Skip to main content
sharethis

"ภัยแล้ง" ได้กลายเป็นวิกฤตการณ์ของประเทศไทย ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตร ปี 2547 ที่ผ่านมา

ภัยแล้งได้กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นห่วง เพราะสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากปริมาณการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น และปริมาณฝนที่ลดลงต่ำกว่าค่าปกติ เกิดความแห้งแล้งยาวนานต่อเนื่อง 2 ปีติดต่อกันตามปรากฏการณ์เอลนินโญ และลานินญา อีกทั้งระดับน้ำในเขื่อนและในแม่น้ำมีระดับน้อยทำให้ส่งผลกระทบกับประชาชน และเกษตรกรผู้ใช้น้ำอย่างมาก

สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ (สภาพัฒน์) รายงานสถานการณ์ภัยแล้งในภาคเหนือ โดยระบุว่า สรุปสถานการณ์ความแห้งแล้งปี 2547 ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 - 30 มิถุนายน 2547 โดยศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
พบว่าภาคเหนือมีพื้นที่ประสบความแห้งแล้งทั้ง 17 จังหวัด ประกอบด้วย 112 อำเภอ 8 กิ่งอำเภอ 778 ตำบล 4,333 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อนทั้งสิ้น 1,830,883 คน 487,493 ครัวเรือน

และจากการประชุมครม.สัญจร เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2547 ที่จังหวัดอุบลราชธานีตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม - 11 พฤศจิกายน 2547 มีจังหวัดที่ประสบภัยแล้งทั้งสิ้น 51 จังหวัด เป็นภาคเหนือ 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดผลรุนแรงมากในปี 2548 เหนือตอนล่างโดนเต็มๆ ... เสียหายพันล้าน

ล่าสุด 25 พฤศจิกายน 2547 ที่ผ่านมา ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง 2547- 2548 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แจ้งว่าทุกจังหวัดในภาคเหนือทั้ง17 จังหวัดได้รับผลกระทบ 122 อำเภอ 7 กิ่งอำเภอ 742 ตำบล 5,035 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อนจำนวน 1,538,296 คน 349,423 ครัวเรือน

พื้นที่การเกษตรที่ประสบความเสียหายแล้ว ได้แก่ นาข้าวจำนวน 615,132 ไร่ พืชไร่จำนวน 407,845 ไร่ พืชสวนจำนวน 6,315 ไร่ รวมพื้นที่การเกษตร 1,029,328 ไร่ คิดเป็นความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 1,279,325,737 บาท

โดยจังหวัดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดอุทัยธานี มีความเสียหายเบื้องต้นที่ได้รับแล้ว 574.5 ล้านบาท และ 421.5 ล้านบาท ตามลำดับ และคาดว่าจะได้รับความเสียหายจากภาวะภัยแล้งนี้ 1,520.5 ล้านบาท และ 732.7 ล้านบาท ตามลำดับ

พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหาย ดังนี้ นาข้าวจำนวน 1,486,368 ไร่ พืชไร่จำนวน 540,294 ไร่ พืชสวนจำนวน 67,939 ไร่ รวมพื้นที่การเกษตร 2,094,601 ไร่ คิดเป็นความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 2,874,554,342 บาท โดยจังหวัดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดอุทัยธานี โดยมีพื้นที่เกษตรที่คาดว่าจะเสียหาย เป็นจำนวน 1,520.5 ล้านบาท และ 732.7 ล้านบาท ตามลำดับ

วิกฤตน้ำลด..สัญญาณเตือนภัย

ภาคเหนือเริ่มมีปัญหาความแห้งแล้งและภาวะฝนทิ้งช่วงตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2547 ส่งผลต่อผลผลิตข้าว นาปีที่กำลังจะเก็บเกี่ยว และจากรายงานจากศูนย์ประสานและติดตามสถาน
การณ์น้ำ กรมชลประทานแจ้งว่า ภาคเหนือมี ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่ใช้ได้จริง ร้อยละ 68
โดยปริมาณน้ำในเขื่อนที่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ เขื่อนภูมิพล ร้อยละ 47 แม่กวง ร้อยละ 37 ที่วิกฤตมากคือที่เขื่อนทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี มีปริมาณน้ำในเขื่อนเพียงร้อยละ 12

สําหรับน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณเก็บกักรวมกัน ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2547 ทั้งสิ้น 17,127 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีปริมาณเก็บกักทั้งลุ่มน้ำรวมทั้งสิ้น 17,646 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีการระบายน้ำรวมทั้งสิ้น 229.10 ล้านลูกบาศก์ เมตร /สัปดาห์น้อยกว่าจากสัปดาห์ก่อน 45.94 ล้านลูกบาศก์เมตร

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจะยังคงมีปริมาณฝนน้อยและต่ำกว่าค่าปกติต่อเนื่องถึงฤดูหนาว 2547 (กลางเดือนตุลาคม 2547 ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2548) และฤดูร้อนปี 2548 (กลางเดือน กุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2548) โดยภาคเหนือบริเวณจังหวัดลำปาง ตาก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และเมื่อมาดูรายงานอุณหภูมิและฝนสะสมรายเดือนของภาคเหนือ เดือนตุลาคม 2547
จะเห็นว่าเกือบทุกสถานีมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าปกติ ในขณะที่ปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 10

กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดเป้าหมายพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2546/2547 ของภาคเหนือ ไว้ทั้งหมด 3.6 ล้านไร่ โดยเป็นข้าวนาปรัง 2.22 ล้านไร่ เป็นพืชไร่-พืชผัก 1.38 ล้านไร่ และส่วนใหญ่จะเป็นการเพาะปลูกนอกเขตชลประทาน สำหรับจังหวัดที่มีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุดจังหวัดพิจิตร และนครสวรรค์ คือ 533,600 ไร่ และ 533,500 ไร่ ตามลำดับ

ไพฑูรย์ รอดวินิจ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้แนวทางในการแก้ปัญหาภัยแล้งในปี 2547/48 นี้และปีต่อๆ ไปว่าไม่ควรรอยึดอภิมหาโครงการก่อสร้างลงทุนเป็นหลัก แต่ควรเริ่มต้นแกปัญหาได้ทันทีด้วยการจัดการภัยแล้งที่ดี ซึ่งมีขั้นตอนง่ายๆ ที่ต้องดำเนินการ ขั้นตอนที่ 1 การจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ (Task Force Team) ให้มีหน้าที่รับผิดชอบแก้ปัญหาภัยแล้ง ปี 2547/48 เพราะปัจจุบันหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวกับปัญหาภัยแล้งทั้งโดยตรงและโดยอ้อมมีจำนวนมากและกระจัดกระจายในหลายกระทรวง ทบวง กรม

อย่างไรก็ตาม ในการทำงานของคณะทำงานเฉพาะกิจฯนั้น ต้องมอบหมายทั้งหน้าที่และอำนาจไปพร้อมกันรวมถึงมีกรอบเวลาทำงานที่ชัดเจน ที่สำคัญต้องประเมินผลสำเร็จและจัดทำรายงานผลสำเร็จและข้อเสนอการดำเนินการต่อไปเมื่อสิ้นภารกิจด้วย คณะทำงานเฉพาะกิจฯนี้ควรจัดตั้งขึ้นทั้งระดับส่วนกลาง ลุ่มน้ำ และจังหวัด

ขั้นตอนที่ 2 การสรุปสถานการณ์น้ำต้นทุนและภัยแล้ง ปี 2547/47 : น้ำต้นทุนที่มีอยู่ ณ สิ้นเดือนตุลาคมซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูฝนถือว่าเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับปริมาณน้ำต้นทุนฤดูแล้งจริง
จึงสามารถใช้เป็นตัวเลขปริมาณอุปทานน้ำเบื้องต้นสำหรับตอบสนองความต้องการน้ำในฤดูแล้งของแต่ละปีได้ และยังบอกถึงความจำกัดของอุปทานน้ำและความรุนแรงของภัยแล้งที่แม่นยำเชื่อถือได้ด้วย

ทั้งนี้ การสรุปสถานการณ์น้ำต้นทุนในระดับหมู่บ้านจะต้องสำรวจจัดทำขึ้น พร้อมประมาณการว่าหมู่บ้านนั้นๆ จะเกิดความขาดแคลนขึ้นหรือไม่ เมื่อใดและในประมาณเท่าใด เช่นเดียวกันสภาพความชำรุดเสียหายของระบบน้ำกินน้ำใช้ อันได้แก่ แหล่งน้ำผิวดิน บ่อบาดาล และประปาหมู่บ้าน เป็นต้น จะต้องเร่งจัดการซ่อมแซมให้ใช้การได้เต็มประสิทธิภาพด้วย

ขั้นตอนที่ 3 การประชุมตกลงการจัดสรรแบ่งปันน้ำระหว่างผู้ใช้น้ำฝ่ายต่างๆ หลังจากการสรุปสถานการณ์น้ำต้นทุนและภัยแล้ง ปี 2547/48 แล้ว ภายในกลางเดือนพฤศจิกายน คณะทำงานเฉพาะกิจฯต้องจัดให้มีการประชุมผู้ใช้น้ำทุกฝ่ายในระดับลุ่มน้ำผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำ แต่ในกรณีที่ลุ่มน้ำนั้นๆ ยังไม่ได้จัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำขึ้น ตัวแทนผู้ใช้น้ำฝ่ายต่างๆ ในลุ่มน้ำจะถูกคัดเลือกขึ้นมาตามลำดับชั้นและเป็นโครงข่ายให้ทำหน้าที่นี้แทน เพื่อการตกลงจัดสรรแบ่งปันน้ำต้นทุนที่มีอย่างจำกัดแก่ฝ่ายต่างๆ อย่างมีเหตุผล ลงตัว ผลการตกลงกันนี้ควรจัดทำเป็นสัญญาการจัดสรรแบ่งปันน้ำที่ตัวแทนฝ่ายต่างๆ ได้ลงนามรับรองไว้ด้วย และต้องประชาสัมพันธ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง

ที่สำคัญต้องให้ทันเวลาก่อนการปลูกพืชฤดูแล้งของผู้ใช้น้ำภาคการเกษตร ซึ่งใช้น้ำถึงกว่าร้อยละ 70 ของความต้องการน้ำรวมเพราะหากเกษตรกรได้ปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้ว การแก้ปัญหาจะทำได้ยาก รวมถึงปัญหาจะมีความรุนแรงจนอาจลุกลามไปถึงการต่อสู้แย่งชิงน้ำ

ขั้นตอนที่ 4 การจัดทำแผนสู้ภัยแล้งและแผนการจัดสรรแบ่งปันน้ำ คณะทำงานเฉพาะกิจฯต้องจัดทำแผนสู้ภัยแล้งและแผนการจัดสรรแบ่งปันน้ำขึ้นภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน หรือกลางเดือนธันวาคมเป็นอย่างช้าเพื่อให้ทันฤดูแล้งและเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ
ในการสู้ภัยแล้งและการจัดสรรแบ่งปันน้ำที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ แต่แผนที่จัดทำขึ้นนี้ต้องเป็นแผนเชิงบูรณาการ ที่รวมงานด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทางอ้อม เช่น การลดการส่งเสริมและการอุดหนุนการปลูกข้าวนาปรัง การส่งเสริมการผลิตและการตลาดพืชใช้น้ำน้อย และการส่งเสริมอาชีพและกิจกรรมนอกการเกษตร เป็นต้น ไว้ด้วย ขั้นตอนที่ 5 การดำเนินงานตามแผนสู้ภัยแล้งและแผนการจัดสรรแบ่งปันน้ำ

ขั้นตอนสุดท้าย คือ การดำเนินงานตามแผนสู้ภัยแล้งและแผนการจัดสรรแบ่งปันน้ำที่ได้จัดทำขึ้น
โดยมีคณะทำงานเฉพาะกิจฯทุกระดับเป็นแม่งานคอยประสานให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานต่างๆ จากหลากหลายหน่วยงานให้เป็นไปตามแผนและเป็นเอกภาพ พร้อมทำการติดตามประเมินผลเป็นประจำอย่างน้อยในทุกๆ เดือนเพื่อติดตามสถานการณ์และเรียนรู้ปรับแผนให้เหมาะสม ตลอดจนจัดทำรายงานประเมินผลสำเร็จและข้อเสนอการดำเนินการต่อไป อันเป็นการเรียนรู้ประสบการณ์เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดล้มเหลวซ้ำซากดังที่เคยเกิดขึ้นและเป็นมาในอดีต

แม้ว่าฤดูแล้งจะเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือควบคุมให้เป็นไปตามความต้องการได้ แต่ธรรมชาติก็ได้ให้เวลาที่จะเตรียมรับมือบรรเทาภัยแล้งไม่ให้เกิดความเสียหายรุนแรงที่สำคัญโดยไม่จำเป็นที่ต้องก่อสร้างลงทุนโครงการซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล เพียงแต่ขอให้แก้ปัญหาให้ถูกที่ถูกทาง เริ่มต้นและเน้นด้วยการจัดการที่ดีเป็นระบบและบูรณาการ

ข้อเสนอแนะ
1. ควรจะต้องมีการพิจารณานำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นแนวความคิดของสำนักงานสิ่งแวดล้อม
2. วางแผนการใช้น้ำอย่างเป็นระบบ เช่น การดึงน้ำจากลุ่มน้ำอื่นมาใช้โครงการกก อิง น่าน GIS กำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ รวมทั้งเครือข่ายน้ำ (Water Grid)
3. มีเครื่องมือเตือนภัย มีการจัดเก็บข้อมูลน้ำอย่างเป็นระบบโดยใช้เครื่องมือที่ทันสมัยสามารถวิเคราะห์สภาวะน้ำได้ทันที
4. การวางแผนการเพาะปลูกที่เหมาะสมโดยใช้ตารางการใช้น้ำของพืชแต่ละชนิด และมีการควบคุมดูแลอย่างจริงจัง
5. ต้องดูแลเรื่องภัยหนาว และไฟป่าควบคู่ไปด้วย

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net