Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภาพประกอบ : กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

---------------------------------------------
ตึกแถวสูงสี่ชั้น ...ดูแปลกตาด้วยเสื้อผ้าที่ตากยื่นออกมารับแสงแดดจำนวนมาก ปลิวไสวตามแรงลม

นี่คือ "ชุมชนตลาดกุ้ง" ที่พักอาศัยของแรงงานข้ามชาติราว 3,000 คน ซึ่งอยู่ด้านหลังตลาดกุ้ง บรรยากาศยามสายดูคึกคักไปด้วยคนงาน บางส่วนตั้งวงเตะตะกร้อ ด้านหลังที่เป็นเพิงยาวขายของ จุดที่ดูจะมีคนหนาแน่นอีกแห่งคือร้านกาแฟที่มีทีวีเปิดให้ลูกค้านั่งดูกัน ตู้เกมหยอดเหรียญก็ดูเป็นจุดรวมของเด็กวันรุ่นได้ไม่น้อย

"บางคนมาเห็นอาจจะนึกว่าเขาขี้เกียจ ไม่ทำงาน"
พี่ณรงค์ พยงศักดิ์ อาสาสมัครมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวขึ้นพร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า คนงานที่นี่เริ่มทำงานส่วนมากประมาณ 5 ทุ่มเป็นต้นไป โดยคนงานส่วนใหญ่ไปทำงานที่สะพานปลา ซึ่งเรือจะมาเทียบท่าในช่วงเที่ยงคืน และกุ้งจะถูกนำมาแยกคัดที่ตลาดกุ้งนี่เอง ซึ่งคนงานที่นี่ก็จะได้เวลาเริ่มงาน

ตลาดกุ้ง เริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่ตี 2 ไปจนถึงช่วงบ่ายหรือจนกว่ากุ้งจะหมดนั่นเอง โดยส่วนใหญ่กุ้งที่ถูกส่งมาจะมีทั้งกุ้งทะเลและกุ้งเลี้ยงจากภาคใต้ งานรับจ้างยกของส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย นอกนั้นคือการแกะกุ้ง คัดขนาดกุ้ง(เล็ก กลาง ใหญ่) ส่วนใหญ่เป้นผู้หญิง ค่าแรงอยู่ที่ประมาณ 100-170 บาท/วัน หรือบางรายที่ได้ถึง 200 บาท/วัน แต่เป็นคนที่มีอายุงานนับสิบปี ส่วนการซื้อขายจะมีคนมารับซื้อถึงที่ ซึ่งในช่วงที่มีกุ้งจำนวนมากที่นี่จะมีเงินสะพัดถึงวันละ 80-90 ล้านบาท

ห้องพักขนาด 5x7 เมตร เหล่านี้ราคาค่าเช่า 3,000 บาท/เดือน หรือประมาณ 4,000 บาทถ้ารวมค่าน้ำค่าไฟ นอกจากนี้ยังต้องจ่ายล่วงหน้าอีก 6,000 บาท เมื่อพิจารณาจากสภาพภายนอกที่ดูไม่ได้รับการเอาใจใส่นักจากเจ้าของแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าราคาค่อนข้างสูง ยิ่งเมื่อเทียบกับสภาพห้องเช่าในกรุงเทพฯในราคาใกล้เคียงกัน

พี่ณรงค์ บอกกับเราว่า ราคาขนาดนี้คิดดูว่าสองคนผัวเมียจะอยู่ได้ไหม ได้ค่าแรงแค่วันละร้อยกว่าบาท หากคิดในแง่สุขภาพคงไม่ดีเพราะต้องแออัดยัดเยียดกันอยู่ แต่ในแง่เศรษฐกิจแล้วนี่คือสิ่งที่เป็นอยู่ ซึ่งมีการพักอยู่รวมกันตั้งแต่ 4-12 คน/ห้อง เลยทีเดียว โดยนอนเรียงกันเป็นแถว แต่ถ้าเป็นครอบครัวก็มีเพียงผ้ากั้นเพื่อความเป็นส่วนตัวเท่านั้น

เราเดินทางต่อไปที่ สะพานปลา บรรยากาศยามเที่ยงวันค่อนข้างเงียบสงบ เห็นเพียงร่องรอยของปลาบางส่วนที่ยังรอการขนส่งไปต่อ และลูกเรือบางลำที่กำลังเก็บอุปกรณ์บนเรือ

ที่นี่นับได้ว่าเป็นที่ขึ้นปลาที่ใหญ่ที่สุดในมหาชัย ก่อนที่บริษัทต่างๆจะมารับไปแปรรูป หรือแช่แข็ง โดยมี เรือประมงชายฝั่ง ทั้งที่ออกทะเลไปเย็นกลับเช้า หรือไป 15-20 วันก็มี รวมทั้งมี เรืออินโด เป็นเรือไทยที่ไปหาปลายังน่านน้ำอินโด ซึ่งสังเกตได้จากที่มีธงอินโดติดอยู่ ซึ่งเรือประเภทนี้จะมีเรือ 2 ส่วน คือเรือที่ลอยลำอยู่ในน่านน้ำอินโดเป็นเวลาประมาณ 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี จึงขึ้นฝั่งมาซ่อมเรือ โดยจะมีเรือทัวร์ไปรับปลามาขึ้นฝั่งทุก 45 วัน

ซึ่งมีการประมาณการว่าขณะนี้มีเรือกว่า 3 พันลำ และลูกเรือนับหมื่นคนทั้งคนอีสานและแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในน่านน้ำปัจจุบัน
.............................................................

สารคดีสั้น "ชีวิตลูกเรือประมง" ฉายภาพไปช้าๆ
"...เรามาเมืองไทยคิดว่านี่คือเมืองในฝัน
1 ปี ผ่านไป ฝันก็คือฝัน
คนไทยเก็บเงินแล้วก็จากไป
เรายังทำงานหนักเหมือนช้าง แต่อยู่ห้องเล็กเหมือนหนู(ห้องพักบนเรือหรือที่เรียกว่าเล้าไก่)
บางคนไม่ไหวก็หนีไป แต่บางคนยังสู้เพราะยังฝันอยู่..."

ท้องฟ้ายังมืดมิด ขณะที่เหล่าลูกเรือกำลังลากอวนขึ้นบนเรือ ลมพัดแรงแต่ต้องนั่งยองๆกินข้าวอยู่กลางลำเรือ เมื่อปลาถูกนำขึ้นมาบนเรือ สองมือเปล่านำปลาแช่กับก้อนน้ำแข็งไปเก็บ

"พอขึ้นฝั่งมาพร้อมเงินที่ได้มาจากความเหนื่อยยาก ที่ที่เราจะไปคือร้านอาหาร คาราโอเกะ มีผู้หญิง กินเหล้า จนเราลืมครอบครัว ลืมสิ่งอื่นๆที่เคยคิดไว้
...
เราไม่รู้วิธีป้องกัน เราไปหาหมอแต่เราพูดภาษาไทยไม่ได้
พอรู้ว่าเป็นโรคเอดส์ คิดอยู่สองอย่างทั้งวันทั้งคืนว่าจะเอาเงินที่ไหนมารักษา กับคิดจะฆ่าตัวตาย"

สารคดีจบลง วงสนทนาเปิดขึ้น
พี่ณรงค์ วัย 47 ปี แรงงานข้ามชาติที่อยู่เมืองไทยมาตั้งแต่เกิด เล่าความรู้สึกว่า รู้สึกแย่ที่เขาบอกว่าแรงงานข้ามชาติเป็นตัวนำเชื้อโรคมาเมืองไทย ทั้งๆที่ถ้าไปดูที่ในพม่าจะเห็นเลยว่าสารพิษไม่มี เพราะรถไม่ค่อยมี โรงงานไม่ค่อยมี อาหารไม่มีสารพิษ ซึ่งนายจ้างคนไทยถึงกับบอกว่าจ้างแรงงานจากพม่า 1 คน เหมือนจ้างคนไทย 3 คนเพราะแข็งแรงกว่า

ซึ่งการเจ็บป่วยนั้นน่าจะเกิดจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การเดินทางเข้ามาบางครั้งต้องอยู่บริเวณชายแดนหลายวัน ระหว่างที่รอนายจ้าง นายหน้าจะพาไปอยู่ในสวน ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ พอมาอยู่ที่เมืองไทย ที่มหาชัยคนงานเมื่อเจอตำรวจก็วิ่งหนี บางคนหนีไปอยู่ในป่า ถูกเศษแก้วบาดบ้าง ต้องแช่น้ำครำ ถูกยุงกัด อยู่หลายวันก็ทำให้ติดโรคได้

" ชีวิตความเป็นอยู่ อย่างที่เห็นคือต้องอยู่กันอย่างแออัด ชั่วโมงการทำงานนั้นพวกเราก็รู้ว่ากฎหมายบอกว่าทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมง แต่แรงงานที่นี่ต้องทำงานมากกว่าถึงเท่าตัว มาช้าก็ถูกหักเงิน มีบางคนป่วยหยุดงานไป 1 วันนายจ้างไม่รู้ก็หักเงินแค่วันเดียวบางที 200 บาท บางที 500 บาทแล้วจะกินอะไร ค่าแรงแค่ 100 กว่าบาท ตอนนี้เราไม่รู้เหมือนกันว่าคนไทยมองเรายังไง หรือเขามองว่าเราตัวดำ พูดกันไม่รู้เรื่อง เลยน่ากลัว ทั้งๆที่ถ้าดูจริงๆก็ไม่แตกต่างกัน" พี่ณรงค์ เล่า

การรวมตัว ต่อรองหรือเรียกร้องยิ่งกลายเป็นสิ่งที่เป็นไม่ต้องและดูห่างไกล เพราะจากสิ่งที่พวกเขาเผชิญอยู่คือการถูกเลิกจ้างโดยง่าย เพียงแค่แรงงานเอ่ยถามถึงค่าแรงที่น้อยนิด การขาดงานเนื่องจากป่วย สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงานจึงเป็นสิ่งที่เอื้อมไม่เคยถึง

"เราก็เป็นมนุษย์ แค่มองเราเป็นแรงงานก็ดีแล้ว แต่บางคนเขามองเราเป็นทาส โรงงานบางแห่งคล้องกุญแจใหญ่มากเพราะกลัวคนงานหนี บางโรงงานออกไปข้างนอกไม่ได้ต้องซื้อของที่เขาเอามาขายให้ อาหารทำขายเหลือก็เก็บไว้ขายอีก แกะกุ้งบางทีรีบมากเพราะถ้านานกุ้งจะเปลี่ยนสี คนงานต้องกินข้าวตรงที่ทำงานแค่ถอดถุงมือออก ไม่มีเวลาพัก ...เรามาทำงานเพื่อปากท้อง แต่เราได้โรคเอดส์ โรคกระเพาะ โรคเบาหวาน ถ้านายจ้างเขาสงสารเราบ้างก็คงไม่มีปัญหาอะไร" พี่ณรงค์เล่าภาพชีวิตที่เป็นอยู่

ปิดท้ายถ้าขอได้ พี่ณรงค์บอกพวกเราว่าอยากให้ค่าแรงเป็นธรรมกว่านี้ ขอให้มองพวกเขาเป็นคนบ้างเพราะเขาไม่ได้เรียกร้องให้ได้รับสิทธิทุกอย่างเท่าเทียมคนไทย นอกจากนี้เรื่องเด็กเขาอยากให้มีศูนย์ของพวกเขาเองที่สอนทั้งภาษาไทยและภาษาของพวกเขา เพราะวันหนึ่งพวกเขาต้องกลับบ้านไปอยู่กับญาติพี่น้อง แต่เมื่อไหร่ยังไม่รู้ วันที่พม่าจะมีประชาธิปไตย
............................................................

พี่อดิศร พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ว่า สังคมกำลังดำรงอยู่ด้วยความกลัว เราถูกทำให้กลัวซึ่งกันและกัน ทั้งๆที่เรารู้จักกันน้อยมาก สังคมไทยคิดว่าการฆ่าแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องปกติ เป็นเพียงข่าวเล็กๆ เช่น กรณีที่นายทหารคนหนึ่งเผาทั้งเป็นคนงานมอญหญิง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าขโมยของแต่คนงานไม่ยอมรับ ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ที่ชั้นศาล แต่ทุกครั้งที่คนงานข้ามชาติฆ่านายจ้างไทยเป็นข่าวใหญ่โตแต่ไม่ถูกอธิบายมากมาย

"แรงงานตอนนี้มีอยู่จริง แต่ไม่มีที่อยู่ กลายเป็น "ชายขอบ" เพราะไม่ใช่พวกเรา เป็นคนที่ถูกกดทับ ไม่มีพื้นที่ พูดไม่ได้ เพราะรัฐบาลไทยไม่เคยมองเขาเป็นคน ไม่เคยมองเป็นแรงงาน ไม่เคยมองว่ามีคุณูปการต่อเมืองไทย แต่ถามว่าเราจะหนีคนกลุ่มนี้ได้ไหม วันหนึ่งถ้าเข้ากลับไปเขาก็ยังเป็นเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกับเรา เราจึงควรที่จะมาคิดถึงการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข" พี่อดิศร กล่าวย้ำ

ขณะที่ พี่สมพงษ์ เล่าว่าการทำงานด้านสุขภาพกับแรงงานข้ามชาติในช่วงแรกคนไทยไม่เข้าใจ ไม่เห็นความจำเป็น แต่ตอนนี้คนไทยเริ่มเข้าใจเพราะจะส่งผลมาถึงคนไทย ขณะที่คนงานเองก็มีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับโรงพยาบาล โดยเฉพาะหลายคนยังถูกทำให้กลัวว่าจะถูกตำรวจจับ ตอนนี้มูลนิธิรักษ์ไทย พยายามให้อาสามัครซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติไปให้ความรู้กับคนงาน มีคลินิกรับรักษาเบื้องต้น และหากอาการหนักก็ทำเรื่องส่งต่อไปโรงพยาบาล แต่ตอนนี้ยังเข้าถึงคนงานได้เพียงบางส่วน เพราะคนงานที่มหาชัยมีกว่า 1 แสนคน

ในส่วนของเด็กที่มีอยู่จำนวนมาก พี่สมพงษ์บอกว่าตามกฎหมายแล้วถึงแม้ว่าลูกของแรงงานข้ามชาติจะสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนเช่นเดียวกับคนไทย แต่แรงงานเองก็ไม่รู้สิทธิตรงนี้และเอาเข้าจริงสถานศึกษาก็ไม่มีความเข้าใจและไม่ยอมรับ ที่ผ่านมาเคยมีการเปิดโรงเรียนสอนเด็กเหล่านี้ก็ถูกปิดไป ตอนนี้เปิดการศึกษาตามอัธยาศัย เตรียมความพร้อมเด็ก และประมาณวันที่ 28 ม.ค.ที่จะถึงนี้ จะจัดงานวันเด็กให้ผู้ใหญ่เห็นว่าเด็กเหล่านี้มีอยู่จริงและควรมีการจัดการอย่างจริงจัง
............................

ภาพชีวิตของผู้คนที่เมืองมหาชัยวันนี้ กลายเป็นภาพชีวิตที่ดูลางเลือนจากความเข้าใจของพวกเรา ด้วยเงื่อนไขมากมายที่สะท้อนมา

และภาพของเมืองมหาชัยที่เห็นจากภายนอกวันนี้ก็ดูไม่แตกต่างนัก กลายเป็นเมืองที่ถูกลืม ดูรก ร้าง สกปรก ไม่ได้รับการใส่ใจ ถนนเป็นหลุมบ่อ ร้านค้าขนาดใหญ่ดูบางตา แตกต่างจากเมืองอื่นๆที่มีลักษณะเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่มักจะมีการพัฒนาในเรื่องวัตถุไปด้วย คำตอบหนึ่งที่พวกเราประจักษ์คือ ผู้อยู่อาศัยจำนวนมากคือแรงงานข้ามชาติ ที่มีกำลังซื้อน้อยและไม่อยู่ในขอบข่ายที่ควรได้รับการดูแลในปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้

"มหาชัยเหมือนเมืองตาบอด ไม่มีคนใส่ใจ คนพื้นที่ส่วนใหญ่ทำธุรกิจที่นี่เท่านั้น แต่ย้ายไปอยู่ที่อื่น มากอบโกยกันแล้วจากไปทิ้งไว้แต่สิ่งไม่ดี" พี่สมพงษ์กล่าวส่งท้ายการเยือนเมืองมหาชัย

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net