Skip to main content
sharethis

เหตุการณ์คลื่นยักษ์ " ซึนามิ" ซัดกวาดเข้ามายังประเทศไทย และประเทศอื่นๆอีกมากมายนั้น ไม่ได้นำมาซึ่งความเสียหายด้านทรัพย์สินและชีวิตเพียงอย่างเดียว ความเสียหายด้านจิตใจรวมถึงวิถีชีวิตด้านอื่นๆ กำลังรอการเยียวยาอย่างเร่งด่วน

วิถีชีวิตแบบชาวประมงพื้นบ้านของท้องถิ่นในแต่ละแห่งเริ่มส่อแววว่ากำลังประสบปัญหาเช่นกัน ที่หาดประพาส หมู่ 2 ต.กำพวน กิ่งอำเภอสุขสำราญ จ.พังงา เป็นหมู่บ้านชาวประมงที่มีลักษณะคล้ายเกาะ ข้างหน้าบ้านติดกับทะเล ข้างหลังบ้านเป็นคลองน้ำกร่อยและป่าชายเลน

นางคอย๊ะ สาลี อายุ 63 ปี เล่าว่า ขณะนั้นตนได้เดินไปดูที่ชายหาด เพราะน้ำทะเลเป็นสีขาว มีคล้ายฟองซึ่งผิดปกติมาก ต่อมาน้ำแห้งไปหมด จากนั้นหลานชายก็วิ่งมาบอกว่าให้รีบไปขึ้นเรือที่จอดอยู่หลังบ้าน ขณะที่กำลังหนีตนได้ถูกคลื่นซัดมาเสียก่อน น้ำซัดมาแรงมาก บ้านพังไปพร้อมสายน้ำไม่เหลือเลย ญาติพี่น้องหนีน้ำไม่ทันตายไป 7 คน เป็นลูกๆหลานๆทั้งนั้น

นางคอย๊ะเล่าต่อว่า ตอนนี้เจอศพทั้งหมด เจอครั้งแรกในคลอง 5 คน ที่เหลือเจอทีหลังอีก 2 คน เพราะศพเขาไปติดอยู่ในป่าโกงกาง

"ตามตัวม๊ะเจ็บไปหมด ร้าวทั้งตัว ตอนแรกมีแต่คนเข้าใจว่าม๊ะตายไปแล้ว เพราะม๊ะขึ้นเรือไม่ทันเกาะอะไรไว้ไม่ได้เลย พอคลื่นม้วนมา ม๊ะก็ม้วนไปกับคลื่น ที่รอดมาได้เพราะเป็นจังหวะที่คลื่นสงบลงพอดี "นางคอย๊ะกล่าวถึงความทรงจำอันโหดร้าย

นางคอย๊ะเล่าให้ฟังว่าที่บ้านตนทำกุ้ง ปลา มีลูกหลานตนออกเรือไปจับมาให้ตนขาย แต่ตอนนี้ทั้งปลาที่อาศัยอยู่ริ่มฝั่ง ปลาในกระชัง หรือปลาในทะเลลึกมีอยู่เต็มฝั่งเกลื่อนกลาด บางตัวก็ลอยมาติดบนชายหาด ตามยอดไม้ ตนไม่รู้เลยว่าปลาจะหมดทะเลหรือยัง

"วัว ควาย ตายหมด ทั้งที่อุตส่าห์เลี้ยง ให้ข้าวให้น้ำมานาน ไก่เกือบร้อยกว่าตัว เป็ดเทศอีก 60 ตัว
ทั้งแม่เป็ด ลูกเป็ด ไหนจะแพะอีก 8 ตัว วัวอีก 2 ตัว ลอยไปกับน้ำหมด" นางคอย๊ะกล่าว

หลานชายของนางคอย๊ะ นายลักกี สาลี อายุ 24 ปี กล่าวว่า ตอนที่คลื่นกำลังซัดมา ตนเพิ่งเอาเรือไปจอดในคลองหลังบ้าน ได้ปลามาพันกว่ากิโล ขณะปลดปลา เด็กๆที่เล่นทรายริมหาดหน้าบ้านวิ่งมาบอกว่าทะเลมีคลื่นแปลกๆ ตนจึงออกไปดู

นายลักกีกล่าวว่า เห็นยาย และเด็กเต็มไปหมด คลื่นกำลังไหลมา ตนจึงรีบอุ้มเด็กไปไว้บนเรือ ขณะที่ยายจะขึ้นเรือ คลื่นก็ซัดมาท่วมตัว เด็กที่ขึ้นเรือเสียชีวิตไป 4 คน เป็นเด็กเล็กๆ แม่ของเด็กเสียชีวิตเช่นกัน เพราะขณะที่ตนสตาร์ทเครื่อง ใบพัดเรือมีแต่ทรายที่พัดมาพร้อมคลื่นติดใบพัด ตนจึงได้แต่ปล่อยให้เรือลอยไปตามน้ำ

นายลักกีเล่าต่อว่าเรือติดอยู่กลางคลอง คลื่นที่ซัดจากทะเลสงบลง จึงเบาใจแต่ทว่าไม่นานคลื่นก็ทะลุมาจากปากคลองรอยต่อกับทะเล ซัดมาอีกครั้ง ครั้งนี้เรือลอยไปติดป่าโกงกางและคว่ำลงทันทีคนจึงคว่ำไปพร้อมกับเรือ

"ตอนนั้นผมหาใครไม่เจอเลย เจอแต่ลูกชาย ผมช่วยเด็กไว้ได้ โชคดีที่รอดชีวิตมาได้ บางคนก็เกาะอยู่บนต้นไม้ ระหว่างนั้นผมพบศพเด็ก จึงขนศพที่ลอยน้ำลงเรือเล็กที่ลอยอยู่ใกล้ๆ แต่คลื่นก็ซัดน้ำมาอีกเป็นครั้งที่สามครั้งนี้ ผมปืนขึ้นไปอยู่บนยอดไม้ เพราะหมดแรง หอบกระแตงเด็กไปด้วยหลายคน ที่หลุดมือช่วยไม่ทันก็เยอะ" นายลักกีกล่าวด้วยน้ำเสียงเศร้าๆ

นายลักกีกล่าวต่อว่า ในชีวิตยังไม่เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้ แม้ว่าออกทะเลจะเจอพายุ แต่เหตุการณ์ยังไม่น่ากลัวเช่นครั้งนี้ น้ำมาเร็ว ไปเร็ว ปลาในทะเลก็คงเสียหายไปกับน้ำ ปะการังหักหมดเพราะคลื่นม้วนกวาดมาพร้อมกับทราย ใต้ท้องทะเลหมุน ปลา ปู โดนซัดขึ้นหาดหมด

"ต่อไป ถ้าจะออกทะเลก็คงออกอย่างกลัวๆ อย่างวันแรกๆ หลังเกิดเหตุการณ์ ผมคิดว่าจะไม่ทำอาชีพประมงอีกแล้ว เพราะแค่พอเห็นคลื่นก็ใจสั่น ตกใจกลัว ภาพคลื่น ภาพเด็กจมน้ำไปต่อหน้า ยังจำได้ติดตา ความรู้สึกมันบอกไม่ถูก แต่เราก็ต้องออกเรือต่อเพราะเราหากินด้วยทะเล เราไม่มีที่ดิน เราไม่มีสวน เราก็ต้องออกทะเล" นายลักกีกล่าว

นายยาดี ลิชั่งใต้ อายุ 41 ปี บ้านปากบางเทา ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต กล่าวคล้ายๆ กันว่าขณะนี้ยังใจไม่ดีเพราะภาพคลื่นสีดำที่กวาดมายังติดตา คลื่นที่ชาวประมงเจอมักเป็นคลื่นตาม ปกติของฤดูกาล แต่คลื่นขึ้นมาอย่างเร็วจนตั้งตัวไม่ทัน
" ผมคิดว่าปลาในทะเลคงได้รับความเสียหายมาก แต่คิดว่าทะเลจะพื้นฟูตัวเองได้ แต่สำหรับผมกว่าจะเอาเรือออกทะเลได้อีกครั้ง คงต้องใช้เวลาอีกเป็นปีๆ เพราะยังรู้สึกกลัว ตอนนี้ไม่กล้าออกทะเลอีกแล้ว "นายยาดีกล่าว

นายยาดีเล่าต่อว่า หมู่บ้านชาวประมงของตนมีคนอยู่ประมาณร้อยกว่าชีวิต ตายไปเกือบสิบคน ในนั้นเป็นญาติตนสองคน ส่วนที่เหลือเป็นเพื่อนบ้านที่สนิมกันมาก ส่วนบ้านตนเหลือแต่ซาก เรือทั้งลำเหลือแต่หัวเรืออย่างเดียว

นายยาดีเล่าอีกว่าที่ตนรอดมาได้เพราะลางสังหรณ์ของชาวทะเล เนื่องจากเห็นน้ำขึ้นลงแปลกๆ จึงตัดสินใจบอกภรรยาและอุ้มลูกหนีทันที เพราะตนคิดว่าเหตุการณ์อย่างนี้ไม่ดีแน่นอน อีกทั้งก่อนเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์ ที่หมู่บ้านเกิดแผ่นดินไหวจนบ้านสั่น หลังจากนั้นไม่นานจึงเกิดปรากฏ การณ์น้ำทะเลแห้งเร็ว ไหลเร็ว

นางสุภัทรา นพบ่า อายุ 17 ปี หมู่ 3 ต.เชิงทะเล อ.ถลาง เป็นอีกครอบครัวหนึ่งที่ประสบชะตากรรมไม่ต่างจากชาวประมงคนอื่นๆ เธอเล่าว่า เพิ่งแยกครอบครัวออกมาอยู่กินกับสามี โดยสามีมีหน้าที่หาปลา ส่วนเธอเป็นผู้คัดแยกปลาและนำไปขาย

"เราโชคดีที่รอดมาได้ แต่จะออกหาปลาได้อีกหรือไม่คงต้องใช้เวลาอีกนาน เพราะเราต่างก็หวาด กลัวกับคลื่นมาก เคยคิดกับแฟนเหมือนกันตอนหลังเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆว่าจะเลิกทำประมงแล้ว แต่ตอนนี้คิดว่าถ้าเราไม่ทำประมงเราจะไปทำอะไร เราเติบโตมาจากทะเล อยู่กับทะเลมาตั้งแต่เด็ก จะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นก็คงลำบากเพราะทำกินไม่เป็น" นางสุภัทรากล่าว

นายตะกีม สังค์ยาว อายุ 25 ปี จากบ้านเดียวกันกล่าวเสริมขึ้นว่า การออกทะเลเป็นงานอิสระ ตั้งแต่ตนจำความได้ก็อยู่กับทะเลมาตลอดทั้งชีวิต บ้านตนห่างจากทะเลไม่ถึง 50 เมตร ที่บ้านจึงหายหมดทั้งหลังไปพร้อมการซัดมาของคลื่น ตนเห็นน้ำกระทบเรือคว่ำหมด เห็นศพชาวต่างชาติลอยผ่านหน้าไปอีกด้วย บางคนยังไม่ตายแต่ช่วยไม่ได้เพราะน้ำแรงมาก ได้แต่มองคนลอยหายไปในในน้ำต่อหน้าต่อตา

นายตะกีมกล่าวถึงความรู้สึกลึกๆ ในใจว่า แม้ขณะนี้ตนจะสบายขึ้นบ้าง แต่คงต้องตั้งหลักอีกนานกว่าจะลงทะเลออกไปหาปลาได้อีก ภาพคลื่นสูง 3-4 เมตร ไหลบ่าท่วมบ้านและซัดไกลไป 2-3 กิโลเมตร ยังติดตาไปถึงยามหลับ ยังสะดุ้งผวากับเหตุการณ์ ทั้งที่แต่ก่อนตลอดชีวิตที่ทำประมงมาไม่เคยกลัวทะเล เจอคลื่น เจอพายุที่ไหน ไม่กลัว เพราะรู้ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากอะไร แต่ในขณะนี้ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับทะเล อีกทั้งยังไม่มั่นใจว่าจะมีปลาให้จับอุดมสมบูรณ์เหมือนเช่นเดิมหรือไม่ เพราะปู ปลาในทะเลถูกกวาดไปหมด ปลาลอยไปค้างตามต้นสน และพุ่มไม้แห้งตายไปมาก

"ตอนนี้ผมคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรต่อไป ใจก็อยากเลิกอาชีพนี้เหมือนกัน แต่เราเป็นคนทะเล อยู่กับทะเลมาตั้งแต่เด็ก ผมออกอวนได้ตั้งแต่อายุสิบกว่าปี จะให้ไปทำอาชีพอื่นก็คงไม่ได้ แต่ผมจะไม่กลับไปอยู่บ้านหลังเดิมอีกแล้ว กลัวจะโดนคลื่นซัดไปอีก ครั้งต่อไปอาจจะไม่โชคดีรอดชีวิตได้อย่างครั้งนี้" นายตะกีมกล่าวในตอนท้าย

นี่คือเสียงของชาวประมงพื้นบ้าน บอกผ่านเรื่องราวเลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิต จากเหตุการณ์" พิภพวิบัติภัย" จะเกิดอะไรขึ้น...หาก" ชาวเล" ไม่กล้าออกหาปลา จะเกิดอะไร หากออกทะเลไปแล้วไม่มีปลาให้จับ ความกังวลเหล่านี้ สะท้อนถึงความเปราะบางของวิถีชาวเลที่กำลังประสบปัญหาต่อไปในอีกไม่ช้า

ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net