รายงานพิเศษ : เบื้องหลัง "แก๊งค์" : วัยรุ่นกับปัญหาการใช้ความรุนแรง

"…ทำไมเด็กมีฐานะดี มีพ่อเป็นถึงคณบดีในมหาวิทยาลัย เป็นตำรวจ มีแม่เป็นครู แต่ต้องมาอยู่ในแก๊งค์ มาอาศัยอยู่ในโครงการลดพฤติกรรมเสี่ยงของเยาวชน เพราะอะไร…ก็เพราะเขาว้าเหว่ ไม่มีใครสนใจ พวกเขาขาดความอบอุ่น" นั่นเป็นเสียงของนางลัดดาวัลย์ ชัยนิลพันธ์ หรือที่กลุ่มเด็กวัยรุ่นเชียงใหม่ เรียกกันว่า "ยายแอ๊ว" กล่าวสะท้อนออกมา

ที่วิทยาลัยการจัดการทางสังคม(วจส.) จ.เชียงใหม่ นางลัดดาวัลย์เปิดเผยกับ"ประชาไท" ว่า ปัจจุบันมีเด็กวัยรุ่นที่เข้ามาอยู่ในโครงการลดพฤติกรรมเสี่ยงของเยาวชนในเมืองเชียงใหม่ ทั้งหมดจำนวน 2,200 คน ซึ่งทุกคนจะเรียกกันว่าแก๊งค์ NDR โดยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กวัยรุ่นผู้ชายอายุตั้งแต่ 12 - 22 ปี ซึ่งมาจากหลายพื้นที่ ทั้งจากเขตอำเภอเมือง เช่น ฟ้าฮ่าม หนองเส้ง วัดเกตุ และอำเภอรอบนอก เช่น อำเภอพร้าว ดอยสะเก็ด สารภี หางดง นอกจากนั้นจะมาจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น ลำพูน ลำปาง

"ที่เข้าไปรับผิดชอบเด็กกลุ่มนี้ ก็เพราะว่าหลานของตัวเองได้เข้าไปร่วมกับแก๊งค์นี้ จึงเข้าไปช่วยเหลือและพยายามเรียนรู้พฤติกรรมของพวกเขา เพื่อจะได้ดึงพวกเขากลับคืนมาอยู่ในสังคมอย่างปกติ ซึ่งการทำงานกับแก๊งค์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลาและอดทนอย่างมาก" นางลัดดาวัลย์กล่าว

นางลัดดาวัลย์กล่าวอีกว่า สังคมส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ แม้กระทั่งพ่อแม่ของเด็กๆ ก็ยังกล่าวหาว่า ตนเป็นหัวหน้าแก๊งค์ ทั้งที่ผ่านมามีเด็กที่มีฐานะทางบ้านดีมาก พ่อทำงานเป็นถึงคณบดี ในมหาวิทยาลัย เป็นตำรวจ เป็นหัวหน้าชลประทาน แม่เป็นครู แต่ยังมากล่าวหาตน ทำไมไม่ย้อนกลับไปถามตัวเองว่า จริงๆ แล้ว สาเหตุนั้นมาจากใคร ถ้าไม่ใช่มาจากครอบครัว

"ที่ผ่านมา พอเด็กวัยรุ่นชอบใช้ความรุนแรง พอเจ้าหน้าที่ตำรวจจับตัวได้ ก็กลับใช้ความรุนแรงตอบ มีการซ้อมทารุณเด็ก ทั้งๆ ในที่ประชุมอนุกรรมการคุ้มครองเด็กฯ ก็มีการพูดว่า จะไม่ใช้ความรุนแรง แต่ก็ยังทำกันอยู่ จึงทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่ไว้วางใจ ไม่กล้าเปิดเผย ต้องหลบไปอยู่ใต้ดินกันมากขึ้น" นางลัดดาวัลย์กล่าว

นางลัดดาวัลย์ยังกล่าวต่ออีกว่า เด็กเหล่านี้ว้าเหว่ ไม่มีใครสนใจ ขาดความอบอุ่น จึงต้องมาอยู่รวมกันที่นี่ และตนก็พยายามสอนเด็กกลุ่มนี้ให้รู้จักความรับผิดชอบ แม้ว่าพวกเขาจะรวมกลุ่มกันเป็นแก๊งค์ แต่ก็ยังไปเรียนหนังสือกัน มีการตั้งกฎกติกาขึ้นมา ห้ามมีการใช้หรือขายยาเสพติด มีรวมกลุ่มกันเล่นกีฬา ซึ่งขณะนี้มีทีมฟุตบอลทั้งหมด 22 ทีม เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กันในระหว่างกลุ่ม ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และสอนให้พวกเขารู้จักความรักและสามัคคี

"แม้กระทั่งเหตุการณ์คลื่นซึนามิ ถล่มที่ภาคใต้ เด็กกลุ่มนี้ยังเอ่ยชักชวนพรรคพวกในกลุ่ม ให้นุ่งขาวห่มขาว นั่งสมาธิแผ่เมตตากุศลให้กับผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้น ทำให้เรารู้ว่า พวกเขาไม่ใช่คนชอบรุนแรงโดยสันดาน" นางลัดดาวัลย์กล่าว

ในขณะที่นายสวิง ตันอุด จากวิทยาลัยการจัดการทางสังคม กล่าวว่า จริงๆ แล้วเด็กที่รวมตัวกันเป็นแก๊งค์เหล่านี้ ส่วนใหญ่มีความคิดที่สร้างสรรค์ อย่างเช่น กลุ่มแก๊งค์รถเวสป้า เป็นกลุ่มเด็กในเมือง พวกเขามาจากฐานะดี จะชอบชักชวนกันขนเสื้อผ้าขึ้นไปแจกเด็กๆ บนดอย แต่เด็กบางกลุ่มขโมยโทรศัพท์มือถือครั้งหนึ่ง 9-10 เครื่อง ทำให้เรามาฉุกคิดกันว่า การขโมยโทรศัพท์มือถือนั้น กำลังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาบางอย่างทางสังคมที่มันกำลังเข้ามาครอบงำเด็กกลุ่มนี้มากขึ้น

"ดังนั้น จึงอยากให้รัฐปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำงานกันใหม่ สร้างความไว้วางใจ หาพื้นที่ให้พวกเขาอยู่ได้ ที่สำคัญ อย่าใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา เพราะสังคมที่ชอบความรุนแรง ยิ่งสะท้อนให้เด็กใช้ความรุนแรงกันมากขึ้น" นายสวิงกล่าว

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท