Skip to main content
sharethis

ประชาไท-30 ธ.ค.47 นางสาวหทัยทิพย์ ณ นคร เจ้าหน้าที่โครงการพิเศษ มูลนิธิศุภนิมิตร จ.พังงา กล่าวว่าตอนนี้ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัดของแรงงานข้ามชาติที่เสียชีวิตเนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงาน โดยพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.ท้ายเหมือง อ.ตะกั่วป่า และอ.คุระบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มูลนิธิฯทำงานอยู่นั้น เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลผลกระทบจากคลื่นยักษ์อย่างหนัก มีแรงงานข้ามชาติอยู่ไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ทั้งลูกเรือและคนงานก่อสร้าง เฉพาะลูกเรือของกำนันทวี(กำนันเปี๊ยก)ที่ อ.ท้ายเหมือง มีประมาณ 3,000 คน

"ปัญหาใหญ่ในขณะนี้คือเรื่องที่อยู่อาศัย อาหาร ยารักษาโรค เพราะอุปสรรคเรื่องการสื่อสาร และคนงานจำนวนมากยังหลบอยู่ในป่าบนเขา ไม่กล้ากลับลงมาเนื่องจากกลัวเจ้าหน้าที่เพราะไม่ได้ขึ้นทะเบียน จึงกังวลกับอนาคตว่าจะถูกส่งกลับ โดยเรากำลังพยายามส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุยอยู่" เจ้าหน้าที่มูลนิธิศุภนิมิตร กล่าว

นางสาวหทัยทิพย์ กล่าวอีกว่าขณะนี้มูลฯนิธิได้ตั้งศูนย์รองรับแรงงานข้ามชาติอยู่ที่โรงเรียนทับละมุ เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยในคืนวันที่ 28 ธ.ค. มีประมาณ 300 คน แต่ในช่วงเช้าวันที่ 29 ธ.ค. กำนันโชคทวีซึ่งเป็นนายจ้างมารับไป 200 กว่าคน จนปัจจุบันมีนายจ้างมารับและที่ออกไปเองทำให้เหลืออยู่ 56 คน แต่ก็ยังพยายามรวบรวมให้มากที่สุดเพราะเกรงว่าจะกระทบกระทั่งกับชาวบ้านในพื้นที่ โดยหลังจากนี้คิดว่าจะมีการสร้างบ้านพักชั่วคราวและประสานเรื่องนายจ้างต่อไป

นอกจากนี้มีรายงานเพิ่มเติมว่ามีคนงานบางส่วนที่นายจ้างไม่มีเงินจ่ายค่าแรง ถูกเจ้าของบ้านไล่ออกจากบ้านพักเนื่องจากเกรงว่าไม่มีค่าเช่าบ้าน

เจ้าหน้าที่ศุภนิมิตร จ.ภูเก็ตคนหนึ่ง กล่าวว่าในพื้นที่ จ.ภูเก็ตยังไม่สามารถคาดการณ์จำนวนแรงงานข้ามชาติที่เสียชีวิตได้ และค่อนข้างลำบากเพราะนายจ้างก็ไม่อยากรับผิดชอบ แต่เท่าที่เคยสำรวจพบว่าตามหาดต่างๆซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยรวมมีเท้มก่อสร้าง 20-30 เท้ม และที่ทราบชัดเจนคือเท้มที่หาดกะตะหายไปทั้งเท้ม ซึ่งมีคนงานประมาณ 100 กว่าคน แต่วันที่เกิดเหตุมีคนงานบางส่วนที่ทำโอทีนอนพักอยู่ และบางส่วนไปทำงานที่อื่น

นอกจากนั้นที่เกาะสิเหร่ มีสะพานปลา ท่าเทียบเรือประมงของเอกชน ท่าเทียบเรือท่องเที่ยว ซึ่งมีเรือไม่ต่ำกว่า 30 ลำที่พังกระจัดกระจาย ทั้งเรืออวนลากซึ่งมีลูกเรือประมาณ 15 คน/ลำ เรืออวนดำมีลูกเรือประมาณ 30 คน/ลำ เรือหางยาวขนาด 10 เมตร ซึ่งส่วนใหญ่พักอาศัยอยู่ในเรือ ถ้าไม่เสียชีวิตก็ไม่มีที่พักอาศัย และที่บาดเจ็บก็มีบางส่วนมาขอรับการรักษาที่คลินิกของมูลนิธิฯ ซึ่งจะมีปัญหาในการดูแลต่อเนื่อง

ด้านเจ้าหน้าที่มูลนิธิศุภนิมิตร จ.ระนองคนหนึ่ง กล่าวว่าในส่วนของจังหวัดระนองทราบจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นแรงงานพม่าประมาณ 5 คน และที่ไม่มีที่อยู่และได้รับบาดเจ็บมีประมาณ 50 คนเนื่องจากแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ไม่ได้อาศัยในพื้นที่ประสบภัย และมีจัดหางานจังหวัดเข้ามาดูแลว่าใครต้องการเดินทางกลับ และคนที่มีบัตรมีเลข 13 หลัก จะช่วยประสานกับนายจ้างเดิม ส่วนคนที่ไม่มีนายจ้างกำลังหารือว่าจะมีการเปิดศูนย์ฝึกอาชีพให้

"ปัญหาที่จะพบหลังจากนี้ คือ จ.ระนองต้องรองรับคนงานจ.อื่นๆที่นายจ้างล้มละลาย และไม่มีงานทำจะถูกนำส่งมาที่จ.ระนอง เพื่อนำส่งกลับพม่า ซึ่งเริ่มมีการนำมาบ้างแล้ว" เจ้าหน้าที่มูลนิธิศุภนิมิตร จ.ระนอง กล่าว

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net