Skip to main content
sharethis

--------------------------------------------------------------

ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวเผยแนวโน้มในอนาคต กรุงเทพฯ อาจรับผลกระทบหนัก แผ่นดินทรุด เนื่องจากอยู่ระหว่างกลางเส้นรอยเลื่อนแผ่นดินไหว

นายอดิศร ฟุ้งขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว และหัวหน้าสถานีตรวจแผ่นดินไหว จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยกับ"ประชาไท" ว่า จากการวิเคราะห์คลื่นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นของประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ.2540 ถึงปัจจุบัน ที่สถานีตรวจแผ่นดินไหวเชียงใหม่ โดยอาศัยเครื่องตรวจแผ่นดินไหวระบบไอริส กับโปรแกรมดิแมส (Droznin) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยเทียบเท่าของประเทศต่างๆ ทั่วโลก พบว่า เกิดแนวแผ่นดินไหวเลื่อนทางข้าง ที่เรียกว่า "รอยเลื่อนสะกาย" ซึ่งพาดผ่านรัฐสะกายในประเทศพม่ามาถึงประเทศไทย ทางด้านทิศตะวันตกตั้งแต่ภาคเหนือ กลาง และใต้ของประเทศ

แนวดังกล่าวทอดตัวทางทิศเหนือจรดทิศใต้ จากบริเวณเกาะชวา เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ขึ้นไปยังประเทศพม่า จากเมืองหงสาวดี หรือเมืองพะโค ทางตอนใต้ ไปยังเมืองมัณฑะเลย์ ทางเหนือของประเทศพม่า เป็นระยะทางนับพันกิโลเมตร

นายอดิศรยังกล่าวว่า รอยเลื่อนแผ่นดินไหวดังกล่าว ได้ทำให้เกิดเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2546 เวลา 01.16 น. ได้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง โดยมีศูนย์กลางอยู่ในประเทศพม่า มีขนาด 6.7 ริคเตอร์ ก่อให้เกิดความเสียหายบริเวณศูนย์กลาง

ส่วนในกรุงเทพมหานคร กรมอุตุนิยมวิทยาก็ได้ออกประกาศว่าแผ่นดินไหวครั้งนั้น ซึ่งจะรู้สึกสั่นสะเทือนได้บนอาคารสูงบางแห่งของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะอาคารสูงของอำเภอเมือง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งใกล้กับจุดศูนย์กลาง

นายอดิศรกล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวยังส่งผลกระทบถึงตอนบนของประเทศไทย บริเวณ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และลำพูนด้วย แม้กระทั่งกรุงเทพมหานคร ที่อยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เกือบ 900 กิโลเมตร

"จริงๆ แล้ว ก่อนเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อวันที่ 22 กันยาปีที่แล้ว ได้เกิดแผ่นดินไหวในแนวแผ่นดินไหวนั้นมาก่อนแล้ว เมื่อเช้าตรู่วันที่ 14 กันยายน เวลา 03.42 น. วัดขนาดได้ 5.0 ริคเตอร์ รู้สึกสั่นสะเทือนได้ที่เมืองภูเก็ต" นายอดิศรกล่าว

ครั้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2547 เวลา 21.35 น. (เวลาประเทศไทย) หรือเวลา 14.35 น. (เวลาสากล) ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่บนแนวแผ่นดินไหวดังกล่าวอีกครั้ง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย แผ่นดินไหวมีขนาด 7.2 ริคเตอร์ ส่งแรงสั่นสะเทือนเป็นบริเวณกว้าง

ต่อจากนั้นแผ่นดินไหวได้รุกคืบขึ้นไป ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.2 ริคเตอร์ในทะเลอันดามัน ในเช้าตรู่วันที่ 26 กรกฎาคม 2547 เวลา 02.48 น. (เวลาประเทศไทย) ศูนย์กลางอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 610 กิโลเมตร

และเมื่อเวลาประมาณ 07.58 น. ของวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ได้เกิดแผ่นดินไหวมีศูนย์กลางอยู่บริเวณด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ขนาด 9.0 ริคเตอร์ เป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ "ซึนามิ"

ความสั่นสะเทือนนั้นรู้สึกได้เกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ รวมถึงอาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร และในเวลาประมาณ 08.30 น. ได้เกิดแผ่นดินไหวรู้สึกได้อีกครั้ง มีศูนย์กลางอยู่บริเวณประเทศพม่า มีขนาดประมาณ 6.4 ริคเตอร์ ทำให้เกิดความสั่นสะเทือนในหลายจังหวัดของภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดลำปาง เชียงใหม่ และเชียงราย

"แนวแผ่นดินไหวเส้นนี้ เป็นบริเวณที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เนื่องจากรอยเลื่อนดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อการขยายแรงสั่นสะเทือนของฐานรากกรุงเทพมหานคร (site amplification) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ 2 ประการของโครงสร้างธรณีวิทยาที่มีผลต่อระดับการเคลื่อนที่ของพื้นดิน ประการแรก คือความอ่อนของพื้นผิว ประการที่สอง คือความหนาของชั้นตะกอน" นายอดิศร กล่าว
ส่วนโอกาสที่กรุงเทพฯ จะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงนั้น นายอดิสรอธิบายว่า แนวแผ่นดินไหวนี้อาจก่อให้เกิดแผ่นดินไหวที่จะส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานครได้อีกในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากที่ผ่านมา เราเฝ้าติดตามดู เราศึกษาตามหลักข้อมูลวิชาการมาโดยตลอดพบว่า จากสถิติแผ่นดินไหวตามรอยเลื่อนดังกล่าวจะทิ้งช่วงห่าง 20 ปี จากนั้นมีระยะห่างเพียง 7 ปี และ 2 ปีในปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่จะเกิดถี่ขึ้น อาจเกิดขึ้นอีกในไม่ช้า หรืออาจจะไม่เกิดก็ได้ เพราะนอกจากรอยเลื่อนใหญ่นี้แล้ว จะมีรอยเลื่อนที่แยกแตกแขนง กระจายไปทั่ว

"ที่เป็นห่วงกรุงเทพฯ ก็เพราะว่า จุดเกิดแผ่นดินไหวนั้น จะเกิดแถบพม่าและเกาะสุมาตราสลับกันไปมา จนทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือน เกิดแรงปะทุอยู่ตรงกลางที่ดันพุ่งเข้ามา และที่สำคัญ ตะกอนซึ่งเป็นฐานรากของกรุงเทพฯ นั้นอ่อนมาก จะกลายเป็นภาวะดินเหลว หากเกิดการสั่นสะเทือนรุนแรง ก็อาจการทรุดตัวของตึกได้ นี่เรายังไม่ได้พูดถึงเรื่องคลื่นน้ำทะเลทะลักเข้ากรุงเทพฯ " ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวคนเดิมกล่าว

นายอดิศรยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการคือ ทำอย่างไรจะทำให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจไปในทางเดียวกัน โดยไม่ใช่การมอมเมาหรือเบี่ยงเบนให้ตื่นตระหนกเพื่อวัตถุประสงค์อื่น รวมทั้งอยากให้เหตุการณ์เมื่อ 7 ปีก่อน ที่คุณสมิทธ ธรรมสโรช อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาได้กล่าวเตือนเอาไว้ และเหตุการณ์ที่เกิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นบทเรียนให้ทุกคนมีการตื่นตัวและเตรียมตั้งรับอย่างรู้เท่าทัน และอยากวิงวอนสื่อช่วยสื่อให้ประชาชนได้รับรู้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม และปกป้องชีวิตและทรัพย์สินที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

องอาจ เดชา
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net