Skip to main content
sharethis

เขียนโดย ปิติ ทิวาชน นักเขียนลาว
แปลโดย สุมาตร ภูลายยาว

ในยุคสมัยของการล่าเมืองขึ้นแบบเก่า ดาบ หอก กระบอกปืน ของพวกตะวันตกผิวขาวเดินทางมาสู่ชาวตะวันออกพร้อมๆ กับสินค้าอย่าง ฝิ่น กาแฟ น้ำแข็ง เพื่อแลกเอาผ้าไหม น้ำผึ้ง ใบชา และข้าทาสบริวาร เพื่อทำการขนส่งไปบำรุงบำเรอประเทศขุนศึกผู้มีอำนาจบาดใหญ่ทั้งหลายในดินแดนตะวันตก

แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระบบทุนนิยมสมัยใหม่ได้เดินทางมาพร้อมกับการล่าเมืองขึ้นที่ทันสมัยกว่าเดิม เศรษฐีสงครามได้หว่านเงินตราเป็นจำนวนมากเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีอยู่ให้ก้าวไปสู่วัฒนธรรมของการบริโภคนิยม ซึ่งมีกิเลสตัณหาของคนคอยรับเอาอย่างง่ายดาย

สิ่งที่เป็นเครื่องแสดงลักษณะของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมได้ดีที่สุดของคนตะวันออกคือ กางเกงยีนส์ น้ำอัดลมผสมกาเฟอีน เพลง Rock" n role, อาหารแดกด่วน ต่างๆ ตลอดจนเครื่องใช้สอยฟุ่มเฟือยที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ผ้าอ้อมของเด็ก เป็นต้น ในยุคของการบริโภคนิยมผู้คนทั่วโลกต่างบูชาเงินตราเป็นพระเจ้า (IMF = I" m father)

ประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาทั้งหลายต่างรับเอาวัฒนธรรมบริโภคนิยมจนอุทิศตนกลายเป็นลูกไล่ให้แก่ประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย บรรดาประเทศอุตสาหกรรมใหม่ต่างชิงดีชิงเด่น แต่งหน้าทาแป้ง เยื้อแย่งสิทธิทางการค้า แสวงหาพันธมิตรทางการตลาด แย่งทุนเพื่อขยายอุตสาหกรรมปรุงแต่ง เพื่อส่งสินค้าไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราเพียงอย่างเดียว บางประเทศที่ไร้เงินทุนก็บากหน้าไปกู้ยืมกับกองทุนระหว่างประเทศ (IMF = I" m father) มาสร้างตึก สร้างคอนโด
รีสอร์ท สนามกอล์ฟ สุดท้ายธุรกิจการเงินหลายแห่งก็ประกาศล้มละลาย

ประสบการณ์ที่เจ็บแสบมักสอนบทเรียนราคาแพงที่สุดให้กับมนุษย์ หลายประเทศรู้สึกตัวว่า คนภายในประเทศของตัวเองถูกทารุณจากวัฒนธรรมบริโภคนิยม จึงหันกลับมาหาวิถีแห่งการพึ่งพาตนเอง สร้างกระแสความคิดเกษตรกรรมธรรมชาติแบบพอเพียงเพื่อการหวนคืนสู่ธรรมชาติ ร่วมกันพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พืช-สัตว์พื้นเมือง ให้สืบทอดยาวนาน

แต่ในขณะบางประเทศหวนคืนสู่เกษตรธรรมชาตินั้น บริษัทข้ามชาติในค่ายทุนนิยมมองเห็นหนทางของระบบผูกขาดแบบเดิม พวกเขาจึงตั้งหน้าตั้งตาประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ๆ (สิ่งล้ำหน้า) มาเป็นอำนาจควบคุมแบบใหม่ ในขบวนเทคโนโลยีชีวภาพ ไม่มีสิ่งใดจะอัศจรรย์และวิเศษไปกว่า พืชตัดแต่งพันธุกรรม GMO (Genetically Modified Organism) ซึ่งแปลเนื้อในใจความได้ว่า การตัดแต่งพันธุกรรมที่อยู่ใน DNA ของพืชตัวหนึ่งไปสู่พืชตัวอื่น ทำให้มีลักษณะต่างๆ ตามความของต้องการได้ เช่น เพิ่มผลผลิต ทนสภาพภูมิอากาศ เพิ่มค่าโปรตีน และสารอาหารอื่นๆ สามารถสร้างสารพิษป้องกันตนเอง เพื่อตัดวงจรการรบกวนของแมลงที่เป็นศัตรูพืช (แมลงต่างๆ ตายดับ กบ เขียดค่อยๆ สูญพันธุ์) สำคัญคือ สามารถที่จะลดต้นทุนและย่นระยะเวลาในการผลิตลง และสามารถที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้นรวมทั้งเก็บไว้ได้นานกว่าเดิมหลายเท่า เหมาะแก่การส่งไปขายยังที่ไกลออกไป

เรื่องของพืช GMO กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันไปทั่วโลก เพราะว่า หากพืชพันธุ์วิศวกรรมตัดแต่งนี้นำไปปลูกยังที่ใด มันจะแพร่พันธุ์ข้ามไปสู่สายพันธุ์พืชพื้นเมือง ทำให้พันธุ์พืชพื้นเมืองสูญเสียสมรรถนภาพออกลูกออกผลที่นับวันจะอ่อนแอลง พร้อมกันนั้นพืชวิศวกรรมตกแต่งยังได้คุกคามแมลง หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อยหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อคนพื้นเมือง จนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และในอนาคตพืชพันธุ์พื้นเมือง กบ เขียด แมลงต่างๆ ก็จะสูญพันธุ์ฉิบหายวายวอดไปในที่สุดนั่นเอง

พืช GMO ที่หลุดออกมาจากห้องทดลองเทคโนโลยีชีวภาพของบริษัทผูกขาดนั้น เจ้าของสามารถที่จะสั่งได้ว่า จะตัดยีนส์ตัวไหนออก จะใส่ยีนส์ตัวไหนเข้าไป และที่สำคัญพืช GMO นั้นถูกตัดแต่งให้เป็นหมัน เพื่อว่าเหล่าบรรดาบริษัทผูกขาดจะได้ขายเชื้อพันธุ์อย่างกว้างขวางและไม่มีวันสิ้นสุด

แม้กระทั่งหากว่า บริษัทที่ทำการตัดแต่งพันธุกรรมของพืชเสร็จสิ้นแล้ว ทางบริษัทก็สามารถที่จะจดสิทธิบัตรและสงวนลิขสิทธิ์โดยมีกฎหมายรองรับอย่างดี แต่พวกเขาไม่ได้สนใจเลยว่า พันธุ์พืชพื้นเมืองที่มีอยู่เดิมที่ถูกนำมาตัดแต่งพันธุกรรมนั้นเอามาจากสถานที่ใด ประเทศใด

ดังนั้นกสิกรทั่วโลกถึงจะซื้อเชื้อพันธุ์ GMO ไปทำการเพาะปลูก การเพาะปลูกก็ทำได้เพียงครั้งเดียว รอบเดียว เมื่อจะทำการปลูกครั้งใหม่ แน่นอนว่า ต้องไปซื้อเชื้อพันธุ์มาใหม่อีกครั้ง

สำหรับสารเคมีหรือปุ๋ยที่นำมาประกอบการบำรุงรักษาหรือเร่งจังหวะการเจริญเติบโตของพืช GMO แน่นอนว่าเกษตรกรหาที่ไหนไม่ได้ นอกจากจะซื้อจากบริษัทที่ทำการขายพืช GMO เท่านั้น ซึ่งปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลงที่บริษัททำออกมา มันก็มีจำนวนมากมายเสียเหลือเกิน

ผลสรุปของมันก็คือ การเกิดขึ้นของระบบหัวเมืองขึ้นทางกสิกรรมอย่างขนานใหญ่ ส่วนการทำลายเหล่าบรรดาสัตว์เล็ก สัตว์น้อยในระบบนิเวศน์นั้น ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทางบริษัทจะพัฒนาเทคโนโลยีโคลนนิ่ง (Cloning) มาดูดเอาเงินได้อีก เช่นเดียวกันกับวัฒนธรรมบริโภคนิยม เมื่อระบบอุตสาหกรรมทำให้น้ำในธรรมชาติกลายเป็นน้ำที่เต็มไปด้วยสารปนเปื้อนต่างๆ จนนำมาบริโภคไม่ได้ พวกเขาก็พากันผลิตน้ำสะอาดออกมาขาย (ทำลายแล้วก็หาทางกอบโกย)

ปัจจุบันนี้ (ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ ๒๑) พืช GMO เป็นเทคโนโลยีที่ผูกขาดอยู่ในมือของบริษัทข้ามชาติเพียง ๕ แห่งคือ มอนซันโต้ โนวาติด ดูปอง เอดต้าเซเมก้า อาเวนติด ๕บริษัทนี้ได้ทุ่มเทการทดลองกับพืชทุกอย่างที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของโลกอันได้แก่ ข้าว ถั่งเหลือง ฝ้าย มันฝรั่ง ข้าวโพด ซึ่งพื้นเหล่านี้ได้แพร่ขยายพื้นที่ในการเพาะปลูกไปแล้วกว่า ๒๘ ล้านเฮกต้า ทั้งที่อยู่ในสหรัฐ อเมริกา ออสเตรเลีย แม็กซิโก สเปน ทวีปแอฟริกา จีน ไทย และในส่วนของลาวนั้นยังไม่แน่ใจว่า มีการปลูกพืช GMO มากน้อยเพียงใด

เมื่อผู้เขียนได้อ่านข่าวเรื่อง แตงโมหวานไร้เมล็ด ในหนังสือพิมพ์สหวันพัฒนาพาให้คิดถึง GMO ขึ้นมาทันทีทันใด

ลักษณะที่พิเศษของพืช GMO นั้นคือ ปลูกง่าย ไม่มีแมลงศัตรูพืชรบกวน ให้ผลผลิตสูง เพียงคุณ สมบัติ ๓ ประการนี้ก็ทำให้เป็นที่พอใจของเกษตรกรเป็นอย่างมากในทันทีทันใด นี่ถือว่าเป็นจุดขายอย่างหนึ่งที่บริษัทผูกขาดทั้งหลายดังที่กล่าวมาแล้วเจาะจงเป็นพิเศษ เพื่อมอมเมาความคิดของเกษตรกรและชาวนาทั่วโลก ให้ยึดติดกับทิศทางการเกษตรแบบอุตสาหกรรมต่อไป และถือว่าเป็นการปลุกกระแสต่อต้านกับแนวคิดเกษตรธรรมชาติหรือเกษตรพอเพียง ซึ่งวิถีแห่งการหันหลังกลับไปสู่การทำเกษตรธรรมชาติและเกษตรพอเพียงนั้นจะทำให้ประเทศมหาอำนาจที่ผูกขาดทางการค้าทั้งหลายสูญเสียอำนาจ และถูกลดบทบาทในการจัดการเรื่องการค้าลงอย่างน่าเจ็บใจ

ของฝากกิเลสตัณหาที่ประเทศนายทุนส่งมาล่อตาล่อใจไม่ขาดสายนั้น แท้จริงแล้วเป็นกลลวงให้พวกเราตกอยู่ใต้อำนาจการควบคุมของพวกเขามิใช่หรือ แล้วเกษตรกรและชาวนาจนๆ จะต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลเพียงใดมาซื้อเชื้อพันธุ์กับทั้งสารเคมีในการบำรุงรักษาพืช GMO ในแต่ละปีถ้าหากว่า เกษตรกรตกเป็นทาสของพืชพันธุ์ GMO ค่าน้ำมันรถไถนาเดินตามที่เพิ่มขึ้นก็จะไม่ทำให้เกษตรกรหวนคิดถึงควายตู้ที่เคยใช้เป็นเครื่องมือในการทำการเกษตรขึ้นมาทุกวันๆ เลยหรือ ?

และเมื่อเราทุกคนจำเป็นต้องเผชิญกับชะตากรรมการคุกคามโลกของอำนาจการผูกขาดแบบใหม่ของทุนนิยมร่วมกัน ไม่เป็นการถูกต้องแล้วหรือที่พวกเราควรไตร่ตรองช่วยกันว่า พืช GMO มันคือผลผลิตของเหล่าบรรดาประเทศทุนนิยมทั้งหลายที่ต้องการผูกขาดทางด้านการผลิตในภาคเกษตร กรรมทั้งหมด ฉะนั้นแล้วหากพวกเราจะปล่อยเรื่องพืช GMO ให้ผ่านเลยไปก็ควรมีเหตุทาง
วิทยาศาสตร์มาอธิบายพอสมควรว่า มันมีประโยชน์ต่อโลกและต่อภาคเกษตรอย่างไร พวกเราจึงปล่อยให้มันคุกคามโลกและมีอำนาจล้นฟ้าอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net