Skip to main content
sharethis

ปี 2547 ส่งท้ายความโศกเศร้า และการพลัดพรากของพี่น้องชาวใต้ และเพื่อนบ้านเราในหมู่เกาะสุมาตรานับหมื่น ๆ ชีวิตที่ถูกคลื่นยักษ์พัดพาชีวิต และชุมชนจมหายไปกับท้องทะเล นอกเหนือโศกนาฎกรรมที่เศร้าที่สุดในรอบปี ชะตากรรมของชีวิตเล็ก ๆ โดยเฉพาะพี่น้องชาวใต้ยังต้องเจอกับความรุนแรง และการกระทำจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเองนับตั้งแต่เหตุการณ์กรือเซะ จนกึงตากใบ ล้วนแล้วแต่หนักหนาสากรรจ์เกินคำบรรยายใด ๆ เราได้แต่ภาวนาว่าปีหน้าสถานการณ์ภาคใต้คงไม่เลวร้ายไปกว่านี้อีกแล้ว

นอกจากนี้ยังมีข่าวเล็ก-ข่าวใหญ่ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ที่ สำนักข่าวประชาธรรม เห็นว่ามีความสำคัญ ทั้งที่เกิดขึ้น และมีผลกระทบแล้ว และคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนเล็ก คนน้อย หมายถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ใช่คนเพียงหยิบมือทีร่ำรวยหุ้นเป็นหมื่น ๆ ล้านอยู่ในเวลานี้ ข่าวที่คัดเลือกมา อาจจะไม่ใช่ข่าวเด่นข่าวดัง แต่เราคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องหยิบยกข่าวดังกล่าวขึ้นมาเพื่อเตือนใจกันอีก เพื่อที่ว่าเราจะไม่ปล่อยให้มันเลือนหายไปกับปีเก่า เรายังต้องติดตามกันต่อไปอีก ไม่ว่าจะเป็นปีเก่า หรือปีใหม่ก็ตาม

ชายแดนภาคใต้ ความจริงที่หายไป

เหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้ตั้งแต่ต้นปี เหตุการณ์ปล้นปืนวันที่ 4 ม.ค. การล้อมปราบที่มัสยิดกรือเซะเมื่อวันที่ 28 เม.ย. จนถึงส่งท้ายปีด้วยการสลายการชุมนุมที่ตากใบ จ.นราธิวาสเมื่อวันที่ 25 ต.ค.จนมีผู้เสียชีวิต 85 รายนั้นถือเป็นข่าวใหญ่ที่สังคมให้ความสนใจ แต่ประเด็นที่สังคมให้ความสนใจยังคงเป็นแค่ปรากฎการณ์ หรือเหตุการณ์ความรุนแรงในแต่ละช่วง ยังไม่มีการติดตามตรวจสอบข้อมูลในเชิงลึก เช่น ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ข้อเท็จจริงในพื้นที่เป็นอย่างไรกันแน่ คนในพื้นที่คิดเห็นอย่างไร เพราะข้อมูลข้อเท็จจริงที่ปรากฎในสื่อหลักมาจากแถลงของรัฐบาลเสียเป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม ธันวาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภาแถลงผลการตรวจสอบมีข้อสังเกตว่าการสลายการชุมนุมตากใบว่าเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ และขาดการวางแผนอย่างรัดกุมจนทำให้เกิดการเสียชีวิตในระหว่างการขนย้ายกลุ่มผู้ชุมนุม นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะว่ารัฐบาลจะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงต่อสาธารณชน เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ ไม่มีการแบ่งแยกเขา-เรา

นอกจากนี้เสียงของประชาชนในพื้นที่ยังมีข้อเสนอแนะว่าแนวทางการแก้ปัญหาชายแดนใต้ รัฐบาลควรฟังเสียงประชาชนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และต้องหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง หรือการกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ที่สำคัญต้องเคารพในความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ดำรงอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าติดตามต่อ คือความจริงที่หายไป และสิ่งไม่ปรากฎในสื่อนั่นเอง

เอฟทีเอ ใครได้ ใครเสีย

ช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยมีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีระดับทวิภาคี (FTA) กับนานาประเทศชนิดที่ภาคประชาชนแทบจะตามข้อมูลไม่ทัน พอรู้อีกทีก็มีการลงนามทำสัญญากันแล้ว การนำพาประเทศภายใต้รัฐบาลชุด "คิดเร็ว ทำเร็ว" ของนายกฯ ทักษิณ ทำให้ชะตาชีวิตคนไทยทั้ง 62 ล้านคนต้องถูกกำหนดจากภายนอกประเทศและระบบตลาดเสรี ภายใต้ภาพลวงตาว่าเศรษฐกิจจะเติบโตมากขึ้น โดยที่ภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วมกำหนดชะตาชีวิตใด ๆ เลย เพราะการทำเอฟทีเอกับประเทศต่าง ๆ ไม่มีการนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาแต่อย่างใด

รัฐบาลยุคคิดเร็ว ทำเร็วมีการทำเอฟทีเอไปแล้วกับ 3 ประเทศคือจีน ออสเตรเลีย และอินเดีย อยู่ในระหว่างการเจรจาคือ 1.สหรัฐอเมริกา 2.เปรู 3.ญี่ปุ่น 4.บาห์เรน 5.สวิตเซอร์แลนด์

ส่วนที่ทำไปแล้ว เอฟทีเอไทย-จีน ปรากฎว่าขณะนี้เริ่มเห็นผลกระทบแล้วตั้งแต่เกษตรกรจนถึงผู้ผลิต ผู้ส่งออกรายผัก-ผลไม้รายใหญ่ โดยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่จำนวนกว่าแสนครอบครัวต้องเปลี่ยนอาชีพ นอกจากนี้จากการที่ไทยเคยได้ดุลการค้าผัก-ผลไม้จากจีน ขณะนี้ก็เริ่มลดลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะผัก-ผลไม้เมืองหนาวนั้น โครงการหลวงที่เป็นแหล่งผลิตรายใหญ่ก็ต้องหาตลาดใหม่รวมทั้งปรับเปลี่ยนไปส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่น

นอกจากนี้ยังพบอีกว่าเอฟทีเอไทย-จีนนั้นเป็นการเอื้อต่อกลุ่มทุนใหญ่ที่ใกล้ชิดรัฐบาล เช่นบริษัทในเครือซีพีที่ทำธุรกิจอบลำไย ส่งผลให้เกิดการผูกขาด กดราคา และคอร์รัปชั่นอย่างมาก

ส่วนเอฟทีเอไทย-ออสเตรเลียลงนามเมื่อวันที่ 5 ก.ค.47 ครอบคลุมการเปิดเสรีตั้งแต่สินค้าเกษตรไปจนถึงสินค้าบริการ และการลงทุน ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่าข้อตกลงที่จะได้รับประโยชน์คืออุตสาหกรรมรถยนต์และส่วนประกอบ แต่ภาคการเกษตรจะเสียประโยชน์ เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอุตสาหกรรมโคนม-โคเนื้อจะได้รับผลกระทบมาก ทั้งนี้มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม-เนื้อถึง 350,000 ราย เพราะศักยภาพของไทยไม่สามารถสู้ออสเตรเลียได้

นอกจากนี้ยังมีการตั้งคำถามว่าเอฟทีเอไทย-ออสเตรเลียนั้นเอื้อประโยชน์แก่ธูรกิจดาวเทียมและธุรกิจมือถือของครอบครัวนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะในข้อตกลงดังกล่าวระบุชัดเจนว่าออสเตรเลียไม่จำกัดจำนวนดาวเทียมและบริการมือถือในออสเตรเลีย

เอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจา โดยรัฐบาลทั้งสองประเทศประกาศว่าจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2548 และจะให้มีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2549 นั้น นับว่าน่าติดตามมากที่สุด หากสามารถดำเนินทำเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ สำเร็จ จะส่งผลกระทบต่อคนไทยอย่างหนัก เฉพาะอย่างยิ่งการที่ประเทศไทยต้องยอมตามเงื่อนไขของสหรัฐฯ เรื่องสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต และขยายการคุ้มครองสิทธิบัตร รวมไปถึงการยอมให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย อนาคตที่เห็นลาง ๆ สำหรับคนไทยคือ จะต้องซื้อยาแพงขึ้น ทรัพยากรชีวภาพของไทยจะถูกแย่งชิงไปจดสิทธิบัตร ฯลฯ

ทั้งนี้ฝ่ายภาคประชาชนที่มีการเคลื่อนไหวคัดค้านการทำเอฟทีเออย่งหนัก คือกลุ่ม FTA WATCH เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการทำเอฟทีเอ และต้องเปิดให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน รวมทั้งก่อนที่รัฐบาลจะดำเนินการใด ๆ จะต้องนำเข้าสู่รัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ

ที่ดินกระจุกตัวเหมือนเดิม

การแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐบาลทักษิณในรอบปีที่ผ่านมานับได้ว่าไม่มีความคืบหน้าใดๆ ที่นำไปสู่การแก้ปัญหาการกระจายถือครองที่ดินอย่างแท้จริง ขณะที่เครือข่ายที่ดินทั่วประเทศมีการเคลื่อนไหวให้รัฐบาลเร่งรัดแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง

แต่นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ต่อกรณีที่ดินกลับสวนทางกับสิ่งที่ชาวบ้านเสนอ ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่ดินในระดับนโยบายที่เน้นการกระจายการถือครองที่ดิน ไม่ให้ที่ดินกระจุกตัว จนถึงการออกกฎหมายการเก็บภาษีก้าวหน้า แต่รัฐบาลกลับเสนอให้มีการแปลงทรัพย์สินเป็นทุน การเร่งรัดออกเอกสารสิทธิ์ให้เกษตรกร เป็นต้น โดยนำเอาที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์เช่น น.ส.3 , ส.ป.ก. , สค.1 ไปกู้เงินได้ รัฐมองว่าจะทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ความเป็นจริงนโยบายดังกล่าวทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้มากขึ้น และในระยะยาวจะทำให้ที่ดินหลุดมือเกษตรกรไปอยู่ในมือคนมีอำนาจซื้อ สุดท้ายที่ดินก็กระจุกตัวอยู่ในมือคนรวย เพียงหยิบมือ

นอกจากนี้ นโยบายของรัฐบาลต่อการแก้ไขปัญหาที่ดินอีกนโยบายหนึ่งที่ถือว่าไม่เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริงคือการขึ้นทะเบียนคนจน ซึ่งปัจจุบันสรุปได้ว่าจำนวนผู้มาขึ้นทะเบียนมีกว่า 3.9 ล้านคนต้องการที่ดินประมาณ 40 ล้านไร่ ขณะที่รัฐมีที่ดินที่สามารถจัดสรรให้ได้เพียง 8 ล้านไร่เท่านั้นแน่นอนว่าส่วนที่เหลือจะมีการนำพื้นที่ป่าสงวนมาเฉือนแบ่งให้ชาวบ้าน

ขณะที่ข้อเสนอของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.)ตามมติ ค.ร.ม.วันที่ 9 เม.ย. 2545 นั้นปัจจุบันภาครัฐตรวจสอบการถือครองและมีการเพิกถอนการถือครองไปแล้วประมาณ 100 ไร่จากพื้นที่ที่ สกน.เสนอทั้งหมด 37 จุดเนื้อที่รวม 30,000 กว่าไร่ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดตรวจสอบพบแล้วว่าออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้นนโยบายการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนรวมทั้งการขึ้นทะเบียนคนจนถือว่าไม่เป็นการแก้ปัญหาที่ดินที่ตรงจุด

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแม้ว่าระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาที่ดินภายใต้มติ ค.ร.ม.วันที่ 9 เม.ย.2545 จะผ่านมากว่า 3 ปี ทว่า สกน.ยังยืนยันแนวทางการแก้ไขปัญหาตามผลการเจรจากับรัฐบาลตามมติ ค.ร.ม.ดังกล่าวแม้ว่าแนวทางนี้จะเลือนลางเต็มที

น้ำเป็นสินค้า

ปีที่ผ่านมารัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แสดงท่าทีชัดเจนในการเปลี่ยนทรัพยากร " น้ำ" จากความเป็นทรัพย์เสรีสำหรับทุกคนร่วมใช้กินใช้อาบ กลายเป็นสินค้าที่มีราคา ท่าทีที่ชัดเจนของรัฐบาลคือ การเร่งออก พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และดำเนินโครงการระบบชลประทานทางท่อ

แนวคิด ร่าง พ.ร.บ.น้ำ คือ การกำหนดให้ ทรัพยากรน้ำทุกหยดในประเทศไทย อันได้แก่ น้ำในบรรยากาศ น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน แหล่งต้นน้ำลำธาร เป็นของรัฐ รัฐทำหน้าที่จัดสรรสิทธิในการใช้น้ำให้แก่ภาคส่วนต่างๆในสังคม และสิทธิในการใช้น้ำสามารถซื้อขายได้

นอกจากนี้รัฐบาลทักษิณยังประกาศการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการกำหนดยุทธศาสตร์น้ำ เรียกว่าระบบ วอเตอร์กริด หรือ โครงข่ายน้ำแห่งชาติ โดยนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่าเพื่อให้เกิดการกระจายน้ำให้แก่เกษตรกรอย่างทั่วถึง และเกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี ตั้งแต่ 2547-2551 ส่งน้ำถึงที่ไร่-นา-สวน 106 ล้านไร่ เกษตรกรรายได้เพิ่ม 1.2 แสนบาทต่อครัวเรือน พร้อมยืนยันว่าจะไม่เสียค่าน้ำเพื่อการเกษตร จะเสียเพียงค่าไฟฟ้าและค่าบำรุงรักษาเท่านั้น

ขณะที่ผลการดำเนินงานโครงการนำร่องในภาคอีสานเกือบ 10 โครงการก็ล้มเหลวมาแล้ว มีปัญหามากมายโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าเครื่องสูบน้ำที่สูงมาก เพราะเป็นเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ ต้องเสียค่าไฟฟ้าถึงเดือนละ 1 หมื่นกว่าบาท เป็นภาระของเกษตรกรต้องเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น ต้องเรี่ยไรเงินกันมาจ่ายค่าไฟฟ้า และถ้าท่อแตกก็มีปัญหาในการปรับเปลี่ยนแก้ไข

สิ่งที่เครือข่ายภาคประชนเป็นห่วงคือจะมีโครงการสร้างเขื่อน สร้างอ่างเก็บน้ำจำนวนมากขึ้นทั้งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านเพื่อไปตอบสนองยุทธศาสตร์การจัดการน้ำดังกล่าว เฉพาะที่มีแผนพัฒนาแล้ว เช่น โครงการผันน้ำเชียงคาน-ฝายชนบท-ชี-มูล ,โครงการผันน้ำปากคาด-น้ำสงคราม ,โครงการผันน้ำเซบังเหียง-เซบาย-เซบก ,โครงการผันน้ำเซบังไฟ-มุกดาหาร ,โครงการผันน้ำสตึงนัม-ตราด-จันทบุรี-ระยอง.

วิกฤตพลังงาน

ภาคพลังงาน มีประเด็นร้อนคือ การแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.)เป็นบริษัทมหาชน จำกัด แต่กระแสการค้านอย่างหนักของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รัฐบาลลดกระแสด้วยการชะลอการดำเนินการ ซึ่งในช่วงปลายปีก็เกิดการปลุกกระแสแปรรูปกฟผ.ขึ้นมาอีกครั้ง ขณะที่ข้อเรียกร้องของเครือข่ายภาคประชาชนที่เสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างกิจการไฟฟ้าทั้งระบบ แยกกิจการสายส่ง และจัดตั้งองค์กรอิสระกำกับกิจการพลังงานกลับไม่ได้รับความสนใจ

ขณะที่ด้านน้ำมันส่งผลสะเทือนทั้งเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ เพราะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเกินกว่า 55 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาน้ำมันบนซิน 95 ในประเทศปรับตัวสูงขึ้นจาก 16.99 บาทต่อลิตร ในเดือน ม.ค. ขึ้นไปสูงสุดที่ 21.59 บาทต่อลิตร ในเดือน ต.ค. จนเป็นเหตุให้รัฐบาลประกาศเลิกตรึงราคาน้ำมันเบนซินในวันที่ 21 ต.ค. แต่ยังตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 14.59 บาทต่อลิตร แม้ราคาตลาดจะสูงถึง 21.74 บาทต่อลิตร ด้วยเหตุผลว่ากระทบต่อคนจน

ผลจากดำเนินนโยบายตรึงน้ำมันจนถึงที่สุด ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องจ่ายค่าชดเชยสะสมจาก 96.85 ล้านบาทเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2547 เพิ่มขึ้นเป็น 59,191.79 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าใช้เวลาประมาณ 3 ปีในการเก็บเงินคืนกองทุน ในวันที่28 ธ.ค.2547 รัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทดแทน ควบคู่กับมาตรการปิดปั๊มหลังเที่ยงคืน ปิดห้างตั้งแต่ 4 ทุ่ม

ราคาน้ำมันที่ทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า จนนำมาสู่การปรับแผนการผลิตไฟฟ้า โดยสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 20 แห่ง ใช้ถ่านหินแทนก๊าซ และเสนอปิดเขื่อนปากมูลเพื่อผลิตไฟฟ้า รวมถึงการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน แนวทางดังกล่าวล้วนส่งผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม

ปัญหาความผันผวนภาคพลังงานสะท้อนให้เห็นถึงการที่รัฐบาลไม่มีมาตรการเชิงรุกด้านพลังงานเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจผูกติดกับพลังงานน้ำมันชนิดเดียวด้วยการสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทดแทนที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง การไม่ปฏิรูปกิจการภาคพลังงานไฟฟ้าตามข้อเสนอของนักวิชาการ รวมถึงการใช้มาตรการทางภาษีเชิงรุกเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

อุปถัมภ์คนไทยด้วยประชานิยม

นโยบายประชานิยม ยังคงเป็นกลยุทธ์หลักของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยในการบริหารประเทศ แม้ว่าจะมีผลงานวิจัยจำนวนมากที่สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของการใช้นโยบายประชานิยม เฉพาะอย่างยิ่งการทำให้คนจนในชนบทเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น

ในรอบปีนี้รัฐบาลไทยรักไทยนำเสนอนโยบายประชานิยมใหม่อย่างมากมาย ที่สำคัญได้แก่ การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน การลงทะเบียนคนจนเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และแจกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน โครงการเอสเอ็มแอล โครงการแท็กซี่เอื้ออาทร เป็นต้น

ไม่เพียงใช้นโยบายประชานิยมกับประชาชนระดับรากหญ้าเท่านั้น แต่ยังพบว่าได้ขยับมาสู่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนชั้นกลางในเมืองเห็นได้ชัดเจนจากมาตรการด้านภาษี ได้แก่ การคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยเริ่มต้นที่ 100,000 บาท จากเดิม 80,000 บาท หักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดามารดาเพิ่มขึ้นจาก 15,000 เป็น 30,000 บาท ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการขนาดย่อมลง 5% กำหนดกิจการที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจากกิจการที่มีรายได้ 1.2 ล้านเป็น 1.8 ล้านบาท ยกเลิกเก็บภาษีจากดอกเบี้ยในส่วนที่ไม่เกินปีละไม่เกิน 30,000 บาท

นอกจากนี้ยังมีการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการในระดับ 1-7 เพิ่มขึ้น 3% ปรับขั้นเงินเดือนอีกคนละ 2 ขั้น ส่วนข้าราชการระดับ 8 ถึง 11 ในส่วนผู้บริหารและประเภทเชี่ยวชาญวิชาชีพเฉพาะ วิชาการ ก็จะได้รับเงินประจำตำแหน่งเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว ส่วนระดับ 8 และ 8 ว จะได้รับเงินเพิ่มอีกคนละ 3,500 บาท

ทั้งนี้มีข้อมูลวิชาการและความเห็นของนักวิชาการจำนวนมากที่ระบุว่า ที่ผ่านมานโยบายประชานิยมไม่ได้แก้ปัญหาความยากจน สร้างความเท่าเทียมกันในสังคม เพราะปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่ทำให้คนจน คนด้อยโอกาสในสังคมไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นฐานชีวิต ทรัพยากรที่ดินยังกระจุกตัวในกลุ่มผู้มีรายได้สูง โครงสร้างภาษีที่ไม่ทำให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกันในสังคม เพราะไม่มีการการเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ขณะที่การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รับชั่นในวงราชการก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง

ดังนั้นรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ไม่ได้ใช้นโยบายประชานิยมเพื่อแก้ปัญหาความยากจน แต่ใช้เพื่อให้ประชาชนรู้สึกพอใจกับการได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐบาลไทยรักไทย อันจะนำไปสู่การรักษาอำนาจทางการเมืองต่อไป

ผู้นำชุมชน นักต่อสู้สิทธิมนุษยชนถูกลอบสังหาร

รอบปีที่ผ่านมามีการลอบสังหารผู้นำชุมชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และสิทธิชุมชน ร วมจนถึงนักสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น 4 ราย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคดีฮือฮาและก่อให้เกิดคำถามแก่ผู้คนจำนวนมาก เพราะทั้งหมดไม่เคยมีปัญหากับใคร และยังเป็นบุคคลที่เสียสละ อุทิศตัวอย่างเต็มที่ในการทำงานเพื่อส่วนรวม ได้แก่ 1.สมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม 2. เจริญ วัดอักษร ประธานกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ กรณีต่อสู้โรงไฟฟ้า และที่ดินสาธารณะ 3.สุพล ศิริจันทร์ แกนนำเครือข่ายป่าชุมชนแม่มอก จ.ลำปาง 4.พักตร์วิภา เฉลิมกลิ่น รองประธานชุมชนบ้านหัวกระบือ ต.ป่าโมก จ.อ่างทอง

เป็นที่น่าสังเกตว่าเฉพาะในรัฐบาลทักษิณ ผู้นำชุมชน นักต่อสู้เพื่อชุมชน นักสิทธิมนุษยชนเสียชีวิต และสูญหายไปเป็นจำนวนถึง 18 ราย (รวมอีก 4 ราย) ในปี 2547 ดังนี้ 1.จุรินทร์ ราชพล ชาวประมงพื้นบ้านป่าคลอก จ.ภูเก็ต 2.นรินทร์ โพธิ์แดง ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเขาชะอางกลางทุ่ง จ.ระยอง 3.พิทักษ์ โตนวุธ บ้านชมภู จ.พิษณุโลก 4.ฉวีวรรณ ปึกสูงเนิน ต.นากลาง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา 5.สุวัฒน์ วงศ์ปิยะสถิตย์ ผู้นำคัดค้านบ่อขยะราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ 6.สมพร ชนะพล ประธานกลุ่มนอนุรักษ์คลองกะแตะ จ.สุราษฎร์ธานี 7.แก้ว ปินปันมา แกนนำกรณีปัญหาที่ดิน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ต.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ 8.บุญสม (วีระ) นิ่มน้อย คณะกรรมการชมรมอนุรักษ์ทะเล อ.บ้านแหลม อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี

9.ปรีชา ทองแป้น แกนนำอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต.ควนกรด อ.ทุ่งสง จ.นรศรีธรรมราช 10.บุญฤทธิ์ ชาญณรงค์ ชาวบ้านอ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี 11.บุญยงค์ อินต๊ะวงศ์ แกนนำคัดค้านโรงโม่หินแม่ออกรู ต.ผางาม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย 12.คำปัน สุกใส รองประธานเครือข่ายป่าชุมชนลุ่มน้ำปิงตอนบน 13.ชวน ชำนาญกิจ แกนนำชุมชนต่อต้านยาเสพติด อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช 14.สำเนา ศรีสงคราม ประธานชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมน้ำพอง 15.สมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม 16.เจริญ วัดอักษร ประธานกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก 17.สุพล ศิริจันทร์ แกนนำเครือข่ายป่าชุมชนแม่มอก จ.ลำปาง 18.พักตร์วิภา เฉลิมกลิ่น รองประธานชุมชนบ้านหัวกระบือ ต.ป่าโมก จ.อ่างทอง

นิคมอุตสาหกรรมเชียงแสน

โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและสถานีขนถ่ายสินค้า (ICD) จ.เชียงราย เป็นโครงการนำร่องที่จัดทำขึ้นในลักษณะเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เพื่อเปิดประตูการค้า การลงทุนระหว่างจีนตอนใต้กับอินโดจีน เอเซียใต้ และอาเซียน ซึ่งเป็นหนึ่งในความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

โครงการนี้เป็นผลจาก ค.ร.ม.มีมติเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2546 ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและสถานีขนถ่ายสินค้า (ICD) จ.เชียงราย ต่อมา กนอ.ได้พิจารณาเลือกพื้นที่ดำเนินการบริเวณบ้านศรีบุญยืน ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน ในเนื้อที่ 3,162 ไร่ พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นทุ่งนาและถือได้ว่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญที่สุดของ อ.เชียงแสน แต่เมื่อมีกระแสคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่เพราะเกรงผลกระทบที่จะมีต่อพื้นที่เกษตรกรรม และแหล่งโบราณสถาน จนถึงปัญหาการใช้น้ำ ปัญหามลพิษ คณะทำงานที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานจึงเสนอย้ายมาบริเวณบ้านทุ่งสามหมอน เขต ต.สถาน และ ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ

ปัจจุบันยังไม่มีข้อยุติว่าจะลงเอยที่ไหน แต่มีแนวโน้มที่นักลงทุนจีนและไทยจะผลักดันนิคมฯ ให้เกิดขึ้นในเขตดังกล่าว เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาเหลี่ยมเศรษฐกิจ

ซีฟู้ดแบ๊งค์ แปลงสินทรัพย์ในทะเล

รัฐบาลทักษิณเห็นชอบโครงการ Sea food bank ภายใต้นโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนเมื่อเดือนม.ค.2547 ข่าวนี้เป็นข่าวไม่ใหญ่ แต่ก็นับว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อชุมชนประมงพื้นบ้าน และทรัพยากรในท้องทะเล จากเดิมที่ทะเลเคยเป็นสมบัติสาธารณะ ไม่มีบุคคลใดยึดถือครอบครองได้ แต่แนวคิดดังกล่าวกำลังทำให้ทรัพยากรทางทะเลกลายเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล

ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบรังวัดพื้นที่และเตรียมออกเอกสารสิทธิให้แก่ประชาชน ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2548-2552 กันยายน 2547 รัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 500 ล้านบาท พื้นที่จัดสรรจำนวน 284,492 ไร่ ประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือพื้นที่ทางทะเลที่เคยเป็นสมบัติสาธารณะ ในอนาคตอาจจะตกเป็นของกลุ่มทุนใหญ่ได้ เพราะการแก้ปัญหาความยากจนโดยการออกเอกสารสิทธิให้แก่ชาวประมงพื้นบ้านที่อยู่ในฐานะยากจน อยู่ในวงจรหนี้สิน มีแนวโน้มสูงว่าจะทำที่ทะเลสามารถหลุดมือได้

เลือกปฏิบัติจับชาวเขาเชียงดาว

การจับกุมชาวเขาที่อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่แบบเหวี่ยงแหจำนวน 56 ราย เคยเป็นข่าวฮือฮาเมื่อปี 2541 เกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมอีกในปีนี้ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผานมา ครั้งนี้มีการจับกุมชาวเขาทั้งสิ้น 48 ราย ประกอบด้วยชาวเขาเผ่ามูเซอ ลีซอ และปะหล่อง ที่สถานที่แห่งเดิมคือบ้านปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนยืนยันว่าการจับกุมชาวเขาครั้งนี้ก็ไม่ต่างจากครั้งก่อน คือเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะในบริเวณดังกล่าวมีกลุ่มนายทุนที่บุกรุกป่า และตัดไม้กันอย่างหนัก แต่ไม่มีการจับกุม ดำเนินคดี และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเพราะจับกุมชาวบ้านโดยไม่มีหมายค้น ขณะกำลังพักผ่อนหลับนอน และบางคนก็เป็นหญิงท้องแก่ และพิการ แม้จะอ้างข้อกฎหมายว่าชาวบ้านอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวกำลังเตรียมการปฏิรูปที่ดิน

ชาวบ้านปางแดงมีข้อเสนอให้ภาครัฐกันแนวเขตพื้นที่ทั้งที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้มีความชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหา แต่ข้อเสนอเหล่านี้ไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันสภาทนายความประกันตัวชาวบ้านทั้ง 48 รายออกมาแล้ว อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาล แต่ชาวบ้านก็หวาดผวากลัวเจ้าหน้าที่จะมาจับกุมอีก.

ไล่คนออกจากป่าที่ห้วยวาด

ข่าวกรอบเล็ก ๆ ในหนังสือพิมพ์บางฉบับ กรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท พร้อมด้วยส่วนราชการจ.ลำปางอพยพชาวเขาเผ่ามูเซอจำนวน 4 หย่อมบ้าน คือบ้านแม่เมา บ้านแม่ต๊ำ บ้านห้วยริน และบ้านแม่ปอย ต.ทุ่งผึ้ง อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง จำนวน 85 ครอบครัว 361 คนออกจากอุทยานฯ โดยการอพยพฯ ดังกล่าวทางการอ้างเหตุผลว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตป่าต้นน้ำ ทั้งยังเป็นแหล่งพักยาเสพติด ดังนั้นจำเป็นต้องย้ายชาวบ้านออกเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามนโยบายรัฐบาล

การไล่ชาวบ้านออกจากป่าเช่นที่ห้วยวาดนี้เคยเกิดขึ้นมาหลายครั้ง ด้วยแนวคิดที่ว่า "คนไม่สามารถอยู่ร่วมกับป่า" ได้ ปัญหาสำคัญของการอพยพชาวบ้านออกจากป่าคือ ไม่มีการเตรียมการรองรับ เช่นที่ห้วยวาดอพยพมาอยู่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนวังบริเวณบ้านห้วยวาด ต.ทุ่งผึ้ง อ.แจ้ห่ม ในพื้นที่ 680 ไร่ แต่พื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นหินและดินลูกรัง ไม่สามารถใช้ทำการเกษตรได้ จนเป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องไปหาพื้นที่ทำกินที่เหมาะสมนอกเขตพื้นที่ที่กำหนดแต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ห้ามปราม

สภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านปัจจุบันเป็นไปแบบอดๆอยากๆ ทั้งไม่สามารถออกไปทำงานรับจ้างนอกพื้นที่ได้เพราะไม่มีบัตรประชาชน ขณะที่คำมั่นสัญญาจากทางอำเภอเรื่องการให้สัญชาตินั้น ผ่านมากว่า 1 ปียังไม่มีความคืบหน้า

และนี่ถือเป็นผลงานที่น่าเศร้าใจอีกชิ้นหนึ่งที่หน่วยงานภาครัฐมอบแด่ประชาชน !

สิทธิเสรีภาพสื่อ

รอบปีที่ผ่านมามีสถานการณ์ที่ย่ำแย่ของสื่อสารมวลชนทั้งสื่อกระแสหลัก และสื่อทางเลือกในหลาย ๆ ด้าน ทั้งเรื่องคนทำงานปฏิรูปสื่อถูกคุกคามจากบริษัทยักษ์ใหญ่ การที่รัฐบาล แทรกแซงสื่อใหญ่ จนถึงสื่อเล็ก ๆ เช่น วิทยุชุมชน การผูกขาดสื่อโดยกลุ่มทุนใหญ่ จนถึงความไม่คืบหน้าในการตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.)

ประเด็นที่ฮือฮาที่สุดคงไม่พ้นคดีที่บริษัท ชินคอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ฟ้องหมิ่นประมาทเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ สุภิญญา กลางณรงค์ ทั้งคดีอาญา และคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายถึง 400 ล้านบาท และฟ้องหมิ่นประมาท น.ส.พ.ไทยโพสต์ กรณีกล่าวพาดพิงว่าบริษัทชินคอร์ปฯ มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับรัฐบาล

กรณีรัฐบาลแทรกแซงสื่อกระแสหลัก เช่น กรณีเหตุการณ์ที่ตากใบ พบว่าข่าวสารที่ออกมาในสื่อกระแสหลักไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ ในช่วงแรก ๆ นำเสนอข่าวสารที่มาจากการแถลงของรัฐบาลเสียเป็นส่วนใหญ่ ข้อเท็จจริงจากคนในพื้นที่เลือนลาง เป็นต้น ทั้งนี้เพราะรัฐบาลอ้างเหตุผลในเรื่องความมั่นคงของชาติมาควบคุมการนำเสนอข่าวสารของสื่อ

ส่วนในระดับพื้นที่ วิทยุชุมชนเจอสถานการณ์บีบคั้นอย่างหนักเนื่องจากในช่วงภาวะสูญญากาศที่ กสช.ยังไม่เกิด กรมประชาสัมพันธ์อ้างภาวะดังกล่าวบีบบังคับให้วิทยุชุมชนต้องมาขึ้นทะเบียนกับกรมประชาสัมพันธ์ หากวิทยุชุมชนใดไม่ขึ้นทะเบียนจะถูกดำเนินการจับกุม เป็นต้น ส่วนการแต่งตั้งกรรมการสรรหา กสช.ก็ยังคงมีการแทรกแซงจากกลุ่มธุรกิจอยู่เช่นเดิมแม้ว่าจะมีการฟ้องศาลปกครองไปแล้วก็ตาม

ขณะเดียวกันสถานีโทรทัศน์ก็มีการแปรรูป โดย สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.มีการนำร่องเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เป็นแห่งแรก ช่อง 5 และ 11 ก็จะตามมาในอนาคต คงต้องติดตามกันต่อไปว่าอนาคตสื่อจะเป็นเช่นไรเมื่อเข้าตลาดหุ้น โดยเฉพาะสื่อ ทีวีที่ถือว่าทรงอิทธิพลที่สุดในเวลานี้.

........................................................

สำนักข่าวประชาธรรม
77/1 ม.5 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
โทร.053-810779,09-759-9705
Email : newspnn@hotmail.com

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net