Skip to main content
sharethis

ต้องบันทึกไว้เสียแล้วว่า ตำนานแห่งนางสาวเชียงใหม่ที่ลือลั่นเป็นไฮไลท์สำคัญของงานฤดูหนาวและกาชาดมาถึง 55 ปี ต้องปิดฉากลง เมื่อ พ.ศ.2548

ผู้จัดให้เหตุผลว่าคลื่นสึนามิยังทำให้สถานการณ์ไม่เหมาะ แต่หลายฝ่ายยังมองว่ามีอะไรมากกว่านั้น เพราะเวทีนางสาวเชียงใหม่ระยะหลัง เสื่อมมนต์ขลังไปอย่างน่าใจหาย

และช่างเป็นจังหวัดเดียวกัน "อดีตพิธีกร"ที่เคยสร้างสีสันให้กับงานฤดูหนาวของเชียงใหม่มาช่วงเวลาหนึ่งก็ได้สิ้นอายุขัยลงด้วย"พลเมืองเหนือ"ขอไว้อาลัยแก่ "ปราโมทย์ ศิริธร" และ "อดีต"
ที่ไม่อาจหวนคืนอีกแล้วสำหรับเวทีนางสาวเชียงใหม่

คณะรัฐมนตรีประกาศงดงานรื่นเริงเพื่อไว้อาลัยให้กับเหตุการณ์คลื่นสึนามิถล่ม 6 จังหวัดอันดามัน
มีเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้งานฤดูหนาวและกาชาดจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งกำหนดจัดระหว่างวันที่
29 ธันวาคม 2547 - 10 มกราคม 2548 ต้องเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 2 - 14 มกราคม 2548 แต่สำหรับการประกวดนางสาวเชียงใหม่รอบตัดสินนั้น เบื้องต้นผู้จัดงานยังคงเห็นว่าสามารถจัดได้ตามกำหนดเดิมคือวันที่ 8 มกราคม 2548 อยู่

แต่ล่าสุด "พลเมืองเหนือ" ได้รับการประสานแจ้งจากฝ่ายประชาสัมพันธ์กองประกวดว่า งาน
ฤดูหนาวเชียงใหม่จะเลื่อนไปโดยอาจจัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ แยกออกจากงานฤดูหนาวไปเลย และจะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันอังคารที่ 11 มกราคม 2547 เหตุผลคือสถานการณ์ภาคใต้ที่ถูกผลกระทบจากซึนามิยังไม่เรียบร้อย ผู้คนยังโศกเศร้าอยู่ หลายคนติงว่าอาจไม่เหมาะสม

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ยืนยันว่าที่ผ่านมามีสาวงามสมัครเข้าประกวดพอสมควร แต่โดยธรรมชาติของการสมัครมักจะมีผู้มาสมัครวันสุดท้าย ซึ่งได้ขยายเวลารับสมัครไป ส่วนผู้สมัครแล้วก็รับทราบว่ากำหนดการประกวดจะเลื่อนไป

แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าน่าจะเป็นเหตุผลของการมีผู้สมัครยังไม่มากพอ รวมทั้งอาจเป็นเพราะเงื่อนไขการถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีโทรทัศน์ ซึ่งกำลังเป็นสื่อที่ถูกจับตามมองถึงบทบาทของการนำเสนอข่าวพิบัติภัย การถ่ายทอดการประกวดนางสาวเชียงใหม่ที่เปลี่ยนจากช่อง 5 มาเป็นช่อง 11 ซึ่งเป็นสื่อของรัฐย่อมไม่อาจเสียงรังวัดด้วยเรื่องนี้แน่

เมื่อเวทีประกวดนางสาวเชียงใหม่ ต้องแยกออกจากงานฤดูหนาวและกาชาดประจำปี ทั้งที่ผ่านมา 2 กิจกรรมนี้เป็นเมือน "ยูสะหลาดกู้กับแผ่นดิน" และเหมือน "น้ำพริกอ่องกู้ผักกระถิน" ต้องปิดตำนานลงอย่างน่าเสียดาย

อินสม ปัญญาโสภา แสดงทัศนะไว้เมื่อการแถลงข่าวงานฤดูหนาวปีนี้ว่า เวทีนางสาวเชียงใหม่ในอดีตโดดเด่นและมีชื่อเสียงมาก หากไม่มีกิจกรรมนี้งานฤดูหนาวก็ไม่ต่างจากงานปอยหลวงวัดกู่เต้าเท่านั้น (อดีตเคยจัดที่สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่) และเมื่อก่อนทุกอำเภอจะส่งสาวงามมาประกวดและติดตามมาเชียร์กันอย่างมากมาย และเสนอให้ผู้จัดปีนี้ให้ความสำคัญกับเวทีนี้โดยมิใช่จะทำกิจกรรมเพียงเฉพาะวันสุดท้ายที่ถ่ายทอด

โดยเขายังได้บอกอีกว่า เคยมีผู้เสนอให้จัดประกวดนางสาวเชียงใหม่ในโรงแรม ซึ่งคนในจังหวัดไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเพราะถือว่าเป็นกิจกรรมคู่กับงานฤดูหนาว

หลายฝ่ายวิจารณ์ถึงกิจกรรมของจังหวัดในระยะหลัง โดยเฉพาะเวทีนางสาวเชียงใหม่ซึ่งเคยโด่งดังเป็นที่รอคอยการชมของประชาชนทั่วประเทศ เพราะสาวที่ผ่านเวทีนี้มาจะสามารถพิชิตตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งในเวทีนางสาวไทยได้นั้น ถูกบริษัทฯ จากส่วนกลางเข้ามาอาสาจัดงาน หสปอนเซอร์
และถ่ายทอดสดอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้นแม้จะกำหนดกติกาคุณสมบัติผู้เข้าประกวดไว้ในลักษณะเพื่อชาวเหนือเท่านั้น แต่เวทีนี้ก็ไม่อาจหลุดพ้นปรากฏนางงามเดินสายอยู่

ย้อนหลังไปในอดีต ปราโมทย ศิริธร อดีตผู้สื่อข่าวและพิธีกรเวทีนางสาวเชียงใหม่ ได้เคยให้สัมภาษณ์ "พลเมืองเหนือ"ไว้ว่าได้เริ่มต้นจากงานฤดูหนาวของจังหวัด ที่จะมีนางงามประจำร้านค้าต่างๆ อยู่แล้ว แต่พอปี 2492 ก็เริ่มต้นจัดเป็นการประกวดนางสาวเชียงใหม่ ตอนนั้นจัดกันหอประชุมโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ประธานดำเนินการประกวดคือคุณชาย บุนนาค ผู้จัดการธนาคารออมสิน ก็เลยมีวงดนตรีธนาคารออมสินซึ่งโด่งดังมากมาบรรเลงด้วย

ผู้เข้าประกวดจะเป็นสตรีตามอำเภอรอบนอก สันกำแพง สารภี สันป่าตอง การประกวดเทียบกับสมัยนี้ต่างกันมา เพราะสมัยก่อนประกวดเพื่อสร้างสรรค์สังคม ไม่ใช่ธุรกิจโฆษณาสินค้า หน่วยราชการไหนอยากจะให้สาวคนใดประกวด ก็ต้องไปขออนุญาตพ่อแม่เขาก่อน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือ เพราะเป้าหมายของการประกวดนางสาวเชียงใหม่ต้องการหารายได้เข้าเหล่ากาชาด

ปราโมทย์เล่าว่า วันสุดท้ายของการตัดสินมีคนเข้าชมมากจนไม่มีที่นั่ง ไฮไลท์ของปีนั้นคือคณะกรรมการต้องเพิ่มการประกวดเป็น 2 ครั้ง ตัดสินแล้วก็ขอให้สาวงามเดินอีกรอบ ตัดสินซ้ำอีกครั้ง เพราะคนรอชมกันมากมาย ปีนั้นผู้ได้รับตำแหน่งนางสาวเชียงใหม่คนแรกคือ น.ส.สุมิตรา กัญชนะ สาวงามจากอำเภอสันกำแพง

เวทีนี้โด่งดังชนิดพระองค์เจ้าพีรพงศ์ ภาณุเดช เคยเสด็จดูการประกวด สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ก็เคย เสด็จมาทอดพระเนตร สวมมงกุฎให้ น.ส.รัชฎาภรณ์ ศรีวิชัย จากอำเภอสันกำแพง
เคยแม้กระทั่งมีขบวนแห่ไปในเมืองเหมือนขบวนรถบุปผาชาติ และต่อมาก็มีการประกวดนางสาวถิ่นไทยงามขึ้นมาอีกเพื่อขยายให้ผู้มีภูมิลำเนาภาคเหนือตอนบนมาสมัครกันมากขึ้น

สิ่งที่ปราโมทย์ประทับใจในเวทีนางสาวเชียงใหม่คื ผู้เข้าประกวด ผู้ส่งเข้าประกวดทุกคนได้ตั้งใจจะทำประโยชน์ให้แก่สาธารณะกุศล คือเหล่ากาชาด ทุกคนอาสาเข้ามาก ซึ่งเป็นเกียรติที่จะเข้ามาร่วมงานกิจกรรมอันเป็นสาธารณะประโยชน์ และมองว่าเวทียุคใหม่เปลี่ยนแปลงไปเป็นธุรกิจไปมาก

ปราโมทย์ ศิริธร ไม่มีสิทธิ์ได้รู้แล้วว่า เวทีนางสาวเชียงใหม่ได้ถูกตัดขาดจากงานฤดูหนาวและกาชาดไปเสียแล้ว เพราะเขาได้สิ้นอายุขัยไปในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2547 เสียก่อน.
(อ่านเรื่องราวของปราโมทย์ ศิริธร ได้ในคอลัมน์ บก.คนเมือง โดยวิจิตร ชัยวัณณ์)

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net