Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 14 ธ.ค.47 สกว.เปิดตัวงานวิจัยชิ้นแรกของชาวบ้านปัตตานี ระบุให้คนในคิดเห็นชี้แนะ โดยวิจัยชี้ "ทุกข์คนตานี" หวั่นนโยบายซีฟูดแบงค์ทำลายวิถีประมงพื้นบ้าน และการจัดระเบียบปอเนาะควรเน้นการมีส่วนร่วม

"สิ่งที่ทำวันนี้คือ คนในเขาคิดเห็นอย่างไร กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะมหาชนล้วนมองจากข้างนอกทั้งนั้น โดยไม่เห็นข้อความจริง ไม่รู้แล้วก็ไปตัดสิน" รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม หัวหน้าโครงการประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นกล่าวในงานเสวนาทางวิชาการจากนักวิจัยท้องถิ่นเรื่อง "ทุกข์ของคนตานี" สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)

รศ.ศรีศักร กล่าวต่อว่า เวลานี้เราแบ่งคนในปัตตานี ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่องได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผลประโยชน์ที่สงสัยว่ามีส่วนอุดหนุนความรุนแรง กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อาจร่วมก่อความรุนแรง สองกลุ่มนี้เราไม่รู้ว่าคือใคร กำหนดขอบเขตไม่ได้ แต่ที่เรารู้คือคนในพื้นที่ ของจริงที่อยู่ในท้องถิ่น ซึ่งได้รับความเดือดร้อนโดยที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจริงจัง จึงต้องเอาความเดือดร้อนของเขามาดูกันว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร

ทั้งนี้ ในเวทีเสวนามีการนำเสนองานวิจัยฯ กรณีศึกษาบ้านภูมี และบ้านดาโต๊ะ ในอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ซึ่งทำการศึกษาเป็นระยะเวลา 18 เดือน โดยมีรศ.ศรีศักร วัลลิโภดม เป็นหัวหน้าโครงการ และมีรศ.ดร.อคิน รพีพัฒน์ ดร.สุเทพ สุนทรเภสัช รศ.ปราณี วงษ์เทศ และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษา

นายมะรอนิง สาและ ครูโรงเรียนตาดีกา บ้านดาโต๊ะซึ่งตั้งอยู่ริมอ่าวปัตตานีกล่าวว่า อ่าวปัตตานีเป็นความภาคภูมิใจของชาวบ้าน เพราะมีประวัติศาสตร์ยาวนาน เคยเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในอดีต แต่ปัจจุบันกลับเป็นศูนย์กลางการแย่งอำนาจในการใช้ทรัพยากรอย่างไร้มนุษยธรรม โดยมีโรงงานที่ผลิตมลพิษอยู่โดยรอบถึงกว่า 50 โรง รวมทั้งนากุ้งจำนวนมาก

"เรืออวนลาก อวนรุนขนาดใหญ่ก็สร้างปัญหาให้ชาวประมงมาก ตอนนี้แม้แต่อาชีพการทำข้าวเกรียบซึ่งเป็นอาชีพหลักอย่างหนึ่งของท้องถิ่นก็ต้องซื้อปลาจากแพปลา ซึ่งได้มากจากเรือพาณิชย์พวกนี้อีกที นี่ยังไม่นับรวมโครงการซีฟูดส์แบงก์ที่กำลังจะเริ่มในเขตอ่าวปัตตานีเป็นโครงการนำร่องปี 2548 หายนะมันจะมาสู่คนรอบอ่าว ขนาดไม่มีโครงการนี้ก็ยากจนอยู่แล้ว" นายมะรอนิงกล่าว

นายมะรอนิงกล่าวด้วยว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ปฏิเสธโครงการนี้ เพราะการทำประมงไม่อาจถูกจำกัดพื้นที่ได้ อีกทั้งระบบการจัดสรรพื้นที่ประมงเช่นนี้ในที่สุดจะตกเป็นของนายทุนเกือบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านในหลายชุมชนมีการรวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวคัดค้านในรูปแบบของการยื่นเอกสาร โดยไม่เน้นพลังมวลชน เพราะไม่ต้องการให้รัฐบาลเบี่ยงเบนประเด็น

ส่วนนายชารีฟ บุญพิศ นักเรียนจากปอเนาะภูมี นำเสนองานวิจัยว่าด้วยความสำคัญของปอเนาะที่มีต่อชาวมุสลิม ซึ่งยกกรณีศึกษาปอเนาะในท้องถิ่น โดยระบุว่าปอเนาะเป็นสถานศึกษาที่เน้นการเรียนการสอนศาสนาในวิถีดั้งเดิม ซึ่งมาตรการของรัฐที่ให้ปอเนาะจดทะเบียนหลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้นั้น ไม่ถือว่าขัดกับความต้องการ เพราะเป็นสิ่งที่ปอเนาะต้องการแสดงความบริสุทธิ์ใจอยู่แล้ว

"แต่การจัดการกับหลักสูตรนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะในปอเนาะศึกษาจากคัมภีร์อัล กุรอาน และพระวัจนะ ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการดำเนินชีวิตของมุสลิม" นายชารีฟ กล่าว

นอกจากนี้งานวิจัยมีข้อเสนอแนะ 6 ข้อต่อแนวคิดที่จะให้มีการจัดการการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.)ในปอเนาะ คือ ให้มีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและคณะกรรมการอิสลามจังหวัด โดยจัดการศึกษาโดยเลือกบางกิจกรรม และแยกสภาพความต้องการของนักเรียนแต่ละคน และอาจพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมจากการหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนา โดยค่าใช้จ่ายต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับนักเรียน ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจน

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net