Skip to main content
sharethis

"สำหรับสังคมมุสลิม สิ่งที่ขาดและเปลี่ยนแปลงไม่ได้คือ ศาสนาและความศรัทธา เพราะเขาใช้ศาสนาในการดำเนินชีวิต มันไม่เหมือนข้ออ่อนของสังคมประชาธิปไตย ที่คาสิโนอาจเคยเป็นสิ่งผิด แต่หากวันหนึ่งเห็นว่าคาสิโนเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แล้วทำให้คนส่วนใหญ่เห็นด้วยก็เปิดได้"

ชารีฟ บุญพิศ นักเรียนจากปอเนาะภูมี กล่าวในงานเสวนาทางวิชาการจากนักวิจัยท้องถิ่นเรื่อง "ทุกข์ของคนตานี" สนับสนุนโดยกองทุนส่งเสริมการวิจัย (สกว.)

ชารีฟ เด็กหนุ่มวัย 25 ปีอยู่ที่บ้านภูมี อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เป็นหนึ่งในทีมงานวิจัย ภายใต้โครงการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม ที่มีรศ.ศรีศักร วัลลิโภคม เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งมุ่งเน้นให้ "คนใน" เป็นผู้วิจัยเรื่องราวภายในชุมชนของตนเอง

ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ ความแตกต่างในระบบความคิด ความเชื่อ ตลอดจนการจัดการที่ยากต่อการเข้าใจและเข้าถึง ยิ่งส่งเสริมข้อกล่าวหาในการเป็นแหล่งซ่องสุมและบ่มเพาะขบวนการแบ่งแยกดินแดนของ "ปอเนาะ" โดยที่คนในพื้นที่เองก็ไม่แน่ใจว่าสังคมหรือรัฐเองเข้าใจความหมายและความสำคัญของ "ปอเนาะ" ในระบบสังคมวัฒนธรรมของอิสลามหรือไม่

"ปอเนาะก็เหมือนกับวัด ที่มุ่งเน้นเรื่องของศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ซึ่งมีหัวใจหลักอยู่ 3 ส่วน คือ หนึ่ง หลักสูตรหรือตำราเรียนที่ใช้คัมภีร์อัล กุรอานและพระวัจนะในการศึกษา สองคือผู้สอนที่บริสุทธิ์ใจและไม่หวังผลตอบแทน สามคือ ผู้เรียนที่ศรัทธาและมุ่งมั่นในการเรียนศาสนา" ชารีฟกล่าว

หลังจากนั้นจึงเริ่มต้นปูพื้นฐานความเข้าใจต่อเรื่องนี้ว่า ปอเนาะเป็นสถานศึกษาที่มุ่งสอนในเรื่องของศาสนาเป็นหลัก โดยมีโต๊ะครู หรือที่เรียกอย่างใกล้ชิดว่า บาบอ เป็นผู้ให้การศึกษา โดยโต๊ะครูนี้ทำหน้าที่ครอบคลุมทั้งครูใหญ่ ผู้จัดการโรงเรียน และเป็นครูสอนหนังสือด้วยในเวลาเดียวกัน ขณะที่ "อุซตาส" จะเป็นครูหนุ่มที่สอนศาสนาเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ระบบปอเนาะอาจกล่าวได้ว่าเป็นการศึกษาตามอัธยาศัย เพราะเนื้อหาและเรื่องราวของศาสนามีมากมาย ผู้เรียนจึงสามารถเลือกเรียนแนวทางที่ตนสนใจเป็นพิเศษได้ และศึกษาได้ตลอดชีวิต

อีกทั้ง "ปอเนาะ" ยัง "ไม่มี" หลายสิ่งหลายอย่างที่มีในระบบการศึกษาทุกวันนี้ เช่น ไม่มีการแบ่งชั้น ไม่มีการสอบ นอกจากการประเมินความสามารถในการเรียนจากผู้สอน เราจึงเห็นเด็กวัยรุ่นเรียนร่วมบทเรียนกับคนอายุ 60 ได้ในปอเนาะ นอกจากนี้ยังไม่มีประกาศนียบัตรให้เมื่อจบการศึกษา ยกเว้นคำอนุญาตของโต๊ะครูที่บอกกล่าวให้ไปเป็นผู้สอนคนอื่นได้

ที่สำคัญคือ ไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะนักเรียนจะมาปลูกกระท่อมอยู่บริเวณบ้านโต๊ะครู จนเป็นที่มาของคำ "ปอเนาะ" อันหมายถึง กระท่อม หรือเรือนพักนักเดินทาง ภาวะเช่นนี้ทำให้ลูกหลานของคนยากคนจนมีโอกาสมาเรียนได้ไม่ยาก เพราะค่าใช้จ่ายอย่างเดียวที่มีคือ เรื่องการกินอยู่

และด้วยเหตุที่อยู่กันอย่างใกล้ชิด กำหนดเวลาเรียนของปอเนาะจึงครอบคลุมตั้งแต่ตี 5 ซึ่งเป็นเวลาแห่งการทำละหมาดครั้งแรกของวัน ไปจนถึงการละหมาดครั้งสุดท้ายในช่วงค่ำหรือราว 3 ทุ่ม

"ค่าใช้จ่ายในปอเนาะมีน้อยมาก ฉะนั้นเงินทุนสนับสนุนถือเป็นสิ่งเกินความจำเป็น หากจะให้ก็คงรับ แต่หากให้แล้วมีเงื่อนไขให้ต้องเปลี่ยนแปลงปอเนาะไปจากอุดมการณ์ดั้งเดิม เชื่อว่าคงไม่มีใครต้องการ" ชารีฟสรุป

"โลกหน้า" กำหนด "โลกนี้"

นอกจากเหตุผลที่ศาสนาอิสลามครอบคลุมรายละเอียดในการดำรงชีวิตของอิสลามิกชนแล้ว ชารีฟ กล่าวว่าทัศนะต่อโลกหน้าก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้คนยังคงก้าวเข้าสู่ประตูปอเนาะ แทนที่จะเข้าเรียนในสายสามัญที่ส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันในตลาดแรงงาน

ชารีฟกล่าวว่า ขณะที่การศึกษาสมัยใหม่ มุ่งเน้นการอยู่ในโลกนี้ แต่การศึกษาศาสนาอิสลามกลับมุ่งเน้นว่าจะใช้ชีวิตในโลกนี้อย่างไร เพื่อให้สบายในโลกหน้า อีกทั้งเป็นหน้าที่ของมุสลิมที่ต้องศึกษาหาความรู้นี้อย่างลึกซึ้ง

คำอธิบายนี้นำไปสู่คำตอบต่อนโยบายรัฐที่ต้องการให้ปอเนาะมีการเรียนการสอนวิชาชีพควบคู่ไปด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนว่า รัฐควรพัฒนาด้านอาชีพตามความต้องการของคนแต่ละกลุ่ม แต่ไม่ควรนำมาไว้ในปอเนาะ เพราะพื้นที่แห่งนี้ชัดเจนอยู่แล้วว่าคนที่เข้ามานั้นต้องการศึกษาศาสนาเป็นหลัก

"อย่างมากที่สุด อาจรองรับได้ในส่วนของวิชาสามัญพื้นฐาน" ชารีฟให้ความเห็น

"ปอเนาะ" ไม่ใช่ "โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม"

ในขณะที่ปอเนาะยังคงรักษาปรัชญาและวิถีทางแบบดั้งเดิมเอาไว้ได้มาก อีกด้านหนึ่งโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ก็นับว่าเป็นการประนีประนอมกับระบบการศึกษาสมัยใหม่ ที่ผนวกเอาหลักสูตรสามัญควบคู่กับการเรียนการสอนศาสนาอิสลาม และได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากภาครัฐ

ชารีฟให้ข้อมูลว่า การแปรสภาพปอเนาะบางส่วนให้เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เริ่มขึ้นในพ.ศ.2508 โดยครั้งนั้นยังเรียกว่า โรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม และเปลี่ยนชื่อภายหลังในปี 2526

"แต่ปอเนาะหลายแห่งก็ยังไม่ยอมรับการแปรสภาพ เพราะเห็นแล้วว่า โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามไม่สามารถรักษาอุดมการณ์ดั้งเดิมไว้ได้ ทั้งในแง่ความเคร่งครัดของศาสนา และการเก็บค่าเล่าเรียน ความห่างเหินกับชุมชน" ชารีฟกล่าว

---------

นี่คือภาพคร่าวๆ ของ "ปอเนาะ" ที่สะท้อนออกมาโดย "คนใน" ที่พร้อมจะเปิดประตูและแนะนำเรื่องราวต่างๆ ที่ซ่อนตัวอย่างเงียบเชียบในปอเนาะ

"แต่ต้องเข้าใจว่า มีปอเนาะอีกมากที่ค่อนข้างเก็บตัว และไม่ได้สื่อสารกับข้างนอก โต๊ะครูบางคนที่มีอายุมาก พูดไทยแทบจะไม่เป็น ก็ไม่สามารถทำความเข้าใจกับราชการได้ แต่ทั้งหมดที่โต๊ะครูส่วนใหญ่ต้องการก็คือขอให้ได้สอนหนังสือ"

"เราเชื่อว่าถ้ามุสลิมซึ้งในหลักของอิสลามจริง เขาจะไม่สร้างปัญหา คนมุสลิมที่แท้จริงมีแต่ให้ แต่อาจมีบางคนที่เขาใจแคบและต่ำอยู่" " อาจารย์มูฮำหมัด อาดำ โต๊ะครูจากปอเนาะภูมีกล่าวในฐานะครูคนหนึ่งในพื้นที่ที่ร้อนระอุ

แต่ปัญหาหนึ่งที่พบก็คือ การให้ข้อมูลเหล่านี้เคยเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ดูเหมือนไม่ได้ช่วยส่งเสริมความเข้าใจในทางปฏิบัติ

"ตามวงสัมมนาเราคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มหนึ่ง แต่ในพื้นที่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง" ชารีฟกล่าวถึงปัญหาที่เคยเกิดขึ้น และดูเหมือนจะไม่แตกต่างจากวงสัมมนาในวันนี้เท่าไรนัก

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net