Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 12 ม.ค.48 กรีตยาจารย์ มธ. "ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์" ฟันธง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรจะยิ่งผูกขาดอำนาจทางการเมืองหลังเลือกตั้งเดือนหน้า

"อำนาจผูกขาดทางการเมืองของพรรคไทยรักไทยและพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะยิ่งมีมากขึ้น หลังจากเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ทั้งในตลาดพรรคการเมือง ตลาดนักการเมือง และตลาดข้าราชการ ขณะเดียวกันก็เป็นที่คาดได้ว่าการนำเสนอเมนูนโยบายชุดเอื้ออาทรเพื่อเสริมความภักดีของประชาชนที่มีต่อระบอบทักษิณธิปไตยจะมีมากขึ้น" ส่วนหนึ่งในปาฐกถาของศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เนื่องในโอกาสรับตำแหน่งกีรตยาจารย์ ประจำปี 2546

ศ.รังสรรค์กล่าวว่า ระบอบทักษิณาธิปไตยถือกำเนิดจากอคติของรัฐธรรมนูญที่เชื่อว่าพรรคใหญ่ดีกว่าพรรคเล็ก ได้ขยายฐานการเมืองโดยการควบรวมกลุ่มการเมืองอื่น และทำการตลาดการเมือง (political maketing) ด้วยการสร้างยี่ห้อพรรคไทยรักไทย และสร้างยี่ห้อทักษิโณมิกส์ ซึ่งเป็นเมนูนโยบายเศรษฐกิจของพรรคที่มีลักษณะเป็นประชานิยม มุ่งให้ประชาชนเกิดความภักดีต่อพรรค จนส่งผลให้สามารถผูกขาดตลาดพรรคการเมือง นักการเมือง วุฒิสภา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ด้วย

ศ.รังสรรค์กล่าวถึงสาระสำคัญของทักษิโณมิกส์ว่า คือนโยบายการพัฒนาทวิวิถี (Dual - Track Development Strategy) ที่เน้นทั้งนโยบายเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ และนโยบายรากหญ้า อย่างไรก็ตาม ก็มีลักษณะเลื่อนไหลไม่คงที่ โดยช่วงก่อนเลือกตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ ขี่กระแสชาตินิยมทางเศรษฐกิจ จนชนะการเลือกตั้ง แต่เมื่อเป็นรัฐบาลกลับเร่งเครื่องเปิดประเทศยิ่งกว่ารัฐบาลก่อนๆ

ส่วนลักษณะการจัดการภายใต้รัฐบาลทักษิณ ศ.รังสรรค์กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งเน้นการบริหารแบบซีอีโอ แต่จากการตรวจสอบประวัติทั้งของพ.ต.ท.ทักษิณ และของคณะรัฐมนตรี ไม่มีใครเคยเป็นซีอีโอ ตรงกันข้าม พ.ต.ท.ทักษิณมีลักษณะเป็นเถ้าแก่ที่รวบอำนาจในการตัดสินใจ ทำให้มีการปรับคณะรัฐมนตรีบ่อย โดยมีรัฐมนตรีขาประจำซึ่งดำรงตำแหน่งเดิมตั้งแต่ต้นจนครบวาระเพียง 4 คนและมีรัฐมนตรีฝึกหัดจำนวนมาก ขาดการวิพากษ์วิจารณ์กันในรัฐบาล นายกรัฐมนตรีต้องการเป็นผู้ชี้นำ โดยให้ข้าราชการหรือแม้แต่กลุ่มขุนนางนักวิชาการ (technocrat) เป็นผู้ตอบสนองนโยบาย

"เทคโนแครตเสื่อมไปมาก ทั้งจากความเสื่อมศรัทธาจากวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 และเสื่อมด้วยตัวเอง เพราะ" กฎเหล็ก" ที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สถาปนาเพื่อธำรง "พรหมจรรย์ของขุนนางนักวิชาการ" ในข้อที่ไม่ข้องแวะกับผลประโยชน์ทางธุรกิจถูกทำลายลงอย่างราบคาบ และตกต่ำถึงขีดสุดในยุครัฐบาลทักษิณ เพราะไม่ต้องการให้กลุ่มนี้มาชี้นำการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหาภาค" ศ.รังสรรค์กล่าว

นอกจากนี้ศ.รังสรรค์ยังวิพากษ์นโยบายด้านการคลังว่า รัฐบาลดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง ด้วยการระดมทรัพยากรจากสถาบันการเงินของรัฐไปใช้จ่ายในโครงการต่างๆ มากมาย สร้างภาวะความเสี่ยงทางการคลัง เพราะไม่มีกลไกการตรวจสอบและคานอำนาจ อีกทั้งการกู้เงินจากสถาบันการเงินของรัฐและการเงินนอกงบประมาณไปจ่ายช่วยอำพรางส่วนขาดดุลของภาครัฐบาล และอำพรางภาระทางการคลัง ทำให้ยากแก่การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจมหภาคอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ศ.รังสรรค์ระบุว่าระบอบทักษิณาธิปไตยจะมีเสถียรภาพหรือไม่ และอายุขัยจะยืนยาวเพียงใดขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัย ได้แก่ ความลงตัวในการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในพรรคไทยรักไทย ความเสี่ยงในการเกิดภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการดำเนินนโยบายสุ่มเสี่ยงของพรรคไทยรักไทย และวิกฤตทางการเมืองอันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน

"การขยายเมนูนโยบายเอื้ออาทรอาจช่วยรักษาเสถียรภาพของระบอบทักษิณาธิปไตยได้ เพราะช่วยขยายฐานประชาชนที่มีความภักดีต่อพรรคไทยรักไทย แต่ระดับความอดทนของประชนชนที่มีต่อการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนบุคคลของชนชั้นปกครองก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อเสถียรภาพของระบอบนี้ หากดูดซับส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากกระบวนการบริหารนโยบายเกินเลยระดับความอดทนของประชาชน ระบอบทักษิณาธิปไตยก็ยากที่จะยั่งยืนสถาพรได้" ส่วนหนึ่งของปาฐกถาว่าด้วยอนาคตของระบอบทักษิณาธิปไตย

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net