Skip to main content
sharethis

โดย
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) และอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ

6 มกราคม 2548 ออกเดินทางจากกรุงเทพ เวลา 22.00 น.

7 มกราคม 2548 ถึงจังหวัดระนอง เวลา 09.00 น. เดินทางไปยังมูลนิธิศุภนิมิตร (World Vision) จังหวัดระนอง พบกับผู้ประสานงานของมูลนิธิฯ ดูแลและรับผิดชอบแรงงานข้ามชาติในพื้นที่จังหวัดระนอง

จากการรับทราบข้อมูลสถานการณ์ ของแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ระนอง ได้รับแจ้งว่า บริเวณบ้านหาดทรายขาว ตำบล กำพวน กิ่งอำเภอ สุขสำราญ ระยะห่างจากจังหวัดระนอง 100 กิโลเมตร มีแรงงานจากพม่าประมาณ 100 คน อาชีพก่อสร้าง ทำสวน รีสอร์ท และทำประมง ได้รับความเสียหายจากคลื่น แต่ได้รับการดูแลจากนายจ้างและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

นอกจากนี้มีแรงงานข้ามชาติเดินทางมาจากจังหวัดพังงา มีจำนวน 217 คน ต้องการเดินทางกลับไปยังประเทศพม่า แต่ไม่สามารถเดินทางข้ามไปยังเกาะสองของพม่าได้ เพราะรัฐบาลทหารพม่าปิดด่าน ไม่อนุญาตให้ผ่านได้ ทำให้ถูกควบคุมตัวไว้ในค่ายพักแรงงานชั่วคราว ซึ่งตั้งอยู่บริเวณโรงเรียน เตรียมบ้านทุ่งคา ห่างจากจังหวัดระนองประมาณ 17 กิโลเมตร ทั้งนี้มูลนิธิฯ ได้ให้การสนับสนุนในเรื่องอาหาร น้ำดื่ม และค่าใช้จ่าย สำหรับการเดินทางกลับไปพม่า

11.00 น. เดินทางไปพบนักข่าวพม่า นาย หม่อง หม่อง เป็นนักข่าวของ Democratic Voice of Burma (DVB) มีบ้านพักอยู่ในบริเวณโรงงานแปรรูปอาหารทะเล ภายในตัวเมืองระนอง

นายหม่อง หม่อง แจ้งว่า ที่จังหวัดระนองไม่มีปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติ แต่มีปัญหาในพื้นที่เกาะสอง ซึ่งเป็นของฝั่งพม่า โดยเมื่อแรงงานข้ามชาติเดินทางกลับไป จะถูกเจ้าหน้าที่พม่า ทหารพม่า เรียกให้จ่ายเงินเป็นค่าอำนวยความสะดวก ถ้าแรงงานปฏิเสธจะถูกค้นตัวและยึดทรัพย์สินเงินทอง ทำให้แรงงานได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่ง และจะมีด่านที่กระทำแบบเดียวกันมากกว่า 1 ด่าน ขอให้ทาง กรพ. เผยแพร่ข้อมูลที่เกิดขึ้นแก่สาธารณชน
14.00 น. เดินทางไปบ้านหาดทรายขาว กิ่งอำเภอสุขสำราญ เพื่อสอบข้อเท็จจริงที่มูลนิธิศุภมิตร แจ้งให้ทราบ พบว่า มีแรงงานพม่าได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ อาศัยอยู่รวมกันโดยมีนายจ้างเป็นผู้ดูแล และแรงงานบางส่วนได้รับการจัดให้อยู่ในค่ายพักชั่วคราว นายจ้างบางคนแจ้งให้ทราบว่ามีแรงงานฯ เสียชีวิต 3 คน

16.00 น. เดินทางไปยังวัดย่านยาว อำเภอ ตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นสถานที่เก็บร่างผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิ ตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ภายในเพื่อให้ทราบว่า มีแรงงานฯ เสียชีวิตเป็นจำนวนเท่าใด ได้รับแจ้งว่ามีการพิสูจน์และยืนยันผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวพม่าเพียง 2 ราย

18.00 น. เดินทางไปยังพื้นที่เขาหลัก อำเภอตะกั่วป่า พบกับองค์กรพม่าที่เก็บข้อมูลของแรงงานข้ามชาติว่าได้รับความเสียหาย มีผู้เสียชีวิตหรือสูญหายเป็นจำนวนเท่าใด เบื้องต้นทราบว่ากำลังติดตามตรวจสอบข้อมูลอยู่โดยใช้อาสาสมัครที่เป็นแรงงานข้ามชาติทำแบบสอบถามแจกให้แก่แรงงานเพื่อขอข้อมูล

ขณะเดียวกันได้ทราบจากข้อมูลเบื้องต้นว่า ระหว่างวันที่ 1-7 มกราคม 2548 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุมแรงงานข้ามชาติในพื้นที่เขาหลักและใกล้เคียง เป็นจำนวนประมาณ 500 คน ซึ่งแรงงานที่ถูกจับกุมมีทั้งผู้ที่มีบัตรอนุญาตทำงานและไม่มีบัตรอนุญาตทำงาน และจับกุมแรงงานฯ บางส่วน โดยตั้งข้อหาว่าลักทรัพย์สินของผู้ประสบภัย โดยนำทั้งหมดไปที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอตะกั่วป่า คณะทำงานของ กรพ.จึงแจ้งให้องค์กรพม่าหาข้อมูลเพิ่มเติม และ กรพ.จะเดินทางไปพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อติดตามกรณีดังกล่าวในวันต่อไป

8 มกราคม 2548
10.00 น. เดินทางไปพบกับผู้ประสานงานของมูลนิธิศุภนิมิตร (World Vision) จังหวัดพังงา ที่สถานีอนามัยลำแก่น จังหวัดพังงา เพื่อรับทราบสถานการณ์และข้อมูลของแรงงานข้ามชาติในพื้นที่จังหวัดพังงา คุณสมยศ ผู้ประสานงานแจ้งว่า แรงงานในพื้นที่มีปัญหามาก เพราะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจ และจับกุมตัวไป โดยไม่สนใจว่าจะมีบัตรอนุญาตหรือไม่ และคนไทยในพื้นที่ก็ไม่พอใจแรงงานฯ เพราะมีการกล่าวหาว่า แรงงานฯ ขโมยทรัพย์สินของผู้เสียหาย ทำให้แรงงานฯ จำนวน 300-400 คน ต้องหลบหนีเข้าไปอยู่ในสวนยางพารา ซึ่งอยู่ไกลออกไปจากหมู่บ้านหลายกิโลเมตร มีความยากลำบากในการอยู่อาศัย ไม่มีอาหาร และน้ำดื่ม ทางมูลนิธิฯ ต้องนำอาหารไปแจกให้ในป่า

ก่อนหน้าที่คณะทำงานของ กรพ.จะลงพื้นที่ ได้รับแจ้งว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิทำลายพื้นที่ชุมชนได้ไม่นาน ได้มีการให้ความช่วยเหลือแรงงานฯ และมีแรงงานฯ จำนวนประมาณ 400 คนเศษ ต้องการเดินทางกลับประเทศพม่า ทางมูลนิธิฯ ได้ประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดพังงา มารับตัวเพื่อส่งกลับ แต่นายจ้างของแรงงานฯ เหล่านี้ ได้มารวมตัวกันประท้วงไม่ให้แรงงานฯ เดินทางกลับ มีการใช้อาวุธข่มขู่ เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ของมูลนิธิฯ ทำให้แรงงานฯ เดินทางกลับพม่าได้เพียง 100 คนเศษ ส่วนที่เหลือนายจ้างได้นำกลับไปที่พักของตนเพื่อต้องการให้แรงงานฯ ทำงานในกิจการของนายจ้างต่อไป

