Skip to main content
sharethis

ประชาไท-15 ธ.ค. 47 จากกรณีที่มีการรายงานข่าวเรื่องการประชุมคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง(กบร.) เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.47 โดยมีรายงานผลการตรวจสุขภาพของกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มาจดทะเบียนเพื่อขออนุญาตทำงาน ซึ่งพบว่ามีแรงงานหญิงที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ 9,383 ราย และโรคติดต่อต้องห้ามมิให้ทำงานตามกฎหมายอีก 809 ราย

โดยที่ประชุมมีแนวทางให้ดำเนินการส่งกลับกลุ่มผู้ป่วยฯกลับประเทศต้นทาง ส่วนกรณีแรงงานหญิงที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ ในรายงานข่าวกล่าวว่าประธานกบร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานเห็นว่าควรดำเนินการส่งกลับ ในขณะที่สภาความมั่นคงแห่งชาติไม่เห็นด้วยต่อแนวคิดดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยกับการส่งกลับ แต่ให้จัดทำเป็นการลับ พร้อมตั้งคณะ อนุกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาดูแล

เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) และมูลนิธิผู้หญิง ออกแถลงการณ์ ระบุว่าจากมติดังกล่าวได้สร้างความกังวลต่อแนวทางการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติของประเทศไทย โดยเฉพาะมาตรการการส่งกลับแรงงานหญิงข้ามชาติที่ตั้งครรภ์นั้นย่อมส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพด้านอนามัยเจริญพันธุ์ และด้านสาธารณสุขของสังคมไทยโดยภาพรวม

"มาตรการการส่งกลับ จะนำมาซึ่งการลักลอบทำแท้งอย่างไม่ปลอดภัย รวมทั้งจะมีการหลบซ่อนตัวของกลุ่มแรงงานเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้กระบวนการการควบคุมโรคติดต่อ และมาตรการความปลอดภัยทางสังคมอื่น ๆทำได้ลำบากขึ้น และเป็นมาตรการที่ถดถอยอย่างรุนแรงต่อแนวทางการจัดการแรงงานข้ามชาติที่พัฒนามาเกือบหนึ่งทศวรรษ" รายงานระบุ

แถลงการณ์ระบุอีกว่า มาตรการดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ขัดกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งระบุไว้ในรธน. ตลอดจนขัดกับหลักการของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยรับรองให้สัตยาบันและเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาประชาคมโลก

ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติและสิทธิมนุษยชน มีข้อเสนอเพื่อดำเนินการ คือ ยุติการส่งกลับแรงงานหญิงที่ตั้งครรภ์ และยกเลิกการตรวจสอบการตั้งครรภ์เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

กรณีแรงงานที่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง ต้องมีการดูแลรักษาเบื้องต้น และติดตามเพื่อให้เกิดการดูแลรักษาอย่างจริงจัง เพื่อให้การดำเนินการควบคุมและป้องกันโรคติดต่อดำเนินการอย่างได้ผล เพราะการดำเนินการส่งกลับไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้ หากไม่มีมาตรการในการควบคุมป้องกันที่เหมาะสม ย่อมส่งผลกระทบถึงประชาชนไทยโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่บริเวณแนวชายแดน

กบร. ต้องปรับปรุงโครงสร้างให้ความหลากหลายและเกิดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและใกล้ชิดกับเรื่องแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากปัญหามีความซับซ้อน เพื่อให้มุมมองต่อการจัดการมีความครอบคลุมต่อปัญหามากขึ้น

แนวนโยบายการบริหารแรงงานข้ามชาติ ต้องอยู่บนฐานหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน ควบคู่ไปกับฐานด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง และคำนึงถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดการย้ายถิ่นที่มีความหลากหลายมากกว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัจจัยที่มีส่วนผลักดันจากประเทศต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรม

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net