Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ - 29 ธ.ค.2547 "ประเทศไทยเราในขณะนี้ มีนักแผ่นดินไหวเพียงไม่กี่คน และต้องไปเรียนกันที่ต่างประเทศ ทั้งๆ ที่เรามีเทคโนโลยีทันสมัยเทียบเท่าทั่วโลก" นายอดิศร ฟุ้งขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว และหัวหน้าสถานีตรวจแผ่นดินไหวเชียงใหม่กล่าว

นายอดิศรกล่าวว่า วิชาแผ่นดินไหว (Seismology) เป็นสาขาหนึ่งของวิชาวิทยาศาสตร์โลก (Earth Science) ที่ศึกษาเกี่ยวกับแผ่นดินไหวและคลื่นแผ่นดินไหว ที่เคลื่อนที่ผ่านส่วนต่าง ๆ ของโลก

"เราอาจเคยได้ยินมาว่า แผ่นดินไหวเกิดจากปลาอานนท์พลิกตัว ซึ่งเป็นความเชื่อโบราณ ไม่ใช่เฉพาะในบ้านเรา ที่อื่น ๆ ก็มีความเชื่อทำนองนี้เช่นกัน หลักความเชื่อก็คือ มีสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดใหญ่โตอยู่ใต้พื้นผิวโลก เมื่อสิ่งมีชีวิตดังกล่าวขยับตัว ก็ทำให้เกิดแผ่นดินไหว" หัวหน้าสถานีตรวจแผ่นดินไหวกล่าว

ต่อมา อริสโตเติล เป็นปราชญ์คนแรกที่พยายามอธิบายว่า แผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ สมมติฐานของเขาก็คือ แผ่นดินไหวเกิดจากการกระพือโหมของลมที่อยู่ใต้พื้นผิวโลก

นายอดิศรกล่าวต่อว่า เวลาเกิดแผ่นดินไหวในยุคนั้น ทำให้ผู้คนได้รับบาดเจ็บ ล้มตายมากมาย ติดต่อกันหลายครั้ง ในประเทศอังกฤษ ยุโรป โดยเฉพาะแผ่นดินไหวที่กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1755 ซึ่งตามด้วยคลื่นซึนามิหลังเกิดแผ่นดินไหว ทำให้ผู้คนล้มตายไปราว 70,000 คน

เหตุการณ์ครั้งนั้น ถือได้ว่าเป็นการจุดประกายให้เกิดวิชาแผ่นดินไหวขึ้นบนโลกใบนี้ โดยเริ่มจากการศึกษาด้านผลกระทบ ศูนย์กลาง และเวลาเกิดของแผ่นดินไหว

"หลังจากนั้น ผู้คนจึงเลิกเชื่อว่าแผ่นดินไหวเกิดจากลมใต้พื้นผิวโลกตามแนวคิดของอริสโตเติล เมื่อค้นพบแนวคิดสมัยใหม่ คือแนวคิดเกี่ยวกับแรงเค้น ที่กระทำต่อชั้นหินใต้พื้นผิวโลกจึงเริ่มขึ้น ตามด้วยการจัดทำฐานข้อมูลด้านผลกระทบ ศูนย์กลาง และเวลาเกิดของแผ่นดินไหว" นายอดิศรกล่าว

ปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารก้าวหน้าขึ้นมาก มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลแผ่นดินไหวระหว่างประเทศ และมีบทความรายงานผลกระทบจากแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่น รายงานผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่ความก้าวหน้า มีการประดิษฐ์เครื่องตรวจแผ่นดินไหวความไวสูงขึ้นในประเทศญี่ปุ่น และในสหรัฐอเมริกา

รวมทั้งเรื่องการสะสมแรงเค้นในรอยเลื่อน ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าของวิชาแผ่นดินไหว โดยทฤษฎีนี้เชื่อว่าเมื่อมีการสะสมแรงเค้นในรอยเลื่อน จนถึงจุดที่รอยเลื่อนต้านแรงเค้นที่สะสมไว้ไม่ไหว ก็แตกออกในรูปของแผ่นดินไหวแล้วจึงคืนตัวสู่ตำแหน่งเดิม ต่อจากนั้นก็เริ่มสะสมแรงเค้นอีกจนถึงจุดแตกหักครั้งต่อไป

นายอดิศรยังกล่าวอีกว่า จริงๆ แล้วถือว่ายุคนี้เป็นยุคเฟื่องฟูของวิชาแผ่นดินไหว มีการพัฒนาเครื่องมือตรวจแผ่นดินไหวเป็นระบบดิจิตอลออนไลน์ เช่น เครื่องตรวจแผ่นดินไหวระบบไอริส (Incorporated Research Institutions for Seismology: IRIS) ที่ติดตั้งอยู่ที่สถานีตรวจแผ่นดินไหวเชียงใหม่ (Chiang Mai Seismic Station: CHTO) นอกจากนี้ ยังมีการวางเครือข่ายสถานีตรวจแผ่นดินไหวทั่วโลกอย่างกว้างขวาง

"วิชาแผ่นดินไหว เป็นเรื่องที่สำคัญและใกล้ตัวกับชีวิตเรามาก เพราะมีเส้นรอยเลื่อนแผ่นดินไหวพาดผ่านประเทศไทย แต่ก็ยังไม่มีสถาบันการศึกษาใดๆ บรรจุเอาไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน ตอนนี้ผมจึงพยายามสื่อด้วยการเป็นอาจารย์พิเศษ เป็นวิทยากรไปบรรยายให้กับนักเรียนนักศึกษา ตามโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่สนใจแทน" นายอดิศรกล่าว

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net