เรียนรู้สังคมสยามจากประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ตอนที่ 5:ประกาศรัชกาลที่ 4 ภาพผ่านของการเปลี่ยนแปลงสังคม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

"เงื่อนไขอะไร สภาพแวดล้อมอะไรที่ทำให้เกิดประชุมประกาศ กว่า 343 ฉบับ" รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ตั้งโจทย์ไว้ก่อนการอภิปรายถึงภาพของสังคมสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยให้คำตอบว่า สังคมสยามในช่วงรัชกาลที่ 4 คือสภาพของ 2 กระแสที่เข้ามาปะทะและทำปฏิกิริยากัน

2 กระแสที่ว่านั้น อาจจะหมายถึงการปะทะระหว่างกระแสของความเป็นสมัยใหม่ (Modernity) กับ ลักษณะดั้งเดิมของสยาม (Tradition) ก็ได้ หรืออาจจะหมายถึงการปะทะระหว่างเรื่องส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวมก็ได้

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ นักวิชาการประวัติศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอวิธีมองประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 อีกแบบ...

"เราสามารถมองประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 เป็นเหมือนบันทึกการเดินทางของคนๆ หนึ่งในการดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นสองข้างทางที่คนๆ หนึ่งเดินทางผ่าน ชีวิต 2 ข้างทางนั้นอาจจะหมายถึงสยาม..."

รศ. ฉลองเสนอว่า สิ่งที่น่าสนใจหากมองภาพสังคมสยามผ่านประชุมประกาศก็คือ ในช่วงระยะเวลา 18 ปีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ เราจะพบว่าในช่วงระยะ 3-4 ปีแรกที่ทรงครองราชย์ คือ ตั้งแต่ 2394 - 2397 ก่อนหน้าที่เซอร์จอห์น บาวริ่งจะเข้ามา ภาพของสองข้างทางจะเป็นแบบหนึ่ง

แต่หลังจากปี 2398 เป็นต้นมาเมื่อดูจากประกาศรัชกาลที่ 4 เราก็จะพบว่าภาพ 2 ข้างทางเปลี่ยนแปลงไป... "อาจจะไม่ถึงกับจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ก็มีความเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของภาพชีวิต"

ตัวอย่างของความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือ ในช่วงระยะ 2 ปีแรกที่ทรงครองราชย์ ประกาศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศให้หรือประกาศห้าม เกือบทั้งหมดจะเป็นเรื่องของพระราชประเพณี คณะสงฆ์ การกำหนดชื่อเรียกสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเมืองหรือข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ

แต่เมื่อปี 2398 เป็นต้นมาเราจะพบเนื้อหาสาระที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าสนธิสัญญาบาวริ่ง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือการเกิดขึ้นของสิ่งใหม่ ๆ ที่น่าสนใจคือในปีที่สนธิสัญญาบาวริ่งครบรอบ10 ปี จะพบว่าในปีนั้นมีประกาศซึ่งไม่มากในแง่ปริมาณ แต่เป็นประกาศที่สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลง

สังคมปลูกข้าวและสังคมค้าขาย

เราเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างจากประชุมประกาศที่ได้รับผลจากสนธิสัญญาบาวริ่ง รศ.ฉลองตั้งประเด็นก่อนอธิบายต่อมา...

ประการแรก เราเห็นความกระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมสยามให้เป็นสังคมของการปลูกข้าว เป็นสังคมของการส่งออกข้าว

ประการต่อมา เมื่ออ่านตัวประกาศ เนื้อหาใจความเกี่ยวกับเศรษฐกิจจำนวนมากเป็นแนวคิดแบบ อดัม สมิธ เช่น การตักเตือนให้ซื้อข้าวก่อนที่ข้าวจะขาดตลาด ก่อนที่จะแพงขึ้นไปก่อนที่ลูกค้าต่างชาติจะมากวาดซื้อ ภาษาคำอธิบายในการเชิญชวนให้ปลูกข้าว เช่นการลดอากรค่านา การพยายามที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของกลไกราคา กลไกตลาด... "เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นอุดมการณ์แบบ อดัม สมิธ"

รศ. ฉลองกล่าวพร้อมอ้างอิงหลักฐานในประเด็น "อุดมการณ์แบบ อดัม สมิธ" ว่า ในประกาศหลายฉบับเห็นได้ชัดว่าเรื่องของกลไกราคา กลไกตลาด หรือการค้าเสรีจะถูกแฝงอยู่ในประกาศเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น หลังปี พ.ศ. 2398 ซึ่งมีการเปิดการค้าเสรีเกือบทุกเรื่อง แม้ว่าจะมีการเกรงกลัวว่าข้าวจะขาดตลาด หรือว่า ฤดูการผลิตปีต่อไปอาจจะต่ำเพราะฝนอาจจะแล้ง ทว่ารัชกาลที่ 4 ทรงยืนยันโดยตลอดว่าจะไม่มีการห้ามการส่งออกข้าวหรือว่าห้ามลูกค้าชาวต่างชาติเข้ามาซื้อข้าว โดยมีประกาศออกมาย้ำเตือนว่าพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้เปิดการค้าขายข้าวอย่างเสรี และทรงเตือนว่าถ้ากลัวว่าจะมีการซื้อข้าวแพงก็ให้รีบซื้อ

โดยภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงที่สามารถมองเห็นได้จากประชุมประกาศคือ การเปลี่ยนภาพสังคมไทยเข้าสู่การเป็นสังคมปลูกข้าว และสังคมของการค้า

สังคมเงินตรา

ประการต่อมาที่เห็นได้ชัดคือ สังคมของการใช้เงินตรา ทั้งนี้ รศ.ฉลองอ้างถึงเกร็ดจากประชุมประกาศที่สะท้อนว่า รัฐมีความกังวลอยู่ตลอดเวลาว่า การค้าซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วซึ่งไปสู่การแลกเปลี่ยนโดยการใช้เงินตรา จะนำไปสู่ปัญหาสำคัญประการหนึ่งคือ การที่ตัวกลางของการแลกเปลี่ยนคือตัวเงินตราไม่เพียงพอ

ฉะนั้น ภายในช่วงระยะเวลาเพียง 12-13 ปี ตั้งแต่ปี 2398-2407 มีการปรับหรือเพิ่มการใช้เงินตราเข้ามาถึง 3 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกสุด คือ ในปี 2398 มีการประกาศให้การใช้เงินเหรียญนอกใช้ได้อย่างถูกกฎหมายโดยไม่ต้องตีตราก่อน ซึ่งนี่คือการสะท้อนให้เห็นการขยายตัวของการใช้เงินตราและการค้าอย่างน่าตกใจที่เดียว ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 2405 เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเงินตราที่จะมาใช้ในการแลกเปลี่ยนมีการนำเงินตราแบบใหม่เข้ามาใช้ คือเงินอัฐ เงินโสฬส และอีก 3 ปีต่อมาก็มีเงินตราแบบใหม่ขึ้นมาหมุนเวียนใช้ที่เรียกว่า เงินเสี้ยวทองแดง

นอกจากนี้ยังมีประกาศไม่ให้เอาเหรียญเมืองนอกมาแต่งตัวให้กับเด็กซึ่งในประกาศจะให้เหตุผลหลาย ๆ อย่างที่น่าสนใจ เช่นแต่งแล้วเหมือนคนป่าคนดอย หรือกลัวจะถูกปล้น... "ผมคิดว่าสาระสำคัญคือการนิยมเอาเหรียญไปห้อยเป็นเครื่องแต่งตัวเป็นการดึงเงินตราออกจากตลาด แทนที่จะเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนซึ่งช่วยให้การค้ามันไหลไปได้ดีก็จะร่อยหรอเป็นอุปสรรคต่อการค้า" รศ.ฉลองให้ความเห็น

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับสังคมที่ใช้เงินตราก็คือ ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 นี้เอง เป็นสมัยแรกที่ปรากฏว่ามีการทำเงินปลอมเกิดขึ้น
"ไม่มีเหตุผลที่ผู้คนจะทำเงินปลอมมาใช้ถ้าหากว่าเงินตราไม่มีความสำคัญ ในบรรดาประกาศรัชกาลที่ 4 ตั้งแต่ 2398 เป็นต้นมา โดยที่ก่อนหน้านั้นไม่มีปรากฏประกาศที่เกี่ยวข้องกับเงินปลอม นี่คือปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยมาก่อน" รศ.ฉลองกล่าว

สังคมอ่อนไหว

ประการสุดท้ายซึ่ง รศ. ฉลองเสนอคือ ภาพของสังคมที่ละเอียดอ่อนต่อการเปลี่ยนแปลง จากประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ก่อน พ.ศ. 2398 ไม่ปรากฏประกาศที่สะท้อนความวิตกกังวลเกี่ยวกับข่าวลือที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมไทย แต่หลังปี 2398 เป็นต้นมามีประกาศที่สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลเกี่ยวกับข่าวลือ โดยมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ดาวหาง แผ่นดินไหว สุริยุปราคา รวมไปถึงประกาศที่สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลเกี่ยวกับความวิตกของราษฎรที่เห็นฝรั่งเข้ามาเดินเพ่นพ่าน การที่มีแขก หรือฝรั่งเข้ามาซื้อข้าวในเมืองไทย

ลักษณะของข่าวเล่าลือสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในลักษณะวิกฤติ ซึ่งสะท้อนว่าผู้คนไม่เคยเห็นความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้มาก่อน มีองค์ประกอบใหม่ ที่ทำให้ผู้คนไม่แน่ใจกับความมั่นคงในชีวิต...

รศ. ฉลอง ฉายภาพผ่านของสังคมสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 ภาพซึ่งปรากฏความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากสนธิสัญญาบาวริ่ง เป็นภาพซึ่งแกะรอยจากประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 นั่นเอง

พิณผกา งามสม
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท