ระบบเตือนภัย "สึนามิ" สำหรับประเทศไทย

ดร.ธวัช วิรัตติพงศ์
หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาทางด้านภัยพิบัติทางทะเล
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
Jet Propulsion Laboratory California Institute of Technology สหรัฐอเมริกา
------------------------------------------------------------------

แผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติรูปแบบหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหันต์
สำหรับประเทศไทยมักมีความเชื่อว่า ภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่รุนแรงนั้น จะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลยในประเทศไทย เพราะเชื่อว่าประเทศไทยมีทำเลที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ปลอดจากแผ่นดินไหว แต่ปัจจุบันข้อมูลใหม่ๆที่ได้จากการตรวจสอบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และการตรวจวัดด้วยเครือข่ายสถานีวัดแผ่นดินไหว รวมทั้งรายงานการสำรวจรอยเลื่อนในเบื้องต้นและผลงานวิจัยใหม่ๆที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของประเทศไทย แสดงให้เห็นว่า ความเชื่อดังกล่าวข้างต้นเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นการเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันภัยแผ่นดินไหวจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ปรากฏการณ์แผ่นดินไหวที่ทำให้เกิดคลื่นยักษ์ "สึนามิ" ถล่มภาคใต้และอีกหลายๆประเทศตามแนวชายฝั่งอันดามัน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคมนี้ เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงภยันตรายที่ทำให้ทุกฝ่ายทุกภาคส่วนต้องตั้งคำถามและตื่นตัวขึ้นมา "ล้อมคอก" จึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง ก่อนที่เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งการเตรียมพร้อมที่ดีที่สุดก็คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ โดยอาศัยความชำนาญและประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชา ได้แก่ นักแผ่นดินไหว นักธรณีวิทยา วิศวกร สถาปนิก และผู้บริหารประเทศ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้สำหรับการวางนโยบายและการวางผังเมือง การบริหารจัดการมาตรการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

อย่างไรก็ตาม สำหรับงานวิชาการที่ต้องเตรียมไว้รองรับก็คือ ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว ข้อมูลรอยเลื่อนต่างๆทั้งทางด้านธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ ข้อมูลสถิติแผ่นดินไหว ข้อมูลคลื่นความสั่นสะเทือนของพื้นดิน ข้อมูลอัตราเร่งของพื้นดิน ข้อมูลสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ต่างๆ ข้อมูลแผ่นดินไหวที่มีอยู่จะต้องนำมาวิเคราะห์ลักษณะของคลื่นแผ่นดินไหวในแง่มุมต่างๆ ตลอด
จนการศึกษาการขยายตัวของสัญญาณคลื่นแผ่นดินไหวที่แสดงถึงโอกาสความเสี่ยงภัยที่จะเกิด
ขึ้นเพื่อนำไปสู่การป้องกันบรรเทาภัย ซึ่งความรู้ที่จำเป็น คือ พื้นที่เสี่ยงภัยและมาตรฐานการก่อ
สร้างอาคารในพื้นที่เสี่ยงนั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุนโครงการลดพิบัติภัยจากแผ่นดินไหวระยะที่ 1 ซึ่งประกอบด้วยโครงการย่อยที่มีนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโล
ยีแห่งเอเชีย (AIT) ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย เป็นหัวหน้าโครงการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆทั้ง กรมอุตุ
นิยมวิทยา กรมทรัพยากรธรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว พื้นที่เสี่ยงภายในประเทศ ระดับการสั่นสะเทือนของแผ่นดินในกรุงเทพฯ การประเมินระดับความต้านทานแผ่นดินไหวของอาคาร และศึกษาหาวิธีปรับปรุงอาคารที่อ่อนแอให้มีความต้านทานแผ่นดินไหวในระดับที่เหมาะสม

สำหรับระบบการเตือนภัยในประเทศนั้นก็สามารถพัฒนาขึ้นได้จากฐานความรู้เดิม แต่ข้อสำคัญ คือ ผู้รับผิดชอบจะต้องสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ทันที ซึ่งซึนามิสำหรับประเทศไทยเป็นปรากฏ
การณ์ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อย อาจจะเกิดขึ้นเพียง 1-3 ครั้งในช่วง 100 ปี สำหรับซึนามิที่เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม 2547 นี้มีความรุนแรงและก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประเทศมาก ถ้าเรามีระบบการเตือนภัยที่ดีจะช่วยลดความเสียหายได้อย่างแน่นอน

สำหรับระบบการเตือนภัยซึนามิ ผู้รับผิดชอบจะต้องสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ในทันทีและต้องตัดสินใจให้ได้ภายใน 1 ชั่วโมงว่า จะส่งสัญญาณเตือนภัยไปให้ประชาชนที่อยู่ในเขตเสี่ยงภัยหรือไม่ โดยระบบเตือนภัยที่เหมาะกับประเทศไทยมีควรมีองค์ประกอบดังนี้

1.มีระบบ real time monitor ข้อมูลแผ่นดินไหวที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เราสามารถหาข้อมูลนี้ได้จากแหล่งต่างๆ เช่น earthquake hazard program ของ US Geological Survey

2.เนื่องจากเจ้าหน้าที่พยากรณ์ที่เข้าเวรในขณะนั้นเป็นผู้วิเคราะห์ข้อมูลและเสนอข้อมูลความเห็นในการตัดสินใจในการเตือนภัย ดังนั้น จำเป็นต้องมี Tsunami propagation data base ที่บอกถึงขนาดความสูงของคลื่นซึนามิ และเวลาที่จะถึงสถานที่ต่างๆ แถบชายฝั่งเสี่ยงภัย ที่เจ้าหน้าที่สามารถนำมาใช้งานได้ภายในเวลาที่รวดเร็ว โดยข้อมูลเหล่านี้ได้มาจากการคำนวณเพื่อจำลองสถานการณ์ของ Tsunami model ไว้ล่วงหน้า

3.จัดทำระบบเครือข่ายสื่อสารเพื่อส่งข้อมูลเตือนภัยไปตามจุดต่างๆ แถบชายฝั่งที่อาจเกิดภัยพิบัติจากซึนามิหรือภัยพิบัติอย่างอื่นด้วย
ในส่วนของประเทศสหรัฐอเมริกามีระบบคล้ายกับที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่ยังมีระบบที่เพิ่มขึ้นอีกระบบหนึ่ง คือ การติดตั้งทุ่นลอย เรียกว่า DART (Deep-ocean Assessment and Reporting of Tsunamis System) ไว้ในทะเลแถบ earthquake active zone เช่น แถบ อลาสก้า หรือเฝ้าระวังคลื่นสึนามิ และส่งข้อมูล real time ผ่านดาวเทียมเข้าสู่ศูนย์วิเคราะห์และเตือนภัยสึนามิ

ระบบใช้ทุ่นที่เสริมขึ้นมานี้จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในการพยากรณ์และตัดสินใจเตือนภัยซึนามิ สำหรับประเทศไทยเราต้องติดตั้งทุ่นห่างจากชายฝั่งของประเทศไทยมากกว่า 800 กิโลเมตร จึงให้ประโยชน์และได้ผลดี เพราะหากติดตั้งใกล้ฝั่งเกินไป จะสายเกินไปในการตัดสินใจว่า จะเตือนภัยหรือไม่ เพราะคลื่นซึนามิเคลื่อนตัวเร็วมากในทะเลลึก (ประมาณ 500-800 กิโลเมตร/ชั่วโมง) นอกจากนี้การติดตั้งทุ่นลอยจะต้องใช้เงินทุนมากพอที่จะสามารถครอบคลุมตรวจจับคลื่นซึนามิที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศไทยได้ ซึ่งการลงทุนติดตั้งทุ่นนี้จะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ที่สำคัญคือการบำรุงรักษาในแต่ละปีก็จะสูงมากเช่นกัน และทุ่นที่ติดตั้งส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตน่านน้ำนานาชาติ ดังนั้นการติดตั้งทุ่นจะให้ประโยชน์ต่อนานาประเทศด้วยเช่นกัน ฉะนั้น หากจะเสริมระบบนี้เข้ามา การลงทุนส่วนนี้ควรเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างนานาชาติมากกว่า

อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยต้องการทำระบบเตือนภัยพิบัติแล้วก็ควรจัดทำให้ครบทุกระบบ เพราะภัยพิบัติทางทะเลไม่ใช่มีแต่ซึนามิซึ่งนานๆจะเกิดขึ้นสักครั้ง แต่ยังมีภัยพิบัติอื่นๆที่ทำความเสียหายมากกว่าและบ่อยกว่าซึนามิ ซึ่งก็คือ คลื่นจากวาตภัยในปี 2513 ที่ประเทศบังคลาเทศมีผู้เสียชีวิตประมาณ 500,000 คน และที่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน นอกจากนี้ ยังมีภัยพิบัติที่เกิดจากพายุรุนแรงที่เข้ามาในประเทศไทยทุกๆ 5-10 ปี ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวและภัยพิบัติทางทะเลอยู่หลายโครงการ เช่น การพยากรณ์ความสูงคลื่นที่เกิดจากลมพายุ การคำนวณคลื่นวาตภัย และการคำนวณเพื่อหาตำแหน่งผู้ประสบภัย วัตถุ และคราบน้ำมันที่ลอยตามน้ำ ซึ่งมีการนำไปใช้งานจริงที่กรมอุตุนิยมวิทยา และกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เป็นต้น ซึ่งในส่วนของการพยากรณ์เส้นทางพายุนั้นถือเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินซึ่งควรจะเร่งทำในทันที

เหตุการณ์คลื่นยักษ์ซึนามิถล่มอันดามันในครั้งนี้ ได้ก่อความเสียหายให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งหลายๆฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่า ประเทศไทยควรจะมีการติดตั้งระบบเตือนภัยกันอย่างจริงจังเสียที แต่จะติดตั้งระบบเตือนภัยอย่างไรให้เอื้อประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุดนั้น น่าจะมีการนำผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทยที่มีประสบการณ์การวิจัย วิเคราะห์ และนำไปใช้งานจริงทางด้านภัยพิบัติทางทะเลเข้าศึกษาข้อมูลร่วมกับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศในการร่างแผนงาน นำเสนอ ทำการวิจัยพัฒนา และร่วมติดตั้งระบบเตือนภัยซึนามิและภัยพิบัติทางด้านอื่นๆ ที่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะกับประเทศไทยในราคาที่เหมาะสมและที่สำคัญต้องสามารถนำไปใช้งานได้จริงด้วย

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท