มึดา...การเดินทางอันยาวไกลของเด็กไร้สัญชาติ (ตอนที่ 1)

"หนูเกิดที่บ้านท่าเรือ แต่ต้องมาเรียนหนังสือที่แม่เงาตั้งแต่ชั้นอนุบาล ต้องล่องเรือไปเรียนไกล 8 กิโล บางวันขากลับ ถ้าไม่มีเรือก็เดินย้อนกลับมาบ้าน ต้องตื่นนอนตั้งแต่ตีสี่ ถ้าเป็นพวกผู้ใหญ่ก็ใช้เวลาเดินประมาณชั่วโมง ถ้าเป็นเด็กๆ อย่างหนู ก็ใช้เวลาประมาณสองชั่วโมง จนถึงชั้นป.6 จึงได้ย้ายมาอยู่ที่ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและเยาวชนในอำเภอสบเมย..." เธอบอกเล่าให้เราฟังในตอนค่ำ ริมแม่น้ำสาละวิน ในงานวันเด็กไร้สัญชาติ ที่บ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 7-8 ม.ค.2547 ที่ผ่านมา

"มึดา นาวานารถ" ...เป็นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง เธอพูดภาษาไทยชัดถ้อยชัดคำ ขณะนี้เธอกำลังเรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียนสบเมยวิทยาคม อ.สบเมย
จ.แม่ฮ่องสอน แต่ชีวิตเธอต้องต่อสู้กับปัญหาที่เธอไม่ได้เป็นคนก่อเอาไว้มานานถึง 18 ปี

เธอเป็นเด็กที่ไร้สัญชาติ... และเธอยังถูกรัฐประทับตราในบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูงว่า เป็น
"เผ่าพม่า" ทั้งๆ ที่ เธอเกิดอยู่บนผืนแผ่นดินไทย มาตั้งแต่ปี 2529

มึดา บอกเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งตั้งใจไปพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องในงานวันเด็กแห่งชาติ เมื่อปี 2547 ปีที่ผ่านมาให้เราฟัง...

"ตอนนั้นหนูตั้งใจไปหานายกฯ ในวันเด็กฯ เมื่อปีที่แล้ว มีเด็กไร้สัญชาติมาจากหลายจังหวัด ทั้งพะเยา เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน โดยตั้งความหวังว่า จะได้พูดกับนายกฯ ให้รับรู้ว่า เราเป็นตัวแทนจากเด็กชนเผ่า เด็กไร้สัญชาติ มาบอกความรู้สึกว่าขณะนี้ได้ประสบปัญหามากมาย เนื่องจากเป็นคนไร้สัญชาติ" มึดา เริ่มเล่าให้ฟัง

ทุกปี นายกฯ จะมีคำขวัญ มีของขวัญให้เด็กๆ เธอก็อยากเข้าไปบอกว่า วันเด็กปีนี้ขอสัญชาติเป็นของขวัญวันเด็กให้พวกหนูจะได้ไหม? พยายามจะเข้าไปคุย ตอนแรกเธอเห็นนายกฯ อยู่บนเวทีหน้าทำเนียบ ซึ่งนายกฯ ก็เห็นพวกเธอแล้ว เพราะใส่ชุดชนเผ่าแปลกๆ กว่าคนอื่น

เธอและเพื่อนๆ จะขอเข้าไปพบ แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ให้เข้าไป พร้อมกับค้นกระเป๋า รื้อของขวัญที่ตั้งใจจะนำไปมอบนายกฯ เธอและเพื่อนๆ ก็ตามนายกฯ ไป แต่เจ้าหน้าที่ก็ติดตามประกบเธอตลอด มีช่วงหนึ่งเธอเกือบเข้าถึงตัวนายกฯ แล้ว แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ผลักเธอออกไปจนเกือบล้มลง เธอพยายามอดทน ขณะที่ภายในใจเธอเฝ้าถามตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าทำไมถึงต้องทำกับเธอแรงๆ อย่างนี้

แต่เธอก็ยังไม่หยุดยั้งความคิด ยังคงเดินตามไปอย่างนั้น จนสุดท้ายก็ตามไปไม่ทัน เมื่อเห็นนายกฯ เดินเข้าไปในทำเนียบ เธอจึงต้องร้องไห้ออกมาดังๆ จนเพื่อนๆ ที่ติดตามพลอยร้องไห้กันด้วยความเสียใจ

"เรามาด้วยความตั้งใจ มาด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่ทำไมต้องทำกับเราอย่างนี้ อย่างน้อยก็ขอได้พูดกับนายกสักนาทีหนึ่งก็ได้" เธอพูดด้วยความน้อยใจ

นับตั้งแต่วันนั้น ถึงวันนี้...มึดา และเพื่อนๆ ไร้สัญชาติ ก็ยังไม่เคยได้เข้าพบกับนายกรัฐมนตรี

2.
วันหนึ่ง, มึดา ได้เป็นตัวแทนเด็กไร้สัญชาติ ไปพูดคุยในวงเสวนา ที่มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ และได้บอกความใฝ่ฝันเอาไว้ว่า อยากเป็นนักกฎหมาย เพราะเชื่อว่ากฎหมาย มีความสำคัญมากที่สุดที่จะทำให้ได้สัญชาติ ทุกขั้นตอนนั้นที่เกี่ยวกับสัญชาติล้วนเกี่ยวข้องกับกฎหมาย

หลังจากนั้น อธิการบดีมหาวิทยาลัยพายัพได้บอกกับเธอว่า หากจบชั้นมัธยมปลาย จะรับอุปการะส่งเรียนหนังสือ คณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยพายัพ ตามความใฝ่ฝันของเธอ

"หากหนูได้เป็นนักกฎหมาย และเมื่อเรียนจบกลับมาแล้ว หนูพร้อมจะเป็นสะพานความเข้าใจ พร้อมเป็นผู้ทำความเข้าใจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีอำนาจ ให้เขาเข้าใจพวกเรามากขึ้น และจะผลักดันให้เกิดการปฏิบัติกันจริงๆ เพราะทุกวันนี้ นโยบายก็มี แต่เจ้าหน้าที่ หน่วยงานราชการมีการปฏิบัติมีน้อยมาก หรือจะว่าไม่มีเลยก็ว่าได้ คือเวลาจะไปติดต่อหน่วยงาน เขาก็ไม่ให้ความร่วมมือ" มึดา กล่าวออกมาด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

มึดา เล่าให้เราฟังว่า เมื่อปี พ.ศ.2542 เจ้าหน้าที่จากอำเภอได้เข้าไปสำรวจทำบัตรประจำตัวชุมชนบนพื้นที่สูงในหมู่บ้านของเธอ แต่เมื่อเธอเข้าไปติดต่อขอรับบัตร ก็ปรากฏว่าไม่ได้ หลังจากนั้น ทางศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและเยาวชน ก็ได้ดำเนินเรื่องไปถึงกรมการปกครอง เขาก็ส่งเอกสารมาให้ แต่เอกสารทุกอย่างในอำเภอนั้นถูกทำลายหมดแล้ว

เธอรอจนถึงปี 2546 ได้พาชาวบ้านเข้าไปติดต่อกับทางอำเภออีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียน โวยวาย พร้อมกับไล่เธอกลับไป

"ไม่ต้องเกี่ยว ยุ่ง...เธอนั้นแหละเป็นตัวปัญหา" เจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียน ซึ่งเป็นผู้หญิงตวาดใส่เธอดังลั่น

"ไม่ใช่...หนูจะมาติดต่อสอบถามเรื่องบัตรเขียวขอบแดงที่ตกหล่น" เธอพยายามอธิบาย และเฝ้ารออยู่อย่างนั้น

ในที่สุด เจ้าหน้าที่ก็ทำบัตรฯ ให้เธอและชาวบ้านแบบลวกๆ แต่เมื่อกลับมาถึงบ้าน และดูบัตรฯ จึงรู้ว่ามีการประทับในบัตรบอกว่า เป็น " เผ่าพม่า" ทั้งหมู่บ้าน ซึ่งจริงๆ แล้ว เผ่าพม่านั้นไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน

จนบัดนี้, มึดา ยังคงถือบัตรประจำตัวชุมชนบนพื้นที่สูง ที่มีการระบุว่า เธอเป็นเผ่าพม่า ทั้งๆ ที่เธอมีพ่อแม่เป็นเชื้อสายปกากญอ หรือกะเหรี่ยง เธอกำเนิดบนผืนแผ่นดินไทย พูดภาษาไทย แต่เธอยังถูกกระทำเหมือนกับไม่ใช่คนไทย

หลายคนเริ่มเป็นห่วงกันว่า หากมึดาเรียนจบชั้นมัธยมปลาย และลงไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ เธอจะต้องประสบกับปัญหาการขอออกนอกพื้นที่ออกต่างจังหวัด เพราะตามกฎหมายระบุไว้ว่า เธอจะต้องทำเรื่องขออนุญาตออกนอกพื้นที่ทุกระยะเวลา7-15 วัน

หากเป็นเช่นนั้น...ในอนาคตอันใกล้หาก "มึดา" เข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยพายัพ ที่เชียงใหม่ เธอจะต้องเดินทางกลับไปขออนุญาตออกนอกพื้นที่ ที่อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอนกี่ครั้งในระยะเวลา 4 ปี!?

นี่คือสิ่งที่หลายๆ คน กำลังตั้งคำถาม……กับรัฐบาลไทย

องอาจ เดชา

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท