เล่าเรื่องเมืองมหาชัย : ตอน 1 เยือนเมืองประมง ดงโรงงาน...

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภาพประกอบ : กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

-------------------------------------------------------------------
เช้าวันอาทิตย์ อากาศกำลังเย็นสบาย พวกเราราวสิบกว่าชีวิตออกเดินทางจากกรุงเทพฯมุ่งสู่มหาชัย เมืองเล็กๆที่ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯเพียง 1 ชั่วโมง ซึ่งภาพของเมืองมหาชัยวันนี้กำลังเป็นไปอย่างไรจะขอเล่าสู่กันฟัง.........
สมุทรสาคร หรือ "มหาชัย" เป็นจังหวัดเล็กๆ ตั้งอยู่บนปากแม่น้ำท่าจีน เดิมเรียกว่า "เมืองท่าจีน" ทั้งนี้คงเป็นเพราะเป็นตำบลใหญ่ อยู่ติดอ่าวไทย สมัยก่อนมีชาวจีนนำสำเภาเข้ามาจอดเทียบท่ากันมาก จึงเรียกติดปาก ว่า "ท่าจีน" จนกลายเป็นชื่อตำบล
ต่อมาในปี พ.ศ. 2091 ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ โปรดให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นอีกหลายเมือง เป็นที่ระดมพลสู้รบกับพม่า บ้านท่าจีนจึงยกฐานะเป็นเมือง "สาครบุรี" จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้โปรดให้เปลี่ยนชื่อเมืองสาครบุรีเป็น เมืองสมุทรสาครและเปลี่ยนเป็น "จังหวัดสมุทรสาคร" ในสมัยรัชกาลที่ 5
ส่วนคำว่า "มหาชัย" เป็นชื่อของคลองที่ขุดขึ้นเพื่อตัดความคดเคี้ยวของคลองโคกขามแต่เดิม มาทะลุออกแม่น้ำท่าจีนตรงหน้าเมืองบริเวณสะพานปลา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2247 สมัยพระพุทธเจ้าเสือ ซึ่งชาวบ้านนิยมเรียกชื่อเมืองว่า "เมืองมหาชัย" มาจนถึงปัจจุบัน
.................................................
"มหาชัย เป็นเมืองอุตสาหกรรมและเกษตรพร้อม ๆ กันนะ..."

พี่อดิศร เกิดมงคล จากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า(กรพ.) และหนึ่งในเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่ทำงานคลุกคลีกับแรงงานข้ามชาติจากพม่า เล่าภาพของมหาชัยเพิ่มเติมว่า

...เดิมมหาชัยเป็นหมู่บ้านชาวประมงแต่หลังจากการพัฒนาอุตสาหกรรมทำให้ประมงที่นี่พัฒนาตัวเองไปเป็นประมงขนาดใหญ่ แรงงานสมัยก่อนเป็นแรงงานครอบครัว แต่พอแรงงานในท้องที่พัฒนาตัวเองมากขึ้น ทำให้แรงงานขาดไปก็เลยพึ่งพาแรงงานจากข้างนอก ตั้งแต่คนอีสาน หลังจากนั้นก็มาเป็นคนข้ามชาติ ประมาณปี 39
การประกอบอาชีพประมงมีอย่างกว้างขวาง โดยมีเรือประมงที่ทันสมัย กว่า 1,000 ลำ ปริมาณ สัตว์น้ำที่จับได้ในแต่ละปีนับได้ว่าอยู่ในอันดับหนึ่งของประเทศ อีกทั้งยังเป็นจังหวัดที่มีนาเกลือ มากที่สุดด้วย มีสะพานปลาที่ใหญ่และทันสมัยแห่งหนึ่งรองจากกรุงเทพฯ ซึ่งมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ทันสมัยที่ใช้ในการลำเลียงขนถ่ายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทางทะเลทุกอย่างเป็นจำนวนมาก เป็นศูนย์กลางการค้าปลาทะเล และเป็นแหล่งที่เงินตราสะพัดหมุนเวียนวันละหลายล้านบาท
มหาชัยมีเพียง 3 อำเภอ ส่วนใหญ่โรงงานอยู่ที่ อ.เมือง ที่เยอะเพราะมีตลาดกุ้ง มีสะพานปลา ซึ่งกิจการพวกนี้ต้องการคนงานจำนวนมาก และโรงงานก็ไม่อยากจะไปตั้งไกลเพราะเสียเวลาขนของ จึงทำให้แรงงานส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่นี่ อ.บ้านแพร้วเป็นพื้นที่เกษตร ส่วน อ.กระทุ่มแบนจะเป็นเกษตรกับโรงงานอื่น ๆ เช่น ทอผ้า โรงเลื่อย เพราะเป็นพื้นที่ต่อกับอ้อมน้อย

ปัจจุบันเมืองมหาชัย มี โรงงานอุตสาหกรรม ประมาณ 3,291 โรง ซึ่งขยายเข้าไปตามถนนซอยสายสั้น ๆ ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมดั้งเดิมกระจัดกระจายถูกทิ้งร้างเป็นหย่อม ๆ ขาดแคลนน้ำและได้รับผลกระทบจากน้ำทิ้ง น้ำเสีย ขยะอุตสาหกรรม จนไม่สามารถทำการเกษตรต่อไปได้ ซึ่งผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน ต้องรอขาย ทิ้งร้างไว้หรือไม่ก็ต้องประกอบอาชีพอย่างอื่น เช่น ขายไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ยืนต้น หรือเลี้ยงปลา

เจ้าของกิจการยังเป็นคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ แต่ก็มีมาจากข้างนอกบ้าง เนื่องจากช่วงหลังมีลักษณะเป็นบริษัทร่วมมากขึ้น ตอนนี้อาหารทะเลเป็นสินค้าส่งออก บริษัทใหญ่ๆ ก็จะมีคนจากข้างนอกเข้ามาเป็นเจ้าของ เป็นหุ้นส่วน คนมหาชัยจริง ๆ จะมีล้งเล็ก ล้ง หมายถึงโรงงานแกะกุ้ง ตัดปลาเล็ก ๆทำนองนั้น หรือส่วนหนึ่งก็เป็นเจ้าของเรือ

"อิทธิพลเยอะนะ จังหวัดเล็กมาก แต่มีส.ส. เยอะกว่าบางจังหวัดที่ใหญ่กว่า ส.ส. แต่ละคนสร้างฐานมาจากประมงทะเลซะส่วนใหญ่ เป็นเถ้าแก่บ้านนอกบวกพวกไต๋ (ไต้ก๋ง) ที่เหลือเป็นชาวบ้านทำสวนทำนา ประมงเล็ก การใช้อิทธิพล ระบบพึ่งพาเลยสูงมาก" พี่อดิศร เล่า
...................................................

ทำไมคนมอญเยอะ?........

"มันมีหมู่บ้านคนไทยมอญด้วยไง สองมันอยุ่ใกล้พื้นที่ชายแดนฝั่งมอญ คือใกล้เมืองกาญจนบุรี สามคนมอญถนัดทำอาชีพประมง... ถ้าจะถามว่าทำไมต้องเป็นมหาชัย ก็คงจะเพราะอยู่ติดกรุงเทพฯ อ่าวไทย และติดต่อกับภาคใต้ เนื่องด้วยชัยภูมิที่ดีนี้ทำให้มหาชัยกลายเป็นแหล่งซื้อขายสินค้าประมงขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยไป" พี่อดิศร ตอบข้อสงสัยของข้าพเจ้า

เมืองมหาชัยมีประชากรประมาณ 440,000 กว่าคน ขณะที่มีแรงงานข้ามชาติมาจดทะเบียนในปีนี้ประมาณ 103,000 กว่าคน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 โดยมีมอญประมาณร้อยละ 50 ที่เหลือเป็นกะเหรี่ยงประมาณร้อยละ 20 พม่าและกลุ่มอื่น ๆ อีกประมาณร้อยละ 20 และเขมรประมาณร้อยละ 10

"...ที่มอญเยอะ อาจจะเป็นเพราะกลุ่มมอญเข้ามาก่อนก็ได้ แล้วไปดึงเอาพรรคพวกเข้ามาด้วย เป็นเครือข่ายแต่ที่กลุ่มมอญดูมีกิจกรรมคึกคัก เพราะมีไทยมอญ มีวัดมอญทำนองนั้น ซึ่งมีลักษณะคล้ายที่ราชบุรี เนื่องจากพื้นที่แถบนี้เป็นมอญเกือบทั้งหมด มอญที่ปากเกร็ดอยู่กันเป็นหมู่บ้านชัดเจน แต่ที่มหาชัยผสมมอญ จีน คนภาคกลาง คนอีสาน มันเป็นเมืองเศรษฐกิจเลยมีความกลมกลืนมากว่าที่นนทบุรี" พี่อดิศร อธิบายเพิ่มเติม

ชาวมอญพบในประเทศพม่าและไทย พม่าเรียกชนชาติมอญว่า ตะเลง ใน สมัยโบราณตะวันตกเรียกมอญว่า เปกวน (paguan) อีกชื่อหนึ่งคือ รามัญ มาจากชื่อเรียกประเทศของมอญว่า "รามัญญเทส" หรือรามัญประเทศ (สุจริตลักษณ์ 2538, น.1) มอญตั้งหลักแหล่งอยู่ในพม่าตอนล่าง ตามบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิระวดี
สาเหตุของการอพยพเนื่องจากได้รับการข่มเหงทางการเมือง การปกครอง เมื่อเกิดสงครามระหว่างไทยกับพม่า เมืองมอญจะเป็นทางผ่านกองทัพ มอญจะถูกเกณฑ์แรงงานไปร่วมรบกับพม่าในสงคราม มอญที่อพยพมาตั้งหลักแหล่ง ในประเทศไทยเข้ามาในฐานะเชลยศึก หลบหนีจากกองทัพพม่าหรือลี้ภัยทางการเมือง (สุจริตลักษณ์ 2538, น.9)
บริเวณที่เป็นถิ่นฐานของชาวมอญในประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ริมแม่น้ำ เช่น แม่น้ำแม่กลอง บริเวณอำเภอบ้านโป่ง โพธาราม ราชบุรี และกาญจนบุรี แม่น้ำท่าจีน บริเวณพระประแดง (ปากลัด) แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณนนทบุรี ปทุมธานี แม่น้ำมหาชัย สมุทรสาคร นอกจากนั้น ยังพบอยู่กระจัดกระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ เช่น นครปฐม เพชรบุรี อยุธยา ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี นครราชสีมา นครสวรรค์ และปราจีนบุรี

ที่มหาชัยหลังตลาดกุ้ง จะมีชุมชนไทยมอญอยู่ เช่น วัดหงษ์ วัดโกรกราก วัดเจตน์ ซึ่งสามารถสังเกตได้ว่าเป็นวัดมอญโดยดูจากเสาหงษ์

บริเวณชุมชนตลาดกุ้ง ซึ่งเป็นที่พักของคนงาน มองเห็นเพิงเป็นแนวยาว ที่นี่เรียกได้ว่าเป็น "ซุปเปอร์มาร์เก็ตของคนจากพม่า" เนื่องจากมีสินค้าจากพม่าที่คนงานสามารถจับจ่ายใช้สอยได้อย่างคุ้นเคย มีตั้งแต่หนังสือภาษามอญ ภาษาพม่า โปสเตอร์รูปดาราของพม่า โสร่ง ผ้าถุง ของใช้ทั่วไป ตลอดจนอาหารจำพวกปลาแห้ง ผัก ซึ่งของเหล่านี้นำมาจากชายแดนสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และชายแดนแม่สอด จ.ตาก

พี่สมพงษ์ สระแก้ว จากมูลนิธิรักษ์ไทย ซึ่งทำงานด้านสุขภาพกับแรงงานข้ามชาติที่มหาชัยมากว่า 5 ปี บอกว่า "คนงานข้ามชาติที่นี่เขาเชื่อมต่อกับวัฒนธรรมความเชื่อได้ เพราะส่วนหนึ่งที่นี่มีวัดที่เจ้าอาวาสเป็นคนมอญ เขาเข้าวัดทำบุญกันได้ตามปกติ นี่เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง คือ การมีที่ยืนของเขาในเรื่องวัฒนธรรม เขากินอาหารพื้นบ้านจากสังขละบุรี วันชาติมอญที่นี่ 25 กุมภาพันธ์จัดงานมีสีสันมาก มันเป็นเรื่องจิตใจเหมือนที่ผมเองต้องกินข้าวจากบ้านที่สุรินทร์เพราะรู้สึกว่าอร่อย เราอยากให้ความสวยงามของสิ่งเหล่านี้สร้างการอยู่ร่วมกันกับคนไทยอย่างสันติ..."
ภาพสาวหนุ่มพม่ามีแป้งพม่าทาวงแก้ม แย้มยิ้มนุ่งโสร่งผ้าถุงยังมีให้เห็นที่มหาชัย...

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท