Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มีจดหมายฉบับหนึ่งจากทหารเยอรมันซึ่งอยู่ในเขตสมรภูมิรบอันหนักหน่วงส่งมาถึงทางบ้าน เนื้อความในจดหมายมีประโยคหนึ่งกล่าวว่า "ทุกวันนี้ ผมสวดมนต์ภาวนา ขออย่าให้ตนเองได้หมดความเชื่อมั่นในมนุษยชาติ" สภาพเดียวกันนี้เป็นเช่นเดียวกับพระภิกษุชราชาวทิเบตรูปหนึ่งซึ่งถูกทหารจีนจับไปขังและทรมานนับสิบปี เมื่อถูกปล่อยตัวเดินทางออกจากทิเบตมาพบกับท่านทะไลลามะ ท่านกล่าวว่าสิ่งที่ท่านหวาดกลัวที่สุดมิใช่ทัณฑกรรมที่ทหารจีนกระทำต่อท่าน หากแต่เป็นจิตใจของท่านเอง ท่านต้องต่อสู้และอดทนอย่างมากที่จะไม่ให้ความโกรธเกลียดเคียดแค้นชิงชังมนุษย์เกิดขึ้นภายในใจ

ปัญญาญานเช่นเดียวกันนี้ได้เปล่งประกายฉายชัดในช่วงสงครามเวียดนาม เมื่อพระติช นัท ฮันห์ พยายามกล่าวย้ำเตือนกับทุกฝ่ายว่าศัตรูที่แท้จริงของเราไม่ใช่มนุษย์ด้วยกันเอง หากแต่เป็นความโกรธเกลียดภายในจิตใจ ดังที่ปรากฏอยู่ในบทกวี "ในมือสองของฉัน" ซึ่งท่านเขียนขึ้นหลังจากได้ฟังข่าวเมืองเบ็นตรีถูกทิ้งระเบิด และเจ้าหน้าที่ทหารอเมริกันแถลงว่า "เราจำต้องทำลายเมืองเพื่อรักษามันไว้"

ฉันปิดหน้าด้วยมือสอง

เปล่า ฉันมิได้ร้องไห้

ฉันปิดหน้าด้วยมือสอง

เพื่อความอ้างว้างได้อบอุ่น

สองมือปกป้อง

สองมือถนอมเลี้ยง

ดวงวิญญาณฉัน

มิให้โกรธเกรี้ยว

จาก เรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง โดย ติช นัท ฮันห์ แปลโดย ร. จันเสน

ปัจจุบัน สังคมไทยก็กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายอันยิ่งใหญ่ วิกฤติการณ์ในภาคใต้ได้นำพาชาวไทยมาประจันหน้ากับสัตว์ร้ายในตัว นั่นคือ ความโกรธเกลียด ซึ่งทำให้มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น มองผู้ที่เห็นต่างจากตนเป็นดังศัตรู และต้องกำจัดไปให้พ้นแผ่นดิน ให้พ้นจากอิสรภาพ และจากความมีชีวิต

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ของกลุ่มนักศึกษาและนักวิชาการทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งเรียกร้องให้ชนชั้นปกครองเปลี่ยนทัศนคติในการมองปัญหา ยกเอาความเป็นปึกแผ่นของบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง และเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายในสังคมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ถือได้ว่าเป็นนิมิตหมายอันดี เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของวัฒนธรรมการแสดงความคิดเห็น

ครั้นเมื่อรัฐบาลเปิดหัวใจที่จะรับฟังความเห็นที่แตกต่างจากกลุ่มนักวิชาการ ก็ถือว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งในการเรียนรู้ที่จะร่วมมือกัน ด้วยการลดการเผชิญหน้า หันหน้ามาเจรจากัน แทนการกล่าวโทษอีกฝ่ายหนึ่ง

เหล่านี้แหละ คือตัวอย่างของสันติวิธี ที่หลายคนกำลังตั้งคำถามอยู่ว่าจะเป็นสิ่งที่จะช่วยแก้ไขวิกฤติการณ์ภาคใต้ได้อย่างไร

สันติวิธีหรืออหิงสธรรมเป็นเทคโนโลยีของมนุษย์ในการแก้ไขปัญหาความรุนแรง สันติวิธีต้องใช้ปัญญามาก ต้องใช้กระบวนการคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์มาก ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นเหตุและผลมาก เพราะหากมนุษย์ขาดสติปัญญา เต็มไปด้วยอารมณ์โกรธเกรี้ยว ก็ย่อมมิอาจใช้เหตุผลแยกแยะการกระทำที่ต่ำช้าออกจากความดีงามได้

รูปธรรมของสันติวิธีนั้นมีมากหลาย เพราะสิ่งที่ปราศจากความรุนแรง มิได้เป็นเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดความบีบคั้นเบียดเบียนทางโครงสร้าง ก็ถือว่าเป็นสันติวิธีทั้งสิ้น ดังที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า non-violence สันติวิธีก็คือ มรรคาที่ประกอบด้วยความเมตตากรุณานั่นเอง

การสร้างความเข้าใจระหว่างกัน การกำจัดความโกรธเกลียด การสร้างความปึกแผ่นสมานฉันท์ของผู้คน การเยียวยารักษาบาดแผลทางประวัติศาสตร์ ก็เป็นหนทางของสันติวิธี

มีผู้เสนอหนทางแก้ไขปัญหาภาคใต้มากมายที่อยู่บนมรรควิถีของสันติวิธี ดังเช่น การรับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่เพื่อทำนโยบายสาธารณะ การเปิดเวทีให้พูดประเด็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ การกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น การจัดหลักสูตรการศึกษาที่อิงวัฒนธรรมท้องถิ่น การสร้างความเป็นธรรม ฯลฯ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น ตามความต้องการของผู้คนในพื้นที่เอง อันจะนำประโยชน์สูงสุดมาสู่ท้องถิ่นและสังคมโดยรวม

การประณามผู้ที่เห็นแตกต่างจากตนว่าเป็นศัตรู ความรู้สึกสะใจในความตายของมนุษย์ด้วยกัน และการปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกันอย่างไร้มนุษยธรรม ด้วยเหตุผลที่ว่า เขามีความคิด ความเชื่อ และปฏิบัติผิดแผกไปจากกติกาและมาตรวัดของเรา นั้นย่อมเป็นเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรงเป็นลูกโซ่ต่อเนื่อง

ความคิดเห็นสาธารณะที่แสดงต่อเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ภาคใต้ และต่อบทบาทในการแสดงความเห็นของกลุ่มนักวิชาการ นั้นถือได้ว่าเป็นดรรชนีแสดงความรุนแรงอันเกิดจากอำนาจแห่งความโกรธเกลียดในสังคมไทย ความเห็นที่รุนแรงย่อมไม่อาจแก้ปัญหาได้ เราต้องสำเหนียกว่า วิถีพุทธนั้นมิได้ถือว่าเสียงข้างมากเป็นสัจจะความจริง มิฉะนั้นแล้ว พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์คงกลายเป็นคนขี้ฉ้อ ประชาธิปไตยก็มิได้ถือว่าเสียงข้างมากคือความถูกต้อง หากแต่ถือว่าเป็นการให้พื้นที่กับทุกเสียง หัวใจของประชาธิปไตยก็คือการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย

สุภาพชนนั้นแม้จะมีความเห็นแตกต่างกัน แต่ก็อยู่ร่วมกันได้ ทุรชนนั้นมีความเห็นเหมือนกัน แต่อยู่ร่วมกันไม่ได้ ดังนี้ กลุ่มนักวิชาการ ๑๔๔ คน แม้จะเป็นผู้ชำนาญการในสาขาที่แตกต่างกัน มีความเห็นแตกต่างกัน แต่ก็มีจุดยืนอยู่บนความกล้าหาญทางจริยธรรมร่วมกัน มองเห็นผลประโยชน์ของบ้านเมืองร่วมกัน เขาจึงลงชื่อร่วมกันในจดหมายฉบับเดียวได้ เรียกได้ว่ามีความสง่าห้าวหาญดังราชสีห์ จะย่างเยื้องไปทางใดก็เต็มไปด้วยความโอ่อ่าผ่าเผย และยิ้มรับอวิชชาเดรัจฉานได้ด้วยอำนาจแห่งกรุณา

จะเกิดอะไรขึ้น หากเราคิดว่าปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องของรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียว จะเกิดอะไรขึ้น หากนักวิชาการขาดความกล้าหาญทางจริยธรรม ไม่ให้ความสนใจกับปัญหานี้ ไม่รวมกลุ่มกันเสนอหนทางแก้ไขปัญหาต่อสังคม จะเกิดอะไรขึ้น หากสังคมไทยทำลายต้นทุนทางปัญญาของตน ด้วยการขังนักศึกษาและนักวิชาการไว้ในห้องเรียน ขังผู้นำทางจิตวิญญาณไว้ในวัดหรือโบสถ์ จะเกิดอะไรขึ้น หากสื่อมวลชนขาดสติปัญญา มุ่งเสนอข้อเท็จจริงที่เป็นไปเพื่อความเกลียดชัง มากเสียยิ่งกว่าการสร้างความเข้าใจต่อปัญหาซึ่งเป็นหนทางในการเข้าถึงสัจจะความจริง และจะเกิดอะไรขึ้น หากสังคมไทยเลือกที่จะประหารความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น เหยียบย่ำความคิดเห็นที่ไม่ถูกจริตของตน แทนที่จะประหารสัตว์ร้าย คือ ความโกรธเกลียด ในหัวใจของตน

วาระนี้ ประวัติศาสตร์และกาลเวลาจะเป็นผู้บันทึกไว้

ชลนภา อนุกูล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net