สำรวจชะตากรรม "คนชายขอบ" จากหายนะภัยซึนามิ

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจดูแลนักท่องเที่ยว ซึ่งดำเนินไปพร้อมๆ กับระดมออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจ ที่ประสบภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์ "ซึนามิ"

การดูแลผู้ประสบหายนะจากมหาภัยลำดับถัดมา ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการให้ความช่วยเหลืออยู่ในขณะนี้ ก็คือ คนท้องถิ่นในจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่า คนท้องถิ่นที่ได้ประสบภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์ ใน 6 จังหวัดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นชาวประมงพื้นบ้านแทบทั้งสิ้น และเกือบทั้งหมดเป็นชาวมุสลิม

ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าที่คนเหล่านี้ต้องการ ก็คือ ที่อยู่อาศัย รวมทั้งเครื่องมือทำกิน ตั้งแต่เครื่องมือทำประมง เรือประมง และเครื่องเรือ

จากการสำรวจเบื้องต้นของ "คณะทำงานฟื้นฟูพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้" ซึ่งประกอบส่วนขึ้นมาจากคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้, สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, โครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ : ดับบ้านดับเมือง เรียนรู้อยู่ดีที่ปากใต้ และสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ พบตัวเลขความเสียหาย ซึ่งไม่รวมตัวเลขของบ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ดังนี้…

จำนวนชาวประมงพื้นบ้านที่ประสบภัยพิบัติ 122 หมู่บ้าน ประมาณ 1,863 ครอบครัว มูลค่าความเสียหายเฉลี่ยครอบครัวละ 25,000 บาท รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 46,575,000 บาท

จำนวนเรือประมงและเครื่องเรือเสียหายประมาณ 2,291 ลำ มูลค่าความเสียหายเฉลี่ยลำละ 20,000 บาท รวมมูลค้าความเสียหายประมาณ 45,820,000 บาท

ประมาณการมูลค่าความเสียหาย 92,395000 บาท

ตัวเลขทั้งหมดนี้ ยังไม่นับรวมความเสียหายของเครื่องมือทำประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง และความเสียหายอื่นๆ

รวมทั้ง ยังไม่นับรวมความเสียหายที่บ้านน้ำเค็ม ซึ่งเป็นจุดที่คนท้องถิ่นได้รับความเสียหายสูงสุด ทั้งในแง่ปริมาณคน และมูลค่าความเสียหายโดยรวม

ประเด็นที่น่าเป็นห่วง ก็คือ บรรดาชาวประมงพื้นบ้านเหล่านี้ มีจำนวนไม่น้อยเป็นคนไร้ที่ดินอยู่อาศัย ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ในที่ดินของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ที่รัฐประกาศทับลงไปในที่อยู่อาศัยซึ่งอยู่มาแต่ดั้งเดิม, อาศัยอยู่ในที่ดินสาธารณะ, อาศัยอยู่ในที่ดินราชพัสดุ ไปจนถึงอยู่ในที่ดินของเอกชน

สร้าวความกระอักกระอ่วนให้กับหน่วยงานของรัฐที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือ ด้วยเพราะขัดต่อกฎระเบียบในการให้ความช่วยเหลือของทางราชการสารพัด

กระทั่ง รัฐบาลโดย "นายโภคิน พลกุล" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประกาศชัดเจน เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2547 ว่า จะให้ความช่วยเหลือบุคคลที่อยู่ในที่ดินของรัฐ โดยรัฐบาลจะสร้างบ้านพักถาวรให้อยู่ในที่อยู่อาศัยเดิม แต่จะไม่ให้ขยายตัวออกไปยังที่ดินของรัฐแปลงอื่นๆ ปัญหาหนักอกของหน่วยงานของรัฐ ที่ลงไปให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน จึงคลี่คลายลง

ถึงกระนั้น ข้อสังเกตของ "นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช" ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ : ดับบ้านดับเมือง เรียนรู้อยู่ดีที่ปากใต้ ที่ให้ต่อที่ประชุม "คณะทำงานฟื้นฟูพื้นที่ชายภาคใต้" ที่จังหวัดตรัง เมื่อตอนบ่ายของวันที่ 4 มกราคม 2548 ก็ยังคงมีน้ำหนัก

"ผมคิดว่าพี่น้องชาวบ้านต้องไหวตัวเรื่องการตั้งถิ่นฐานได้แล้วว่า จะย้ายออกไปหรือจะอยู่ที่เดิม เพราะจากประสบการณ์ตรงของผม สมัยเกิดดินถล่มบ้านกะทูน, บ้านคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช จะมีนักเทคนิคเข้ามาจัดระเบียบให้ย้ายไปอยู่ที่โน่น ให้มาอยู่ตรงนี้ ด้วยเหตุผลทางกฎหมาย ทางระบบนิเวศน์ สารพัดเหตุผล ชาวบ้านต้องพลัดพราก ต้องไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในสภาพไม่พร้อม ตรงนี้พี่น้องควรจะได้มีโอกาสตัดสินใจเอง อย่าให้เสียทีนักเทคนิค…"

นี่คือ ปรากฏการณ์ตรงของจริง ที่ "นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช" ประสบมากับตัวเอง

ปัญหาของคนท้องถิ่นผู้ประสบภัยสึนามิ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวประมงพื้นบ้าน ยังไม่จบสิ้นเพียงแค่รัฐบาล อนุญาตให้อยู่ในที่ดินผืนเดิม ในกรณีที่อยู่อาศัยในที่ดินขอแงรัฐเท่านั้น

ด้วยเพราะยังมีชาวประมงพื้นบ้าน "คนชายขอบ" อีก 2 ส่วน ที่กำลังรอคอยความช่วยเหลือ

หนึ่ง ชาวเล สอง ชาวไทยพลัดถิ่น

ชาวเล แยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ "ชาวมอแกน" ซึ่งกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ นอกจากที่เกาะสุรินทร์แล้ว ยังมีชุมชนขนาดใหญ่อยู่ที่หาดราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต เกาะพีพี เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ "ชาวอูรักลาโว้ย" แห่งเกาะสิเหร่ อำเภอเมืองภูเก็ต

ถึงแม้ทั้งหมดจะได้อยู่อาศัยในที่ดินเดิม ไม่ว่าจะอยู่อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐก็ตาม ดังที่ "นายโภคิน พลกุล" ได้ประกาศไปแล้ว

ทว่า ผู้คนที่คลุกคลีกับชาวเลเหล่านี้ ยังคงไม่แน่ใจในอนาคตของ "ชาวมอแกน" ประมาณ 45 ครอบครัว แห่งเกาะสุรินทร์ เนื่องเพราะชาวเลกลุ่มนี้ ถึงวันนี้ยังคงเป็นบุคคลไร้สัญชาติ ไม่มีชื่อปรากฏอยู่ในสารบบของรัฐ

"นายวิโชติ ไกรเทพ" หนึ่งใน "คณะทำงานฟื้นฟูพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้" ซึ่งรับหน้าที่ติดตามช่วยเหลือชนชายชอบที่รู้กันในนาม "ชาวเล" บอกกับ "ประชาไทออนไลน์" ว่า นอกจากปัญหาเฉพาะหน้า เรื่องเครื่องมือทำมาหากิน คือ เรือกับเรือประมง ที่ชาวเลจัดลำดับความสำคัญเป็นลำดับแรกแล้ว ปัญหาที่มีผู้เสนอให้จัดการสะสางไปพร้อมๆ กันเสียเลย ก็คือ หนี้สิน

"หนี้ของชาวเลเรียกว่า หนี้น้ำ คล้ายๆ กับ หนี้ตกเขียวของชาวนาในภาคอีสาน คือ ชาวเลจะไปยืมหนี้เถ้าแก่แพปลามาใช้ก่อน พอลงเรือจับปลามาได้ ก็นำมาขายหักหนี้กับเถ้าแก่ กลายเป็นหนี้ผูกพันกันไปไม่มีสิ้นสุด"

เป็นอีกข้อมูลจากคำบอกเล่าของ "นายวิโชติ ไกรเทพ"

ถึงแม้ "ชาวเล" จะเป็นคนชายขอบที่มักจะได้รับการดูแลในลำดับท้ายๆ แต่ก็ยังดีกว่าคนชายขอบไร้สัญชาติอย่าง "คนไทยพลัดถิ่น" ซึ่งเป็นคนไทยอยู่ตรงขอบชายแดนไทย - พม่า ตรงบริเวณจังหวัดระนอง ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์
คนกลุ่มนี้ ทางพม่าไม่ยอมรับให้เป็นพลเมืองของพม่า ขณะที่ไทยเอง ก็ไม่ยอมรับ "ญาติร่วมเผ่าพันธุ์" กลุ่มนี้ให้เป็น "พลเมืองไทย"

อันเป็นผลพวงมาจากการกำหนดเขตแดนไทย - พม่า ที่กันเอาถิ่นที่อยู่อาศัยของบรรพบุรุษคนไทยกลุ่มนี้ ไปอยู่ในดินแดนฝั่งพม่า ตรงแนวบริเวณชายแดนที่เดินข้ามพรมแดนไปมาหาสู่กันไป - มา แค่ไม่กี่ก้าว

ภัยพิบัติสึนามิเที่ยวนี้ มี "คนไทยพลัดถิ่น" หรือ "คนไทยไร้สัญชาติ" ได้รับผลกระทบเต็มๆ ประมาณ 20 ครอบครัว ร่วม 100 คน

ข้อมูลจาก "นายพิเชษฐ์ แสงคง" ผู้ประสานงานโครงการปฏิบัติการชุมชนเมืองน่าอยู่ระนอง ซึ่งลงไปดูแลช่วยเหลือคนกลุ่มนี้อยู่ในขณะนี้ ปรากฏว่ามี "คนไทยพลัดถิ่น" เจอภัยสึนามิอยู่ตามจุดต่างๆ ดังต่อไปนี้…

1. ที่บ้านบางเบน อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง 8 ครอบครัว ประมาณ 40 กว่าคน
2. บ้านบางกล้วยนอก หมู่ที่ 3 ตำบลนาคา กิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง 1 ครอบครัว 1 คน
3. บ้านทะเลนอก ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา 1 ครอบครัว 3 คน
4. บ้านปากเตรียม หมู่ที่ 4 ต่อเนื่องหมู่ที่ 5 ตำบลคุรุ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา 10 ครอบครัว ประมาณ 40 กว่าคน

อันนี้ยังไม่นับรวมที่พลัดหลงมาอยู่ที่ "บ้านน้ำเค็ม" อีกจำนวนหนึ่ง

"นายพิเชษฐ์ แสงคง" บอกกับ "ประชาไทออนไลน์" ว่า สำหรับข้าวของยังชีพนั้น ไม่มีปัญหา "คนไทยพลัดถิ่น" ได้รับแจกจ่ายเหมือนกับชาวไทยทั่วไป แต่พอมาถึงสวัสดิการความช่วยเหลืออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้น เรื่องบ้านพักอาศัย เรื่องการซ่อมแซมเครื่องมือทำมาหากิน อย่างเรือและเครื่องมือประมง คนกลุ่มนี้หมดโอกาสเข้าถึง

"ที่พอมีโอกาสจะเข้าถึงได้บ้าง ก็น่าจะเป็นคนไทยพลัดถิ่นที่บ้านปากเตรียม ที่แต่งงานกับคนไทยในหมู่บ้าน…"

คำบอกเล่าของ "นายพิเชษฐ์ แสงคง" สะท้อนให้เห็นชะตากรรมของคนไทยไร้สัญชาติ ที่เรียกขานกันในนาม "คนไทยพลัดถิ่น" ในยามเผชิญหน้ากับหายนะที่มากับภัยธรรมชาติคราวนี้ได้ดียิ่ง

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท