ผู้ป่วยทางจิตหลังเหตุซึนามิพุ่ง1.4 พัน

----------------------------------------------------

ประชาไท-4 ม.ค.48 "ช่วงนี้คนป่วยจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะในช่วงแรกที่เกิดเหตุ เขาก็ยังกังวลในเรื่องความเป็นอยู่ ในเรื่องการตามหาญาติ หรือการจัดทำศพ แต่พอเจอแล้ว และจัดการทุกอย่างเสร็จ คราวนี้ก็จะเริ่มคิดถึงตัวเองว่าจะทำอย่างไรต่อไป ความเป็นอยู่จะเป็นเช่นไร หรือจะทำมาหากินอะไร ซึ่งถ้าเป็นไม่มาก เราก็จะให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำตามปกติ แต่ถ้ามีอาการหนักมาก ก็จะส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จ.สุราษฎร์ธานี ต่อไป" น.พ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุ

ทั้งนี้ น.พ.มล.สมชาย กล่าวว่า จนถึงขณะนี้มีผู้เข้ามาขอรับการปรึกษาแล้วกว่า 1,400 คน โดยใน
ช่วง 2-3 วันหลังที่ผ่านมานี้ จำนวนตัวเลขได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ส่วนใหญ่มีปัญหาทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ซึ่งในส่วนของกรมสุขภาพจิตเอง ก็จะได้ให้ทีมแพทย์ดูแลอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ไปจนถึงสิ้นเดือน ม.ค.ศกนี้

นอกจากนั้นทางกรม ได้จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ บริเวณ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เพื่อช่วย เหลือในทุกๆ เรื่อง รวมถึงตั้งทีมนักจิตวิทยา จิตแพทย์ และนักสังคมสงเคราะห์ หมุนเวียนลงไปดูแลอย่างต่อเนื่อง

"แต่ส่วนที่สำคัญคงจะอยู่ที่อาสาสมัคร(อสม.) เพราะเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับชาวบ้านมากที่สุด ซึ่งในวันที่ 8-9 ม.ค.นี้ กรมสุขภาพจิตก็จะได้จัดอบรมให้กับอสม. เพื่อทราบถึงวิธีการในการพูดคุยและให้คำแนะนำกับผู้ประสบภัยต่อไป" อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เป็นห่วงขณะนี้พบว่า อสม.หลายรายมีความเครียด ซึ่งก็ได้เตือนไปว่า ควรต้องจำกัดบทบาทหน้าที่ของตนเองว่าจะลงไปทำอะไร และกำหนดเงื่อนเวลาการทำงานเอาไว้ เช่น ทำงานในพื้นที่ 7 วัน แล้วกลับไปพักผ่อน ไม่ใช่บอกว่าจะอยู่ช่วยเหลือไปจนเก็บศพสุดท้ายเสร็จสิ้น เพราะไม่เช่นนั้นก็จะยิ่งก่อให้เกิดความเครียดได้

ส่วนปัญหาเรื่องของเด็กนั้น ในวันที่ 6-7 ม.ค.นี้ กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับกรมสุขภาพจิต จัดอบรมผู้ปกครองและครูในโรงเรียนที่ประสบภัยพิบัติ ซึ่งคาดว่ามีแห่งละประมาณ 60-70 คน โดยจะสอนวิธีการสังเกตอาการและให้คำปรึกษาช่วยเหลือเด็กๆ รวมถึงให้หมั่นพูดคุยกันบ่อยๆ ด้วย

"ในส่วนของแผนระยะยาว จะร่วมมือกับองค์การยูนิเซฟ(UNICEF) เพื่อประเมินเด็กที่ได้รับผล กระทบว่ามีมากน้อยเท่าไร ซึ่งเบื้องต้นก็คาดว่าน่าจะมีเยอะพอสมควร โดยทางยูนิเซฟจะส่งคนมาช่วยดูแลในระยะยาว ประมาณ 5-10 ปีขึ้นไป หรืออาจจนถึงตอนโตเลยก็ได้ ทั้งนี้เพราะจากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า เด็กที่ต้องประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้ อาจจะมีการจำฝังใจ แต่คิดว่าเด็กไทยคงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะไม่เหมือนฝรั่งที่พอพ่อแม่ตาย เด็กคนนั้นก็จะไม่เหลือใครเลย แต่คนไทยยังมีญาติพี่น้องที่เต็มใจรับเลี้ยงดูและอุปการะ" น.พ.มล.สมชาย กล่าว

น.พ.มล.สมชาย กล่าวว่า ส่วนการทำงานของจิตแพทย์ จะสับเปลี่ยนกันไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง ทั้งขณะนี้ได้รับติดต่อจากอาจารย์จุฬาฯ ที่จะขอลงดูแลในพื้นที่กิ่ง อ.สุขสำราญ จ.ระนอง ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่แบ่งกันรับผิดชอบไป

ส่วนหน่วยงานอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลศิริราช ก็มีการประสานกันอยู่ แต่ยังไม่ได้มีการระบุพื้นที่ลงไปชัดเจน คาดว่าจะสามารถระบุได้ภายในเร็วๆ นี้

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท