Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สถานะกษัตริย์จากประกาศรัชกาลที่ 4

คุณวารุณี โอสถารมย์ นักวิจัยจากสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่าเมื่อพิจารณาจากประชุมประกาศแล้วสามารถจำแนกสถานะออกเป็น 2 ส่วนคือ

ประการแรก ลายลักษณ์ที่ถ่ายทอดมาจากสิ่งที่พระมหากษัตริย์ประสงค์จะสื่อให้กับผู้รับสาร เป็นสื่อในระยะแรก อย่างน้อย 6 ปีก่อนตั้งโรงพิมพ์

ลายลักษณ์ที่ถ่ายทอดออกมาในช่วงแรกนี้ ออกมาในรูปของจารีต คือการรับสั่ง หรือเขียนแล้วให้อาลักษณ์เอาไปคัดลอกต่อ เพราะฉะนั้นประกาศที่เราได้อ่านกันจึงเป็นอกสารลายลักษณ์ที่ผ่านการถ่ายทอด 2 แบบคือ 1 ถ่ายทอดจากสิ่งที่พระองค์เขียน หรือผ่านการถ่ายทอดจากสิ่งที่พระองค์รับสั่ง

อย่างไรก็ตามสถานะของประกาศมีลักษณะพิเศษคือว่า เป็นคำสั่งของพระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉะนั้นประกาศจึงเป็นเอกสารลายลักษณ์ที่บอกตัวตนของจักรพรรดิราช

และเมื่ออ่านจากประกาศรัชกาลที่ 4 แล้ว จะพบว่าแม้คนรุ่นหลังจะมองว่ารัชกาลที่ 4 เป็นกษัตริย์สมัยใหม่ แต่แท้จริงแล้ว "ตัวตน" ที่พระองค์พยายามถ่ายทอดในประกาศอันนี้ก็คือการบอกสถานภาพของพระองค์ในฐานะองค์จักรพรรดิราชซึ่งเป็นสมมติเทพที่อาจจะมีรากหรือความเป็นมาในแบบจารีตประเพณี

ตัวตน ที่จะบอกว่าเป็นคำสั่งของพระจักรพรรดิราชอยู่ที่พระนามาภิไธย ปรากฏอยู่ตอนต้น ๆ ของประกาศซึ่งระบุชัดว่าตัวผู้ประกาศเป็นใคร

พระนามาภิไธยบอกความฐานะเป็นสมมติเทพแห่งองค์พระอิศวร และยังมีความสำคัญ 2 ประการคือระบุพระนามเฉพาะพระองค์ซึ่งไม่เคยมี ชื่อเฉพาะของกษัตริย์ไม่มีเคยมาก่อน

พระนามาภิไธยของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถือเป็นครั้งแรกที่มีการตั้งชื่อเฉพาะของกษัตริย์ แล้วก็ใช้เรียกในเวลาที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ เพราะก่อนหน้านั้นจะไม่มีการตั้งชื่อพระมหากษัตริย์ที่เป็นชื่อเฉพาะ

ชื่อพระจอมเกล้ายังเป็นชื่อที่สืบทอดความหมายดั้งเดิม คือพระนามที่พระราชบิดาตั้งให้ก่อนครองราชย์คือ มงกุฎ ความหมายของพระจอมเกล้าและพระมงกุฎก็คือ ที่อยู่สูงสุด ก็คือที่อยู่สูงสุดเหนือร่างกายของมนุษย์ เพราะฉะนั้นพระนามของพระองค์จึงย้ำฐานะของพระองค์ในฐานะเจ้าเหนือหัว ทรงเป็นจักรพรรดิราชไม่ได้เป็นกษัตริย์แบบอื่นเลย

ในขณะเดียวกับที่ทรงตั้งชื่อกษัตริย์แทนพระองค์แล้ว ก็ทำให้ต้องถวายชื่อให้องค์กษัตริย์องค์ก่อนหน้านี้ในราชวงศ์จักรีอีก 3 พระองค์ด้วยการจัดทำพระพุทธรูปฉลองพระองค์ถวาย การตั้งชื่อขนานพระนามที่สำคัญที่สุดก็คือการขนานพระนามของพระเชษฐาก็คือรัชกาลที่ 3 ท่านให้พระนามของพระเชษฐา ต่างกับพระนามของพระองค์เอง

พระนามของพระเชษฐาจะมีลักษณะของสามัญชน ในขณะที่พระนามของท่านจะบ่งบอกความหมายที่อยู่สูงสุด อยู่เหนือร่างกายของมนุษย์ และยังอ้างอิงชาติกำเนิดที่ต่างกันโดยอ้างเชื้อสายที่ต่างกันจากการกำเนิดจากพระราชมารดาที่มาจากสายเจ้า ในขณะที่พระเชษฐาเป็นสามัญชน การอ้างอิงนี้มีความสำคัญมากเพราะในท้ายที่สุดจะมีประกาศอีกชุดหนึ่งที่จะบ่งบอกถึงความแตกต่างของชาติกำเนิดเพื่อที่จะทำให้การสืบสายสายสันตติวงศ์มีความชัดเจนขึ้น

ในสร้อยพระนามที่ว่า "มหาชนนิกรสโมสรสมมติ" นั้น เป็นสร้อยพระนามที่กำลังประกาศความหมายให้ทราบโดยทั่วกันว่าวิธีการได้มาซึ่งการดำรงสถานะกษัตริย์ของพระองค์นั้นผ่านมติเห็นชอบร่วมกันของเหล่านิกร คือที่ประชุมที่ประกอบด้วยเจ้านายกับขุนนาง ท่วงทำนองการอธิบายแบบนี้ดูไม่ไกลเกินไปกว่าความรับรู้ของพระองค์ที่มีต่อสภาพความเป็นไปและการปกครองในสังคมอื่น

ทั้งนี้เมื่ออ่านประกาศประกอบกับพระราชหัตถเลขาซึ่งเป็นพระราชสาสน์ฉบับหนึ่งในปี 2402 ถึงประธานาธิบดีสหรัฐ เนื้อความระบุว่าทรงชื่นชมระบบเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่ทรงเห็นว่าทำให้การสืบทอดอำนาจผู้นำเป็นไปโดยสันติ ไม่ต้องขัดแย้ง ไม่ต้องแข่งขันอำนาจกัน พระองค์อาจจะทรงเปรียบเทียบกับสภาวะที่พระองค์ทรงเคยประสบมาก่อนที่ทำให้ต้องทรงยอมรับสภาพชะตากรรมที่ไม่ทรงต้องการเลยด้วยการผนวชเพื่อลี้ภัยการเมือง และบางทีพระองค์อาจจะกำลังวางพื้นฐานวัฒนธรรมการสืบทอดพระราชอำนาจแบบสันติ เพื่อพระราชโอรสองค์สำคัญที่สุดที่เป็นพระราชปิโยรสในอนาคต

พระนามาภิไธยที่อิงความหมายอยู่กับชาติกำเนิดอันดีแล้วอาจจะบ่งบอกความหมายที่ซ่อนอยู่ในนั้นได้ แต่สิ่งที่สำคัญทั้งหมดของประกาศก็คือการบอกคุณสมบัติของจักรพรรดิอย่างพระองค์เท่านั้นที่จะเป็นเจ้าของคำสั่งที่จะทำให้คนอ่านต้องปฏิบัติตาม

ประชุมประกาศ: การกำหนดไวยากรณ์ภาษา

ประกาศรัชกาลที่ 4 ก่อให้เกิดการสร้างแบบแผนของภาษาในสาสน์ลายลักษณ์ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน

จากการศึกษาพบว่า แบบแผนสาสน์ลายลักษณ์ประกอบด้วยรูปแบบการเขียน ไวยากรณ์ภาษา การสร้างศัพท์และความหมายใหม่

ในด้านรูปแบบการเขียน มีการแบ่งประเภทของประกาศได้แก่ หมายรับสั่ง พระอักษรสาสน์ตรา ใบบอก

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงกำหนดหลักเกณฑ์ว่าหมายรับสั่งจะต้องใช้แบบไหน ใครเป็นผู้ใช้ ใช้อย่างไร เป็นครั้งแรกที่มีการอธิบายรูปแบบการเขียนในประชุมประกาศทั้งหมดนี้

สิ่งสำคัญอีกประการก็คือการกำหนดว่าต้องบันทึกลงในกระดาษสมุดฝรั่ง ซึ่งไม่แน่ว่ารูปของวัสดุที่ใช้คือการใช้กระดาษสมุดฝรั่งและรูปแบบที่ต้องพลิกจากหน้าไปหลังซึ่งเปลี่ยนไปจากเอกสารลายลักษณ์สมุดไทยที่ใช้วิธีพับทบซึ่งอ่านเป็นม้วนยาว ๆ อ่านเรียงตามความยาวมีผลแตกต่างอย่างไร แต่น่าจะมีนัยสำคัญซึ่งเปลี่ยนวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยในเวลานั้นซึ่งยังมีอยู่น้อยนิด

นอกจากนี้ พระองค์ได้ประกาศให้ความรู้เรื่องการผันวรรณยุกต์ มีการใช้พยัญชนะตามอักษรสามหมู่ ตลอดถึงการใช้สระและวรรณยุกต์ให้ถูกต้อง

ในด้านการสร้างศัพท์และความหมาย ทรงบัญญัติศัพท์เป็นจำนวนมากและมีนัยที่สำคัญทางการเมืองด้วย และเป็นความหมายใหม่ นอกจากจะประดิษฐ์ตัวอักษร ท่านเป็นนักประดิษฐ์ศัพท์ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เป็นราชาศัพท์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นศัพท์ที่ยืนยันถึงจิตสำนึกในการใช้ภาษาเพื่อรักษาและสืบทอดโครงสร้างสังคมการเมืองที่ลดหลั่นฐานะกันภายใต้ระบบความสัมพันธ์แบบมูลนายไพร่ ซึ่งจริง ๆ แล้วสังคมแบบนี้ก็น่าจะหมายถึงสังคมศักดินานั่นเอง

พิณกา งามสม
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net