หลังจากนั้นทางมูลนิธิฯ ได้รับแจ้งจากแรงงานฯ กลุ่มที่นายจ้างนำตัวกลับไปว่า ไม่ได้รับการดูแลจากนายจ้าง ไม่มีอาหารรับประทาน ถูกปล่อยให้อยู่รวมกัน เกิดความลำบากในการอยู่อาศัยอย่างมาก และขณะเดียวกันก็มีการลักขโมยทรัพย์สินของผู้ประสบภัย ทำให้ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่เดียวกันเดินทางไปแจ้งตำรวจให้มาจับกุมแรงงานฯ ซึ่งแรงงานฯ ทั้งหมดจึงต้องหลบหนีเข้าไปอยู่ในป่าสวนยางพาราและบริเวณภูเขาสูงต่างๆ พร้อมกับขออาหารและความช่วยเหลือจากมูลนิธิฯ ดังกล่าว

ทางมูลนิธิฯ ได้ปรึกษากับ กรพ. เพื่อหาแนวทางจัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือแรงงานฯ ในพื้นที่ บ้านเขาหลัก อำเภอตะกั่วป่า และบริเวณใกล้เคียง แต่กำลังรอการให้ความร่วมมือของหน่วยงานราชการ เช่น สำนักงานจัดหางานจังหวัดพังงา สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพังงา เพื่อให้แรงงานฯ มีความมั่นใจและมีความปลอดภัยเมื่อเข้ามาอยู่ในศูนย์ให้ความช่วยเหลือ

12.00 น. เดินทางไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอตะกั่วป่า เพื่อติดตามข้อมูลและสอบข้อเท็จจริงกรณี ได้รับแจ้งว่า มีแรงงานฯ ถูกจับกุมไปประมาณ 500 คน โดยตำรวจของสถานีดังกล่าว เมื่อเดินทางไปถึง พบกับ ร้อยเวร ชื่อ ร.ต.อ.อนันต์ เกื้อบุญแก้ว ได้สอบถามถึงการจับกุมแรงงานฯ จากผู้ร้องเรียนว่ามีความเป็นจริงแค่ไหน เพียงใด ร้อยเวรฯ ได้นำบันทึกประจำวันมาให้คณะทำงานดู และแจ้งว่าในระหว่างวันที่ 6-8 มกราคม 2548

ภายหลังเกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิถล่มแล้ว ได้รับแจ้งว่า มีการลักขโมยทรัพย์สินของผู้ประสบภัย โดยแรงงานฯ เป็นผู้ลักขโมย จึงออกไปดำเนินการจับกุม ตามรายงานในบันทึกประจำวันว่า วันที่ 6 มกราคม 2548 จับกุมแรงงานฯ ข้อหาหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จำนวน 13 คน วันที่ 7 มกราคม 2548 จับกุมจำนวน 7 คน ข้อหาเดียวกัน วันที่ 8 มกราคม 2548 จับกุมจำนวน 14 คน ข้อหาเดียวกัน รวมทั้งสิ้น 34 คน แล้วได้ส่งให้กับสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพังงา ไปแล้ว 27 คน เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2548 ยังคงเหลือแรงงานฯ ที่สถานีตำรวจเพียง 7 คน ขอให้นายจ้างมายืนยันและรับตัวกลับไปทำงาน

คณะทำงานได้สอบถามร้อยเวรฯ ว่า ระเบียบปฎิบัติในการส่งตัวแรงงานฯ ให้ สตม.จังหวัดพังงา จะต้องตรวจสอบแรงงานว่ามีบัตรอนุญาตหรือไม่ ได้รับคำตอบว่าตรวจสอบ ถ้ามีบัตรอนุญาตให้ทำงานจะปล่อยตัวกลับไป หรือมีนายจ้างมายืนยันก็จะส่งตัวให้กับนายจ้างนำกลับไป

แต่ถ้ากรณีลูกจ้างแรงงานไม่มีบัตรอนุญาต หรือแจ้งว่าบัตรอนุญาตหายระหว่างเกิดภัยพิบัติ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถตรวจสอบรายชื่อกับทางสำนักงานจัดหางานจังหวัดพังงา หรือที่ว่าการอำเภอได้ เพราะมีภาระกิจเร่งด่วนเฉพาะหน้ามาก จึงส่งตัวแรงงานไปให้ สตม. พังงา ทันที และให้นายจ้าง เดินทางไปรับตัวกลับเอง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาแรงงานที่ทำบัตรหายหรือนายจ้างยึดบัตรไว้ถูกผลักดันกลับไปเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งทำให้สิทธิของแรงงานฯ เหล่านี้สูญเสียไป เพราะไม่ได้รับการปฎิบัติตามกฎหมาย

คณะทำงานพยายามติดตามข้อเท็จจริงว่า ตัวเลขแรงงานฯ ที่ถูกจับกุมประมาณ 500 คน นั้นได้มาอย่างไร จึงขอให้ร้อยเวรฯ ติดต่อกับ สตม.จังหวัดพังงา เพื่อตรวจสอบจำนวนแรงงานฯ ที่รอการส่งกลับว่ามีจำนวนเท่าใด ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ สตม. จังหวัดพังงา ว่าแรงงานที่รอการส่งกลับขณะนี้ (8 มกราคม 2548) มีจำนวน 22 คน ซึ่งส่งตัวมาจาก อำเภอตะกั่วป่า แต่ระหว่างวันที่ 1-8 มกราคม 2548 ได้ส่งกลับแรงงานฯ ไปแล้ว จำนวน 596 คน ผ่านจังหวัดระนองไปยังเกาะสองประเทศพม่า

15.00 น. คณะทำงานเดินทางกลับมาจากเขาหลัก เพื่อสรุปสถานการณ์ร่วมกับ ngo ขององค์กรพม่า โดยแจ้งว่าจำนวนแรงงานพม่าที่ถูกจับกุมโดยตำรวจสถานีอำเภอตะกั่วป่า และมีแรงงวานพม่าจำนวน 9 คน ถูกจับกุม ข้อหาลักทรัพย์ผู้ประสบภัย ถูกฝากขังที่เรือนจำ อ.ตะกั่วป่า นอกจากนี้ได้ขอให้ ngo ของพม่า สำรวจจำนวนแรงงานพม่าที่เสียชีวิตและผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือว่ามีจำนวนเท่าใด และอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง

18.30 น.เดินทางกลับถึง จ.ภูเก็ต

9 มกราคม 2548
10.00น. สอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่มูนนิธิศุภนิมิตร จ.ภูเก็ต ได้รับแจ้งว่าไม่มีตัวเลขผู้เสียชีวิตชาวพม่า เพราะได้ตรวจสอบความเสียหาย ปรากฏว่า เป็นพ่อค้า แม่ค้า บริเวณชายหาด และนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างประเทศ ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ ในช่วงเวลาเกิดเหตุ ทราบข่าวว่า มีแรงงานฯ เสียชีวิต บริเวณหมู่บ้านชาวประมง เมื่อเข้าไปตรวจสอบในกลุ่มแรงงานฯ และญาติของแรงงานฯ ก็ไม่ปรากฏว่ามีแรงงานฯ เสียชีวิตแต่อย่างใด
16.00 น. คณะทำงานเดินทางกลับมายังองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางม่วง จ.พังงา ซึ่งเป็นสถานที่จัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยบ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จำนวนผู้เสียชีวิตคาดว่ามีประมาณ 2,000 คน ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งในจำนวนนี้ทีแรงงานฯ รวมอยู่ด้วย เพราะเป็นพื้นที่ของชุมชนที่ทำอาชีพประมง มีแรงงานฯ อาศัยอยู่ ทางคณะทำงานซึ่งปรึกษากับเจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบดูแลศูนย์ให้ความช่วยเหลือ โดยได้ขอให้เปิดศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือแรงงานฯ ขึ้นอีกส่วนหนึ่งด้วย คุณจำนงค์ได้รับข้อเสนอและขอให้คณะทำงานส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมสนับสนุนด้วย และคาดว่าจะดำเนินการเปิดศูนย์ได้เร็วที่สุดภายใน 2-3 วันข้างหน้า ซึ่งขณะนี้คณะทำงานได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่ เพื่อประสานงานการจัดตั้งศูนย์ฯ แล้ว

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net