Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประกาศรัชกาลที่ 4: การสถาปนารัฐสมัยใหม่ และการกำหนดช่วงชั้นทางสังคม

รศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวถึงการทำความเข้าใจประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ว่า ต้องพิจารณาจากบริบทความเปลี่ยนแปลง 2 ด้าน คือ

ด้านแรก ตัวประชุมประกาศเองแสดงให้เห็นบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 2 ระดับด้วยกัน

-การเปลี่ยนแปลงระดับแรก คือ การเปลี่ยนรูปรัฐมาเป็นรัฐบาล จากรัฐที่ครั้งหนึ่งไม่จำเป็นต้องมีบริการ(Service) และ การควบคุม (Control)

ก้าวสู่ความเป็นรัฐบาลด้วยการบริการและควบคุม

รัฐดั้งเดิมที่ปราศจากการบริการและการควบคุมนั้นจะเข้าใจได้ง่ายขึ้นหากจินตนาการถึง รัฐแบบอยุธยา คือรัฐที่มีการเก็บส่วยไปแต่ไม่ต้องสร้างโรงพยาบาล

การเริ่มเปลี่ยนมาเป็นรูปจากรัฐมาเป็นรัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 4 หมายถึงการสร้างงานขึ้นมาอย่างน้อย 2 ด้านคือการบริการและควบคุม (Service และ Control) ซึ่งเห็นชัดจากประชุมประกาศฯ เช่น การประชุมประกาศที่เก็บภาษีเพื่อสร้างบริการ คำว่าทำนุบำรุงบ้านเมืองหรือทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุขก็คือความหมายของการเปลี่ยนรูปเป็นรัฐบาลที่ต้องทำหน้าที่บริการและควบคุม

เราจะเห็นได้ชัดว่าการเปลี่ยนรูปของรัฐมาเป็นรัฐบาลโดยเฉพาะด้านการควบคุมเป็นร่องรอยแรกที่เกิดขึ้นและดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ด้านการควบคุมนั้น ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนเริ่มต้นมาจากการแบ่งช่วงชน ชนชั้น หรือการแบ่งช่วงของชนในสังคม ประเด็นที่ถูกเน้นย้ำที่สุดก็คือการยกระดับของสถาบันกษัตริย์ขึ้นมา อ้างอิงความบริสุทธิ์ของสายเลือด ขีดเส้นแบ่งระหว่างราชวงศ์กับหม่อมราชวงศ์ลงมาการยกระดับการพูดถึงวันเฉลิมเป็นวันหยุด นั่นคือการแบ่งช่วงของคนในสังคมให้ชัดเจนมากขึ้น

นอกจากการควบคุมและการแบ่งช่วงของสังคม ก็ยังมีการสร้างพื้นที่ของสังคมขึ้นมา เราจะพบว่า ในประชุมประกาศความสะอาดความสกปรก มีการพูดถึงพื้นทางทางสังคมในหลายมิติ ในการควบคุมพฤติกรรมของคนก็มีมีการพูดถึงความสุภาพ หยาบคายและบทบาทของรัฐในการควบคุมก็คือพยายามทำให้สกปรกหายไปกลายเป็นความสะอาดทำให้ความหยาบคายหายไปกลายเป็นความสุภาพ

การควบคุมแบบนี้คือการสร้างพื้นที่แบบหนึ่งซึ่งกลายเป็นพื้นที่ที่รัฐจะต้องเข้าไปดูแลซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ แต่ถูกเน้นขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ...รัฐมีหน้าที่ทำนุบำรุงโดยการสร้างพื้นที่และรัฐเป็นคนดูแล

ด้านการบริการ ที่เกิดขึ้นคือส่งเสริมการค้าขาย บริการด้านความสะอาด การส่งเสริมด้านสมบัติส่วนบุคคล และที่น่าสนใจก็คือความรู้เรื่องสุขภาพอนามัยซึ่งเริ่มเป็นความรู้ที่เข้าไปสู่เรื่องของตัวบุคคลมากขึ้น

"นอกจากเรื่องควบคุมและบริการแล้ว ผมคิดว่ามีการพยายามที่จะจัดกระบวนใหม่ในการช่วงที่ระบบไพร่พังทลายลง เราจะพบการประกาศในเรื่องของมูลนาย ไพร่ จีน เจ้าภาษี ซึ่งเป็นความปั่นป่วนของระบบไพร่ โดยรัชกาลที่ 4 พยายามที่จะจัดการด้วยการขยายอำนาจรัฐลงไปมากขึ้น นี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนระบบไพร่มาสู่ระบบใหม่"

-การเปลี่ยนแปลงระดับล่าง เนื่องจาก ในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนเป็นรัฐสมัยใหม่ ไม่มีใครมีอำนาจเด็ดขาด ดังนั้นใครสามารถช่วงชิงพื้นที่ได้ก็จะมีอำนาจมากขึ้น ในช่วงนั้นเอง อนาคตของขุนนางก็ไม่ได้วางอยู่บนฐานเศรษฐกิจแบบส่วยและแรงงานแบบเดิมแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับระบบตลาด ดังนั้นขุนนางจึงแตกเป็นกลุ่ม ไม่มีใครมีอำนาจเด็ดขาด

ประชุมประกาศของรัชกาลที่ 4 สามารถทำให้ทุกคนเห็นซึ่งกันและกันได้ ด้วยการหยิบเอาเรื่องนินทาขึ้นมาประกาศให้ทุกคนรู้ และการที่ทำให้ทุกคนเห็นซึ่งกันและกันได้ก็สามารถลดปัญหาเรื่องการรวมกลุ่มเพื่อแย่งอำนาจ และยิ่งจะทำให้การเมืองภายในกลุ่มต่าง ๆ ลดลง กระบวนการเปิดทำให้ทุกคนหยั่งรู้ได้ว่าใครจะเดินไปทางไหนและพระองค์ก็สามารถหยั่งรู้ได้มากกว่าคนอื่น ๆ ด้วย

อีกด้านของอำนาจ: เวลากับความรู้

นอกจากการแบ่งช่วงชั้นสร้างพื้นที่ทางสังคมแล้วอีกประการที่สำคัญ คือ ร.4 พยายามที่จะควบคุมเวลา การอธิบายเวลาที่เป็นมาตรฐานเดียวหรือพยายามที่จะทำให้เป็นมาตรฐานเดียว สามารถ จัดปฏิทินชีวิตของคนไทยขึ้นมาได้ สามารถทำให้แต่ละจังหวัด แต่ละช่วงใน 1 ปี ถูกกำกับโดยพระมหากษัตริย์

การควบคุมเวลาได้หมายถึงการมีอำนาจมากขึ้น นอกจากนั้นแล้วก็มีการควบคุมทางเศรษฐกิจ คือการสร้างมาตรฐานกลางในการแลกเปลี่ยนขึ้นคือสิ่งที่เราเรียกว่าเงินตรา โดยสร้างความเชื่อถือขึ้นมา สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเริ่มระบบแลกเปลี่ยนในสังคมเงินตราคือการสร้างความเชื่อถือให้ได้

อีกประการคือการสร้างสิ่งที่เป็นความรู้ขึ้นมา การแสดงเป็นผู้มีภูมิปัญญาในทุก ๆ มิติ ได้แสดงว่าเป็นผู้มีความรู้ทางด้านอดีตของสังคมไทย พร้อม ๆไปกับการพยากรณ์อนาคตด้วยจึงทำให้รัชกาลที่ 4 สามารถที่ถ่ายทอดอำนาจมายังพระโอรสด้วย

พิณผกา งามสม
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net