แรงงานพม่าเหยื่อซึนามิตาย-สูญหายหลายพัน

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-12 ม.ค.48 รายงานข่าวจากศูนย์ข่าวสาละวินแจ้งว่า เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติได้เปิดเผยว่า เหตุการณ์คลื่นยักษ์ซึนามิทำให้แรงงานพม่าในจังหวัดพังงาต้องสูญเสียญาติพี่น้องหลายพันคน โดยผู้รอดชีวิตยังขาดโอกาสเข้าถึงความช่วยเหลือด้านความจำเป็นขั้นพื้นฐานอย่างเพียงพอ

นอกจากนี้ ยังต้องอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ เนื่องจากบัตรประจำตัวแรงงานที่ขึ้นทะเบียนไว้สูญหาย ไปกับคลื่นยักษ์ และเผชิญกับอคติทางเชื้อชาติอย่างรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐและชุมชนในพื้นที่หลังมีข่าวแรงงานพม่าถูกจับในข้อหาขโมยทรัพย์สิน

นางสาวปรานม สมวงศ์ ตัวแทนเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติซึ่งกำลังช่วยเหลือแรงงานพม่าที่ประสบภัยจากคลื่นยักษ์ซึนามิที่จังหวัดพังงาเปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มแรงงานย้ายถิ่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานพม่าในเขต 6 จังหวัดภาคใต้กำลังประสบปัญหาในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยในชีวิตและความช่วยเหลือทางความจำเป็นขั้นพื้นฐาน อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยซึ่งยังเข้าไปไม่ได้ถึงกลุ่มคนเหล่านี้

จุดที่พบความสูญเสียมากที่สุด คือ แรงงานพม่าในหมู่บ้านน้ำเค็ม ขณะนี้ พบแรงงานพม่าเสียชีวิตแล้วมากกว่าหนึ่งพันคน และยังสูญหายอีกหลายพันคน เนื่องจากช่วงเวลาเกิดเหตุคลื่นยักษ์เป็นช่วงที่แรงงานพม่านอนหลับอยู่ในเรือหลังจากเพิ่งกลับเข้าฝั่งในตอนเช้า นอกจากนี้ ยังมีแรงงานหญิงและเยาวชนพม่าซึ่งทำงานภาคบริการอยู่ตามร้านร้านค้าและร้านอาหารไม่ต่ำกว่า 50 ร้านในหมู่บ้านน้ำเค็มเสียชีวิตและสูญหายอีกเป็นจำนวนมาก

"ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ รัฐไม่มีความช่วยเหลือทางด้านสิทธิมนุษยธรรมเข้าไปถึงในกลุ่มแรงงานย้ายถิ่นเลย โดยมองว่า คนกลุ่มนี้เป็นผู้ก่ออาชญากรรมซ้ำเติมผู้ประสบภัย แต่จริง ๆ แล้ว แรงงานเหล่านี้ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้เช่นกัน" นางสาวปรานม กล่าว

โดยทรัพย์สินของแรงงานเองก็สูญหายไปกับเหตุการณ์นี้จำนวนไม่น้อย เมื่อแรงงานบางคนพยายามกลับไปตามหาทรัพย์สินของตนเอง กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับในข้อหาขโมยทรัพย์สินคนอื่น ซึ่งตามหลักกฎหมายแล้ว ถ้าเราจะยัดเยียดข้อหาความผิดให้กับใคร เราควรมีกระบวนการพิสูจน์ความผิดนั้นก่อน แต่สำหรับแรงงานพม่าแล้ว กลับไม่มีกระบวนการดังกล่าว และต้องกลายเป็นผู้ต้องหาโดยทันที

และเมื่อข่าวการจับกุมแรงงานพม่าเผยแพร่ออกไปทางสื่อมวลชน แรงงานกลุ่มนี้ก็ถูกมองว่าอาชญากรสังคม ไม่สมควรได้รับความช่วยเหลือ ทั้ง ๆ มีแรงงานจำนวนมากที่ไม่ได้ก่อเหตุดังกล่าว และรอคอยความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอยู่เช่นกัน อคติดังกล่าวทำให้แรงงานชาวพม่าต้องมีชีวิตอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ตัดขาดการให้ความช่วยเหลือ

แม้กระทั่งขณะนี้ มีองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่บริจาคอาหาร เสื้อผ้า ให้กับแรงงานพม่าได้ถูกข่มขู่จากคนในพื้นที่ให้ปิดสำนักงานเช่นกัน เนื่องจากถูกมองว่าให้ความช่วยเหลืออาชญากร

ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวถึงปัญหาแรงงานในกลุ่มที่จดทะเบียนว่า ตัวเลขแรงงานพม่าที่ขึ้นทะเบียนในจังหวัดพังงามีจำนวนประมาณ 30,000 คน โดยจำนวน 22,407 คน มีสิทธิตามกฎหมายที่สามารถอยู่อาศัยในประเทศไทยได้จนถึงกันยายน แต่เนื่องจากเอกสารของแรงงานส่วนใหญ่สูญหายไปพร้อมกับคลื่นยักษ์ และมีข่าวว่าแรงงานบางคนถูกจับกุมในข้อหาขโมยทรัพย์สิน รัฐบาลไทยจึงส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เข้าจับกุมและลงโทษแรงงานเหล่านี้ในฐานะแรงงานผิดกฎหมาย และดำเนินการส่งกลับประเทศพม่าในทันที

ล่าสุดเครือข่ายปฏิบัติการแรงงานข้ามชาติ ได้พยายามประสานงานกับกรมการจัดหางานในจังหวัดพังงาเพื่อขอความช่วยเหลือในเรื่องการพิสูจน์สิทธิแรงงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียน แต่ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่แต่อย่างใดเนื่องจากเจ้าหน้าที่กำลังรับมือกับปัญหาแรงงานไทย

"เราเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ยุ่งมาก เราไม่อยากวิจารณ์การทำงานของรัฐ แต่อยากขอความเห็นใจว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เป็นผู้ได้รับกระทบเช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวไทย รวมทั้งแรงงานเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเช่นกัน เราได้สร้างระบบการขึ้นทะเบียนแรงงานขึ้นมาแล้ว ทำไมเราไม่ใช้ระบบนั้นให้เป็นประโยชน์ในการพิสูจน์สถานภาพของคนเหล่านี้ และให้สิทธิในสิ่งที่พวกเขาควรจะได้รับ ไม่ใช่ซ้ำเติมชะตากรรมให้เลวร้ายไปกว่าเดิม" นางสาวปรานม กล่าว

ทั้งนี้ สิ่งที่เครือข่ายแรงงานฯ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ 1. ขอให้รัฐไทยชะลอการส่งกลับแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ โดยสร้างกลไกในการพิสูจน์สถานภาพแรงงานว่าแรงงานคนใดได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว โดยกระทรวงแรงงานควรเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ เพราะแรงงานส่วนใหญ่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงแรงงานเรียบร้อยแล้ว

2. หลังจากผ่านกระบวนการพิสูจน์สถานภาพแล้ว ควรตรวจสอบดูว่า แรงงานมีความต้องการอะไรบ้าง โดยขั้นแรกควรให้ความช่วยเหลือในด้านความจำเป็นพื้นฐานเฉกเช่นผู้ประสบภัยทุกคน และขั้นต่อไป สอบถามว่าแรงงานเหล่านี้ต้องการทำงานในเมืองไทยต่อไปหรือไม่ เพราะขณะนี้แรงงานมีความต้องการสองส่วน ส่วนหนึ่งต้องการกลับบ้านไปพักฟื้นสภาพจิตใจก่อนแล้วต้องการกลับมาทำงานใหม่ อีกส่วนหนึ่งต้องการทำงานในเมืองไทยต่อไปตามสิทธิที่ได้รับจากการขึ้นทะเบียนแรงงาน

3. จัดทำฐานข้อมูลว่าแรงงานที่ได้รับผลกระทบมีจำนวนเท่าใด เพื่อช่วยในการวางแผนจัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติต่อไป

และ 4.ทบทวนการสร้างความเข้าใจร่วมกันเรื่องคนย้ายถิ่น การอยู่ร่วมกันของชุมชนที่มีความหลากหลาย เพื่อไม่ให้แรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีสิทธิมีเสียงกลายเป็นผู้ร้ายของสังคมได้ง่าย

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท