Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ที่มา :Karen River Watch
------------------------------------------------------------------

ตอน 2 สู่รัฐกะเหรี่ยง : เขื่อนใต้ปลายกระบอกปืน (DAMMING AT GUNPOINT)

10 พฤศจิกายน รายงานสถานการณ์ในเขตภาคเหนือของรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า พื้นที่ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการวางแผนสร้างเขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่า ศึกษาโดยกลุ่มปกป้องแม่น้ำกะเหรี่ยง(Karen River Watch)แล้วเสร็จสมบูรณ์เป็นรูปเล่ม

เขื่อนใต้ปลายกระบอกปืน... ความจริงของพม่า
• รัฐบาลพม่ามีขนาดของกองทัพเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า จากเดิมที่มี 400,000 คน ตั้งแต่ปี 1998(2531)
• พม่า (ประชาชน 52 ล้านคน) มีอัตราส่วนระหว่างทหารกับพลเรือนสูงที่สุดในโลก
• รัฐบาลพม่าใช้งบ 40% ของประเทศสำหรับกองทัพและใช้เพียง 0.4 % และ 0.5% ของGDP สำหรับสุขภาพและการศึกษา
• รัฐบาลพม่าได้ปฏิเสธผลการเลือกตั้งในปี1990(2533) ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(NLD)ชนะการเลือกตั้งอย่างเป็นเอกฉันท์
• การดำเนินต่อไปของสงครามในรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้มีผู้พลัดถิ่นภายใน(IDP)กว่า 600,000 คนในภาคตะวันออกของพม่า และผู้ลี้ภัยกว่า 140,000 คนในค่ายผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดนพม่า-ไทย เป็นกะเหรี่ยงประมาณ 120,000 คน และประมาณ 2 ล้านคนที่เป็นผู้ลี้ภัยหรือแรงงานข้ามชาติในประเทศใกล้เคียงของพม่า
• รัฐบาลมีรายได้ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี จากการขายก๊าซธรรมชาติให้นักลงทุนต่างประเทศ และปัจจุบันรัฐบาลต้องการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าส่งขาย ซึ่งจะทำให้การบังคับใช้แรงงานโดยทหารพม่าเพิ่มมากขึ้น

..................................
สู่รัฐกะเหรียง
ชาวกะเหรี่ยง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในพม่า มีประชากรประมาณ 7 ล้านคน หรือร้อยละ 13 ของพม่า ซึ่งมีประชากรทั้งหมด 52 ล้านคน ส่วนมากอาศัยอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง เขตเพกู เขตเทนเนสซาริม และทางตะวันตกของตอนกลางพม่า

เขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่า ทั้งสองแห่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนทิศตะวันออกของ อำเภอพะปุน ในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเคยเป็นเขตปกครองอิสระของชาวกะเหรี่ยง ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอำเภอแห่งนี้เคยถูกใช้เป็นฐานที่มั่นของกองกำลังต่อต้านรัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง รวมถึงเป็นสถานที่ที่กองกำลังทหารพม่าใช้โจมตีกองกำลังกะเหรี่ยงมาก่อน

ตั้งแต่ปี 1992 ทางเข้าออกของอำเภอพะปุนในเขตชายแดนไทย-พม่าอยู่ภายใต้การควบคุมของ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) โดยอำเภอพะปุนมีพื้นที่ประมาณ 6,722.540 ตารางกม. แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 เมืองใหญ่ๆ คือ ลูทอว ดเวโล และ บูทอว ซึ่งเป็นชื่อของเทือกเขา 3 ลูกที่ทอดยาวตั้งแต่เหนือจดใต้ของอำเภอพะปุน

อำเภอพะปุนเป็นเขตลุ่มน้ำสาละวินที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ไม่ว่าจะเป็นผืนป่าสักทองที่ให้สัมปทานมาตั้งแต่สมัยพม่าเป็นอาณานิคมของอังกฤษ หญิงชาวกะเหรี่ยงวัย 90 ปี คนหนึ่งเล่าว่า "สมัยพม่าเป็นอาณานิคมของอังกฤษนั้น พวกเขามาตัดไม้ในเขตพื้นที่ของพวกเรา แล้วปล่อยไม้ไหลไปตามแม่น้ำสาละวิน และคนไทยก็ทำเหมือนกันในฝั่งไทย" นอกจากนี้ยังมีไผ่และกระวานในเขตนี้ด้วย

KNU ได้ออก กฎในการรักษาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ เกี่ยวกับเรื่องการตัดไม้รอบๆหมู่บ้าน การเผาซากพืช เขตป้องกันไฟป่า การปลูกต้นสักและต้นไม้อื่นๆเพิ่มขึ้น การห้ามล่าสัตว์ การสงวนสัตว์หายาก และการห้ามล่าสัตว์ในฤดูผสมพันธุ์ แต่การเข้ามาของทหารพม่าทำให้ยากในการปฏิบัติตามกฎดังกล่าว และทหารพม่ายังทำลายป่าและสัตว์เพื่อไม่ให้เป็นที่หลบซ่อนและแหล่งอาหารของชาวบ้าน

นอกจากนี้ KNU ยังได้สงวนป่าให้เป็น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 2 แห่ง คือ ดากวิน ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน และ เลกวอ ที่เมืองดเวโลทางทิศตะวันตกของเขตอำเภอพะปุน ซึ่งพื้นที่เกือบทั้งหมดตกอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารพม่า

ชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร โดยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวกะเหรี่ยงเคารพคือ "ทีพอ กาคาซา" ที่ดูแลการจัดสรรที่ดินให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติสอดคล้องกับความต้องการใช้งาน เคารพธรรมชาติ โดยพื้นที่ป่าบางส่วนจะถูกจัดสรรเป็นป่าชุมชน

................................
สิ่งที่ชาวบ้านต้องเผชิญ
ก่อนหน้าปี 2535 ในรัฐกะเหรี่ยงมีฐานที่มั่นของ กองทัพพม่า เพียง 10 กองพัน แต่ปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 54 กองพัน ซึ่งในจำนวนนี้ 12 กองพัน ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน โครงการต่างๆของรัฐบาลพม่าทำให้ประชาชนท้องถิ่นถูกสังหาร หมู่บ้าน 210 แห่งถูกทำลายและชาวบ้านถูกบังคับให้ย้ายถิ่นไปยังแปลงอพยพ 31 แห่ง ซึ่งการเคลื่อนไหวต่างๆของชาวบ้านจะถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ชาวบ้านยังถูกบังคับใช้แรงงานและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ ในปี 2535อำเภอพะปุนมีประชากรประมาณ 107,000 คน ส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยง บางส่วนเป็นไทใหญ่และอื่นๆ แต่ปัจจุบันประชากรเหล่านี้ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนละ54,000 คน ร้อยละ 60 ของประชาชนเหล่านี้คือประมาณ 35,000 คน กลายเป็น ผู้พลัดถิ่นในประเทศ(IDP) ที่อาศัยอยู่ในป่า ต้องอยู่ด้วยความหวาดกลัว ว่าจะถูกพบเจอ ทรมาน และเข่นฆ่า ส่วนที่เหลือได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยและพื้นที่อื่นๆในประเทศพม่า

ในอดีตหมู่บ้านบนภูเขาสูงทางทิศตะวันออกของอำเภอพะปุน ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับจุดสร้างเขื่อนเป็นที่ตั้งของหมู่บ้าน 85 หมู่บ้าน ปัจจุบันเหลือเพียงหนึ่งในสี่ที่ยังมีประชากรอาศัยอยู่ ชุมชนส่วนใหญ่ที่เพาะปลูกและค้าขายตามแม่น้ำสาละวินได้หลบหนีเข้ามาในเมืองไทย พื้นที่เกษตรกรรมซึ่งอุดมสมบูรณ์ตามหุบเขาจำนวนมากถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างมานานนับ 10 ปี

ชาวบ้านที่เหลือกว่า 5,000 คน ต้องหลบหนีเข้าไปอยู่ในป่า และเผชิญกับภาวะขาดอาหารอย่างรุนแรงและปัญหาสุขภาพอื่นๆ ส่วนถนนไปยังพื้นที่สร้างเขื่อนถูกสร้างขึ้นโดยการบังคับใช้แรงงาน และมีการวางกับระเบิดตามแนวถนนด้วย การสร้างถนนนั้นเป็นงานหนักที่ชาวบ้านต้องแบกรับและยังต้องคอยเป็นเสมือนโล่คอยกวาดทุ่นระเบิดให้ทหารด้วย

..................................
เสียงเพรียกจากสาละวิน...
"การพัฒนา"
เป็นเรื่องหลักของรัฐบาลทหารพม่าที่นำเสนอทุกครั้งที่มีการเซ็นสัญญาหยุดยิงกับกลุ่มชาติพันุ์ต่างๆ และเป็นเรื่องหลักในการโฆษณาชวนเชื่อในการเข้าควบคุมประชาชน กระบวนการนี้เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นในการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองประเทศ ที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตย โครงการพัฒนาพื้นที่ตามแนวชายแดน (BAD) เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการใช้ของกองทัพรัฐบาลทหารพม่าเพื่อให้เป็นไปตามแผนในการเข้าถึงและควบคุมพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์

พล.อ.หม่องเอ พูดไว้ว่า "การสร้างเป็นเรื่องพื้นฐานทั้งหมดของประเทศที่จะส่งเสริมให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวได้"

ด้านพล.อ.เชาวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2545 ว่า " การร่วมมือกันพัฒนาจะทำให้พื้นที่ชายแดนเปิดมากขึ้น และจะช่วยขจัดคนกลุ่มน้อยที่เลวๆ และสิ่งเลวๆที่หลบซ่อนอยู่ตามแนวชายแดนทิ้งไปและทำให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น"

"ตอนนั้น มีกองพันทหารราบเบาที่ 48 ไคออง เข้ามาในหมู่บ้าน เรียกชาวบ้านและพูดว่ามาร่วมมือกับพวกเราเถอะ เพราะพวกเราจะสร้างเขื่อนที่เจ๊อะย๊ะ(เขื่อนสาละวินตนบน) แล้วพวกเราจะให้ชาวบ้านใช้ไฟฟ้าฟรี"
สัมภาษณ์ชาวบ้าน หมู่บ้านโฮ พุย เดอ กันยายน 2546

"พวกเราเขียนลงป้ายว่า พวกเราไม่ต้องการเขื่อน เป็นการปกป้องบ้านของพวกเรา และมีเจ้าหน้าที่ไทยคนหนึ่งเข้ามาและบอกให้พวกเราเอามันลง เขาบอกว่ามันไม่ดีแน่ถ้าทหารพม่ามาเจอ และผมก็ไม่อนุญาตให้พวกคุณหนีข้ามมาฝั่งไทยด้วย"
สัมภาษณ์นักกิจกรรมหญิงในท้องถิ่นจาก Salween Eyes มีนาคม 2547

"ฉันไม่ต้องการอะไรเลย ฉันแค่อยากมีชีวิตอยู่ อยากใช้ชีวิตอยู่ต่อไป อยากให้การสู้รบหยุดลงนั้น อยากให้ทหารพม่ากลับบ้านไปซะ ฉันจะได้อยู่อย่างสบายไม่ต้องวิตกกังวล"
สัมภาษณ์ชาวบ้าน หมู่บ้านโก เก มีนาคม 2547
..........................................
คนรวยมักจะสร้างเขื่อน
ทำให้น้ำท่วมไร่นา และคงอยู่ในผืนแผ่นดินของเราไม่ได้อีกต่อไป

คำพูดของบรรพบุรุษกะเหรี่ยง

*ถอดความบางส่วนจาก "Damming at Gunpoint" ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.salweenwatch.org
ขอบคุณเพื่อนที่ช่วยแปลโดยไม่ประสงค์จะออกนาม

จันลอง ฤดีกาล
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net