ไทยขาดเครื่องมือ-บุคลากรกันภัยซึนามิ

ประชาไท -- 29 ธ.ค. 2547 -- "เราอาจจะโทษคนก็ได้ แต่ผมว่าเราไม่พร้อม และอธิบดีกรมอุตุฯ ก็เปลี่ยนบ่อยมาก ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าอธิบดีท่านปัจจุบันมีความถนัดด้านแผ่นดินไหวหรือไม่ แต่ผมแน่ใจอย่างหนึ่งว่าข้อมูลที่เข้ามาไม่ดีพอที่จะทำให้ตัดสินใจได้ ข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ และรากของปัญหาคือเราไม่เคยพบกับภัยพิบัติ และเมื่อมีนักวิชาการเสนอออกมาก่อนหน้าก็ไม่มีใครฟัง" รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียกล่าวในการแถลงข่าวเรื่อง "ไทยกับการรับมือแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์" ที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

โดยก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นได้ตั้งคำถามถึงระบบการตัดสินใจประกาศเตือนภัยซึนามิที่ผ่านมา เนื่องจากได้ข้อมูลว่ากรมอุตุนิยมวิทยาทราบว่าจะเกิดซึนามิ แต่ไม่สามารถตัดสินใจว่าจะประกาศเตือนภัยได้หรือไม่เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกับการท่องเที่ยว และหากประกาศเตือนภัยแล้วไม่เกิดเหตุการณ์ก็อาจจะเกิดความเสียหายเกินกว่าที่กรมอุตุนิยมวิทยาจะชดเชยได้

ทั้งนี้ ดร.เป็นหนึ่ง กล่าวว่าระบบการตัดสินใจเป็นปัญหานั้นเนื่องมาจาก ระบบที่มีอยู่และระบบที่อยู่ในแผนการพัฒนาของกรมอุตุฯ ไมดีเพียงพอที่จะตัดสินใจเรื่องใหญ่ขนาดนี้ การวัดแผ่นดินไหวโดยระบบอัตโนมัติซึ่งเมืองไทยใช้อยู่นั้นก็ปรากฏว่ามีไม่เพียงพอ

ปัญหาจากพิบัติภัยซึนามิที่เกิดขึ้น ได้ให้บทเรียนว่ากรมอุตุนิยมวิทยาต้องปรับปรุงระบบ 2 ส่วนคือ ระบบเทคโนโลยี และทุน ซึ่งเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์เพื่อทำการตัดสินใจเตือนภัยจากซึนามิ ถ้าระบบเหล่านี้ดีพอ และเป็นไปตามหลักวิชาการ ก็จะช่วยอีกส่วนหนึ่งคือระบบการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ เพราะระบบวิเคราะห์และเครื่องมือขณะนี้โดดเดี่ยวผู้ปฏิบัติงาน

นอกจากนี้ ดร.เป็นหนึ่งกล่าวว่าเป็นหารากฐานจริง ๆ ก็คือระบบราชการของไทยที่ไม่สนับสนุนส่งเสริมให้ข้าราชการสามารถปฏิบัติหน้าที่และพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ ซึ่งนี่เป็นปัญหาของระบบราชการไทยโดยรวม

ด้าน ดร. ธวัช วิรัติพงศ์ นักวิจัยประจำองค์การนาซา กล่าวว่าการเตือนภัยซึนามินั้นควรจะให้อำนาจเจ้าหน้าที่หลายระดับ โดยยึดหลักวิชาการ ไม่ใช่ต้องรายงานไปตามชั้นบังคับบัญชา และการเตือนภัยควรจัดเป็นระดับ เช่นระดับที่ต้องระวังตัวกับระดับอันตราย โดยไม่ต้องรอให้อธิบดีอนุมัติ

สำหรับประเด็นความไม่พร้อมของเครื่องมือและบุคลากรในการเตือนภัยธรรมชาตินี้ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า การติดตั้งระบบป้องกันภัยนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานราชการ และการสร้างองค์ความรู้ในสังคม

"ผมไม่อยากให้เราคิดเหมือนระบบป้องกันภัยเป็นเซเว่นอีเว่น ที่ถือเงินเข้าไปซื้อก็ได้เลย" ดร.ธรณ์กล่าว

พิณผกา งามสม
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท