Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 20 ธ.ค.47 ความคืบหน้ากรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งให้ตั้งคณะ กรรมการพิจารณาเรื่องพืชตัดแต่งพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาที่หลายองค์กรออกมาคัดค้านนโยบายเปิดให้ทดลองพืชจีเอ็มโอในไร่นาและนำเข้าพืชจีเอ็มโอได้ โดยมีตัวแทนจากนักวิทยาศาสตร์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ ตัวแทนฝ่ายวิชาการของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และตัวแทนจากบุคคลที่มีความเข้าใจเรื่องจีเอ็มโอ

ล่าสุดการประชุมสามัญของทปอ.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศ.นพ.อดุลย์ วิริยเวชกุล ประธานทปอ.กล่าวว่า ได้มีการหารือเรื่องนี้ในที่ประชุม โดยกำหนดให้มหาวิทยาลัยที่มีคณะวิทยาศาสตร์ส่งรายชื่อนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านจีเอ็มโอแห่งละ 1 คนในการประชุมครั้งหน้า จากนั้นตนพิจารณาคัดเลือกให้เหลือ 15 คน เพื่อเป็นตัวแทนร่วมกับคณะทำงานจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้อีก 15 คน

ด้านรศ.ดร.ศักดิ์รินทร์ ภูมิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า หลังจากได้คณะกรรมการและเสร็จสิ้นการประชุมร่วมกันจะสรุปผลให้กับคณะ กรรมการพัฒนานโยบายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอีกครั้ง

รศ.ดร.ศักรินทร์กล่าวต่อว่า ขณะนี้งานหลายอย่างกำลังดำเนินการอยู่ เช่น การร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวิตภาพ (Biosafety Law) ที่มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดเวลา 1 ปี แต่มีแนวโน้มว่าคงเสร็จไม่ทันอย่างแน่นอน

"อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึกถึงอีกหลายเรื่อง เช่น ผลกระทบด้านราคาสิทธิบัตร การตลาด การกีดกัน้ดานการค้า ซึ่งแต่ละเรื่องเหล่านี้ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไปจะไม่นำมารวมกันอีก ทั้งต้องให้สังคมเป็นผู้ตัดสินใจ ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์" ผอ.สทวช.กล่าว

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net