เมื่อปลาจะกินดาว 4

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

"...น้ำท่วมฟ้า ปลาจะกินดาว" เป็นคำโบราณที่บอกเล่าถึงเหตุอาเพท เมื่อวันหนึ่งที่ระบบนิเวศถูกทำลาย สิ่งที่ไม่คาดคิดก็อาจจะเกิดขึ้น วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม เล่าถึงที่มาของชื่อหนังสือ

เมื่อปลาจะกินดาว เป็นรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมประจำปี ที่กรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อมสนับสนุนให้ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมจัดทำขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2544 โดยผ่านมุมมองของสื่อมวลชนสายสิ่งแวดล้อมทั้งจากส่วนกลางและภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งเป็นผู้ติดตามความเคลื่อนไหวสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

"เมื่อปลาจะกินดาว 4" ได้รวบรวมรายงานด้านสิ่งแวดล้อม 10 เรื่อง ในปี 2547 ของ 10 นักเขียน ที่ฉายให้เห็นถึงการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐและองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ ที่มีทั้งผลสำเร็จและล้มเหลว ทั้งในประเด็นปัญหาเก่าที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และประเด็นในเชิงนโยบายใหม่ๆที่คาดว่าจะเป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต
...............................................
กุลธิดา สามะพุทธิ ผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ได้มีส่วนร่วมในการทำหนังสือเมื่อปลาจะกินดาว มาตั้งแต่เล่มที่หนึ่ง และว่างเว้นไปในเล่มที่สาม โดยกลับมาอีกครั้งในบทบาทของบรรณาธิการในเล่มที่สี่ เพื่อโอกาสในการพัฒนาฝีมือการเขียน

ปกรูปผีเสื้อ ของหนังสือเมื่อปลาจะกินดาว 4 บรรณาธิการสาวอธิบายว่า ... ผีเสื้อ เป็นตัวแทนของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เพราะทุกสิ่งมีความสัมพันธ์กัน เมื่อสิ่งมีชีวิตเล็กๆรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงเมื่อนั้นมนุษย์ควรต้องตระหนัก

สำหรับในปีนี้ กุลธิดา กล่าวไว้ในบทบรรณาธิการว่า " ปี 2547 นับเป็นปีที่ "น่าตื่นเต้น" อีกปีหนึ่งสำหรับผู้สื่อข่าว เนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญมากมายเกิดขึ้นให้พวกเราได้ติดตามรายงานข่าว นับตั้งแต่ ไข้หวัดนกระบาด การประชุมเอดส์โลก ไปจนกระทั่งถึงเหตุความรุนแรงในภาคใต้ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่ยึดครองพื้นที่ในหนังสือพิมพ์ และเวลาออกอากาศของข่าววิทยุและโทรทัศน์มายาวนานตลอดปี
...สำหรับนักข่าวสายสิ่งแวดล้อม ปี 2547 เป็นทั้งปีที่มีสีสัน ปีแห่งความสูญเสีย และปีแห่งการเรียนรู้
...เมื่อปลาจะกินดาว 4 จึงเป็นเวทีที่มีความหมายยิ่งสำหรับนักข่าวสิ่งแวดล้อมกลุ่มหนึ่งที่จะได้มีโอกาสทำงานเขียน โดยผ่านการสำรวจถึงความเชื่อมโยง วิเคราะห์ทบทวนประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ตนจะเขียนอย่างรอบด้าน ต่างกับการทำข่าวรายวันที่ความเร่งรีบทำให้เราแทบไม่มีเวลาได้ "ต่อจิ๊กซอร์" เหล่านี้เข้าด้วยกัน..."
...............................................
10 สถานการณ์สิ่งแวดล้อมในรอบปี 2547

เส้นทางลัดสู่ภาคใต้ : เพื่อใคร ?
"...ถ้าเรานึกภาพโค้งอ่าวไทยตอนในตั้งแต่ หัวหิน ชะอำ ไล่ขึ้นมาตามแนวชายฝั่งจังหวัดเพชรบุรี ขึ้นไปจนบริเวณปากแม่น้ำแม่กลอง สมุทรสาคร เรื่อยไปตามโค้งอ่าวจังหวัดสมุทรปราการ ลงไปจนชลบุรี บางแสน พัทยา จะเห็นเป็นภาพตัว ก สวยงาม ตรงหยักแหลมๆของตัว ก นั่นเอง คือจุดที่สะพานจะพาดผ่าน
...ทุกฤดูหนาว นกอพยพเรือนแสนจะบินมาชุมนุมกันบริเวณอ่าวไทยตอนใน ไล่มาตั้งแต่สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณแหลมผักเบี้ย ซึ่งเป็นแหลมทรายยื่นยาวออกไปในทะเลประมาณ 2 กม. เป็นเหมือนแดนสวรรค์ของนักดูนกเลยทีเดียว ..." เกสร สิทธินิ้ว นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสารสารคดี

.................................................
สัญญาณอันตรายจาก "ไข้หวัดนก"
"...ภาพไก่และเป็ดกว่าสองร้อยตัวที่เขาตัดสินใจตีให้ตายและฝังลงหลุมด้วยมือตนเอง ยังแจ่มชัดอยู่ในความทรงจำของ ดิสทัต โรจนาลักษณ์ เกษตรกรแห่งศูนย์สาธิตเกษตรอินทรีย์ สวนดวงตะวัน เขตหนองจอก กรุงเทพฯ
...ภาพไก่ที่ตายเป็นเบือ ทั้งที่ป่วยตายและถูกเขาฆ่าทั้งเป็นทำให้ดิสทัตตั้งปณิธานว่า จะไม่กินไก่และเลี้ยงไก่อีกเลยตลอดชีวิต เพราะไม่ต้องการเบียดเบียนสัตว์อีก ปิดฉากตำนานการเลี้ยงไก่แบบอินทรีย์ของสวนดวงตะวัน ซึ่งส่งไข่ไก่ปลอดสารพิษไปขายทั่วกรุงเทพฯ มากว่า 5 ปี..." อัญชิสา วจีเศรษฐ์ นักจัดรายการวิทยุ สำนักข่าวไทย

..................................................
อาหารปลอดภัย : ภัยที่ซ่อนเร้น
"...หลังจากรัฐบาลประกาศให้ปี พ.ศ.2547 เป็นปีแห่งอาหารปลอดภัย หรือ Food Safety Year โดยมุ่งหวังให้ประชาชนในประเทศได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ ปราศจากเชื้อโรค สิ่งเจือปนและสารเคมี อีกทั้งยังประกาศให้ประเทศไทยเป็น "ครัวของโลก" เพื่อส่งผลผลิตจากภาคเกษตรเข้าสู่ตลาดโลก โดยคาดว่าจะนำรายได้เข้าประเทศถึง 1 ล้านล้านบาทภายในปี พ.ศ.2549
...ทุกวันนี้คุณแน่ใจหรือว่า ผัดคะน้าหมูกรอบ ผักสดแกล้มลาบ -ส้มตำ ผัดผักบุ้งจีน ข้าวสวยจานร้อน หรือผลไม้แสนหวานที่กินเข้าไปนั้นจะไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตคุณ...สมพร แสงธรรม เกษตรกรวัย 40 ต้นๆแห่งหมู่บ้านโนนเหล็ก อ.เมือง จ.อุทัยธานี ไม่กล้ากินข้าวที่ตัวเองปลูกและไม่กล้าเด็ดยอดผักบุ้งรอบๆที่นามาทำกับข้าว แต่เลือกจะเสียเงินซื้อผักซื้อข้าวจากหมู่บ้านอื่นมากินแทน..." ปองพล สารสมัคร ผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

....................................................
Water Grid โครงข่ายส่งน้ำ ขจัดคนจน/ความจน
"...ภัยแล้ง ยังคงเป็นปัญหาที่ถูกระบุว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกษตรกรไทยต้องประสบกับภาวะยากจน และในระยะหลังมานี้ ปัญหาความแห้งแล้ง โดยเฉพาะในภาคอีสานดูเหมือนจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในความรับรู้ของคนไทย...และเมื่อฤดูแล้งผ่านไป เข้าสู่ฤดูฝน อุทกภัยที่เกิดขึ้นซ้ำซากอยู่ทุกปีก็สร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรอย่างหนักไม่แพ้ภัยแล้ง
...น้ำจากท่อ จึงถือเป็น "ของดี" ที่พวกเขาเฝ้ารอด้วยความหวังว่าจะช่วยให้พวกเขาทำเกษตรได้ตลอดทั้งปี..." อมฤต สุวรรณเกต โปรดิวเซอร์ รายการไทยแลนด์เอาท์ลุคแชนแนล

.....................................................
ปรับโฉมใหม่ อีไอเอ (EIA) ...กู้ศรัทธาที่หายไป
"...สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่เริ่มต้นทำอีไอเอในพ.ศ.2512 ส่วนประเทศไทยเริ่มมีการกล่าวถึงการทำอีไอเออย่างจริงจังเป็นครั้งแรก เมื่อมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2518 ซึ่งกำหนดประเภทและขนาดโครงการที่ต้องจัดทำอีไอเอไว้ 22 โครงการ เช่น เหมืองแร่ทุกขนาด สนามบินพาณิชย์ทุกขนาด และการจัดสรรที่ดินตั้งแต่ 500 แปลงขึ้นไป เป็นต้น
...นักวิชาการและนักสิ่งแวดล้อมหลายคนอธิบายว่ากฎหมายฉบับนี้ได้ทำให้อีไอเอเป็น "ใบผ่านทางขั้นสุดท้าย" ก่อนจะดำเนินโครงการ..." นิวัฒน์ รุจิรเศรษฐกุล อดีตผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

..................................................
20 ปี อีสเทิร์นซีบอร์ด กับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม
"…ทะเลตะวันออก...มนต์เสน่ห์ที่เคยตราตรึงใจผู้มาเยือน แต่หลังการเข้ามาของโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard สภาพแวดล้อมที่เคยงดงามตามธรรมชาติ...เปลี่ยนไป
...ชุมชนชาวประมงริมทะเล ป่าชายเลน สวนมะพร้าว เรือกสวนไร่นา สัตว์น้ำชายฝั่ง ที่เคยปรากฏตัวท้าทายกระแสลมและเกลียวคลื่น กลายเป็นโรงงานน้อยใหญ่เรียงรายสุดลูกหูลูกตา..." สมพล ยศฐาศักดิ์ บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ศรีราชา

.........................................................
ภูมิปัญญาที่หายไปใน "พื้นที่สามน้ำ"
"...จากทะเลขึ้นมาสู่ผืนดินของลุ่มน้ำแม่กลองจะพบลำคลองถึง 356 สาย นอกจากนั้นยังมีลำน้ำที่ชาวบ้านเรียกขานไปตามลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น แพรก ลำราง ลำประโดง ลำน้ำเหล่านี้ซอยแยกออกจากคลองเข้าสู่สวน และป่าชายเลนอีกนับพันสาย เป็นเครือข่ายทางน้ำที่ละเอียดซับซ้อนเหมือนใยแมงมุม...
"...ไม่ว่าจะทำมาหากินอะไร ชาวบ้านต้องนึกถึงฤดูกาลของน้ำทั้งสิ้น การจะพักทำน้ำตาลมะพร้าว ลงฝักโกงกาง เริ่มกลิ้งนาเตรียมนาเกลือ ดันน้ำเข้านากุ้ง พักนากุ้งสาดเลนขึ้นจากร่องหรือขานา(คันนา) หรือจะหยุดพักนำเรือประมงขึ้นคานเพื่อตอกหมันปิดชันทาสีเรือใหม่" สุรจิต กล่าว
...จากคำบอกเล่าของสุรจิต เราอาจสรุปได้ว่า การมองธรรมชาติพื้นที่สามน้ำแบบเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์เป็นระบบ และการรู้จักน้ำและลมนั้นเป็นหัวใจและพื้นฐานสำคัญของภูมิปัญญาที่มีมาช้านานของชาวแม่กลอง..." แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา อดีตผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

..........................................................
"ฟอสซิล" อ่านจารึกธรรมชาติ เรียนรู้ระบบนิเวศที่ผนึกไว้ในกาลเวลา
"… "ซากหอย" จำนวนมหาศาลที่ทับถมกันจนเป็นสีขาวโพลนเบื้องหน้า ทั้งขนาดเล็กราวครึ่งซ.ม. และใหญ่สุด 2.5 ซ.ม. สร้างความตื่นตะลึงให้แก่ผู้พบเห็น โดยเฉพาะเมื่อได้รู้ว่าหอยขมน้ำจืดเหล่านี้อายุถึง 13 ล้านปี และเป็นสุสานหอยน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
...จากที่ได้สัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่า ฟอลซิลหอยขมน้ำจืดครั้งนั้น ทำให้ผู้เขียนเกิดจินตนาการนึกย้อนกลับไปในอดีตว่า พื้นที่แห่งนี้คงเคยเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับกาลเวลา สิ่งแวดล้อมและสภาพในอดีตก็กลายเป็นอีกสถานะหนึ่งอย่างสิ้นเชิง..." จันทร์จิรา พงษ์ราย ผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

............................................................
เรื่องจริงหลังคำพิพากษาของ "ผู้ลี้ภัยใต้ร่มป่า"
"… "คดีไม้สาละวิน" กับ "ผู้อพยพชาวพม่า" กลายเป็นของคู่กันเนื่องจากการสอบสวนในครั้งนั้น ได้ข้อสรุปว่าขบวนการลักลอบตัดไม้สาละวินเป็นการร่วมมือกันของนายทุน และข้าราชการในพื้นที่ซึ่งได้ว่าจ้างผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบชาวพม่า ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่กองคา-ศาลา ในเขตอุทยานแห่งชาติสาละวิน เป็นแรงงานตัดไม่เถื่อน แล้วล่องลงแม่น้ำสาละวินไปฝั่งพม่า ก่อนจะนำกลับมาขึ้นที่ฝั่งไทย เพื่อให้ดูเหมือนว่าเป็นไม้ที่นำเข้าจากประเทศพม่า หรือที่เรียกกันว่า "ไม้ไทยนุ่งโสร่ง"
...ฉันจึงตัดสินใจเดินทางไปเยือนพื้นที่ป่าตามแนวชายแดนด้านตะวันตก อันเป็นแหล่งพักพิงของผู้หลบหนีภัยฯชาวพม่านับแสนคนโดยเฉพาะพื้นที่ป่าสาละวิน เพื่อหาข้อมูลจากปากผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าสักอันอุดมสมบูรณ์ที่สุดของผืนป่าตะวันตก..." สุพัตรา ศรีปัจฉิม นักเขียนประจะกองบรรณาธิการ นิตยสารโลกสีเขียว

..............................................................
เขื่อนสาละวิน : ฝันยิ่งใหญ่ของนักสร้างเขื่อน, ฝันร้ายของสายน้ำ
"...ไม่ว่าแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับสองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากแม่น้ำโขงสายนี้ จะรอดพ้นจากการถูกระเบิด ปรับสภาพและปิดกั้นด้วยแท่งคอนกรีตขนาดมหึมาเหมือนแม่น้ำสายอื่นๆที่ถูกพันธนาการไปก่อนหน้านี้หรือไม่
...สิ่งที่ผู้เขียน ซึ่งเป็นนักข่าวที่ทำงานอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียงพอจะทำได้ก็คือ "บันทึก" เรื่องราวของแม่น้ำสาละวินซึ่งเป็นแม่น้ำเพียงไม่กี่สายในโลก ที่ยังคงรอดพ้นจากเขื่อนขนาดใหญ่และยังไหลได้อย่างอิสระนี้เอาไว้ รวมทั้งถ่ายทอดความคิดเห็นของคนเล็กๆ ที่เกี่ยวพันกับแม่น้ำสาละวิน ว่าเขารู้จัก รู้สึกและมีความคิดอย่างไรต่ออภิมหาโครงการเขื่อนสาละวิน ..." ฐิติวัฒน์ เดชาวัฒนกุล ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไอทีวี จังหวัดแม่ฮ่องสอน

........................................................
" ...แม้ว่ารายงานทั้ง 10 เรื่องใน "เมื่อปลาจะกินดาว 4" นี้จะไม่ได้เป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ "ฮ็อต" ที่สุดในรอบปี แต่ทุกเรื่องต่างก็มีความสำคัญในตัวเองและล้วนเป็นเรื่องที่ "ยังไม่จบ" หนังสือเล่มนี้จึงไม่เพียงนำเสนอประเด็นสิ่งแวดล้อมในรอบปีเท่านั้น แต่ยังเป็น "ตัวช่วย" ให้ผู้อ่านได้รู้ถึงที่มาที่ไปของเรื่องราว ซึ่งคาดว่าจะสุกงอมกลายเป็นประเด็นใหญ่ขึ้นมาในอนาคต" กุลธิดา สามะพุทธิ ธันวาคม 2547

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท