Skip to main content
sharethis

ผลการดำเนินงาน "แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย" หรือ "Indonesia - Malasia - Thailand Growth Triangle Deveopment Project : IMT - GT" ในช่วงที่ 2 ระหว่างปี 2538 - 2544

เอาเฉพาะที่ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมไตรภาคีระดับรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่อาวุโส 5 ครั้ง และประชุมสภาธุรกิจสามฝ่าย 5 ครั้ง ระหว่างครั้งที่ 4 - 8 สรุปได้ ดังนี้

ความก้าวหน้าการดำเนินงานใน 10 สาขา

1. สาขาการคมนาคมขนส่งทางบกและทางน้ำ
ตกลงใช้เอกสารมาตรฐานความปลอดภัยท่าเรือ เป็นคู่มือการตรวจท่าเรือของแต่ละประเทศ และกำหนดให้ใช้ FAL Forms ในการอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงการเดินเรือ

มีการพัฒนาเส้นทางเดินเรือเชื่อมโยงระหว่างกัน ได้แก่ การเดินเรือเพื่อการท่องเที่ยวระหว่างสตูล - ลังกาวี และเร่งรัดศึกษาความเป็นไปได้ ในการพัฒนาเส้นทางเดินเรือเชื่อมโยงระหว่างสุมาตราเหนือกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

มีการเชื่อมโยงการขนส่งทางบกในเส้นทางสำคัญ ได้แก่ ถนนสายสงขลา - สะเดา - ปีนัง, ถนนสายสตูล - ปะลิส (ผ่านด่านวังประจัน - วังเกลียน)

2. สาขาพลังงาน
ระหว่างปี 2538 - 2544 ไม่มีความก้าวหน้า เนื่องจากภายหลังจากการจัดตั้งคณะทำงานสาขา ยังไม่มีการประชุม เพราะยังไม่มีความพร้อมในประเด็นที่จะร่วมมือ

3. สาขาการค้า
ขยายเวลาเปิดปิดด่านชายแดนไทย - มาเลเซีย ออกไปอีก 3 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 เป็นต้นมา 3 ด่าน ได้แก่ ด่านปาดังเบซาร์ (มาเลเซีย - ไทย) ด่านบูกิตกายูฮิตัม - สะเดา และด่านรันตูปันยัง - สุไหงโก-ลก

ไทยเร่งรัดเจรจาให้มาเลเซียเปิดด่านทุกด่าน ตลอด 24 ชั่วโมงในโอกาสต่อไป ล่าสุดมาเลเซียเปิดด่านบูกิกายูฮิตัม - สะเดา ถึงเวลา 24.00 น. หรือ 23.00 น. ตามเวลาในไทยแล้ว

มีการเปิดจุดผ่านแดนใหม่ที่บูกิตบูหงา รัฐกลันตัน เชื่อมต่อกับสะพานบูเก๊ะตาฝั่งไทย

บริมาณและมูลค่าการค้าภายในพื้นที่ IMT - GT ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ IMT - GT ของอินโดนีเซีย มีมูลค่าการค้ากับพื้นที่ IMT - GT ของ 2 ประเทศ เพิ่มจากประมาณ 940 ล้านUSD ในปี 2533 เป็นประมาณ 6,060 ล้านUSD ในปี 2543

ส่วนพื้นที่ IMT - GT ของมาเลเซีย มีมูลค่าการค้ากับพื้นที่ IMT - GT ของ 2 ประเทศ เพิ่มจากประมาณ 2,204 ล้านUSD ในปี 2533 เป็น 10,078 ล้านUSD ในปี 2543

สำหรับพื้นที่ IMT - GT ของไทย มีมูลค่าการค้ากับพื้นที่ IMT - GT ของ 2 ประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 1,952 ล้าน USD ปี 2533 เป็น 8,779 ล้าน USD ในปี2543

4. สาขาการคมนาคมขนส่งทางอากาศ
ตกลงให้มีการเปิดเสรีตามข้อตกลงการบิน โดยให้เสรีภาพการบินที่ 3 และ 4 โดยไม่มีข้อจำกัด ส่วนเสรีภาพการบินที่ 5 จะพิจารณาเฉพาะกรณีเป็นรายๆ ไป จัดเป็นความร่วมมือด้านการบินที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง

สายการบินแห่งชาติของทั้ง 3 ประเทศ (TG/MH/GA) สนใจจะพัฒนาตลาดการบินควบคู่กับการท่องเที่ยวในพื้นที่ IMT - GT

ปัจจุบัน มีสายการบินภาคเอกชนของทั้ง 3 ประเทศ เช่น P.T. Merpati Nusantara Airlines และ P.T. Sempati Air ของอินโดนีเซีย Pelangi Air และ Mofaz Air ของมาเลเซีย และ PB Air ของไทย

สายการบินเหล่านี้ สามารถให้บริการการบินในเส้นทางไปยังเมืองสำคัญ เช่น เมดาน, บันดาร์อาเจะห์, นีแอส, ปาดัง ของอินโดนีเซีย ปีนัง, อีโปห์, ลังกาวี ของมาเลเซีย หาดใหญ่, ปัตตานี, นราธิวาส ของไทย

5. สาขาการเกษตรและประมง
ร่วมพัฒนาตลาดกลางสินค้าชายแดน โดยให้แต่ละประเทศ จัดตั้งตลาดกลางสินค้าชายแดนในประเทศของตนเองก่อนในระยะแรก ส่วนในระยะยาวให้รวมกิจการของตลาดกลางเข้าด้วยกัน ในลักษณะกิจการร่วมทุน (Joint Venture) เพื่อเป็นฐานกระจายสินค้าของพื้นที่ IMT - GT

เพิ่มความสำคัญในการร่วมมือด้านประมง พืชสวน ไม้ผลและพืชไร่ โดยเฉพาะด้านการผลิต การร่วมทุนของนักธุรกิจ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การวิจัยและการพัฒนาที่นำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรต่อเนื่อง ตลอดจนร่วมกันทำตลากผลผลิตเกษตรที่มีศักยภาพ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ปลาทูน่า เป็นต้น

ตกลงใช้กฎระเบียบด้านการกักตรวจสัตว์และเนื้อแช่แข็งไม่เลาะกระดูกบริเวณชายแดน ให้มีมาตรฐานร่วมกันสู่มาตรฐานระดับอาเซียนต่อไป

6. สาขาการเงินการลงทุน
เน้นส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน โดยสนับสนุนความร่วมมือด้านการลงทุนในรัฐวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) อำนวยความสะดวกในการจัดหาแหล่งทุน และผู้ร่วมทุนจากต่างประเทศ จัดตั้งกองทุน IMT - GT หรือ IMT - GT Funding Arrangment และธนาคารอิสลาม

ตกลงให้มีการอำนวยความสะดวก สำหรับการชำระเงินในพื้นที่ IMT - GT โดยใช้สกุลเงินท้องถินได้

สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินและการลงทุนระหว่างกัน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ภาคเอกชนใช้ประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจ

7. สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการเคลื่อนย้ายแรงงาน
จัดทำฐานข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลตลาดแรงงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ IMT - GT

แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงาน

กำหนดและรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานให้เป้นไปตามมาตรฐานของแต่ละประเทศ และต้องมีการรับรองจากหน่วยงานที่ได้รับอนุยาติของแต่ละประเทศโดยตรง

มีการจัดตั้ง IMT - GT Research and Development Center โดยมี University Sains Malaysia , Penang มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ของไทย และมาหวิทยาลัยของอินโดนีเซีย (จากทุกจังหวัดในพื้นที่ IMT - GT ของอินโดนีเซีย) ประสานความร่วมมือระหว่างกัน

มีการแลกเปลี่ยนความชำนาญและทรัพยากรในการฝึกอบรม โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว การเกษตรและการประมง

ร่วมกันสนับสนุนทางการเงินแก่กองทุน Uninet ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการวิจัยที่ส่งเสริมการเติบโตของ IMT - GT

จัดตั้งศุนย์ฝึกอบรมร่วม 3 ประเทศ ด้านภาษา วัฒนธรรมและจัดตั้งสถาบันนานาชาติ ด้านเทคโนดลยีและอุตสากรรม และโครงการพัฒนาฝีมือแรงงาน

8. ด้านอุตสาหกรรม
ส่งเสริมการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ( special Economic Zone) โดยเน้นให้มีการผลิตร่วมด้านอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่มีสักยภาพสูง เช่น สงขลา - ปีนัง - เมดาน ยะลา - เประ เป็นต้น

ร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล โดยใช้กฎระเบียบของอาเวียนในการเตรียมจัดการอาหารฮาลาลในพื้นที่ IMT - GT

9. สาขาการท่องเที่ยว
ร่วมดำเนินการเดินเรือเพื่อการท่องเที่ยวของภาคเอกชนไทย - มาเลเซีย โดยเดินเรืองท่องเที่ยวระหว่างสตูล - ลังกาวี แล้ว

สมาคมท่องเที่ยว 3ประเทศ Malaysia - Indonesia - Thai Tourist Association : MITTAS ได้ส่งเสริมและเผยแพร่ข้อมุลข่าวสาร การท่องเที่ยวในพื้นที่ IMT - GT ให้กว้างขวาง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวทางบก
มีการปรับปรุงการอำนวยความสะดวกการท่องเที่ยวระหว่างกัน บริเวณด่านชายแดน และจัดทำป้ายบอกทางในเส้นทางการท่องเที่ยวสำคัญ รวมทั้งจัดคาวานท่องเที่ยวทางรถยนต์ หาดใหญ่ - ปีนัง - เมดาน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ IMT - GT

10. สาขาสื่อสารโทรคมนาคม
ตกลงหลัการ 3 ข้อ ได้แก่ กำหนดอัตราค่าบริการพิเศษ (Special Tariff Condition) คุณภาพการบริการ และความมั่นคงของเครือข่าย อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดความตกลงที่จัดเจน เพื่อจะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะการกำหนดอัตราการบริการพิเศษในพื้นที่ IMT - GT

นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญกับหลักการอีก 2 ข้อ ได้แก่ การเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน และการผ่อนคลายกฎระเบียบ

ฝึกอบรมและพัฒนากำลังคน รวมทสั้งจัดตั้งสถาบันและแลกเปลี่ยนการฝึกอบรมกำลังคนระหว่างกัน วึ่งไทยได้จัดฝึกอบรมด้านดาวเทียมไปแล้ว 2 หลักสูตร

นี่คือ ผลการดำเนินการในช่วงที่ 2 ระหว่างปี 2538 - 2544 ที่ปรากฏในเอกสาร "ยุทธศาสตร์และความก้าวหน้าการดำเนินงานแผนงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย ไทย (IMT -GT) ของสำนักพัฒนาพื้นที่ (สพท.) แห่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ข้อน่าสังเกต ก็คือ เอกสารฉบับนี้ ยังไม่ได้รายงานความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจปีนัง - สงขลา หรือสะพานเศรษฐกิจปีนัง - สงขลา ที่มีโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย ที่ริเริ่มนำเข้าที่ประชุมไตรภาคีระดับรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 5 เมื่อปี 2538 แต่อย่างใด

ข้อที่ควรให้ความสนใจอย่างเป็นพิเศษ ก็คือ ความเคลื่อนไหวที่คึกคักอย่างยิ่งของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ระดับข้ามชาติและระดับชาติ ที่แสดงความประสงค์ต้องการเข้ามาลงทุนในพื้นที่ IMT -GT ในช่วงที่ 2 ระหว่างปี 2538 - 2544 กันอย่างคึกคัก

รวมทั้ง บริษัท ชินคอร์ป ของครอบครัวชินวัตร ที่มี "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี เป็นหัวขบวน ที่แสดงความสนใจจะเข้าไปลงทุนด้านพลังงาน และโทรคมนาคม

ถึงแม้ความฝันที่จะเข้าขุดทอง ในช่วงที่ 2 ของการดำเนินการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ IMT - GT จะชะงักลง ด้วยพิษฟองสบู่แตกตกต่ำในปี 2540

นั่น ก็ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มทุนเหล่านี้ รวมทั้งกลุ่มทุนอื่นๆ จะอยู่นิ่งเฉย ในขณะที่แผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ ยังคงเดินหน้าต่อไป อย่างไม่มีวี่แววหยุดนิ่ง

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net