เครื่องเล่นในรร.ทำเด็กเจ็บกว่า4หมื่นต่อปี

กรุงเทพฯ-21 ธ.ค.47 นักวิจัยรามาฯพบ เครื่องเล่นในโรงเรียนรัฐบาลชำรุด เกือบ 100% วอนแก้ไขด่วน อาจเกิดอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อ เผยตัวเลขบาดเจ็บเพราะเครื่องเล่นปีละ 34,075 คน เด็ก 5-12 ปี เป็นเหยื่อมากที่สุด เตือนภัยแป้นบาสอันตราย เคลื่อนย้ายบ่อย เป็นเหตุล้มทับตาย

วันนี้ ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีมีการประชุมเรื่อง "โรงเรียนปลอดภัย ครั้งที่ 2/2547" โดย น.ส.ชฎาพร สุขสิริวรรณ นักวิจัยโครงการโรงเรียนปลอดภัยและการจัดการความรู้เรื่องความปลอดภัยในเด็ก ศูนย์วิจัยเพื่อการสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย
ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า จากสถิติพบว่าในแต่ละปีมีเด็กประสบอุบัติเหตุจากการเล่นเครื่องเล่นประมาณ 34,075 รายต่อปี เสียชีวิตประมาณ 3 รายต่อปี และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นทุกปี โดยเกิดจากเครื่องเล่นภายในโรงเรียนมากที่สุด รองลงมาคือในหมู่บ้าน ชุมชน ตามด้วยสวนสาธารณะ

ทั้งนี้การรายงานยังไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ ดังนั้นคาดว่าปริมาณเด็กที่ประสบอุบัติเหตุจริงน่าจะสูงกว่าที่มีการเก็บตัวเลข และอุบัติเหตุมักเกิดขึ้นในเด็กอายุ 5-12 ปี ซึ่ง 44% มีสาเหตุมาจากกระดานลื่น 33% เกิดจากชิงช้า นอกจากนั้นคือม้าหมุนและเครื่องเล่นอื่น ๆ

"การบาดเจ็บที่พบบ่อยที่สุดคือ บริเวณแขน ขา ใบหน้า ที่รุนแรงคือกระดูกหัก ศีรษะถูกกระทบกระ
เทือนและถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งการเสียชีวิตของเด็กส่วนใหญ่เกิดจาการเครื่องเล่นล้มทับ ดังนั้นเครื่องเล่นของทุกชิ้นต้องออกแบบให้ต้านทานแรง หรือน้ำหนักสูงสุดที่เกิดจากการเล่นของเด็กได้ รวมถึงฐานรากและการติดตั้งก็ถือเป็นหัวใจสำคัญ ต้องคำนึงถึงสภาพดินและพื้นที่ในการติดตั้ง หากเป็นดินอ่อนหรือดินถมอาจต้องมีเสาเข็มเพื่อถ่ายน้ำหนักชั้นดินที่รองรับได้ และต้องตรวจสอบสนามเด็กเล่น เครื่องเล่นทุกวัน ควรให้ช่างเทคนิคมาตรวจสอบทุก 3 เดือน เมื่อครบ 1 ปี ต้องเชิญผู้ผลิตหรือเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญมาดูแล และมีเอกสารรับรองอย่างถูกต้อง"น.ส.ชฎาพร กล่าว

นักวิจัยโครงการโรงเรียนปลอดภัยฯ กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับเครือข่ายโรงเรียนปลอดภัย 20 แห่ง ทำให้ทราบว่าเด็กที่ประสบอุบัติเหตุจากเครื่องเล่นภายในโรงเรียนเกิดจาก 1.เครื่องเล่นเหล่า
นั้นได้รับการบริจาคมา 2.เด็กเล่นเครื่องเล่นโดยขาดความรู้เรื่องอุปกรณ์ 3.ขาดทักษะการเล่น 4.ไม่มีป้ายให้คำแนะนำ 5.ขาดการตรวจสอบจากผู้บริหารและครู และไม่เคยส่งนักการภารโรงไปอบรม เรื่องการดูแลเครื่องเล่นภายในโรงเรียน ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยดูแล

นอกจากนี้อุบัติเหตุจากอุปกรณ์กีฬาก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน โดยเฉพาะกรณีแป้นบาสที่ปรากฏเป็นข่าวว่า ล้มทับเด็กจนเสียชีวิต เรื่องนี้เป็นปัญหาในหลายโรงเรียน เด็กมักใช้แป้นบาสผิดวิธี ด้วยการขึ้นไปปีนป่าย ห้อยโหน ซึ่งอันตรายมาก เนื่องจากแป้นบาสมักถูกเคลื่อนย้าย เพราะสนามกีฬาจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นด้วย

ทั้งที่จริงๆแล้วบริษัทผู้ผลิตจะทำให้แป้นบาสเคลื่อนย้ายได้ยาก พอถูกเคลื่อนย้ายก็ไม่ได้คำนวณแรงต้าน ว่าจะรับน้ำหนักได้หรือไม่มีเพียงการคำนวณเรื่องความสูงเพียงอย่างเดียว เมื่อเด็กไปห้อยโหนแป้นบาสจึงล้มทับ ที่สำคัญหลังจากเกิดอุบัติเหตุกับเด็กไม่ว่าจะจากเครื่องเล่นหรืออุปกรณ์กีฬา สิ่งที่โรงเรียนทำมีเพียง 2 อย่าง คือ ห้ามเล่นกับขนเครื่องเล่นออกไป ซึ่งเหมือนไฟไหม้ฟาง พอเวลาผ่านไปก็ขนของเล่นเข้ามาเหมือนเดิม

"อาจพูดได้ว่า เครื่องเล่นที่มีอยู่ในโรงเรียนของรัฐเกือบจะ 100% มีความชำรุด อาจเกิดอันตรายได้ทุกเมื่อ ส่วนโรงเรียนเอกชนบางแห่งดูแลเครื่องเล่นอย่างดี ดิฉันอยากให้มีการสำรวจเครื่องเล่นในโรงเรียนทั่วประเทศไทย เพื่อความปลอดภัยของเด็ก อีกทั้งสนามเด็กเล่นในบ้านเราก็มักจะเป็นปูนเป็นอิฐ ซึ่งควรจะปรับเปลี่ยนมาใช้พื้นทรายเหมือนในต่างประเทศ เนื่องจากปลอดภัยและยังเสริมพัฒนาการของเด็กด้วย"น.ส.ชฎาพร กล่าวและว่า ได้ส่งรายการศึกษาโรงเรียนปลอดภัยให้กับกระทรวงศึกษาธิการแล้ว และในวันที่ 27 ธันวาคมนี้จะเข้าพบกับ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯกทม. เพื่อเสนอปัญหาเรื่องนี้

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท