Skip to main content
sharethis

เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน
11 มกราคม 2547

สถานการณ์ชุมชนชายฝั่งอันดามัน
ชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามันส่วนใหญ่เป็นชุมชนมุสลิมเชื้อสายมาลายู รองลงมาเป็นชุมชนที่นับถือศาสนาพุทธ และชุมชนชาวเลชนเผ่า มอแกน และอูรักลาโว้ย ใน 6 จังหวัดอันดามันมีชุมชนชาวประมงพื้นบ้านตลอดแนวชายฝั่งและเกาะ รวม 418 ชุมชน

ความสูญเสียของชุมชนชายฝั่งจากคลื่นยักษ์ในเหตุการณ์วันที่ 26 - 27 ธันวาคม 2547 จำแนกลักษณะผลกระทบที่เกิดขึ้นได้สองระดับ ได้แก่ ชุมชนที่ประสบความสูญเสียอย่างหนักในระดับวิกฤติกล่าวคือ เป็นชุมชนที่บ้านพังทั้งหมู่บ้าน เรือและเครื่องมือประมงเสียหายเกือบทั้งหมด หรือชนทะเลกลุ่มน้อยประกอบด้วย มอแกน และอูรักลาโว้ย และชุมชนที่ประสบปัญหาในระดับบ้านพังบางหลัง เรือและเครื่องมือประมงเสียหาย และที่นา แปลงผักเสียหาย

ชุมชนที่ประสบปัญหาในระดับวิกฤติจำนวน 30 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านบางเบน บ้านอ่าวเคย บ้านหน้านอก บ้านทะเลนอก บ้านทบเหนือ บ้านแพกำพวน จังหวัดระนอง ชุมชน 4 หมู่บ้านในเกาะระ เกาะพระทอง ชุมชน 4 หมู่บ้านที่เกาะคอเขา บ้านปากเตรียม บ้านน้ำเค็ม ชุมชน 2 หมู่บ้านที่แหลมปะการัง และชุมชนในทับละมุ จังหวัดพังงา ชุมชนมอแกนและอูรักลาโว้ย 3 ชุมชน ที่หาดราไวย์ สะปำ และสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต ชุมชนอูรักลาโว้ย 2 ชุมชนในหมู่เกาะพีพี และบ้านสังกาอู้ บ้านหัวแหลม เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ บ้านเกาะมุกต์ จังหวัดตรัง บ้านบ่อเจ็ดลูก และ 2 หมู่บ้านในเกาะสาหร่าย จังหวัดสตูล

ชุมชนที่ประสบปัญหาในระดับรองลงมาที่สามารถสำรวจได้ในระยะต้นนี้มีจำนวน 124 ชุมชน ใน 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน

สรุปความสูญเสียของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านจากการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเร่งด่วน 186 หมู่บ้าน 18 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ ใน 6 จังหวัด ชายฝั่งทะเลอันดามัน

ผู้เสียชีวิต 272 คน สูญหาย 26 คน (ไม่รวมข้อมูลน้ำเค็ม เขาหลัก เกาะพีพี ซึ่งผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายยังอยู่ในช่วงการกู้ภัย ประมาณเบื้องต้นจังหวัดพังงาผู้เสียชีวิต 4,900 คน สูญหาย 6,000 คน)

บ้านพังทั้งหลัง 715 หลัง พังบางส่วน 120 หลัง ทรัพย์สินในบ้านเรือนเช่น เครื่องครัว เครื่องเรือน เสียหายจำนวนมาก เรือพร้อมเครื่องยนต์ 2,477 ลำ เครื่องมือการปะมง เช่น อวนปู ลอบปลาหมึก จำนวน 37,377 ชุด กะชังปลา กะชังหอย จำนวน 15,534 กะชัง

เมื่อเกิดเหตุการณ์วันที่ 26 ธันวาคม 2547 องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานพัฒนาร่วมกับชุมชนชายฝั่ง อันดามันอยู่เดิม ได้แบ่งทีมงานลงประจำพื้นที่ วันที่ 26 ธันวาคม 2547 - วันที่ 4มกราคม 2548 เป็นช่วงเวลาของการหลบภัย การค้นหาผู้สูญหาย การทำพิธีศพตามศาสนา การตั้งเพิงพักชั่วคราว การประสานงานกับหน่วยงานต่างๆเพื่อบรรเทาทุกข์เบื้องต้นด้านอาหาร และสุขภาพ รวมทั้งการสำรวจความสูญเสียที่เกิดขึ้น วันที่ 28 ธันวาคม 2547 องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรสาธารณประโยชน์ในภาคใต้ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนในส่วนกลางและภาคต่างๆ ได้ร่วมจัดตั้ง เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน เพื่อระดมพลังการทำงานร่วมกัน

ปัจจุบันสถานการณ์ของชุมชนชายฝั่งในหลายพื้นที่อยู่ในสภาวะตั้งหลักได้แล้ว หลายชุมชนได้จัดตั้งคณะกรรมการหรือใช้องค์กรชุมชนเดิมที่มีอยู่เป็นองค์กรหลักในการประสานการบรรเทาทุกข์ จัดระบบเพื่อซ่อมแซมเรือ เครื่องยนต์ เครื่องมือการประมงเพื่อเริ่มต้นอาชีพใหม่ และเริ่มต้นหารือเพื่อวางแผนฟื้นฟูชุมชน

ในส่วนจังหวัดพังงาโดยเฉพาะบ้านน้ำเค็มซึ่งประสบความสูญเสียชีวิตและมีผู้สูญหายจำนวนมาก ชุดอาสาสมัครของเครือข่ายได้ร่วมกับทางราชการจัดทำเพิงพักชั่วคราว และสนับสนุนการทำงานของหน่วยค้นหาผู้สูญหาย และผู้เสียชีวิต ด้วยการช่วยจัดระบบข้อมูลผู้เสียชีวิตเพื่อญาติจะค้นหาและนำไปประกอบพิธีทางศาสนาได้ จัดทำข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับรูปพรรณ และลักษณะพิเศษของผู้สูญเสีย ปัจจุบันจุดตรวจสอบข้อมูลผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายสามารถตรวจสอบได้ที่ วัดย่านยาว จังหวัดพังงา

แนวทางการฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน
ระยะบรรเทาทุกข์และวางระบบชุมชน

พื้นที่วิกฤติ จัดทำเพิงพักชั่วคราว สนับสนุนด้านอาหาร ดูแลสุขภาพโดยเฉพาะแม่และเด็ก การจัดระบบองค์กรชุมชนและการฟื้นฟูพลังร่วม รวมทั้งจัดทุนการศึกษาบางส่วนที่จำเป็นในรายที่บุตรกำลังศึกษา ในบางพื้นที่ซึ่งสามารถเริ่มต้นการประกอบอาชีพได้ต้องเร่งซ่อมแซมเรือ เครื่องเรือ เครื่องมือการประมง เพื่อให้ชุมชนสามารถเริ่มต้นยืนหยัดขึ้นสู่การพัฒนาตนเองอีกครั้ง

พื้นที่ประสบปัญหารอง เฉพาะหน้าจัดระบบองค์กรชุมชนเพื่อทำหน้าที่รวมพลังฟื้นฟูตนเองของชุมชน สนับสนุนอาหารในระหว่างการสร้างเรือใหม่ เร่งสนับสนุนการซ่อมเรือ ซ่อมเครื่องยนต์เรือ เนื่องจากทิ้งไว้จะทำให้มีความเสียหายมากขึ้น เร่งจัดหาเครื่องมือการประมง และจัดสร้างเรือใหม่ในรายที่ประสบความสูญเสียเรือ ทั้งลำ

ระยะนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ถึง 3 เดือนแล้วแต่สภาพความสูญเสียของแต่ละชุมชน การดำเนินงานในระยะนี้ทางราชการได้มีระบบการสนับสนุนอยู่ด้วยเช่นกันโดยมีการช่วยเหลือเร็วช้าแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ จากการประสานความช่วยเหลือกับทางราชการ การซ่อมแซมเรือ เครื่องยนต์ และการจัดหาเครื่องมือใหม่ของทางราชการเป็นการช่วยเหลือบางส่วนต้องมีการสนับสนุนเพิ่มเติม

ในส่วนของการสร้างบ้านใหม่ต้องจัดให้มีการหารือร่วมระหว่างชุมชนกับทางราชการเพื่อให้สถานที่ตั้งบ้านและลักษณะชุมชนสอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน

แนวทางการดำเนินงานในระยะนี้ชุมชนที่ไม่มีองค์กรชุมชนอยู่เดิมต้องเร่งจัดระบบองค์กรชุมชน เพื่อเป็นองค์กรหลักในการรับและจัดสรรความช่วยเหลือจากภายนอก รวมทั้งระดมพลังความร่วมมือกันภายในชุมชน

เมื่อสามารถจัดระบบได้รวมทั้งในชุมชนที่มีความพร้อมอยู่เดิม ให้องค์กรชุมชนเป็นองค์กรหลักในการสนับสนุนการซ่อมแซมเรือ ซ่อมแซมเครื่องเรือ จัดหาเครื่องมือการประมง จัดทำเรือใหม่ โดยเครือข่ายสนับสนุนทุนในการดำเนินงานผ่านองค์กรชุมชน

ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มแล้วต่อมาภายหลังได้รับการช่วยเหลือจากกรมประมงให้คืนเงินทุนความช่วยเหลือบางส่วนตามสภาพความเสียหายและค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้จริง แก่กลุ่มเพื่อเป็นทุนสำหรับองค์กรชุมชนในการดำเนินงานฟื้นฟูชุมชนในระยะยาว ซึ่งคาดว่า องค์กรชุมชนน่าจะได้รับทุนคืนร้อยละ 50 ของทุนที่สนับสนุนสมาชิก

ระยะฟื้นฟูชุมชน

องค์กรชุมชนจะเป็นองค์กรหลักในการดำเนินงานฟื้นฟูชุมชน ซึ่งจะมีความแตกต่างกันตามสภาพและวิถีของแต่ละชุมชนซึ่งต้องการเวลาและกระบวนการในการวางแผนปฏิบัติการในรายละเอียด แนวทางเบื้องต้นประกอบด้วย การจัดระบบทุนกลางของชุมชนเพื่อหนุนช่วยการพัฒนาอาชีพ การจัดพัฒนาอาชีพ การสำรวจและดำเนินการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การปลูกเสริมป่าชายเลน การจัดระบบดูแลหญ้าทะเล การจัดทำปะการังเทียมพื้นบ้าน การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ การฟื้นฟูดอนหอย เป็นต้น

เพื่อให้ชุมชนสามารถดำเนินกิจกรรมข้างต้น จะมีการจัดกระบวนการศึกษาและวางแผนการทำงานแบบมีส่วนร่วม การเสริมทักษะเฉพาะด้าน และการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อเพิ่มอำนาจการวิเคราะห์ให้กับองค์กรชุมชน

กระบวนการประสานพลังชุมชนกอบกู้วิกฤติ

ชุมชนที่มีองค์กรชาวประมงพื้นบ้านอยู่ก่อนเกิดภัยคลื่นยักษ์ องค์กรชุมชนเป็นองค์กรหลักในการบรรเทาทุกข์ สำรวจความเสียหาย จัดระบบซ่อมสร้างเรือ และบ้าน เมื่อดำเนินการชุมชนของตนเองในระดับบรรเทาทุกข์เบื้องต้นได้แล้ว

เริ่มการสำรวจความเสียหายของชุมชนข้างเคียงและสนับสนุนให้แต่ละชุมชนจัดระบบองค์กรภายในเพื่อดำเนินการบรรเทาทุกข์ และเริ่มกระบวนการฟื้นฟูชุมชน

เมื่อชุมชนจัดระบบได้ลงตัว ข้อมูลผู้เสียหายและความช่วยเหลือที่จำเป็นสำหรับการเริ่มต้นประกอบอาชีพใหม่เสร็จ ในจังหวัดที่มีชมรมชาวประมงพื้นบ้านเป็นเครือข่ายความร่วมมือของชาวประมงพื้นบ้านอยู่เดิมจะนำข้อมูลเข้าสู่การประชุมแลกเปลี่ยนร่วมเพื่อร่วมทุกข์ร่วมสุข และจัดสรรความช่วยเหลือเร่งด่วนเพื่อประสานการสนับสนุนจากเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน ในจังหวัดที่เครือข่ายความร่วมมือไม่มีกำลังเพียงพอในการเกื้อกูลชุมชนอื่น เมื่อชุมชนจัดระบบภายในลงตัวให้ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามันได้เป็นรายชุมชน

เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามันจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆเพื่อสนับสนุนชุมชนทั้งในส่วนการช่วยเหลือแบบให้เปล่า เช่น สร้างอู่ซ่อมเรือแบบพื้นบ้าน เครื่องมือต่อเรือ เป็นต้น และสนับสนุนงบประมาณซ่อมเรือซ่อมเครื่องเป็นเงินยืมในนามกลุ่มหรือชมรมกับเครือข่ายฯ

เมื่อทุกชุมชนสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติจะทบทวนเงินยืมทั้งหมด บางส่วนจะตัดจ่ายในรายที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐหรือได้รับจากรัฐไม่เพียงพอ บางส่วนจะให้ชำระคืนทันทีบางส่วน ผ่อนชำระบางส่วนหากได้รับความช่วยเหลือจากรัฐเพียงพอแต่มีความจำเป็นต้องนำเงินไปดูแลครอบครัวเนื่องจากเป็นผู้ขัดสนยากจน บางส่วนจะให้ชำระคืนทั้งหมด

ทุนที่ชำระคืนส่วนหนึ่งจะเป็นกองทุนขององค์กรชุมชนเพื่อเป็นกองทุนของชุมชนในการฟื้นฟูทรัพยากรและอาชีพในระยะยาว ส่วนหนึ่งจะคืนให้กับชมรมชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดเพื่อแบ่งปันการเกื้อกูลกันระหว่าง

ชุมชน ส่วนหนึ่งจะคืนเงินยืมให้กับสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านซึ่งสำรองเงินทุนของสมาพันธ์ฯมาช่วยเหลือชุมชนสมาชิก 1,500,000 บาท เพื่อให้กองทุนสำหรับชาวประมงพื้นบ้านใน 13 จังหวัดภาคใต้ดำรงอยู่เกื้อกูลกันต่อไป

ในกระบวนการทำงานทั้งหมดเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน ได้ระดมคนจากทุกส่วนเข้าร่วมการทำงานกับชาวบ้าน

องค์กรชาวประมงพื้นบ้านประสานพลังซ่อม สร้างเรือ

จังหวัดสตูล
ชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูลได้ดำเนินการสำรวจความเสียหายของหมู่บ้านสมาชิกและชุมชนชายฝั่งในจังหวัดสตูล 4 อำเภอ พบชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์จำนวน 33 หมู่บ้าน เรือเสียหายในระดับที่ซ่อมแซมได้ 436 ลำ เรือพังหรือสูญหายต้องสร้างใหม่ 21 ลำ เครื่องยนต์ 192 ลูก อุปกรณ์ประมง 622 ราย

ชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล จะดำเนินการซ่อมแซมเรือและเครื่องยนต์เร่งด่วนโดยกระจายจุดซ่อมในรายที่ความเสียหายเล็กน้อยตามหมู่บ้านต่างๆ และตั้งอู่พื้นบ้านซ่อมสร้างเรือใหม่ที่บ้านบ่อเจ็ดลูก และบ้านปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู เนื่องจากงบประมาณมีจำกัดในระยะเร่งด่วนจะดำเนินการซ่อมสร้างเรือบ้านบ่อเจ็ดลูก บ้านปากบารา บ้านตะโละใส บ้านท่ามาลัย ตำบลปากน้ำ 4 หมู่บ้านในตำบลขอนคลาน บ้านหัวหินบ้านปากบาง บ้านปากละงู ตำบลละงู 3 หมู่บ้านในตำบลเกาะสาหร่าย บ้านสาครใต้ บ้านคลองลิดี ตำบลสาคร เบื้องต้นต้องการสนับสนุนงบประมาณจากเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน จำนวน 1,700,000 บาท (หนึ่งล้านเจ็ดแสนบาทถ้วน)

เครือข่ายสามารถสนับสนุนได้เบื้องต้น 1,000,000 บาท หากได้รับการสนับสนุนทุนเพิ่มเติมจากผู้บริจาคจะสนับสนุนส่วนที่เหลือ

จังหวัดตรัง
ชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรังได้ดำเนินการสำรวจความเสียหายของหมู่บ้านสมาชิกและชุมชนชายฝั่งใน 4 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอของจังหวัด มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์จำนวน 34 หมู่บ้าน เรือและเครื่องเรือเสียหายในระดับที่ซ่อมแซมได้ 285 ลำ เรือพังหรือสูญหายต้องสร้างใหม่ ลำ กะชัง 666 ห้อง บ้านพัง หลัง อุปกรณ์ประมง ชุด

ชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง จะดำเนินการซ่อมแซมเรือและเครื่องยนต์เร่งด่วนโดยกระจายจุดซ่อมในรายที่ความเสียหายเล็กน้อยตามหมู่บ้านต่างๆ และตั้งอู่พื้นบ้านซ่อมสร้างเรือใหม่ที่บ้านบาตูปูเต๊ะ ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง

ชมรมฯ ได้พิจารณาความช่วยเหลือสำหรับชุมชนจัดระบบชุมชนพร้อมสร้าง ซ่อมเรือ และจัดทำเครื่องมือการประมง จำนวน 97 ลำ เครื่องมือประมง 7 ราย ในบ้านนาชุมเห็ด บ้านแหลม เกาะสุกร บ้านตะเสะ บ้านปากคลอง บ้านทุ่งทอง บ้านน้ำราบ บ้านหาดทรายแก้ว บ้านพร้าว บ้านบาตูปูเต๊ะ บ้านหลังเขา บ้านฉางหลาง งบประมาณรวม 1,501,495 บาท

เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามันสามารถสนับสนุนได้เบื้องต้น 939,370 บาท หากได้รับการสนับสนุนทุนเพิ่มเติมจากผู้บริจาคจะสนับสนุนส่วนที่เหลือ

ชมรมฯตรัง ได้ประสานช่างเรือ 8 คน เพื่อไปช่วยซ่อมสร้างเรือให้กับชาวมอแกนที่หาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต โดยจะไปถึงวันที่ 12 มกราคม 2548 ก่อนเที่ยง

การประมูลภาพเขียนที่สถาบันเกอแตร์ ได้พิจารณาสนับสนุนงบประมาณ 150,000 บาท สำหรับการตั้งอู่ซ่อมสร้างเรือที่บ้านบาตูปูเต๊ะ

จังหวัดกระบี่

ชุมชนอูรักบาโว้ยบ้านสังกาอู ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จัดระบบองค์กรชุมชนและ
สรุปความเสียหายที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนเพื่อให้สามารถออกทะเลได้อีกครั้งในวันที่ 10 มกราคม 2548 สรุปเรือทั้งหมู่บ้านมีจำนวน 78 ลำ ส่วนใหญ่เป็นเรือ 21 กง เสียหายในระดับซ่อมแซมได้ 68 ลำ พังทั้งลำและสูญหายต้องสร้างใหม่ทั้งเรือและเครื่องยนต์เรือ จำนวน 9 ลำ

เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน ได้ประสานความร่วมมือกับศูนย์ยันมาร์กระบี่ เริ่มดำเนินการซ่อมวันที่ 11 มกราคม 2548 โดยประธานชมรมการท่องเที่ยวอำเภอเกาะลันตา หอการค้าจังหวัดกระบี่ และอำเภอเกาะลันตา จะระดมทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเครื่องยนต์เรือทั้งหมด

สำหรับไม้ซ่อมสร้างเรือ 77 ลำ และชุดหางเรือประมาณ 25 ชุด ต้องใช้งบประมาณรวม 400,000 บาท ประสานงานให้ทางเครือข่ายฯ สนับสนุนเป็นเงินยืมในเบื้องต้น

เครือข่ายฯยังไม่ได้สนับสนุนเนื่องจากรอการสรุปข้อมูลครั้งสุดท้ายในวันที่ 12 มกราคม 2548 และจะสนับสนุนได้ภายในวันที่ 14 มกราคม 2548 เป็นอย่างช้า และชุมชนมีช่างซ่อมสร้างเรืออยู่ในชุมชนแล้ว 10 คน

บ้านคลองเตาะ ตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง เรือเสียหาย 13 ลำ เสียหายเล็กน้อยและชุมชนดำเนินการซ่อมแซมเองจำนวน 9 ลำ เสียหายหนักต้องการความช่วยเหลือในรูปเงินยืมซ่อมสร้างเรือและจัดหาอุปกรณ์การประมง 83,500 บาท สำหรับซ่อมเครื่อง 20,000 บาท ซ่อมเรือ 42,000 บาท จัดซื้อเครื่องกว้านไซปลาหมึก 20,500 บาท จัดทำไซ 6,000 บาท บ้านคลองเตาะจัดตั้งคณะกรรม
การฟื้นฟูชุมชนรวม 12 คน

บ้านเกาะปู ตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง เรือและเครื่องยนต์เสียหายในระดับซ่อมแซมได้ 44 ลำ เสียหายเฉพาะเครื่องยนต์ 1 ราย เครื่องปั่นไปเสียหาย 1 ราย กระชังเสียหาย 1 ราย ผู้รับผิดชอบครอบครัวเสียชีวิต 5 รายพร้อมเรือและเครื่องยนต์เรือเสียหาย นายร่อเฉด ชาญน้ำ นายสมหมาย บ้าเหร็ม นายบัญชา ผิวดี นายสปัน ทำสวน นายอาจ มานพ บาดเจ็บสาหัส 1 รายเรือและเครื่องยนต์เรือเสียหาย นายไพโรจน์ อ่อนแอ

ชุมชนอูรักลาโว้ย อ่าวโล๊ะลาน่า เกาะพีพี 23 ครอบครัว ตั้งแคมป์อพยพที่มัสยิดไสไทย อำเภอเมืองกระบี่ ยังไม่สามารถจัดระบบการทำงานร่วมเพื่อสร้างพลังการฟื้นฟูชุมชนได้ต้องดำเนินการต่อ

จังหวัดภูเก็ต

ชุมชนชนเผ่าอูรักลาโว๊ยและมอแกนที่บ้านราไวย์ เรือในหมู่บ้านมี 62 ลำ พังและสูญหายต้องสร้าง
ใหม่ 9 ลำ เสียหายต้องซ่อมหนัก 18 ลำ เสียหายซ่อมแซมเล็กน้อย 35 ลำ ช่างเครื่องเรือจากเกาะยาวน้อยจังหวัดพังงาเดินทางมาช่วยซ่อมเครื่องเรือเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2548 จนถึงปัจจุบันใกล้ซ่อมเสร็จ จากนั้นจะไปช่วยซ่อมเครื่องที่บ้านสิเหร่

การซ่อมแซมเรือและจัดสร้างเรือใหม่จะเริ่มในวันที่ 12 มกราคม 2548 โดยช่างต่อเรือจากชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรังจำนวน 8 คน

งบประมาณการซ่อมสร้างเรือและเครื่องยนต์เบื้องต้นได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนซึ่งเป็นองค์กรในเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน จำนวน 250,000 บาท

ชนเผ่าอูรักลาโว้ย บ้านสิเหร่ เรือทั้งหมด 47 ลำ เสียหายทั้งหมดบ้านเสียหาย 36 หลัง ต้องซ่อมหนัก
9 หลัง ซ่อมปานกลาง 27 หลัง ปัจจุบันอยู่ในระยะซ่อมแซมบ้าน ยังไม่ได้เริ่มซ่อมแซมเรือ ช่างเครื่องจากเกาะยาวน้อยเมื่อซ่อมเรือที่ราไวย์เสร็จจะไปประจำการซ่อมเครื่องเรือที่บ้านสิเหร่ งบประมาณการซ่อมบ้านได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

เครือข่ายความร่วมมือพื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน กำลังสำรวจความเสียหายและประสานการจัดระบบองค์กรชุมชนที่เกาะพร้าว ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมือง บ้านกมลา ตำบลกมลา อำเภอกะทู้ บ้านบางเทา ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง ยังไม่สามารถสรุปการสนับสนุนได้

จังหวัดพังงา

บ้านทุ่งดาบ บ้านปากจก ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี หมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน ปัจจุบันอยู่ในแคมป์ผู้ลี้ภัย ในที่ดินซึ่งนายกิจ ศรีฟ้า ให้พักพิงโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายที่ท่าทุ่งละออง และแคมป์ผู้ลี้ภัยในที่ดินซึ่งนายดิษฐ์พงษ์ วิชัยดิษฐ์ให้พักพิงโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายที่ท่าหินลาด ทั้งสองชุมชนอยู่ในระยะระดมความคิด สร้างพลังชุมชนก่อนตัดสินใจว่าจะเริ่มสร้างชุมชนใหม่อย่างไร ที่ไหน

บ้านท่าแปะโย้ย ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี ชาวบ้านกลับไปอยู่ในหมู่บ้านเดิมหลังจากที่หลบภัยมาตั้งแคมป์ผู้ลี้ภัยที่อำเภอเมืองคุระบุรี เนื่องจากเป็นชุมชนที่ประสบความเสียหายเฉพาะเรือและเครื่องมือประมง ชุมชนอยู่ระหว่างหารือระบบการซ่อมแซมเรือและเครื่องยนต์

กลุ่มกรีนพีช ได้จัดเรือยางและนักดำน้ำ กำลังดำกู้เครื่องเรือที่จมอยู่ในทะเล เพื่อนำมาซ่อมแซมใช้ใหม่

ชุมชนที่เกาะคอเขา จำนวน 4 หมู่บ้าน ซึ่งประสบความเสียหายอย่างหนัก เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน จะเริ่มดำเนินการสำรวจแนวทางการฟื้นฟูชุมชนแต่ละชุมชนได้ใน 2 หรือ 3 วันข้างหน้าหลังจากที่ภารกิจที่เกาะพระทองเบาบางลง

แคมป์ผู้ลี้ภัยบ้านน้ำเค็ม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และอาสาสมัครจากเครือข่ายความร่วมมือฯ
กำลังสร้างบ้านพักชั่วคราวให้ได้ครบ 500 หลังและร่วมดูแลผู้ลี้ภัยในแคมป์

จังหวัดระนอง

บ้านบางมัน บ้านบางกล้วยนอก บ้านแหลมนาว ตำบลนาคา บ้านทะเลนอก บ้านทับเหนือ บ้านหาด
ทรายขาว กิ่งอำเภอสุขสำราญ ซึ่งมีชุมชนชาวประมงพื้นบ้านที่ประสบความเสียหายอย่างหนักใน3 ชุมชน ตำบลกำพวน ชมรมชาวประมงพื้นบ้าน อำเภอสุขสำราญได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานราชการ มูลนิธิรักบ้านเกิดและกลุ่มบริษัทดีแทค จัดหาอาหารเพื่อบรรเทาทุกข์เฉพาะหน้าและกำลังเข้าสู่กระบวนการสร้างบ้าน และสร้างซ่อมเรือ โดยยังไม่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามันในระยะนี้

ชุมชนชายฝั่งในพื้นที่ตำบลราชกรูด อำเภอเมือง บ้านอ่าวเคย บ้านบางเบน ตำบลม่วงกลาง อำเภอกะเปอร์และ บ้านหง่าว อำเภอเมือง บ้านปากเตรียม และบ้านเตรียม ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จากอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กำลังดำเนินการจัดระบบการบริหารความช่วยเหลือของชุมชน

สรุปกิ่งอำเภอสุขสำราญ อำเภอกะเปอร์ อำเภอเมือง บ้านเรือนเสียหายจำนวน 304 หลัง เสียชีวิต 146 คน เรือเสียหาย 1,053 ลำ กระชัง เสียหาย 307 กระชัง เครื่องมือประมงกำลังอยู่ในระหว่างการสำรวจ

งบประมาณ
ระยะบรรเทาทุกข์ อาหารประสานความร่วมมือกับหน่วยงานราชการและจุดรับบริจาคของเอกชน การซ่อมแซมเรือ เครื่องยนต์ และเครื่องมือการประมง1,700 ชุด เฉลี่ยชุดละ 20,000 บาท รวม 34 ล้านบาท การสร้างบ้านพักชั่วคราวจำนวน 500 หลัง หลังละ 15,000 บาท จาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

ระยะฟื้นฟูต้องจำทำแผนและจัดทำงบประมาณอีกครั้งโดยประมาณชุมชนละ 1,000,000 บาท ในระยะเวลา 3 ปี

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net