เขื่อนราษีไศลวันนี้ บนบาดแผลฉกรรจ์ของโครงการโขงชีมูล

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การอนุมัติโครงการโขงชีมูลโดยไม่ศึกษาความเหมาะสมและศึกษาผลกระทบก่อนสร้าง
ให้ถ้วนถี่ โดยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณเมื่อ ๘ เมษายน ๒๕๓๖ ได้ก่อปัญหาเรื้อรังแก่ชุมชนลุ่มน้ำอีสานไม่สิ้นสุด

ปัจจุบันการก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำ โขง - ชี - มูนทั้ง ๑๔ เขื่อนได้เสร็จลง บริษัทรับเหมาเก็บเครื่องมืออุปกรณ์กลับพร้อมผลกำไรจากธุรกิจสร้างเขื่อน ขณะที่เป้าหมายสร้างพื้นที่ชลประทาน ๕ แสนไร่ในระยะที่ ๑ เวลาผ่านไป ๑๕ ปีแล้วยังไม่มีพื้นที่ไหนได้ใช้น้ำชลประทานจากโครงการโขงชีมูล

และความโหดร้ายที่ชุมชนอีสานได้รับการหยิบยื่นจากโครงการราคาสองแสนกว่าล้านโครงการนี้ก็คือ ความแตกแยกของชุมชนและความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับรัฐที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าจะยุติลงเช่นไร เมื่อไหร่

โดยเฉพาะเรื่อง เขื่อนราษีไศล ซึ่งใช้พื้นที่ป่าบุ่งป่าทามอันอุดมสมบูรณ์บริเวณแม่น้ำมูนตอนกลาง ๓๘,๐๐๐ ไร่เป็นอ่างเก็บน้ำ (กรมชลประทานได้สำรวจใหม่พบว่าเขตที่น้ำท่วมจากเขื่อนราศีไศลเกือบ ๑ แสนไร่) และก่อผลกระทบต่อชุมชนสองฝั่งแม่น้ำมูนหลายอำเภอในจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์และร้อยเอ็ดจำนวน ๑๔๑ หมู่บ้าน (ข้อมูลการสำรวจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ในรอบ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากเขื่อนราษีไศลได้ถูกเปิดเผยออกมาอย่างอื้อฉาว ผู้ได้รับผลกระทบได้ออกมายืนยันสิทธิในที่ดินทำกินที่โครงการโขงชีมูลอ้างว่า เป็นที่ดินริมฝั่งแม่น้ำ เป็นพื้นที่เสี่ยง ทำกินไม่ได้ ทั้งยังเป็นที่สาธารณะประโยชน์ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ขณะที่งานวิจัยโดย รศ.ประสิทธิ์ คุณุรัตน์ แห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นยืนยันว่า ราษฎรสองฝั่งแม่น้ำมูนใช้พื้นที่บุ่งทามแห่งนี้ทำกินตามสภาพท้องถิ่น ทั้งเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ประมง เก็บผลผลิตอาหารและสมุนไพรจากป่าธรรมชาติมาเป็นเวลา ๑๐๐ - ๒๕๐ ปี ครัวเรือนกว่า ๘๐% มีที่ทำกินอยู่ในพื้นที่บุ่งทาม เฉลี่ยรายละ ๑๑ ไร่ การครอบครองสืบทอดเป็นมรดกมาหลายชั่วคน และมีระบบสิทธิตามจารีตประเพณีของท้องถิ่น

การเคลื่อนไหวของราษฎรผู้เดือดร้อนระหว่างปี ๒๕๓๗-๒๕๔๐ มีการเก็บข้อมูลมายืนยัน ร้องเรียนกับหน่วยงานราชการตามลำดับขั้น การชุมนุมทั้งที่หัวงานเขื่อน ที่ว่าการอำเภอ ศาลากลางจังหวัดและทำเนียบรัฐบาล ผ่านรัฐบาลชวน หลีกภัย, รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชาและรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้อนุมัติจ่ายค่าชดเชย ๑,๑๕๔ ราย เป็นค่าชดเชย ๓๖๓,๔๘๘,๐๐๐ บาท

ท่ามกลางความเคลื่อนไหวดังกล่าว ทางราชการได้จัดตั้งราษฎรอีกกลุ่มหนึ่งขึ้นมาต่อต้านผู้เรียกร้องด้วยวิธีคัดค้าน ชุมนุมในลักษณะ "ม็อบชนม็อบ" แต่ในที่สุดเมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิทำกินของราษฎรเปิดเผยออกมาอย่างเป็นระบบ รัฐบาลพลเอกชวลิตตัดสินใจจ่ายเงินค่าชดเชยดังกล่าว ส่งผลให้ต่อมาราษฎรกลุ่มที่ราชการจัดตั้งพากันเบนเป้าหมายมาเรียกร้องค่าชดเชยกับทางราชการด้วย จำนวนผู้เรียกร้องค่าชดเชยในรอบหลังนี้มีมากถึง ๑๗,๐๘๓ ราย ซึ่งรัฐบาลชวน หลีกภัย ได้อนุมัติจ่ายค่าชดเชยอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๒ จำนวน ๗๗๙ ราย (๙๘๙ แปลง) เป็นเงิน ๕๗ ล้านบาท แต่ก็จ่ายตามเงื่อนไขที่ราชการกำหนด ซึ่งราษฎรแต่ละรายได้รับการชดเชยต่ำว่าพื้นที่ที่ครอบครัวทำประโยชน์จริงเป็นอันมาก

ด้วยศาสตร์แห่งรัฐที่ว่าด้วย "การแบ่งแยกแล้วปกครอง" ทำให้กลุ่มผู้เดือดร้อนจากเขื่อนราษีไศลถูกแบ่งแยกออกเป็น ๘ กลุ่มในขณะนั้น เช่น กลุ่มสมัชชาเกษตรกรรายย่อย กลุ่มเกษตรกรราษีไศล กลุ่มสมาพันธ์เกษตรกร กลุ่มชาวนา ๒๐๐๐, สมัชชาลุ่มน้ำมูน เป็นต้น นับจากปี ๒๕๔๑ มาจนถึงปัจจุบัน ชาวราษีไศลไม่เคยว่างเว้นจากการชุมนุมเดินขบวน ยิ่งเคลื่อนไหวยิ่งถูกแบ่งแยกออกเป็นมากกลุ่มยิ่งขึ้น จนมีคำพูดกันเองว่าเป็น ๑๒ ราศี จากการสำรวจล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗ ณ รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้เดือดร้อนจากเขื่อนราษีไศลถูกแบ่งแยกออกเป็นกลุ่มๆ ถึง ๒๓ กลุ่ม

ในบางเทศกาล นักการเมืองได้หยิบฉวยความขัดแย้งกรณีเขื่อนราษีไศลขึ้นมาขยายเป็นประเด็นทางการเมือง ด้วยการสร้างข่าว เช่น กล่าวหาว่ามีการทุจริตเงินค่าชดเชย จนเป็นภาระของผู้รับค่าชดเชยไปแล้วต้องออกมาชุมนุมโต้ตอบ ความขัดแย้งขยายผลให้เกิดคดีฟ้องร้องเกือบ ๑๐ คดี มีผู้เกี่ยวข้องเกือบ ๓๐ คน และยังมีคดีที่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งรับผิดชอบโครงการในขณะนั้นได้ฟ้องร้องคดีแพ่งราษฎรผู้รับชดเชย ๔๐๐ กว่ารายที่รับค่าชดเชยในข้อหาราษฎรทุจริต คดียกฟ้องไปแล้วในปัจจุบัน
นั่นคือความอื้อฉาวที่เกิดขึ้น เฉพาะเรื่อง การละเมิดสิทธิในที่ดินทำกินของราษฎรที่ได้รับจากเขื่อนราษีไศลในโครงการโขงชีมูล ไม่นับผลกระทบที่เกิดขึ้นภายหลังการเก็บกักน้ำเมื่อปลายปี ๒๕๓๖ ทั้งปัญหาดินเค็มน้ำเค็มแพร่กระจาย การสูญเสียพันธุ์ปลาและระบบนิเวศน์ทางน้ำ การระบาดของหอยคัน หอยเชอรี่ พยาธิปลา และภาวะน้ำท่วมที่ดินทำกินนอกเขตอ่างเก็บน้ำ

ซึ่งจากการเคลื่อนไหวของราษฎรกลุ่มสมัชชาคนจน มีผลให้รัฐบาลชวนหลีกภัยมีมติเมื่อ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ให้เปิดบานประตูทั้ง ๗ บาน ปล่อยน้ำเพื่อให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินทำกินของราษฎร และให้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย
ขอนแก่น

แต่ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ให้ปิดบานประตูเขื่อนกักเก็บน้ำทั้งที่การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ทำกินยังไม่แล้วเสร็จ และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมยังไม่คืบหน้าใดๆ เลย

จึงคาดการณ์ได้ว่า ปัญหาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานมา ๑๐ กว่าปีจะทวีความยุ่งยากขึ้นอีกในอนาคต ทั้งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับรัฐ และระหว่างกลุ่มผู้เดือดร้อนกันเองที่ถูกแบ่งแยกออกเป็น ๒๐ กว่ากลุ่ม

ยุครัฐบาลทักษิณ แก้ปัญหาราษีไศลอย่างไร? นอกจากการสั่งปิดประตูเขื่อนราษีไศลเพื่อเก็บกักน้ำ (ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหายิ่งขึ้น)

เมื่อมีการปฏิรูประบบราชการในเดือนตุลาคม ๒๕๔๕ กรมชลประทานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เข้ามารับผิดชอบโครงการโขงชีมูล แทนกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

รัฐบาลได้มีคำสั่งที่ ๘๒/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๖ แต่งตั้งคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาเขื่อนราษีไศล มีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และประชุม ๑ ครั้งเมื่อ ๑๘ เมษายน ๒๕๔๖ จากนั้นก็มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด ๓ ชุด (ศรีสะเกษ,สุรินทร์,ร้อยเอ็ด) คณะอนุกรรมการระดับอำเภอ ๓ ชุด คณะทำงานตรวจสอบรังวัดระดับพื้นที่หลายชุด

มีการประกาศให้ราษฎรผู้เดือดร้อนมา "ลงทะเบียนใหม่" และประกาศไม่ให้เกี่ยวข้องกับกลุ่มเรียกร้องเดิม ทุกคนไปลงทะเบียนกับราชการเป็นรายบุคคล ปรากฏมีผู้ร้องเรียนนับเป็นแปลงที่ดินทั้งสิ้น ๑๙,๕๙๖ แปลง กรมชลประทานได้ดำเนินการตรวจสอบรังวัดไปแล้วมากกว่า ๗๐ % ในปัจจุบัน

การลงทะเบียนที่คล้ายกับนโยบายการลงทะเบียนคนจนนี่เอง เป็นเหตุให้ชาวบ้านที่รวมกันเป็นกลุ่มเพื่อต่อรองต้องแตกกระจาย ทุกคนขึ้นตรงกับทางราชการ ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ หลงเหลืออยู่ ดังนั้นหลักการกระบวนการและขั้นตอนการแก้ปัญหาในรอบ ๒ ปีที่ผ่านมา จึงตกอยู่ในมือของกรมชลประทานแต่ฝ่ายเดียวโดยไร้การมีส่วนร่วมใดๆ จากราษฎร นับตั้งแต่การแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาทุกระดับที่มีสัดส่วนไม่เท่ากันระหว่างราชการ - ราษฎร ทั้งที่อ้างมติครม. ๒๒ เมษายน ๒๕๓๙ ที่ระบุให้มีคณะกรรมการในสัดส่วนที่เท่ากัน

ด้านวิธีการการตรวจสอบสิทธิในที่ดินทำกิน กรมชลประทานได้ออกแบบวิธีตรวจสอบโดยการรัง
วัดพื้นที่ ให้คณะทำงานประเมินร่องรอยการทำประโยชน์ในปัจจุบันด้วยสายตาแล้วให้เป็นเปอร์
เซ็นต์ (%) พื้นที่ทำประโยชน์ (คณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยฝ่ายราชการ ๔ คน ราษฎรเพียง ๑ คน) , กำหนดขอบเขตพื้นที่อ่างเก็บน้ำใหม่ ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบจำนวนไม่น้อยหลุดกรอบการแก้ไขปัญหาไป

และที่นำความกังวลใจมาให้ราษฎรเดือดร้อนมากที่สุดคือการใช้ภาพถ่ายทางอากาศ เพราะปัญหาพื้นฐานคือ ทางราชการไม่เคยมีองค์ความรู้เรื่องระบบนิเวศน์และวิธีทำกินอันซับซ้อนในพื้นที่บุ่งทามมาก่อนและราษฎรเคยมีประสบการณ์มาก่อนแล้วว่า ภาพถ่ายทางอากาศไม่สามารถอ่านแปลวิธีทำกินของพวกเขาได้

กระบวนการดังกล่าว ในที่สุดแล้วจะเป็นไปได้ว่าผู้ที่มีที่ดินทำกินจริง ๒๐ - ๓๐ ไร่คณะทำงานประเมินร่องรอยการทำประโยชน์ให้เพียง ๑๐ - ๒๐% และเมื่อแปลภาพถ่ายทางอากาศแล้วที่ดินที่ทำประโยชน์ตามสภาพท้องถิ่นของพวกเขาอาจไม่ได้รับค่าชดเชยเลย

อนึ่ง มีหลักการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ นิยามการครอบครองทำประโยชน์กรณีราษีไศลไว้ว่าให้หมายถึง "ที่ดินที่ราษฎรยึดถือไว้เพื่อตน และทำประโยชน์ในที่ดินตามสภาพท้องถิ่น เช่นการเพาะปลูกพืชล้มลุก ไม้ผลยืนต้น เก็บฟืน เก็บหาของป่า การเลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้าธรรมชาติ มีพื้นที่พุ่มไม้ซึ่งได้เคยมีการทำประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว เว้นแต่เป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์"

แต่กรมชลประทานมิได้ใช้เนื้อความดังกล่าวในการสอบสวนการทำกินของราษฎรแต่อย่างใด เพียงให้คณะทำงานประเมินว่า "เห็น" ร่องรอยการทำกินกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วเอาไปแปลภาพถ่ายทางอากาศเท่านั้น

ความมักง่ายของการจัดทำโครงการโขงชีมูลราคา ๒๒๘,๐๐๐ ล้านบาทก็คือไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยเฉพาะเขื่อนราษีไศลก่อสร้างเสร็จแล้ว จึงมีการว่าจ้างบริษัทรีซอร์ส เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ ศึกษาการใช้น้ำชลประทาน และจ้างหลายสถาบันมาศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม

นี่คือบทเรียนอันปวดร้าวที่รัฐบาลไทยมอบให้แก่ประชาชน นี่ยังไม่นับถึงผลประโยชน์อันน้อยนิด จากการสร้างเขื่อนซึ่งใช้พื้นที่บุ่งทามอันมีดินตะกอนแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์ที่สุดของภาคอีสานเกือบแสนไร่ทำ "อ่างเก็บน้ำ" เพื่อจะต้องสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าขึ้นไปให้พื้นที่ดอนดินเลวทำนาปรัง (ในพื้นที่ชลประทาน ๓๔,๐๐๐ไร่)

ผู้เดือดร้อนจากเขื่อนราษีไศลไม่ได้ทำกินในพื้นที่บุ่งทามและวุ่นวายอยู่กับเรียกร้องค่าชดเชยมา ๑๐ กว่าปีแล้ว หลายคนมีคดีติดตัว

สังคมไทยมีเวลารับฟังเรื่องอย่างนี้ไหม?

รัฐบาลกำลังจะทำโครงการชลประทานระบบท่อราคาหลายแสนล้านต่อจากโครงการโขงชีมูลที่ล้มเหลวหมดท่าและสร้างบาดแผลฉกรรจ์แก่ชุมชนอีสาน

รัฐบาลจะมีเวลาทบทวนความจริงที่เกิดขึ้นนี้ไหม?

สนั่น ชูสกุล : รายงาน
www.esanvoice.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท