Skip to main content
sharethis

จังหวัดเชียงใหม่มีความเหมาะสมในการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางคมนาคมและขนส่ง เนื่องจากมีปัจจัยดึงดูดให้มีการเดินทางหลายประการ อาทิ ศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ การศึกษา การท่องเที่ยว เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลมีนโยบายให้เป็นศูนย์กลางการบินในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ให้สามารถเชื่อมโยงไปประเทศต่าง ๆ เช่น บังกลาเทศ จีนตอนใต้ ลาว เวียดนาม พม่า และกัมพูชา ได้ภายในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงบิน ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมทั้งภาคเหนือตอนบนให้มีความสะดวกรวดเร็วและมีการขนส่งมากยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุผลและปัจจัยดังกล่าว จึงต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งของเมืองเชียงใหม่ให้มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการคมนาคมขนส่งที่จะเกิดขึ้น

โดยเฉพาะการขับเคลื่อนด้านการขนส่งสินค้าและการคมนาคม ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญ เพราะปัญหาอุปสรรคสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่คือ การจราจร การไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่เป็นระบบและได้มาตรฐาน อาจเป็นปัญหาต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตได้

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม จึงได้เป็นเจ้าภาพหลักจัดทำ โครงการศึกษาการจัดทำแผนแม่บทด้านการขนส่งเพื่อรองรับการเป็นศูนย์คมนาคมและศูนย์กลางภาคเหนือตอนบนของเมืองเชียงใหม่ขึ้นมา โดยว่าจ้างสถานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินการ ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2547 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 เพื่อนำเสนอสาระสำคัญของแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการทั้งหมดดังกล่าว ให้องค์กรภาครัฐและเอกชนและประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้าใจแนวทางการพัฒนาปรับปรุงการขนส่งและจราจรทั้งในปัจจุบันและอนาคต

เจาะแผนแม่บท 1.7 แสนล้าน

จากรายงานการศึกษาได้กำหนดนโยบาย 2 ด้าน และ 8 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ นโยบายด้านการเดินทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายการขนส่งและระบบการจราจร ลดปัญหาการจราจรติดขัด เพิ่มความปลอดภัยในการสัญจร ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพิ่มรูปแบบทางเลือกในการเดินทาง เพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่และเพิ่มโอกาสการใช้ประโยชน์ที่ดินและส่งเสริมการขยายของตัวเมือง และนโยบายด้านการขนส่งสินค้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า โดยกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งสินค้า (Logistic) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและลดต้นทุนการขนส่งสินค้า

สำหรับยุทธศาสตร์ 8 ด้าน คือ 1.ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายคมนาคมขนส่งและระบบการควบคุมจราจรให้สามารถรองรับการขยายตัวของเมืองและการเพิ่มขึ้นของปริมาณจราจรในอนาคต 2.เพิ่มประสิทธิภาพและระดับการให้บริการของระบบขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบ 3.เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งทุกระบบ 4.ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพของสถานีขนส่งทุกระบบ 5.พัฒนาและยกระดับโครงข่ายคมนาคม เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างอำเภอต่าง ๆ กับเมืองเชียงใหม่ 6.พัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งระหว่างเชียงใหม่-ลำพูน 7.พัฒนาและยกระดับโครงข่ายคมนาคมขนส่งเพื่อเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดในกลุ่มภาคเหนือตอนบน 8.พัฒนาระบบขนส่งสินค้า (Logistic)

ภายใต้นโยบายและยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้มีการกำหนดเป็นแผนงานและโครงการที่จะดำเนินการในระยะ 20 ปี แบ่งเป็นแผนงานระยะสั้น 2547 - 2549 จำนวน 6 โครงการ แผนงานระยะกลาง 2549 - 2557 จำนวน 15 โครงการ และแผนงานระยาว 2557 - 2567 จำนวน 10 โครงการ รวม 31 โครงการ ซึ่งโครงการทั้งหมดจะใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 176,621 ล้านบาท

นายคำรบลักขิ์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย ว่า แผนระยะสั้นภายในปี 2549 โครงการเร่งด่วน 6 โครงการจะมุ่งไปที่การพัฒนาวางระบบการขนส่งและจราจรในเขตเมืองเชียงใหม่จะต้องแล้วเสร็จ และมั่นใจว่าจะแล้วเสร็จทันรองรับโครงการศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ โครงการไนท์ซาฟารีและโครงการพืชสวนโลกที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2549 ทั้งนี้แผนงานทั้งหมด 31 โครงการ จะเร่งสรุปรายละเอียดเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาภายใน 1 เดือน
สำหรับเรื่องโลจิสติก เป็นอีกประเด็นที่แผนแม่บทนี้ให้ความสำคัญ เพราะจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและลดต้นทุนการขนส่งสินค้าภายในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ตอนนี้ประเทศไทยมีค่าขนส่งแพงที่สุดในเอเชีย ทำอย่างไรเราจะลดต้นทุนขนส่งที่สูงถึง 30% ในขบวนการผลิตสินค้าทั้งหมดได้ ตามแผนเรากำหนดว่าจะสร้าง Container Yard ที่ลำพูน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนการขนส่งสินค้าโดยผ่านรางรถไฟ ด้านขนส่งสินค้าทางอากาศก็มีแผนขยายอาคารรับส่งสินค้าเพื่อรองรับฮับการบินของเชียงใหม่"

อาจารย์ชัยธวัช เสาวพนธ์ ผู้อำนวยการสถานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับแผนระยะสั้นจะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาการจราจรในเขตเมืองเชียงใหม่เป็นสำคัญ ขณะเดียวกันก็จะดูครอบคลุมทั้งพื้นที่เชียงใหม่-ลำพูน ซึ่งภายในปี 2549 จะเห็นโครงการที่เป็นรูปธรรมหลายด้าน ทั้งนี้ จากการจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นประชาชนกลุ่มตัวอย่างในจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 3,000 คน เกี่ยวกับความต้องการระบบขนส่งในจังหวัดเชียงใหม่พบว่า ส่วนใหญ่ต้องการให้เชียงใหม่มีรถเมล์และรถไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน และต้องการแบบวิ่งบนดินหรือใต้ดิน และต้องการให้คิดค่าโดยสารราคา 10 บาทเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งความคิดเห็นทั้งหมดเป็นเพียงกลุ่มตัวอย่างกลุ่มหนึ่งเท่านั้น อนาคตเมื่อโครงการระบบขนส่งมวลชนในระยะสั้นเกิดขึ้น ในเรื่องการบริหารจัดการจะต้องพิจารณาให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด

ทุ่ม 3.5 หมื่นล้านผุดสนามบินใหม่
นายคำรบลักขิ์ กล่าวถึงโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ (ล้านนา) แห่งใหม่ มูลค่าการลงทุน 35,000 ล้านบาท ที่บรรจุอยู่ในแผนแม่บทนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและรองรับการเป็นศูนย์กลางการบินของเชียงใหม่ได้อย่างเต็มรูปแบบ เพราะเมื่อเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางด้านต่าง ๆ สนามบินถือเป็นกลไกสำคัญที่จะเชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นได้มาก ซึ่งอนาคตสนามบินเชียงใหม่ในปัจจุบันอาจไม่เพียงที่จะรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นเป็นทวีคูณ ดังนั้น ในแผนแม่บทฉบับนี้จึงวางแผนโครงการสร้างสนามบินแห่งใหม่ไว้ ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีผู้เสนอหลายพื้นที่ เช่น บ้านธิ-สันกำแพง หรือที่ดอยหล่อ แต่ในขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดพื้นที่ก่อสร้างที่แน่ชัดได้ เนื่องจากโครงการนี้ต้องศึกษารายละเอียดรอบด้าน โดยจะให้สถานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการศึกษาและทำ Road Map ออกมา แต่ยืนยันว่าโครงการนี้ต้องเกิดขึ้นแน่นอนในแผนระยะยาวภายใน 15 ปี

เอกชนดัน Container Yard
หนุนพัฒนาระบบโลจิสติก

นางสาวอุดมรัตน์ อัครชิโนเรศ ประธานชมรมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าต่างประเทศ ภาคเหนือ เปิดเผย "พลเมืองเหนือ" ว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ภาครัฐมีแผนดำเนินการให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการขนส่งหรือ Logistics ที่สมบูรณ์ครบวงจรในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และควรเร่งดำเนินการโดยเร็ว โดยเฉพาะการส่งเสริมการขนส่งทางรถไฟที่มีต้นทุนการขนส่งที่ค่อนข้างต่ำ เช่น การมีระบบรถไฟรางคู่ขนส่งสินค้าเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ลำพูน และการสร้าง Container Yard สำหรับการขนส่งสินค้าทั้งภาคเหนือ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งได้มาก

ปัจจุบันการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศของผู้ประกอบการในภาคเหนือ ยังคงพึ่งการขนส่งทางรถเป็นหลัก เพื่อส่งสินค้าต่อไปยังท่าเรือคลองเตยและแหลมฉบัง ซึ่งต้องยอมรับว่าผู้ประกบอการส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและมีความผันผวนตลอดเวลา ซึ่งแนวโน้มในอนาคตคาดว่าค่าขนส่งจะปรับเพิ่มขึ้น และแน่นอนว่าจะส่งผลให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นทั้งระบบโดยการแก้ปัญหาในเบื้องต้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้ร่วมมือกันด้วยการรวมกันขนส่งสินค้า โดยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายร่วมกัน ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งได้ระดับหนึ่ง และหากอนาคตภาครัฐมีแผนลงทุนสายการบินเพื่อการขนส่งโดยเฉพาะหรือ Cargo Airlines ก็จะช่วยสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางภาคเหนือได้ดีอีกทางหนึ่ง แต่ควรพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายให้มีความเหมาะสม

ฝันเร่งแก้ปัญหาจราจรเขตเมือง
สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 เกี่ยวกับแผนแม่บทด้านการขนส่งของเมืองเชียงใหม่ ที่ประชุมให้ความสนใจโครงการระดับเมือง อาทิ โครงการรถประจำทางขนส่งมวลชนระยะที่ 1 - 2, โครงการรถประจำทางสำหรับกิจกรรมพืชสวนโลก, โครงการควบคุมพื้นที่การใช้เขตทางและการจอดรถ, โครงการขยายอาคารรับส่งสินค้าทางอากาศสนามบินเชียงใหม่, โครงการสถานีรถไฟชานเมือง, โครงการสถานีรับส่งสินค้าและโครงการลานจอดรถสาธารณะ โดยเห็นว่าโครงการเหล่านี้จะแก้ปัญหาการจราจรในเขตเมืองเชียงใหม่ได้มาก

โดยมีข้อคิดเห็นสำคัญใน 6 ประเด็นคือ 1.เมื่อคัดเลือกโครงการที่มีความสำคัญได้แล้ว ควรจะจัดทำงบประมาณแบบ Package โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสันทนาการไว้ในโครงการ รวมทั้งทางจักรยาน การปลูกต้นไม้และสวนหย่อม 2.ขอให้พิจารณาเรื่อง Logistic ทั้งระบบ โดยเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและภาคอื่น ๆ ของประเทศด้วย 3.การพัฒนาโครงการควรมีการบูรณาการทั้งในด้านการวางแผนและการพัฒนาให้เป็นระบบ 4.ให้คำนึงถึงการเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้ร่วมรับรู้ ร่วมคิดและร่วมดำเนินการตั้งแต่ต้นทุกโครงการ 5. ให้ปรับปรุงแก้ไขระบบงบประมาณของท้องถิ่นที่จะช่วยพัฒนาและจัดการระบบคมนาคม ให้สะดวกและคล่องตัวมากขึ้น 6.การพัฒนาโครงการเป็นเรื่องของ Infrastructure ควรจะมีข้อกำหนดและรายละเอียดในด้านการบริหารจัดการเส้นทางคมนาคมและพื้นที่อื่นที่เกี่ยวข้อง มีการบังคับใช้กฎจราจรให้เคร่งครัด เพื่อแก้ปัญหาการขนส่งและจราจรให้เป็นระบบ.

แผนแม่บทอันสวยหรูที่จะเกิดขึ้นทั้ง 31 โครงการมูลค่านับแสนล้านบาทนี้ หากคณะรัฐมนตรีอนุมัติ ก็จะเป็นยุทธศาสตร์ส่งเสริมการแข่งขันของเชียงใหม่ในระดับนานาชาติที่สำคัญของประเทศไทย และจะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบนให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น.

รายงานพิเศษ
สุธิดา สุวรรณกันธา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net