Skip to main content
sharethis

หนึ่งปีที่ผ่านมา สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยดูเสมือนยังมีความรุนแรงที่แก้ไม่ตก สิ่งที่น่าคิดก็คือแนวโน้มเหตุการณ์อาจจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ผลที่ตามมาก็คือความรู้สึกหวาดกลัว หวาดระแวงและสับสนที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชนและกลุ่มสังคมต่างๆในพื้นที่ นอกจากนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็ยังเป็นเรื่องของโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่นอกจากจะไม่มีการแก้ไขปัญหาเดิมให้ถูกจุดเท่าที่ควรจะเป็นแล้ว ปัญหาใหม่ก็ยังอาจจะเกิดขึ้นอีก ในท่ามกลางความสลับซับซ้อนของเหตุการณ์ และความพยายามในการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ยังคลำหาทางออกและยิ่งกระทำการผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า เราต้องการทั้งการตั้งคำถาม-หาคำตอบ สร้างคำอธิบายและค้นหาข้อมูลอีกมากมายเพื่อทำความเข้าใจความซับซ้อนและพลวัตของความเป็นจริงดังกล่าว

สิ่งที่จะต้องทบทวนประการแรกก็คือเกิดอะไรขึ้นในรอบปี 2547 และสิ่งที่เกิดขึ้นมีความต่อเนื่องจากความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นอย่างไร ความรุนแรงในที่นี้หมายถึงการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบ การวางเพลิง การลอบวางระเบิด และการยิง จากข้อมูลย้อนหลัง 10 ปีหรือหนึ่งทศวรรษตั้งแต่ปี 2536-2547 แสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์รุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้คือปัตตานี ยะลาและนราธิวาส มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในระดับหนึ่งตั้งแต่ปี 2540 ปีละ 80-100 กว่าครั้ง หรือโดยเฉลี่ยปีละ 65.6 ครั้งต่อปี

แต่ในปี 2547 เพียงปีเดียว ข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน แสดงให้เห็นระดับความรุนแรงที่สูงถึง 1,253 ครั้ง หรือ 19 เท่าของค่าเฉลี่ยปีก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ เมื่อเทียบจำนวนเหตุการณ์ในปี 2536-2546 กับปี 2547 เพียงปีเดียว เหตุการณ์ในปี 2547 ซึ่งมีจำนวน 1,253 ครั้งดังที่กล่าวมาแล้ว เทียบกับยอดรวมสิบปีก่อนหน้านั้นซึ่งเกิดเหตุ 722 ครั้ง จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเหตุการณ์ในปีเดียวมีมากกว่าสิบปีหรือหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาประมาณ 1.7 เท่า กล่าวในอีกแง่หนึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดในช่วงเวลาระหว่างปี 2536- 2547 มีจำนวน 1,975 ครั้ง แต่ร้อยละ 36.5 เกิดขึ้น 10 ปีก่อนปี 2547 ส่วนอีกร้อยละ 63.4 เกิดในปี 2547 เพียงปีเดียว

เมื่อแยกข้อมูลเป็นรายจังหวัด ในปี 2547 นราธิวาสเป็นพื้นที่เกิดเหตุมากที่สุด 562 ครั้ง ปัตตานีเป็นลำดับที่สองคือ 382 ครั้ง ลำดับที่สามคือยะลา 279 ครั้ง ทั้งสามจังหวัดเกิดเหตุขึ้นมากกว่าเดิมเมื่อเทียบกับข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 10 ปีก่อนหน้านั้น

ประเด็นที่น่าคิดก็คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีความเข้มข้นอย่างมากหลังจากปี 2544 เมื่อดูข้อมูลรวม 11 ปีอีกครั้ง จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ร้อยละ 21.25 เกิดขึ้นก่อนปี 2544 ส่วนอีกร้อยละ 78.74 เป็นเหตุการณ์หลังปี 2544 เหตุที่นับเอาปี 2544 เป็นจุดเปลี่ยนเพราะในปีนี้เป็นปีเริ่มต้นเข้ารับตำแหน่งของรัฐบาลพ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตรในตอนต้นปี ซึ่งอาจจะนับเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบริหารที่สำคัญในประเทศไทยที่พรรคการเมืองเกิดใหม่ชื่อไทยรักไทยมีเสียงข้างมากอย่างที่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์มีอำนาจในการบริหารประเทศ

สิ่งที่เป็นผลกระทบต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือการยกเลิกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองกำลังผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 (พ.ต.ท. 43) ในปี 2545 อย่างไรก็ดี การดูเหตุการณ์ในประเทศในเรื่องรัฐบาลไทยรักไทยอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่การวิเคราะห์ที่ถูกต้องนัก

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในโลกที่เกิดในปี 2544 ก็คือการเกิดเหตุวินาศกรรมถล่มตึกเวิลด์เทรด มหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกาซึ่งทำให้คนตายไปประมาณ 3,000 คน เป็นการก่อเหตุวินาศกรรมสยองขวัญของขบวนการก่อการร้ายสากลที่ใช้ชื่อว่าอัลกออิดะห์ มีผลทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาตัดสินใจบุกประเทศอัฟกานิสถานในปี 2545 และทำสงครามบุกประเทศอิรัคในปี 2546

ความสอดคล้องกันของเหตุการณ์ระหว่างประเทศกับเหตุการณ์ความไม่สงบภายใน ประเทศเป็นสิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาด้วยในการวิเคราะห์สาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อวิเคราะห์สาเหตุของการก่อเหตุความรุนแรง เราจะมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการปะทุขึ้นของความไม่พอใจอย่างไม่มีระบบหรือแบบแผน หรือเป็นกบฏชาวนาในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่ หรือว่ามีการพัฒนาการขบวนการต่อสู้ขึ้นมาอย่างค่อนข้างเป็นระบบ มีการประสานงานกันในการโจมตีที่เรียกว่า coordination of attacks จากภาพการกระจายของข้อมูลและความเข้มข้นของการเกิดเหตุในระยะหลังโดยเฉพาะหลังจากปี 2540 และสูงขึ้นอีกระดับในปี 2544 โดยเฉพาะสูงโด่งอย่างฉับพลันในปี 2547 น่าจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าความรุนแรงมีแบบแผนและเป้าหมายร่วมกันบางอย่างตามข้อสมมุติฐานหลัง

โดยเฉพาะเมื่อเราพิจารณาว่าปี 2544 เป็นปีที่เกิดการถล่มตึก World Trade ในสหรัฐอเมริกาและหลังจากนั้นเกิดวิกฤตการณ์สงครามในอัฟกานิสถาน และสงครามในอิรักของสหรัฐอเมริกา ประการที่สองก็คือ ทำไมความรุนแรงที่ เกิดขึ้นมีระดับของความเข้มข้น (intensity) สูงขึ้นมากโดยเฉพาะในปี 2547 อะไรเป็นตัวผลักดันให้เกิดแนวโน้มใหม่ของความรุนแรงเช่นนี้ มีปัจจัยภายในและภายนอกอะไรที่อธิบายได้ ซึ่งตามมาด้วยข้อสังเกตประการที่สามก็คือมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่การปะทุขึ้นของความรุนแรงเป็นการแสดงออกซึ่งการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ เป็นการประกาศตัวตน (identity) ที่สะสมมาจากพลังอำนาจทางประวัติศาสตร์และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม รวมทั้งความผิดพลาดของนโยบายรัฐในห้วงเวลาที่ผ่านมา ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง แต่ทำไมการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์จึงปะทุรุนแรงขึ้นในช่วงเวลานี้ ไม่ใช่เวลาอื่นก่อนหน้านี้และหลังจากนี้ ?

การจะเข้าใจเหตุการณ์ในภาคใต้ปัจจุบัน อาจจะต้องใช้แนวคิดใหม่ในการศึกษาเพื่อเข้าใจว่าทำไมเหตุการณ์จึงเกิดขึ้นในลักษณะที่ระดับความเข้มข้นรุนแรงสูงขึ้นและขยายตัวออกไปอย่างค่อนข้างเป็นระบบทั้งสามจังหวัด วิธีการปฏิบัติการของผู้ก่อเหตุก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยโดยมีการเน้นที่การยิงสลับการวางระเบิดและวางเพลิง การที่เหตุการณ์มีการเปลี่ยนแปลงไปมากตั้งแต่ปี 2544 อาจเป็นสิ่งบอกเหตุว่าสถานการณ์ภายนอกประเทศน่าจะมีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวในพื้นที่ซึ่งอ่อนตัวลงก่อนหน้านี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเมื่อรวมกับปัญหาเรื่องความผิดพลาดทางนโยบายของรัฐที่มีต่อประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องสถานการณ์จึงรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ แนวคิดหรืออุดมการณ์การต่อสู้ใหม่ที่ปรากฏขึ้นอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย

จากการพิจารณาข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2547 โดยดูที่อนุกรมเวลาในรอบเดือนตั้งแต่มกราคมพฤศจิกายน เหตุการณ์ความรุนแรงเริ่มในวันที่ 4 มกราคม และมีระดับสูงขึ้นในเดือนถัดมา จนไต่ระดับสูงสุดในเดือนเมษายน (279 ครั้ง) การเกิดกรณีปราบปรามที่มัสยิสกรือเซะ จังหวัดปัตตานีในวันที่ 28 เมษายนน่าจะเป็นตัวชี้ขีดสูงสุดของความรุนแรงในเดือนเมษายน

น่าสังเกตด้วยว่าหลังจากนั้นระดับของการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบลดลงอย่างเด่นชัด เช่นเดือนพฤษภาคมเกิดเหตุ 66 ครั้ง เดือนมิถุนายน 77 ครั้ง จนกระทั่งเดือนกันยายนเกิดเหตุ 57 ครั้ง ในช่วงเดือนตุลาคมเป็นระยะเวลาการเข้าสู่เดือนถือศีลอดของชาวมุสลิมทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วย แต่กราฟของเหตุการณ์กลับพุ่งขึ้นสูงอีกครั้งในเดือนตุลาคม (117 ครั้ง) แม้ความถี่ของเหตุการณ์จะไม่สูงเท่าเดือนเมษายน แต่ก็นับได้ว่ามีระดับที่สูงใกล้เคียงเดือนมกราและกุมพาพันธ์ ที่สำคัญก็คือในวันที่ 25 ตุลาคม ได้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาสจนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก

การปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามของรัฐบาลน่าจะมีผลต่อการลดระดับของความรุนแรงนับตั้งแต่เดือนเมษายน แต่การพุ่งขึ้นของความถี่และระดับของความรุนแรงในเดือนตุลาคมอีกครั้งทำให้มีข้อสังเกตด้วยว่า อาจมีการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีการก่อเหตุของฝ่ายก่อการ รวมทั้งการกำหนดประเภทและพื้นที่ของการก่อความรุนแรงด้วย

ข้อมูลเปรียบเทียบรายจังหวัดในแต่ละเดือนตั้งแต่ต้นปี แสดงว่าพื้นที่จังหวัดนราธิวาสเป็นจุดเน้นที่สำคัญมากของการก่อเหตุความไม่สงบ ปัตตานีเป็นพื้นที่ที่มีความถี่ในการเกิดเหตุอันดับที่สอง ตามมาด้วยยะลา จังหวัดนราธิวาสครองระดับของการเกิดเหตุสูงสุดทั้งสองครั้งทั้งในเดือนเมษายน (161 ครั้ง) และเดือนตุลาคม (60 ครั้ง) ปัตตานีมีระดับสูงสุดของการก่อเหตุในเดือนมีนาคม ซึ่งในเดือนนี้มีระดับความรุนแรงสูงกว่าทุกจังหวัด (104 ครั้ง)

ความเข้มข้นของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี 2547 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก จากการประมวลข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งปี จากเดือน1 มกราคมจนถึง 10 พฤศจิกายน 2547 มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 1097 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้บาดเจ็บ 524 คน หรือร้อยละ 48 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 573 คนหรือร้อยละ 52

อีกด้านหนึ่งความแตกต่างหลากหลายความคิด และวาทกรรมต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและขยายตัวออกในหมู่ประชาชนในพื้นที่ยังเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสนใจเช่นกัน สำหรับพื้นที่ชายแดนใต้แห่งนี้วาทกรรมอำนาจและปฏิบัติการของมันได้สร้างความเป็นจริงที่หลากหลาย กระจายตัว ทับซ้อนและย้อนแย้งอย่างเห็นได้ชัด

จากการสำรวจข้อมูลประชาชนในจังหวัดปัตตานีในระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์-4 มีนาคม 2547 (ก่อนเหตุการณ์ 28 เมษายน 2547) ผลการศึกษาแสดงว่าประชาชนส่วนมากเห็นว่าสาเหตุของการก่อความไม่สงบในพื้นที่เกิดจากการฉวยโอกาสแก้แค้นเรื่องส่วนตัวและกลุ่มฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ เพื่อแก้แค้นต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐสร้างสถานการณ์

สิ่งที่น่าคิดก็คือว่าสาเหตุเรื่อการแบ่งแยกดินแดนที่รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐพยายามจะอธิบาย กลายเป็นสาเหตุอันดับที่ห้าในการเรียงอันดับคะแนนความคิดเห็นดังกล่าว น่าสังเกตว่า ประชาชนส่วนใหญ่มองปัญหาของความไม่สงบว่าเกิดจากสาเหตุความขัดแย้งในเรื่องส่วนตัวและการฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์เป็นสำคัญ

สิ่งที่ได้มาจากการศึกษา นอกจากจะเป็นเรื่องทัศนะในเรื่องเหตุการณ์ความไม่สงบที่มองว่าความขัดแย้งในเรื่องส่วนตัวและการฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์แล้ว ที่น่าสนใจยิ่งก็คือความแตกต่างในทัศนะของคนสองกลุ่มคือคนไทยพุทธและคนไทยมุสลิม

กล่าวโดยภาพรวมแล้ว มีข้อสังเกตว่าประชาชนส่วนใหญ่ทั้งไทยพุทธ คริสต์และอิสลามยอมรับว่าในปัจจุบันความรู้สึกไม่ไว้วางใจระหว่างชาวไทยพุทธ คริสต์และอิสลามในจังหวัดชายแดนใต้ลดลงมากกว่าก่อน นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ทั้งชาวไทยพุทธ คริสต์และอิสลามต่างก็เห็นว่าในจังหวัดชายแดนภาคใต้ประชาชนทั้งไทยพุทธและอิสลามก็มีความเท่าเทียมกัน

แต่ในอีกด้านหนึ่ง แม้ว่าโดยภาพรวมประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นว่าข้าราชการส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดภาคใต้มีความมุ่งมั่นจริงใจในการปฏิบัติราชการเพื่อรับใช้ประชาชน แต่เมื่อแยกโดยพิจารณาดูภูมิหลังด้านการนับถือศาสนา ในกลุ่มคนไทยอิสลามมีแนวโน้มมากกว่าที่จะเห็นด้วยที่ว่าข้าราชการส่วนใหญ่ไม่มีความเข้าใจต่อวัฒนธรรมมลายูและศาสนาอิสลาม ความแตกต่างด้านความคิดเห็นสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในทัศนะที่ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมักจะปฏิบัติต่อชาวไทยมุสลิมอย่างไม่เป็นธรรม ในกลุ่มไทยมุสลิมมีผู้เห็นด้วยกับทัศนะดังกล่าวค่อนข้างมาก ส่วนทัศนะต่อการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่และการส่งทหารเข้าปฏิบัติการ โดยภาพรวมคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว แต่เมื่อแยกดูตามกลุ่มศาสนาในกลุ่มคนไทยพุทธและคริสต์คนส่วนมากรู้สึกเห็นด้วยกับการประกาศกฎอัยการศึกและการดำเนินการของฝ่ายทหารในพื้นที่ แต่ทัศนะของกลุ่มชาวไทยอิสลามกลับตรงกันข้าม ในกลุ่มดังกล่าวมีคนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการประกาศกฎอัยการศึกและปฏิบัติการของทหาร ในขณะที่คนในกลุ่มไทยอิสลามส่วนน้อยเท่านั้นที่เห็นด้วยกับการประกาศกฎอัยการศึก

กล่าวโดยสรุป สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากในชีวิต ทรัพย์สิน อารมณ์ความรู้สึกและวิถีชีวิตของคนในสังคม มีข้อคิดอะไรบ้างที่เราได้มาจากเหตุการณ์ดังกล่าวในรอบปี ทัศนะที่สะท้อนภาพอารมณ์ความรู้สึกที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ประธานคณะกรรมการกลางจังหวัดนราธิวาส นายอับดุล ราห์มาน อับดุล ซามัด (1 ธันวาคม 2547) ที่ว่า

".... คนมุสลิมในภาคใต้ตอนนี้อยู่เหมือนกับผู้อพยพในบ้านของตัวเองไม่มีอำนาจที่จะไปสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่กล้าเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ ขณะเดียวกันก็ไม่กล้าที่จะไปบอกพวกหัวรุนแรงให้เลิกก่อเหตุ... "

สิ่งที่เราสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือฝ่ายกระทำหรือต่อต้านรัฐใช้อำนาจทางวาทกรรมของตนเองอย่างเข้มข้น ดังนั้น การขยายตัวของความรุนแรงและเป้าหมายของการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับภาคใต้อาจจะทำให้เกิดผลอะไรหลายอย่างที่เราไม่สามารถประเมินได้ในขณะนี้ แต่สิ่งที่ชัดเจนที่สุดก็คือ "ความกลัวและความสับสน" กับคนทุกกลุ่มในสังคมโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวก็คือ "การก่อการร้าย (Terrorism)" ในความหมายที่เป็นจริงซึ่งก็คือการกระทำการที่มีจุดมุ่งหมายและแรงจูงใจในทางการเมือง เป็นความรุนแรงและการคุกคามด้วยความรุนแรง โดยมีการออกแบบปฏิบัติการเพื่อให้เกิดผลกระทบในทางจิตใจที่กว้างและไกลเกินกว่าเหยื่อของการกระทำหรือเป้าหมายเฉพาะหน้า การกระทำดังกล่าวน่าจะมีการจัดการด้วยองค์กรบางอย่างที่มีสายการบังคับบัญชาหรือโครงสร้างการสมคบคิดกระทำแบบหน่วยย่อยๆ (สมาชิกของหน่วยไม่จำเป็นต้องมีตราสัญลักษณ์หรือเครื่องแบบ) และเครือข่ายแบบนี้จะถูกบงการโดยองค์กรที่มิใช่รัฐ

แม้ว่าการก่อเหตุความรุนแรงจะมีจุดเริ่มต้นและตัวขับเคลื่อนอยู่ที่กลุ่มที่อยู่นอกอำนาจรัฐ แต่ข้อสมมุติฐานที่น่าคิดด้วยก็คือการกระทำดังกล่าว ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับมาตรการทางการเมืองและการทหารที่รัฐดำเนินการเพื่อแก้ปัญหานี้ด้วย ประเด็นที่จะต้องระมัดระวังในขณะนี้ก็คือแรงเหวี่ยง (momentum) ของความรุนแรง นอกจากจะเกิดจากผู้ก่อการแล้ว ยังเป็นผลมาจากการกระทำของรัฐเอง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อชุมชนและกลุ่มต่างๆในสังคม สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในปี 2548 เรายังไม่สามารถจะคาดคะเนหรือทำนายได้อย่างชัดเจน แต่อย่างน้อยที่สุด สถานการณ์น่าจะยังคงอยู่ในสภาพเช่นนี้ต่อไปนานพอสมควร ประเด็นปัญหาทางนโยบายความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องเป็นวาระนโยบายที่ฝ่ายการเมืองและทุกฝ่ายให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

ผศ. ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
ศูนย์วิจัยมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net