Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 29 ธ.ค. 2547 ดร.ธวัช วิรัตติพงศ์ นักวิจัยประจำองค์การนาซา สหรัฐอเมริกา เตือนรัฐรับข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจ พร้อมเสนอตัวเป็นทางเลือกหนึ่งในการเสนอระบบป้องกันภัยซึนามิ

"ผมค่อนข้างเป็นห่วงว่า การเกิดพิบัติภัยครั้งนี้จะกดดันรัฐบาลให้รีบตัดสินใจก่อนที่จะได้ฟังความเห็นจากหลาย ๆ ฝ่าย" ดร.ธวัช กล่าวในการแถลงข่าว "ไทยกับการรับมือแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์" ณ ห้องประชุม สกว. โดยโทรศัพท์ทางไกลจากสหรัฐอเมริกา

พร้อมกันนี้ ดร.ธวัชเสนอตัวว่าตนเองมีโครงร่างแผนการป้องกันแผ่นดินไหวและมีนักวิชาการจากต่างประเทศที่พร้อมจะให้ความร่วมมือเพื่อทำการศึกษาวิจัยด้วย ทั้งนี้ ดร.ธวัชกล่าวว่าขอให้ตนเองได้มีโอกาสนำเสนอต่อรัฐบาลเท่านั้นเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง และรัฐบาลควรจะรับฟังทางเลือกที่หลากหลายเพื่อประกอบการตัดสินใจและทำความเข้าใจระบบป้องกันพิบัติภัย ทั้งที่เกิดจากแผ่นดินไหว ซึนามิ และพิบัติภัยอื่น ๆ

ดร.ธวัช ได้อธิบายแก่ผู้สื่อข่าวเพื่อทำความเข้าใจว่า ระบบการเตือนภัยซึนามิ ไม่ใช่การพยากรณ์การเกิดซึนามิหรือแผ่นดินไหว เพราะทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ไม่มีใครสามารถทำนายได้ แต่ระบบเตือนภัยซึนามิ คือแผนการวิเคราะห์ หลังจากเกิดแผ่นดินไหวว่าจะเกิดซึนามิหรือไม่

โดย ดร. ธวัชเสนอโครงร่างแผนการป้องกันแผ่นดินไหวซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ

ขั้นตอนแรก การเตือนแผ่นดินไหวโดยมีระบบเตือนภัยแบบ Real Time Monitor ซึ่งระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวนี้ สามารถขอความร่วมมือจากเครือข่ายระหว่างประเทศได้ เช่นจาก earthquake hazard program ของสหรัฐอเมริกา

ขั้นตอนต่อมา คือการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่จะเกิดซึนามิ ซึ่งขั้นตอนนี้มีความสำคัญมากเนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบพยากรณ์ มีเวลาเพียง 45 - 60 ในการวิเคราะห์ตัดสินใจหลังเกิดแผ่นดินไหวว่าจะทำการเตือนภัยหรือไม่

และขั้นตอนสุดท้ายคือ การจัดทำระบบเครือข่ายสื่อสารเพื่อส่งสัญญาณเตือนภัยไปตามจุดต่าง ๆ แถบชายฝั่งที่อาจเกิดภัยพิบัติจากซึนามิหรือจากภัยพิบัติอื่น ๆ ด้วย

นอกจากองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนแล้ว ดร. ธวัชกล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกามีระบบทุ่นลอยเพื่อเพื่อเฝ้าระวังภัยซึนามิ และส่งข้อมูลขึ้นสู่ดาวเทียวแบบ real time เพื่อการวิเคราะห์และเตือนภัยซึนามิด้วย โดยทุ่นดังกล่าวควรติดตั้งในระยะ 800 กิโลเมตรจากชายฝั่ง เนื่องจากหากติดตั้งใกล้เกินไปจะสายเกินที่จะตัดสินใจเพราะคลื่นซึนามิเคลื่อนตัวเร็วมาก

อย่างไรก็ตาม การติดตั้งทุ่นลอยดังกล่าวต้องใช้งบประมาณสูงมาก ซึ่งดร. ธวัชเสนอว่าควรใช้วิธีลงขันกันกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อประโยชน์ในการป้องกันภัยร่วมกัน

"ผมหวังว่าระบบที่ผมเสนอครั้งนี้ จะเข้าถึงหูของผู้ใหญ่ในเมืองไทย และหวังว่าผมจะได้มีโอกาสนำเสนอให้รัฐบาลไทยได้รับฟังบ้าง" ดร.ธวัชกล่าวในที่สุด

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net