Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำสายหลักมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตชาวสระบุรี ยังคงต้องพึ่งพาและใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม อุปโภค บริโภค อีกทั้งแม่น้ำสายนี้ยังเต็มไปด้วยคุณค่าแห่งวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เป็นแม่น้ำที่ใช้เสด็จทางชลมารคในสมัยอยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์ และโดยเฉพาะเป็นจุดตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ หนึ่งใน "เบญจสุทธิคงคา" (น้ำศักดิ์สิทธิ์จากแม่น้ำ 5 สาย คือ บางปะกง ป่าสัก เจ้าพระยา ราชบุรี เพชรบุรี) ใช้ในพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก รวมถึงพิธีศักดิ์สิทธิต่าง ๆ ในพระราชวัง

แต่ขณะนี้แม่น้ำป่าสักเสื่อมสภาพไปมากแล้วจากโรงงานต่าง ๆ ที่มีอยู่ โดยเฉพาะในตัวเมืองสระบุรี และอำเภอเสาไห้ ผลการวิเคราะห์คุณภาพแหล่งน้ำโดยกลุ่มวิเคราะห์คุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 7 สระบุรี เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2547 ปรากฏว่าคุณภาพน้ำอยู่ในระดับ 5 คือระดับเลวร้ายที่สุด ไม่เหมาะสมสำหรับการใช้เพื่ออุปโภคและบริโภค (ระดับที่ 1 ดีที่สุด) ชุมชนที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำป่าสักจึงเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นในการอนุรักษ์แม่น้ำสายนี้ รวมถึงสภาพสิ่งแวดล้อมในจังหวัด

เมื่อจะมีโครงการก่อสร้างโรงผลิตไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 1,468 เมกกะวัตต์ มูลค่าลงทุนสูงถึง 32,000 ล้านบาท ดำเนินโดยบริษัทกัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด ที่หมู่ที่ 2 ต.บ้านป่า อ.แก่งคอย จ.สระบุรี อยู่ห่างจากตัวอำเภอแก่งคอยเพียง 2 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดสระบุรี 13 กิโลเมตร ชุมชนจึงรวมตัวกันเพื่อศึกษาถึงผลกระทบ ทำให้กังวลถึงมลพิษต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างโรงไฟฟ้าที่ย้ายมาจากประจวบฯ

จากสถิติความเจ็บป่วยในปี 2544/2545/2546 พบว่า
1.ประชาชนที่มารักษาที่โรงพยาบาลแก่งคอย ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจเป็นอันดับ 1
2.ประชาชนที่มารักษาที่สถานีอนามัยตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจเป็นอันดับ 1
3.และประชาชนที่มารักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดสระบุรี ก็ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจเป็นอันดับ 1 เช่นกัน
นั่นคือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมลพิษที่คุกคามชาวสระบุรี

โครงการสร้างโรงไฟฟ้าโรงนี้เป็นโครงการที่ย้ายมาจากบ่อนอก ประจวบคิรีขันธ์ เป็นโครงการที่ถูกต่อต้านจากชาวบ่อนอก ภายใต้การนำของ คุณเจริญ วัดอักษร และ คุณจินตนา แก้วขาว ทั้ง 2 เป็นดุษฎีบัณฑิต (ดร.) จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งมี ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นผู้ก่อตั้ง คุณเจริญ วัดอักษร และคุณจินตนา แก้วขาว ร่วมกับชาวบ้านต่อต้านการก่อสร้างโครงการทั้ง ๆ ที่รัฐบาลได้เซ็นสัญญาให้ก่อสร้างแล้ว แต่เพราะชาวบ้านบ่อนอกและประจวบไม่เห็นด้วย จึงสู้จนชนะ

เมื่อมีการต่อต้านที่ประจวบฯ รัฐบาลจึงให้มีมติให้ย้ายมาตั้งที่จังหวัดสระบุรีแทน จากโครงการเดิมที่มีกำลังการผลิต 734 เมกกะวัตต์ เป็นโครงการใหม่ที่มีกำลังการผลิต 1,468 เมกกะวัตต์ เพื่อชดเชยกับค่าเสียหายที่โรงไฟฟ้าเรียกจากรัฐบาลสูงถึง 4 พันล้านบาท สำหรับการหยุดก่อสร้างที่บ่อนอก ประจวบฯ และได้กำหนดให้เปลี่ยนเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเป็นก๊าซธรรมชาติ เพื่อป้องกันการต่อต้านจากประชาชน

ดังนั้นตลอดแนวสายไฟแรงสูงพาดผ่าน นับตั้งแต่ออกจากวังน้อย หนองแค วิหารแดง เข้าบ้านนา แก่งคอย จะมีแนวท่อก๊าซวางคู่ขนานกันมา ซึ่งความเป็นจริงโครงการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่นี้ จะสามารถปรับการใช้เชื้อเพลิงได้ทั้งก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเตา และถ่านหิน ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติมีต้นทุนสูงกว่า จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชื้อเพลิงเพื่อลดต้นทุนการผลิต

โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่โรงนี้ต้องสูบน้ำจากแม่น้ำป่าสักวันละ 54,000 ลูกบาศก์เมตร ปล่อยน้ำเสียวันละ 14,000 ลูกบาศก์เมตร ลงแม่น้ำป่าสัก ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงเผาทั้งวันทั้งคืนไม่มีวันหยุด วันละ 260,000 ลูกบาศก์ฟุต มากกว่าโรงงานผลิตปูนซิเมนต์ 3 โรงใหญ่ ๆ ที่มีอยู่แล้ว ใน อ.แก่งคอย ซึ่งต้องใช้ถ่านหินวันละ 17,000 ตัน หรือประมาณรถสิบล้อจำนวน 1,000 คัน

หากเปลี่ยนมาใช้ก๊าซ จะใช้ประมาณ วันละ 259,875,000 ลูกบาศก์ฟุต มากกว่าโรงปูนที่มีอยู่ทั้ง 3 โรงรวมกันถึง 125,000 ลูกบาศก์ฟุต

อุณหภูมิของอำเภอแก่งคอยและพื้นที่ใกล้เคียงจะสูงขึ้นเพียงใด ไม่มีข้อมูลยืนยัน แต่แนวโน้มร้อนขึ้นอย่างแน่นอน เมื่อผนวกกับภาวะเรือนกระจก หรือที่เรียกกันว่า Green House Effect หรือภาวะภาวะที่ชั้นโอโซนในอากาศถูกทำลายแล้ว

อุณหภูมิ หรือความร้อนในฤดูร้อนที่จังหวัดสระบุรีและใกล้เคียงจะเป็นอย่างไร ?

ข้อมูล : ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่งคอย/ Saraburi Comfocus

"เครือข่ายสระบุรีรักบ้านเกิด"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net