Skip to main content
sharethis

ภาพจาก www.ranongecotourism.com โดย jada
-----------------------------------------------------------------

กรุงเทพฯ-28 ธ.ค.47 ไข่มุกอันดามันหมดเสน่ห์ หลังซึนามิถล่มทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ กระทบระบบนิเวศอันดามัน ต้องใช้เวลา 20 ปีถึงจะฟื้น

"เรื่องที่น่าเป็นห่วงตอนนี้คือ แนวปะการัง เพราะว่านักท่องเที่ยวไปดำน้ำดูแนวปะการังกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นแนวปะการังมีการเปลี่ยนแปลงแน่ถ้าเกิดโดนคลื่นใหญ่ขนาดนี้ และแนวโน้มจะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปทิศทางที่แย่ลงในแนวปะการังด้านฝั่งอันดามัน" ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้สัมภาษณ์ถึงผลกระทบของเหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่มชายหาดฝั่งอันดามันของไทยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้รายงานจากนักประดาน้ำที่เข้าร่วมทีมค้นหาศพผู้เสียชีวิตวันนี้ ระบุว่า ปะการังในแถบดังกล่าวถูกปกคลุมด้วยโคลนสีขาว ซึ่งสภาพดังกล่าวทำให้ปะการังในแถบนั้นต้องตายไปในไม่ช้าแน่นอน

"พูดได้ว่าด้านไหนที่รับคลื่นเต็มๆ เท่าที่เช็คได้มาก็ถือว่าแนวปะการังจะพังเยอะมาก ส่วนด้านที่แนวปะการังพังเยอะมากที่สุดก็คงจะเป็นพีพีเท่าที่เช็คได้มา เพราะว่าข้อมูลมันหลากหลาย บอกได้ว่าค่อนข้างจะเสียหายมาก เพราะว่ามันเป็นอ่าวและเป็นแนวปะการังน้ำตื้นในบางส่วน ส่วนที่เป็นน้ำตื้นก็จะโดนคลื่นกระแทกโดนทรายทับ และตอนนี้ตะกอนก็ยังเป็นน้ำสีน้ำตาลเข้มอยู่เลย เพราะ
ฉะนั้นตะกอนพวกนี้ก็จะทับแนวปะการัง ในที่สุดยังไงมันก็ตาย" ดร.ธรณ์ระบุ

ดร.ธรณ์กล่าวว่า ซึนามิได้ทำลายแนวปะการังไปถึงกว่า 70 % ซึ่งแนวปะการังในแถบทะเลอันดามันถือว่าเป็นแนวปะการังที่สวยงามละสมบูรณ์ที่สุดของโลก และคงจะต้องใช้เวลากว่า 20 ปีที่จะฟื้นฟูสภาพทางธรรมชาติให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม

"จริงๆ แล้วประเทศไทยที่เป็นจุดท่องเที่ยวที่นิยมจริงๆ มีอยู่ 4 แห่ง ก็คือ เกาะสุรินทร์ สิมิลัน พีพี และก็อาดังราวี ที่ตะรุเตา นั่นคือที่นิยมกันมาเนิ่นนาน และที่สำคัญที่สุดไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว เรื่องของทรัพยากร 4 แห่งนี้ถือว่าสำคัญที่สุดอยู่แล้ว"

"แต่พอเกิดปัญหาคลื่น พีพีนี่พังเยอะมาก สุรินทร์เท่าที่เช็คข่าวมาเป็นอันดับ 2 สิมิลันน้อยหน่อยแต่ก็ยังพังอยู่ อาดังราวีน้อยสุด ปัญหาที่หนักก็คือพีพี กับสุรินทร์"

"นอกจากแนวปะการังแล้วสิ่งแวดล้อมทางด้านอื่นๆ อย่างหญ้าทะเลก็ได้รับผลกระทบรุนแรง แต่ถ้ามองในแง่ของการท่องเที่ยวก็แนวปะการังนี่แหละที่เป็นหัวใจของการท่องเที่ยว"

ไม่เพียงแค่เพียงแนวปะการังเท่านั้นที่ได้รับความเสียหาย แต่สิ่งมีชีวิตในทะเลอื่นๆก็เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากว่าสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบของการอยู่อาศัยและดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับระบบนิเวศทางทะเลที่เคยมีมาทั้งหมดก็ต้องลบทิ้งแล้วเริ่มศึกษาใหม่เช่นเดียวกัน

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net