Skip to main content
sharethis

"งานนี้ใหญ่กว่าระดับประเทศ ผู้สูญเสียหรือผู้สูญหายโยงใยเป็นเครือข่าย สังเกตได้จากอาสาสมัครที่นี่มีทุกชาติ มันแปลกประหลาดจนเหลือเชื่อ และมันทำงานได้อย่างน่าอัศจรรย์ เป็นรูปแบบที่แปลกประหลาด" คำยืนยันความประทับใจผสมความฉงนสนเท่ห์เกี่ยวกับงานอาสาสมัครจัดระบบข้อมูลผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์ ของสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมกระจกเงา หรือ "พี่หนูหริ่ง" ที่หลายๆ คนคุ้นเคย

เรามีโอกาสพูดคุยกับคณะทำงานนี้ในดึกดื่นของคืนหนึ่ง หลังจากพวกเขาประชุมสรุปงานประจำวันที่รีสอร์ตเชิงเขาในพื้นที่เขาหลัก ซึ่งเป็นหนึ่งในบริเวณที่เสียหายอย่างย่อยยับ

พี่หนูหริ่งเล่าว่า คณะของเขาและเครือข่ายอาสาสมัคร เดินทางลงมาในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงแรกที่เกิดเหตุคลื่นยักษ์ถล่มจังหวัดภาคใต้ เพื่อจัดตั้ง "หน่วยปฏิบัติการฐานข้อมูลผู้ประสบภัย" ร่วมกับนพ.บัญชา พงษ์พานิช และ กองทุนส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) เนื่องจากพบว่าในพื้นที่ประสบภัยยังขาดเจ้าภาพในการจัดการระบบข้อมูลผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งขาดบุคลากรที่จะเข้าไปจัดการ

"ทางญาติผู้เสียชีวิตเขาจะร้อนรนมาก เมื่อไม่มีคนทำข้อมูล ไม่รู้ข้อมูล ศพก็ไม่สามารถเอาออกไปได้"

พื้นที่แรกที่ลงไปคือ วัดบางม่วง อำเภอบางม่วง ซึ่งเป็นศูนย์รับศพที่ใหญ่เป็นอันดับสองในพังงา ตัวเลขประมาณ 1,500 ศพ มันเป็นพื้นที่หนึ่งที่อาสาสมัครรุ่นเก๋าคนนี้ถึงกับเอ่ยปากว่า "โหดมาก"

"เราเสนอตัวอาสาไปทำที่บางม่วง เราบุกเข้าไปสภาพมันโหดมาก เพราะมันเป็นที่สุดท้ายที่ได้รับการกู้ เพราะฉะนั้นมันเละ ผมนี่ขยอก มันเข้าไม่ได้เลย มันหนักมากสภาพ เพราะฉะนั้นพอเข้าไปปุ๊บเราเห็นว่ามันเป็นช่องว่างอยู่ เราก็เททรัพยากรเกือบทั้งหมดเข้าไปชาร์ต" พี่หนูหริ่งเล่า

ทรัพยากรที่ลงไปสนับสนุนน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณงานเนื่องจากอาสาสมัครไปกระจุกตัว สิ่งที่เขาพบก็คือ ยังไม่มีการทำข้อมูลใดๆ นอกจากมีการจัดเก็บข้อมูลในแฟ้มๆหนึ่ง ซึ่งถ้าจะค้นก็ต้องเปิดแฟ้มดู ซึ่งยากที่จะเข้าถึงได้ เพราะเป็นแฟ้มที่แพทย์ต้องใช้ตลอดเวลา

ทีมอาสาสมัครได้ดำเนินงานในลักษณะที่ถอดแบบการจัดการจากวัดย่านยาว ของแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ โดยอาศัยเซ้นส์ของความเป็นนักเทคนิคว่าการจัดการควรเป็นรูปแบบเดียวกันเพื่อความสะดวก เพราะในที่สุดวันหนึ่งข้อมูลทุกแห่งจะมารวมกัน

"ในศูนย์มีงานเต็มไปหมด อยากให้เป็นผู้รับในการเรียนรู้ ชีวิตมีเรื่องมากมายที่สามารถไปเรียนรู้ในพื้นที่ เราแบ่งงานกันทำเป็น สี่ ประเภท คือ งานชันสูตรพลิกศพ งานฐานข้อมูลคนหาย งานบันทึกคนดี และงานช่วยเหลือคอยเสริมด้านอื่นๆ" พี่หนูหริ่งเล่าถึงการจัดสรรงาน

การทำข้อมูลเรื่องผู้เสียชีวิตและข้อมูลคนหายเป็นการทำแบบคู่ขนาน ต้องโทรศัพท์สอบถามในพื้นที่ตลอด และจัดลำดับน้ำหนักความสำคัญงานว่ามีงานอะไรบ้าง ตลอดจนหาวิธีการด้วยว่าจะทำอย่างไร

พี่หนูหริ่งสะท้อนสิ่งที่เห็นว่า "องค์กรของรัฐเทความสนใจไปที่ข้อมูลผู้เสียชีวิต ซึ่งไม่ถือว่าผิด เพราะทรัพยากรตอนนี้ไม่มีแล้ว ต้องระดมอาสาสมัคร ต้องร่วมมือช่วยกันลงไปเสริมทีม มันเป็นความลงตัวของตำรวจในพื้นที่ เขาแอคทีฟมาก จากการที่เพื่อนตาย ลูกน้องตาย แต่เขาไม่รู้จะทำอย่างไร แม้เป็น ถึงผู้กำกับ แต่ข้อมูลที่กำลังทำนี้มันเป็นงานระดับนายกรัฐมนตรี"

สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทำได้คือ คุมพื้นที่และประสานเชื่อมโยงสนับสนุนพวกที่เข้ามาและจับมือกัน พวกอาสาสมัครจึงสามารถเชื่อมจุดที่เขาหลักได้ และกำลังเสนอผู้บังคับการว่า จะประสานงานกับแกนผู้กำกับพื้นที่อื่น โดยจะประชุมและขอให้ผู้บังคับการจังหวัดพังงาเป็นเจ้าภาพในเรื่องการจัดทำข้อมูลคนหายในจังหวัดพังงาซึ่งมีกฎหมายรับรอง

เพราะหากพังงา ซึ่งมีทั้งผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายเป็นจำนวนมากรับเป็นเจ้าภาพ ทีมนี้ก็จะได้ตัวเลขของผู้สูญหายจำนวนมาก มันก็จะมีผลมากทำให้ค้นพบว่าใครคือคนครอบครัวนี้

"คนตายก็ส่วนหนึ่งแต่ครอบครัวของคนที่ตายเขาคือคนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่คนที่ไม่มีบ้านอย่างเดียว แต่คนที่มีครอบครัวแล้วต้องสูญเสียคือคนที่ได้รับผลกระทบด้วย"

"ผมอ่านเจอข้อมูลการฆ่าตัวตายในยุโรปหลังเกิดอุทกภัย 7.7 เปอร์เซ็นต์ ไต้หวันการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 1.5 -1.7 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณต้องรีบรู้ก็คือว่าพวกเขาเป็นใครและมันต้องมีกระบวนการในเรื่องของการบำบัด มันมีกันทุกส่วนเลย ระดับของปัญหามันใหญ่มาก สมมุติว่าถ้าคนตายในประเทศไทยหมื่นคน ผลกระทบคนที่อยู่ในแวดล้อมเขาหมื่นคน เขาจะมีพ่อ แม่ พี่ น้อง เพื่อน คนรัก มันเยอะมาก"

ดังนั้น จึงต้องรีบเก็บข้อมูลเพื่อให้เจอว่าเขาเป็นใคร พอได้ข้อมูลเสร็จ ก็ต้องเยียวยา โดยการทำกลุ่มช่วยเหลือเยียวยาทางจิตใจกันเอง การติดต่อกันระหว่างประชาคมของญาติผู้เสียชีวิต ต้องให้พวกเขาเข้ากลุ่มให้ได้มีพิธีกรรม

"อย่างที่แม่ผมตายครอบครัวเราเข้าสู่กระบวนการบำบัดด้วยการทำบุญ ถ้าไม่มีกระบวนการอย่างนี้เราอยู่ไม่ได้ ตอนนี้ทางตำรวจเป็นเจ้าภาพร่วมกันแต่ทางกฎหมาย"

หลังจากการทำงานอย่างจริงจังข้อมูลผู้เสียชีวิตก็สามารถสำเร็จลงได้ ด้วยการประสานงานร่วมกันเป็นอย่างดีกับอาจารย์แพทย์ของ รพ.ศิริราช "ผมรู้สึกภูมิใจมาก มันเป็นผลงานชิ้นใหญ่เพราะพอข้อมูลเสร็จปุ๊บ ชาวบ้านเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลได้"

พี่หนูหริ่งยังกล่าวอีกด้วยว่าภารกิจที่ลุล่วงนี้ไม่ใช่ว่าจะเป็นผลงานของเขาทั้งหมด มูลนิธิร่วมกตัญญูก็มีส่วนเก็บข้อมูลตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่ถ่ายรูปเก็บรูป

"แต่เขาก็ไม่ได้ทำอะไรมากเพราะเขาต้องกู้ศพตลอด ฉะนั้นเหมือนเราเอาคนเข้าไปแปะมือต่อ วันสุดท้ายที่เราทำข้อมูลเสร็จคอมพิวเตอร์ทั้งหมดมี 30 ตัว จากวันแรกมีอยู่สองตัว มีคนไปช่วยประมาณ 60 คนได้ ตอนนี้ก็เกือบๆ เฉียดร้อย น่าจะแปดสิบได้ เพราะมันไม่มีที่นอนแล้ว ต้องกางเต็นท์นอน"

"บันทึกของคนดี" มีที่มาจากพี่หนูหริ่งที่คิดว่าอาสาสมัครที่มาที่นี่ควรได้รับการบันทึก และเปรียบว่าที่นี่คือความงดงามบนความเจ็บปวด เพราะการพัฒนาไม่ใช่แค่การเอาของมาให้ ต้องมีการสังเคราะห์ งานอาสาสมัครต้องทุ่มเท ต้องกล้า ท้าทาย

จิตวิญญาณและศาสตร์ของ "อาสาสมัคร"

กล่าวถึงที่มาของคณะอาสาสมัครที่ลงมาจัดการฐานข้อมูลนั้น พี่หนูหริ่งเล่าด้วยความภูมิใจว่ามาจากทั่วสารทิศ มีทีมอาสาสมัครอื่นๆ ที่ทำงานอินเตอร์เน็ตอยู่เว็บไซด์ โดยเฉพาะเพื่อนๆ ในเว็บไซด์พันทิพย์ดอทคอม สมาชิกชุมชนที่คุยกันอยู่ในนั้นลงมาช่วยกันมากมาย

ครั้งแรกมีอาสาสมัครลงมา 23 คน ยังไม่รวมที่มาส่วนตัวอีกหลายคน เพื่อมาผจญเส้นทางความยากลำบากนานาประการ

มาวันแรกก็ประสบกับการขาดแคลนคอมพิวเตอร์ ที่มีอยู่ 5-6 ตัวไม่เพียงพอ จึงเริ่มต้นการโทรศัพท์ไปยืมคอมพิวเตอร์เพื่อนฝูง ซึ่งตามลงมาเกือบสิบตัวก็ยังไม่พอ จึงต้องติดต่อผ่านสื่อทั้งไอทีวี อสมท. เนชั่นทีวี วิทยุร่วมด้วยช่วยกัน

"เมื่อข่าวออกไปก็มีคนโทรฯเข้ามา มีคนเป็นล้านที่ต้องการอาสาสมัครลงมา ที่เราพูดๆ กันว่าจิตสำนึกอาสาสมัครไม่มีนั้นมันไม่จริง มีคนที่ต้องการอาสาสมัครเพื่อสังคมเป็นล้านแต่เราจะต้องโดนเขา และเป็นประเด็นที่เขาโดน" พี่หนูหริ่งว่าเช่นนั้น

"เมื่อเขารู้สึกอยากจะร่วมอยู่แล้ว เขาคิดดีอยู่แล้ว เขาต้องมีโอกาสทำดี สิ่งที่ขาดไปก็คือการสร้างโอกาสในการทำดี ทำอย่างไร คนคิดดีจึงจะมีโอกาสทำดี สิ่งที่เราทำคือสร้างโอกาสของกิจกรรมที่คนจะมีโอกาสทำดีให้เกิดขึ้น ที่นี่เปิดกิจกรรมขึ้นเป็นระบบอาสาสมัคร ระบบการจัดการ คือ ทุกคนคิดของตัวเองในทางที่สอดคล้องกัน"

"สิ่งสำคัญคือ อย่าผูกขาดการทำความดี เรื่องนี้สำคัญมาก งานนี้เราต้องการศาสตร์ของอาสาสมัคร เป็นเรื่องของศาสตร์เลยนะ มันไม่ใช่ว่าสร้างสำนึกอาสาสมัครแล้วจบ เราเอาคนตั้งใจดีมาเจอกันได้แล้วจบ มันไม่จบ"

พี่หนูหริ่งขยายความให้ฟังโดยยกตัวอย่างว่า "เอ็นจีโอก็เจอปัญหาทำนองนี้เยอะ เมื่อคนเก่ง คนดีมาเจอกัน แต่ทำงานไม่ได้ ขัดกันจนเละตุ้มเป๊ะ คนเก่งมีประสิทธิภาพแต่ทำงานไม่ออก งานไม่เคลื่อนเพราะว่าไม่มีศาสตร์ ไม่มีสำนึกร่วมกัน อย่างที่พวกเขาทำร่วมกันคือ ความเป็นเอกภาพ ขบวนการเรียนรู้ที่เป็นระบบ"

"การให้อภัยกัน การเชื่อใจ การเรียนรู้สิ่งที่ผิดพลาดร่วมกัน และยอมรับว่านั่นเป็นความผิดพลาด เติบโตไปพร้อมกัน ให้โอกาส สิ่งเหล่านี้มันเป็นศาสตร์ว่าด้วยเรื่องการทำงานอาสาสมัครทั้งสิ้น แต่เราไม่มี เราไม่มีศาสตร์นี้เกิดขึ้น ผมคิดว่างานนี้เป็นงานที่เราสร้างสิ่งนั้นขึ้นมา"

เขายืนยันว่า งานอาสาสมัครเป็นงานขัดเกลา ซึ่งเป็นกระบวนการใหญ่มาก และจะเปลี่ยนเป็นคุณภาพก็ต่อเมื่อมันได้ถูกกระตุ้นในเรื่องจิตสำนึก มันจะต้องเข้าไปทำงานแตะถึงระดับจิตสำนึก จิตวิญญาณ

"วิกฤตการณ์ครั้งนี้แตะถึงวิญญาณ เพราะถ้าคนสามารถทำได้ถึงขนาดนี้ เขาจับศพ พลิกศพ ไปช่วยหมอ ผ่านงานดุเดือด ทำทุกอย่าง ให้ความสามารถทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ หนักขนาดนี้ มันคือการหล่อหลอมตัวเองอีกครั้งหนึ่งเข้าสู่คุณภาพใหม่ แล้วต้องหลอมตลอด ต้องหลอมอีก ต้องหมั่นทำ เราจะทำเรื่องนี้กับอาสาสมัครในระดับล้านคน"

เขากล่าวอย่างมั่นใจว่า งานนี้จะได้อาสาสมัครหัวใจเกินร้อยไม่ต่ำกว่าล้าน ไม่ใช่เฉพาะที่พังงา แต่เขายืนยันว่าจะเอาทุกจุดใน 6 จังหวัดเป็นสนาม เอาความต้องการพื้นฐานเป็นบทเรียน เป็นห้องปฏิบัติการของอาสาสมัครที่จะได้ไปเรียนรู้ มีส่วนร่วม และสร้างมันขึ้นมากับมือ

"ถ้าเราสร้าง เราเปิดสภาพแวดล้อมให้เกิดความสมดุลตรงนี้ได้ มันจะเกิดจิตสำนึกอาสาสมัครที่เป็นสากล ข้ามพ้นพรมแดนของเชื้อชาติ ดินแดน คือสิทธิมนุษยชน มันคือความเป็นสากลของความเป็นมนุษย์ มนุษย์แตะถึงกันได้ มันคือโลกาภิวัฒน์ในเชิงสมดุล" นั่นคือความคาดหวังสูงสุดในงานอาสาสมัคร ผู้ลงไปกอบกู้ความสูญเสียทั้งคนที่ตายไปแล้ว และคนที่ยังมีชีวิตอยู่

ศิริรัตน์ อนันตรัตน์
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net