Skip to main content
sharethis

ประชาไท - นพ.กระแส ชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมร่วมกับหน่วยราชการ สถาน ศึกษาของจังหวัดนราธิวาส เพื่อหารือการเตรียมการจัดตั้ง "มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์" ตามพ.ร.บ.การอุดมศึกษา ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแล้ว และอยู่ระหว่างการลงประปรมาภิไธย

นพ.กระแส กล่าวว่า เนื่องจากคนในพื้นที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพียง 2.4% จึงต้องการให้โอกาสทางการศึกษาแก่คนในพื้นที่ เพื่อส่งผลให้เกิดความสงบและความมั่นคงอย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาว โดยมหาวิทยาลัยดังกล่าวเป็นการหลอมรวมสถาบันศึกษาอื่นในพื้นที่ ไม่ว่าวิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี วิทยาลับพยาบาล วิทยาลัยสารพัดช่าง ที่เดิมไม่มีหลักสูตรปริญญาตรี

ทั้งนี้ การเรียนการสอนระยะแรกจะเปิดคณะช่างอุตสาหกรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะเกษตร ศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ นอกเหนือจากนั้นจะพิจารณาตามความต้องการของคนในพื้นที่

ด้านดร.สุชาติ เมืองแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า การหลอมรวมสถานศึกษาดังกล่าวเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ ประหยัดงบประมาณและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยได้หารือกับสำนักงบประมาณเรียบร้อยแล้ว

โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์นั้น จะมีการปรับโครงสร้างใหม่ โดยวิทยาลัยพยาบาลเปลี่ยนเป็นคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยเทคนิคตั้งเป็นคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม วิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยีเป็นคณะเกษตรกรรม และวิทยาลัยการอาชีพเป็นศูนย์ฝึกอาชีพ พร้อมทั้งตั้งคณะใหม่ คือ คณะอิสลามศึกษานานาชาติ คณะเทคโนโลยีการยาง คณะวิทยาศาสตร์ และคณะศิลปศาสตร์ โดยคาดว่าคณะใหม่จะเปิดรับนักศึกษาได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ในส่วนของคณะอิสลามศึกษานานาชาตินั้น จะเปิดโอกาสให้คนที่จบจากปอเนาะและอิสลามศึกษาได้เรียนใกล้บ้าน โดยต้องขอทุนให้เรียนด้วยเพื่อจูงใจให้เรียนต่อในประเทศ

นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาในการหลอมรวมสถาบันศึกษาอีกใน 4 พื้นที่ ได้แก่ จ.สงขลา จะหลอมรวมม.ราชภัฏสงขลาเข้ากับม.ทักษิณ จ.สุรินทร์ หลอมรวม ม.ราชภัฏสุรินทร์เข้ากับสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตสุรินทร์ จ.นครราชสีมา หลอมรวมม.ราชภัฎนครราชสีมา เข้ากับสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลภาคตะวันออก และในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น จะหลอมรวมม.ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เข้ากับม.ราชภัฏธนบุรี

ส่วนความยินยอมของผู้บริหารสถาบันต่างๆ นั้น ดร.สุชาติ กล่าวว่า การหลอมรวมต้องมีแรงจูงใจด้วย ทั้ง ทุนพัฒนาอาจารย์ ทุนส่งเสริมงานวิจัย การจัดตั้งคณะใหม่ๆ ส่วนผู้บริหารทุกคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมอยู่แล้ว และรัฐบาลไม่ได้ส่งมาเป็นเจ้าของสถาบัน ไม่น่ามีปัญหาอะไร

แหล่งข่าวในมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จฯ กล่าวว่า ขณะนี้มีการหารือกันเรื่องความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา แต่เรื่องการหลอมรวมสถาบันนั้นเป็นเรื่องใหม่ ที่ยังไม่เป็นที่รับทราบกันภายในสถาบันแต่อย่างใด

ขณะที่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี กล่าวว่า ไม่เคยรับทราบเรื่องการหลอมรวมสถาบันเช่นกัน แต่ม.ราชภัฏธนบุรีมีขนาดเล็กและค่อนข้างมีปัญหาในการบริหาร หากมีการรวมกับม.ราชภัฏบ้านสมเด็จฯ ซึ่งใหญ่กว่า ก็อาจเป็นประโยชน์ในการลดต้นทุนการบริหารจัดการ แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าและต้องตั้งคำถามคือนักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจนจะได้ประโยชน์อะไร รวมทั้งคุณภาพชีวิตของบุคลากรจะเป็นอย่างไร เพราะขณะนี้ม.ราชภัฏส่วนใหญ่ก็มุ่งหาเงิน โดยการเปิดหลักสูตรพิเศษให้ผู้ที่ต้องการปริญญาบัตรเป็นใบผ่านทางเข้าสู่ระบบการเมือง

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net