Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประกาศ ร. 4 การสื่อสารคืออำนาจ

"เราจะเห็นว่าพระจอมเกล้าทรงใช้ประกาศเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างพระองค์กับผู้อยู่ใต้ปกครองของพระองค์ กลุ่มต่าง ๆ อย่างที่ไม่เคยมีจารีตเช่นนี้มาก่อนในสยาม และประเด็นต่อไปคือประกาศเหล่านี้มีความกว้างขวางและสารสื่อเข้าถึงราษฎร และผู้รับสารโดยเฉพาะได้มากกว่าสมัยก่อน ทั้งนี้เพราะการมีเครื่องพิมพ์ของหลวงเองในสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นี่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมากของสยามที่มีเครื่องพิมพ์เข้ามา" ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าว

"หากรัชกาลที่ 4 ท่านอยู่ในบริบทของเราสิ่งที่ท่านทรงDialogue(พระราชปฏิสันถาร) กับราษฎร ก็จะคล้าย ๆ กับรายการคุยกับประชาชนวันเสาร์ ถ้าเป็นของอเมริกาก็คือรายการ ของ ประธานาธิบดี แฟรงคลินท์ ดีรูสท์เวลท์ คือ การคุยกับราษฎรในทุก ๆ เรื่อง" รศ.ดร.ธเนศเปรียบเทียบโดยมีบทวิเคราะห์ว่า

ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 สะท้อนว่า ผู้ปกครองในขณะนั้นเริ่มคิดถึงเรื่องการสื่อสาร ถ่ายทอดถึงความต้องการ อำนาจ หรือเป้าหมายลงไปยังคนจำนวนมาก และในกรณีของรัชกาลที่ 4 หลังจากขึ้นครองราชย์แล้วสิ่งที่ปรากฏในประชุมประกาศ เอกสารสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราชกิจจานุเบกษา เป็นการบอกเน้นความต้องการว่าต้องการสื่อสาร ข้อความและจดหมายทางการเมืองเหล่านั้นไปถึงผู้รับคือราษฎรซึ่งก็คือผู้อยู่ใต้ปกครองโดยทางตรง ไม่ต้องผ่านตัวแทน ไม่ต้องผ่านพิธีกรรมตามประเพณีเดิม

การพยายามสื่อสารทางตรงนี้เอง เป็นสิ่งแสดงว่ากลุ่มผู้เริ่มปกครองเริ่มมองเห็นการก่อรูปขึ้นของผู้อยู่ใต้ปกครองที่เป็นนามธรรมมากขึ้น ทั้งนี้ดร.ธเนศเปรียบเทียบประชุมประกาศกับกฎหมายที่เคยประกาศใช้ก่อนหน้านี้ซึ่งปรากฏว่า กฎหมายก่อนหน้าประชุมประกาศจะระบุถึงผู้อยู่ใต้ปกครองที่มีลักษณะเป็นรูปธรรมมาก เช่น ข้า ทาส บ่าว ไพร่ ทุกคนมีสังกัดแน่นอน แต่แนวคิดใหม่ที่มากับรัฐใหม่ที่เกิดขึ้น ระบุถึงผู้อยู่ใต้ปกครองที่เป็นนามธรรม คือ คำว่าพลเมือง ซึ่งระบุไม่ได้ว่าใครอยู่ตรงไหน

ทั้งนี้ การที่ผู้ปกครองสามารถมองเห็นผู้อยู่ใต้ปกครองอย่างเป็นนามธรรมได้เพราะเขารู้ว่าตัวเองมีเทคโนโลยีหรือมีความสามารถในการทำให้การสื่อสารนั้นลงไปถึงมวลราษฎรเกิดเป็นจริงได้

และเทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่สร้างอำนาจในการสื่อสารในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็คือคือแท่นพิมพ์ เทคโนโลยีการพิมพ์สมัยใหม่ที่มาพร้อมหมอบรัดเลย์

...และจากนั้นไปการคิดเรื่องใหม่ ๆ ก็จะตามมาเพราะการพิมพ์นั้นจะสร้างมาตรฐานหรือระเบียบทั่วไปของเรื่องนั้นขึ้นมา เช่นการเขียน การสะกดการันต์ ไปจนถึงการสร้างนโยบายต่างๆ

"ความฝันของบรรดารัฐสมัยใหม่ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นตะวันออกหรือตะวันตก คือ ความสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้อยู่ใต้ปกครองด้วยแนวคิดทั่วไปได้ อำนาจที่แท้จริงของผู้ปกครองไม่ต้องถูกตัดทอน แบ่งแยก ตีความและแอบอ้างโดยคนของรัฐอีกต่อไป นี่คือทฤษฎีในทางปฏิบัติ แต่ผมคิดว่าในความเป็นจริงแล้วมันก็ยังไม่สามารถทำได้ถึงขนาดนั้น"
ดร.ธเนศกล่าวและอธิบายต่อไปว่าอย่างไรก็ตาม การสนทนากับประชาชนนั้น ถ้าผู้ทำการสนทนาไม่มีเป้าหมายที่เด่นชัดก็จะไม่เกิดผลประโยชน์เท่าใดนัก แต่สิ่งที่รัชกาลที่ 4ทรงกระทำนั้น มีความพยายามและมีผลงานออกมาจนกระทั่งเป็นรากฐานของการปกครองในปัจจุบันนี้หลายเรื่อง เช่นการพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อจะแก้การที่มีคนโกง และใช้อำนาจตามอำเภอใจ สร้างความไม่เป็นธรรม ทำให้ราษฎรไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วกฎหมายเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นการพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาก็คือการกำกับอำนาจการปกครองให้เป็นมาตรฐานอันเดียวกัน ให้เกิดความรับรู้ทั่วไป ชาวบ้านก็รู้ได้ แล้วก็รู้กันเองด้วย ไม่ใช่รู้ด้วยปากเป่า แค่การไปป่าวประกาศไม่พอ เพราฉะนั้นทุกคนต้องขวนขวายที่จะรู้ที่จะอ่าน

"รัชกาลที่ 4ทรงพยายามที่จะแก้ปัญหาเกี่ยวกับความไม่รู้ และเข้าใจผิด โดยทรงพยายามสร้างความเข้าใจและความจริง ทว่าสิ่งที่พระองค์เพียรกระทำนั้นบรรลุผลหรือไม่ เป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นหลักการตามตัวหนังสือ" ดร.ธเนศกล่าวถึงผลสัมฤทธิ์ของความพยายามซึ่งไม่อาจชี้วัด และกล่าวถึงมาตรวัดประการหนึ่งว่าหากบรรลุตามที่รัชกาลที่ 4 ต้องการ ผลของการที่รัชกาลที่ 4 ทรงพยายามสร้างความรู้และการสื่อสารจะต้องยกระดับการเมืองให้สูงขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่นี้ในระดับที่สูงมาก แต่ก็จะพบว่าหลังรัชกาลที่ 5 มาเราก็จะพบว่าระบบเศรษฐกิจและการเมืองเริ่มจะถอยหลัง ฉะนั้นพระอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ 4 เมื่อประเมินกับระบบการเมืองที่เป็นจริงแล้วนั้นก็เป็นปัญหาเหมือนกับปัญหาทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับระบบทางการเมืองของเราซึ่งก็เป็นระบบบนลงล่างอยู่ตลอดมา......

"การสื่อสารคืออำนาจ ทั้งความรู้คืออำนาจและการสื่อสารคืออำนาจนำไปสู่กระบวนการผลิตซ้ำทางสังคม นับตั้งแต่หลังจากพระองค์เสด็จสวรรคต โดยการตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาในสมัยรัชกาลที่ 5 และตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ใช้เป็นคู่มือแบบเรียนของชนชั้นนำทางสังคมจนกระทั่งถึงปัจจุบัน.. .ถ้าเราอยากรู้ว่าตัวตนของเราคืออะไรในปัจจุบัน อ่านประชุมประกาศรัชกาลที่ 4" ผศ.ธำรงศักดิ์ให้คำจำกัดความ "อำนาจ" ของประชุมประกาศรัชกาลที่ 4...อำนาจที่ส่งผลกำกับ "ความเป็น" ของคนไทยและสังคมไทยตราบกระทั่งปัจจุบัน

พิณผกา งามสม
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net