Skip to main content
sharethis

เหตุการณ์คลื่นยักษ์ "ซึนามิ" ซัดถล่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ซึ่งเป็นผลจากแผ่นดินไหวบริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย วัดกำลังความแรงได้ 8.9 ตามมาตราริกเตอร์ จนทำให้เกิดความเสียหายมากมาย ถือว่า เป็นภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากที่สุดในรอบ 40 ปี

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ไม่มีการเตือนภัยจากทางหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่อย่างใด โดยนายศุภฤกษ์ ตันศรีรัตนวงศ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนโดยระบุว่า การเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์ ซึนามิครั้งนี้เป็นเหตุสุดวิสัย ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน จึงไม่สามารถแจ้งเตือนได้ทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์แผ่นดินไหวซึ่งจุดศูนย์กลางอยู่ทางเหนือของเกาะสุมาตรา และมีแรงสั่นสะเทือนมาถึงประเทศนี้ ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2546 เวลาประมาณ 10.00 น. เกิดแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย วัดแรงสั่นสะเทือนได้ประมาณ 8 ตามมาตราริกเตอร์

โดยเกาะสุมาตรานั้นห่างจากจังหวัดภูเก็ตประมาณ 400 กม. ส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวมาถึงจังหวัดภูเก็ต และเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งถือเป็น 1 ใน 14 จุดทั่วประเทศ
ก็สามารถวัดแรงสั่นสะเทือนได้ตั้งแต่ช่วงเวลา 09.55 น.ในวันเดียวกัน

ในครั้งนั้นนายธวัช แทนทำนุ ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันตก จังหวัดภูเก็ต ได้ให้สัมภาษณ์ว่า "ในส่วนของภูเก็ตไม่น่าจะมีผลมากนัก เพราะอยู่ไกลจากจุดศูนย์กลางมากพอสมควร ส่วนเรื่องของคลื่นยักษ์หรือ "ซูนามิ" นั้น คิดว่าไม่ต้องเป็นห่วงเพราะคลื่นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการเกิดขึ้นในลักษณะเฉียงไม่ใช่แบบตรง จึงไม่น่าจะเป็นห่วง"

ในรายงานข่าวความเสียหายครั้งนั้น ทางสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดตรังได้รับแจ้งจากชาวประมงและได้รับรายงานข้อมูลเบื้องต้นว่า พบแผ่นดินไหวเกิดขึ้น โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้เกิดคลื่นระลอกใหญ่ขึ้นในท้องทะเลอันดามัน และรู้สึกได้ตั้งแต่จังหวัดสตูล จังหวัดตรัง ไปจนถึงจังหวัดภูเก็ต

ไม่เพียงเท่านั้น ต่อมาในวันที่ 14 กันยายน 2546 เวลา 03.42 น. ก็ได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นอีกครั้ง โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่บริเวณทางเหนือของเกาะสุมาตราเช่นเดิม วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 6-7 ตามมาตราริกเตอร์ แต่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ และไม่รุนแรงมากนัก

และนายธวัช ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่งว่า การเกิดแผ่นดินไหวของจังหวัดภูเก็ตนั้น มีโอกาสเป็นไปได้น้อย เนื่องจากอยู่สูงบนไหล่ทวีป และไม่ได้อยู่ในแนวเขตภูเขาไฟใต้ทะเล

โดยหลังจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ ก็ได้มีอดีตข้าราชการระดับสูงของกรมอุตุนิยมวิทยา ได้กล่าว่า ให้ระวังแถวๆ เกาะภูเก็ต โดยอ้างว่า หากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ในมหาสมุทรอาจจะเกิดคลื่น ซึนามิ หรือคลื่นที่เกิดใต้น้ำได้

กระทั่งในวันนี้ (26 ธ.ค.) ประวัติศาสตร์ก็ยังคงเดินซ้ำรอย โดยเกิดแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียเช่นเคย โดยแรงสั่นสะเทือนที่วัดได้เพิ่มขึ้นจากในครั้งวันที่ 22 มกราคม 2546 เพียง 0.9 ตามมาตราริกเตอร์ แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นต่างกันอย่างมหาศาล

นอกจากจะมีคำถามเรื่อง "ระบบการเตือนภัย" ซึ่งหากทำงานได้จริงแม้เวลาเพียง 1-2 ชั่วโมงก่อนเกิดคลื่นยักษ์ ก็อาจจะลดความสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สินไปได้พอสมควร ยังต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับ "บทเรียน" ในอดีต ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยศึกษา หรือกระทั่งกล่าวได้ว่าไม่เคยใส่ใจอย่างจริงจัง

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net