงคราถูกทำลายลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ด้วยน้ำมือของรัฐและกลุ่มนายทุน จึงทำให้กลุ่มศิลปินหลากหลายสาขาของไทย ได้ร่วมกันรณรงค์จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันไปทั่วประเทศ

เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มศิลปินเขียนรูปกว่าสิบห้าชีวิต พากันไปเขียนรูปธรรมชาติของดอยหลวงเชียงดาว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำรูปเขียนทั้งหมดมาประมูลขาย และนำเงินมาสมทบทุนร่วมรณรงค์คัดค้านการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว

หากไล่เรียงดูศิลปินกันแล้ว มีทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง และรุ่นใหม่ ตั้งแต่ อ.พิศาล ทิพารัตน์, พจนีย์ ดิษฐพันธุ์,อดุลย์พันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา, พิบูลศักดิ์ ละครพล, รุ่งเรือง ปรีชากุล,วสันต์ สิทธิเขตต์, ศุภสิทธิ์ วงศ์ร่มเงิน,เมืองไทย บุษมาโร,มณฑลี เกษมสันต์ ณ อยุธยา,ชัย บูลล์,อัคนี มูลเมฆ,มหรรณพ โฉมเฉลา และศิลปินหน้าใหม่อีกหลายท่าน ที่ร่วมขบวนไปด้วยกันครั้งนี้

สองคืนกับสามวัน…ที่กลุ่มศิลปินใช้เวลาในการเขียนรูปอยู่บริเวณบ้านลีซูนาเลา ใกล้ตีนดอยหลวงเชียงดาว หลังจากนั้นได้ลงมาแถลงข่าวกันที่ร้านสายหมอกกับดอกไม้ ในเมืองเชียงใหม่ มีการนำภาพเขียนทั้งหมดมาแสดงให้ได้ชมกัน ก่อนจะมีการเปิดแสดงอย่างเป็นทางการ ซึ่งได้สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้พบเห็นในค่ำคืนนั้น…

อ.เทพศิริ สุขโสภา ศิลปินอาวุโสละแวกหน้าวัดอุโมงค์ เชียงใหม่ เป็นผู้กล่าวเปิดงานครั้งนี้ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมกันแบบนี้เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เราจัดกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อส่วนรวม เพื่อสิ่งแวดล้อมกันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด อย่างกิจกรรมนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมบนดอยหลวงเชียงดาว กำลังมีปัญหา ซึ่งเราส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า ไม่อยากให้มีกระเช้าไฟฟ้า ไม่อยากให้มีสิ่งแปลกปลอม เพราะจะทำให้ดอยนั้นหมดเสน่ห์ และเราก็ไม่อยากเสียความรู้สึก

อ.เทพศิริ ยังกล่าวอีกว่า ที่เรากำลังทำกันอยู่นี้ เราไม่ได้ต่อสู้กันด้วยอาวุธ เราไม่ได้ใช้อะไรที่มันก้าวร้าว รุนแรง แต่เราใช้การต่อสู้กันด้วยศิลปะ ด้วยภาพเขียน ด้วยบทกวี ด้วยดนตรี เสียงเพลง และเราต้องดูว่าเราจะใช้พลังในการรับใช้สังคม เพื่อสิ่งแวดล้อมกันอย่างไรต่อไป

"รายได้จากการขายรูปเขียนเหล่านี้ จะนำไปใช้ในกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งนำไปสมทบทุนในการร่วมรณรงค์ปกป้องดอยหลวงเชียงดาว โดยร่วมคัดค้านการสร้างกระเช้าไฟฟ้า… " อ.เทพศิริ กล่าวในตอนท้าย.

ในส่วนมุมมองของศิลปินที่ขึ้นไปวาดรูปดอยหลวงเชียงดาว ได้ให้ทรรศนะความคิดเห็นเอาไว้อย่างน่าสนใจ…

รุ่งเรือง ปรีชากุล อดีตบรรณาธิการสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ผู้ผันตัวเองมาเขียนรูปในวันว่าง บอกว่า ในความคิดส่วนตัว ปฏิเสธในเรื่องเทคโนโลยีอยู่แล้ว ปฏิเสธสิ่งที่จะมาทำลายธรรมชาติ ซึ่งธรรมชาติได้คงอยู่มาเป็นพันปี หมื่นปี ล้านปี แล้ววันดีคืนดีจะมาเซงลี้ มาทำโอท็อป ซึ่งไม่เห็นด้วย

"ปัญหาก็คือ ชาวบ้านก็แค่ไปหลงใหลได้ปลื้มกับเศษเงินที่จะเข้ามา โดยที่อีกหลายคนกำลังโหยหากับธรรมชาติ อย่างกลุ่มที่ขึ้นไปวาดรูปบนดอยหลวงเชียงดาว ทุกคนต่างมองเห็นความงามของธรรมชาติกัน ในความเห็นส่วนตัว คือ มันไม่ควรจะมีกระเช้าไฟฟ้า" เขาเอ่ยออกมาให้รับรู้

"บ๊อบบี้" ศุภสิทธิ์ วงศ์ร่มเงิน ได้แสดงความรู้สึกว่า เป็นครั้งแรกที่ได้ไปเยือน มีความฝันมานานแล้ว ที่จะได้ไปเห็นดอยหลวงเชียงดาว มันสมบูรณ์มาก จึงไม่เห็นด้วยที่จะไปสร้างกระเช้าไฟฟ้าตรงนั้น เพราะมันเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามา เหมือนคนที่ตาอยู่ตรงหน้าผาก กลายเป็นสิ่งประหลาด เพราะธรรมชาติมันดีอยู่แล้ว ถ้าไปสร้าง

"ผลเสียก็คือ สิ่งแวดล้อมเสียหายหมดเลย ไม่ว่าคน สัตว์ พืช ยิ่งเป็นคนดอย ยิ่งจะทำให้พฤติกรรม วัฒนธรรมของเขาเสียไปเลย ต้นไม้ท้องถิ่นต่างๆ ก็คงถูกโค่นล้มตายกัน สัตว์จำพวกหมูป่า ไก่ป่า หรือผีเสื้อมันคงต้องหนีหายสูญพันธุ์ไป เพราะธรรมชาติถูกทำลาย อยากให้เป็นอยู่อย่างนี้ ให้อยู่นานๆ เพราะเราถือว่า ไม่ว่าคน พืชหรือสัตว์ ต่างเป็นเพื่อนร่วมโลกกัน"

มณฑลี เกษมสันต์ ณ อยุธยา ศิลปินหญิงอีกคนหนึ่งที่ขึ้นไปวาดรูปดอยหลวงเชียงดาว บอกว่า สนุกดี แล้วทำให้ชีวิตนั้นหายเศร้า เพราะชอบไปเที่ยวตามธรรมชาติอยู่แล้ว และคิดว่าไม่น่าจะสร้างกระเช้า ในความเหนื่อยเรายังมีบางสิ่งที่ทดแทนกันได้ มีความงดงาม มีความบริสุทธิ์ ทำไมต้องมีสิ่งปลูกสร้างที่ขัดต่อธรรมชาติกันด้วย

ชัย บูลล์ ศิลปินนักร้อง นักดนตรี ที่มีฝีมือในการวาดรูปไม่แพ้มืออาชีพ กล่าวว่า ปกติตนเองชอบไปเที่ยวตามธรรมชาติ ไปป่า ไปบนดอย ไปกางเต๊นท์ ไม่ได้ต้องการไปเที่ยวโรงแรม ไปพักที่โรงแรม และไม่ต้องการไปขึ้นกระเช้า

"เป็นความรู้สึกลึกๆ และแน่นอน เราไม่ต้องการเห็นกระเช้าไฟฟ้า โรงแรม หรือสปาหรูๆ ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ หรือบนดอยหลวงเชียงดาวซึ่งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพราะกว่าที่พวกคุณจะใช้เวลาในการสร้างกระเช้า กันนานเท่าใด และคงทำให้พืชพันธุ์สัตว์ป่าล้มหายตายจากไปหมด เพราะว่าวงจรของธรรมชาตินั้นถูกทำลายหมดเลย เราคิดว่า คนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกระเช้าไฟฟ้านี้ เป็นคนที่ไร้สติจริงๆ"

วสันต์ สิทธิเขตต์ ผู้เป็นทั้งศิลปินวาดรูป กวีนักคิดนักเขียน นักดนตรี และนักต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อประชาชนมาโดยตลอด ได้แสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่า ศิลปินส่วนใหญ่จะถือว่า ธรรมชาตินั้นเป็นครู เราเขียนรูปธรรมชาติ ชีวิตเราก็เป็นหนึ่งในธรรมชาติ และเรายึดถือหลักธรรมะ หลักพุทธธรรม เข้าใจกฎการเปลี่ยนแปลงของชีวิต ได้มาเห็นความยิ่งใหญ่ของขุนเขา ของดอยหลวงเชียงดาว อย่างตอนนี้ทางคุณนิคม พุทธา ซึ่งได้ตั้งองค์กรเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรบนดอยหลวงเชียงดาวกันขึ้นมา ถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก และทำให้พวกเราได้มาจัดกิจกรรมร่วมกัน

"ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่จะสร้างกระเช้าไฟฟ้า หากใครอยากเสพธรรมชาติดอยหลวงเชียงดาว ก็ต้องใช้สองเท้าและพลังใจมหาศาลที่จะไปถึงยอดดอย นั่นถือว่า เป็นความยิ่งใหญ่… เราแค่อยู่ยืนอยู่ข้างล่าง อยู่เชิงเขา เมื่อมองขึ้นไป จะเห็นความงาม เห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นหมู่เมฆ สายหมอก แสงแดด สายฝน และสายรุ้ง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ซื้อหาไม่ได้เลย มีแต่ชีวิตเท่านั้น ที่เราจะไปแลกไปสัมผัสกับมัน เป็นภาพประทับของชีวิต ที่เราน่าจะรักษาและเก็บเอาไว้" เขาเอ่ยให้ผมฟังด้วยสีหน้าเคร่งเครียดและจริงจัง…

วสันต์ ยังกล่าวอีกว่า ถ้าเราปล่อยให้มีการสร้างกระเช้าไฟฟ้า มันก็จะถล่มทะลวงขึ้นไปข้างบน บางทีมันอาจจะคิดไปสร้างโรงแรมห้าดาวไว้บนยอดดอย อาจมีสระว่ายน้ำอยู่ข้างบน เพื่อให้คนขึ้นไปเหมือนต้องเสพสวรรค์ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ไม่แฟร์ ที่คิดจะทำกระเช้า เมื่อคุณจะเสพสุขโดยไม่ยอมเหนื่อยยากกันเลย ใครคิดอย่างนี้ก็คือ เป็นพวกมหาโจร เป็นเรื่องของคนบ้าที่คิดกันอย่างนั้น ตนไม่เห็นด้วย…

เบญจมาศ นิมมานเหมินท์ ผู้ประสานงานในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้กล่าวปิดท้ายว่า ก่อนนั้นเคยจัดแสดงภาพเขียนร่วมกับ "น้าหว่อง" มงคล อุทก ที่ร้านเทค ออฟ เชียงใหม่ แล้วมีคนสนใจงานทางด้านศิลปะกันมาก และตนเองก็ชอบงานด้านนี้

"เพราะพ่อเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี พี่เขยก็เป็นศิลปินแห่งชาติ และกิจกรรมภายในบ้านก็เกี่ยวกับงานศิลปะทั้งหมดเลย มีโรงหล่อ โรงปั้น ทำให้มีความคุ้นเคยกับกลุ่มศิลปินมาโดยตลอด จึงได้ประสานงานกับกลุ่มศิลปินเหล่านี้ ไปเขียนรูปกันที่ชุมชนลีซอนาเลา ติดกับดอยหลวงเชียงดาว ทุกคนที่ขึ้นไปต่างมีพลัง ตื่นตั้งแต่ตีห้า เพื่อดูความงามของดวงอาทิตย์ขึ้นทางซอกดอยหลวง ทุกคนได้งานกันคนละหลายชิ้น เพราะหากอยู่ในกรุงเทพฯ กว่าจะเขียนรูปได้มากมายขนาดนี้ คงต้องใช้เวลาเป็นเดือน แต่พอมาอยู่บนดอยหลวงเชียงดาว เขียนได้เยอะมาก" เบญจมาศ เอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น…

เธอยังบอกกล่าวอีกว่า หลังจากนั้น จะนำมาเปิดแสดงงานกันที่เชียงใหม่และที่กรุงเทพฯ ในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้ เพื่อจะได้นำเงินที่ได้จากการขายรูปเขียนมาสมทบทุนเพื่อร่วมรณรงค์ปกป้องดอยหลวงเชียงดาว และร่วมคัดค้านการสร้างกระเช้าไฟฟ้ากันต่อไป

กิจกรรมนี้, ถือว่าเป็นอีกกิจกรรมอีกรูปแบบหนึ่ง ที่บรรดาเหล่าศิลปินได้ให้ความสนใจกับปัญหาของสังคมและสิ่งแวดล้อม และเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียกร้องต่อสู้คัดค้านกับกระแสการสร้างกระเช้าไฟฟ้า ก่อนที่ความงดงามบริสุทธิ์ของดอยหลวงเชียงดาวจะถูกรุกทำลายด้วยความคิดอันมืดดำมืดบอดของกลุ่มที่หวังต้องการผลประโยชน์จากการลงทุนเพียงกลุ่มเดียว.

ภู เชียงดาว : รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท