Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ที่จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.47 รับทราบการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เสนอ

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 เห็นชอบในหลักการที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎร หมู่บ้านหัวฝาย หมู่บ้านหัวคิง หมู่บ้านห้วยเป็ด และหมู่บ้านหัวฝายหลายทุ่ง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง จำนวนประมาณ 669 ครอบครัว ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบของโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ในการอพยพไปอยู่ที่แห่งใหม่ โดยรัฐบาลได้จัดหาพื้นที่รองรับและช่วยดำเนินการย้ายและก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้ แต่จะไม่จ่าย ค่าชดเชยใด ๆ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) รับไปดำเนินการกำกับและติดตามเรื่องดังกล่าวร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2547 รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ได้เดินทางไปโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เพื่อประชุมหารือแนวทางการดำเนินการร่วมกับผู้แทนกระทรวงพลังงาน ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีประจำเขตตรวจราชการที่ 1 ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 4 และเขต 5 จังหวัดลำปาง ผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง กลุ่มราษฎรที่ต้องการอพยพ และกลุ่มราษฎรที่ไม่ต้องการอพยพแล้ว ได้ผลสรุปดังนี้

1. กลุ่มราษฎรที่ต้องการอพยพ จำนวน 669 ครอบครัว รับรองว่ายินดีจะอพยพย้ายถิ่นฐานไปยังพื้นที่ที่รัฐบาลจัดสรรให้ (บริเวณเขตอำเภอเมืองลำปาง อำเภอแม่เมาะ และอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง) โดยให้รัฐบาลดำเนินการจัดหาพื้นที่ ขนย้ายทรัพย์สินและก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ แต่ราษฎรจะไม่ได้รับค่าชดเชยในการขนย้ายทรัพย์สิน และ ค่าก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่

2. การจัดสรรพื้นที่และขนาดบ้านพัก ยึดตามจำนวนสมาชิกในครอบครัว โดยรัฐบาลจะสร้างบ้านตัวอย่าง เพื่อประกอบการพิจารณา และจะจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ส่วนกลางเพื่อการทำกินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และให้บริการด้านสวัสดิการอื่น ๆ เช่น ร้านค้า ตลาด โดยอาจนำรูปแบบสหกรณ์มาใช้ในชุมชนแห่งใหม่นี้ ทั้งนี้ การจัดสรรพื้นที่ดำเนินการโดยการจับสลาก และราษฎรที่ต้องการอพยพจะดำเนินการกันเอง

3. เจ้าหน้าที่ระดับสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รับหลักการและเงื่อนไขของกลุ่มราษฎรที่ต้องการอพยพ โดยจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ โดยเฉพาะการอพยพและการก่อสร้างบ้านเรือนในสถานที่ใหม่ และจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการเรื่องสาธารณูปโภค ได้แก่ สถานศึกษา สถานพยาบาล สถานีตำรวจ และอื่น ๆ เพื่อให้การดำเนินการอพยพราษฎรเป็นไปโดยเร็ว และตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนแห่งใหม่มากที่สุด

อีกทั้งจะรับผิดชอบในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการพัฒนาพื้นที่เดิมที่ราษฎรไม่ต้องการอพยพให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเติบโตของชุมชน ได้แก่ การสนับสนุนการจัดสร้างศูนย์อาชีวะเวชศาสตร์ วิทยาลัยอาชีวะศึกษาแม่เมาะ และส่งเสริมการพัฒนาอาชีพสำหรับราษฎรในพื้นที่

4. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางเป็นผู้ประสานงานการอพยพขนย้าย โดยใช้กำลังทหารช่างและนักศึกษาในการดำเนินการ สำหรับในชั้นนี้ให้เร่งประสานงานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อออกแบบบ้านที่จะก่อสร้าง และสำรวจจัดสรรที่ดินเพื่อการจับฉลาก โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดำเนินการเป็นกรณีเร่งด่วน ทั้งนี้ การดำเนินการอพยพราษฎรตามโครงการนี้ รัฐบาลจะถือเป็นต้นแบบในการอพยพราษฎรที่เกิดจากความสมัครใจและร่วมมือของราษฎร และรัฐบาลจะถือเป็นแนวทางการดำเนินการอพยพ และจัดสรรที่อยู่ใหม่ให้แก่ราษฎรสำหรับการอพยพราษฎรตามโครงการอื่นๆ ในอนาคตต่อไป

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net