ยุทธศาสตร์"สมช." แก้ปัญหา"คนไร้สัญชาติ"

ประชาไท-12 ม.ค.48 สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งนักวิชาการได้ยกร่าง "ยุทธศาสตร์การจัดการกลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ" หรือ "ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ" โดยมี นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบ

ร่าง ยุทธศาสตร์การจัดการกลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ
ยุทธศาสตร์การกำหนดสถานะ

1.ดำเนินการสำรวจ และจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร เพื่อให้ทราบที่มาและสถานะการดำรงอยู่ของกลุ่มนี้ให้ชัดเจนนำไปสู่การพิจารณากำหนดสถานะที่เหมาะสม

2.ปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณากลั่นกรองคำร้องขออนุมัติสถานะ โดยการลดกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาที่ซ้ำซ้อน รวมทั้งลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในขั้นตอนการพิจารณาเพื่อเร่งรัดขบวนการพิจารณาและสร้างความมั่นใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งเป็นการลดโอกาสใน การทุจริตของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

3.กรอบการพิจารณากำหนดสถานะให้แก่บุคคลที่มีปัญหาในเรื่องสถานะและสิทธิ ดังนี้

กรณีบุคคลที่มาจากภายนอกประเทศ

(1) ดำเนินการแปลงสัญชาติเป็นไทยให้แก่บุคคลที่มีเชื้อสายไทยที่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ โดยบุคคลนั้นต้องมีความประพฤติดี ประกอบอาชีพสุจริต

(2) บุตรของคนต่างด้าวตามข้อ (1) ที่ได้รับแปลงสัญชาติเป็นไทยให้ได้รับสัญชาติไทย หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้สืบสายโลหิตของบุคคลดังกล่าว

(3) ให้สถานะเป็นบุคคลต่างด้าวเข้าเมือง โดยชอบด้วยกฎหมายแก่บุคคลที่มีชื่ออยู่ในประเทศไทยติดต่อกันอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทาง หรือไม่มีจุดเกาะเกี่ยวใดๆ กับประเทศต้นทาง ทั้งนี้ บุคคลดังกล่าวต้องมีความประพฤติดี และ/หรือประกอบอาชีพสุจริ

(4) บุตรของคนต่างด้าวตามข้อ (3) ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยให้ได้รับสัญชาติไทย โดยมีหลักเกณฑ์ คือ มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย หรืออาศัยอยู่ในเขตควบคุม หรือมีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนของทางราชการ รวมทั้งมีทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวที่ทางราชการกำหนด

(5) กรณีกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 10 ปี และปัจจุบันไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัยหรือเหตุผลด้านมนุษยธรรมอื่นๆ ให้สามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยชั่วคราว โดยบุคคลดังกล่าวต้องไม่มีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ทั้งนี้ การผ่อนผันดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อจะประสานกับประเทศต้นทางในการพิสูจน์สถานะและรับกลับต่อไป

กรณีบุคคลที่ไม่ทราบแหล่งที่มา

(1) ให้บุคคลที่ขาดบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งตั้งแต่วัยเยาว์ได้รับสัญชาติไทย เมื่อมีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนของทางราชการและอาศัยอยู่ในประเทศไทยติดต่อกันอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ บุคคลดังกล่าวต้องมีความประพฤติดี และ/หรือประกอบอาชีพสุจริต

(2) สำหรับบุคคลที่ขาดบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งที่ได้รับสถานะเป็นบุตรบุญธรรมตามคำสั่งของศาลให้ได้รับสัญชาติไทย

กรณีบุคคลที่มีคุณประโยชน์แก่ประเทศ

ให้สัญชาติไทยแก่บุคคลที่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนของทางราชการ และอาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป โดยมีความประพฤติดี และ/หรือประกอบอาชีพสุจริต รวมทั้งได้ศึกษาอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาและมีผลงาน/ความรู้ ความเชี่ยวชาญที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ หรือเป็นบุคคลที่มีผลงาน/ความรู้ ความเชี่ยวชาญที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ

การกำหนดสถานะ

-ให้ใช้แนวทางการให้สถานะก่อนและดำเนินการถอนสถานะในภายหลัง หากมีพฤติกรรมเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติตามกฎหมายปกครอง

-กระจายอำนาจในการอนุมัติสถานะลงไปสู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อรองรับใน การดำเนินการต่อกลุ่มเป้าหมายที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

-เปิดโอกาสให้ภาควิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนการพิจารณาคำร้องขอสถานะอย่างเป็นระบบในรูปของคณะกรรมการที่มีผู้เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ

-สร้างความเข้าใจต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสังคมเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการดำเนินการต่อกลุ่มคนที่ไม่มีสถานะ เพื่อให้สามารถอาศัยอยู่ในสังคมไทยส่วนใหญ่ได้อย่างสมานฉันท์

ยุทธศาสตร์การให้สิทธิขั้นพื้นฐานแก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ

1.กรณีมีชื่ออยู่ในทะเบียนของทางราชการแต่ยังไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือคำร้องขอสถานะอยู่ระหว่างการพิจารณา หรือภาครัฐอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดนโยบาย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยดำเนินการเพื่อให้คนเหล่านี้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในส่วนของการรับบริการด้านสาธารณสุข และการเข้ารับการศึกษาโดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ สำหรับสิทธิในเรื่องอื่นๆ การทำงานการเดินทาง ให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็นและไม่กระทบต่อสถานภาพในการดำรงชีวิต

2.กรณีไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียน ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการสำรวจ จัดทำทะเบียนประวัติควบคุม โดยในเบื้องต้นสมควรให้สิทธิขั้นพื้นฐานเท่าที่จำเป็นตามหลักมนุษยธรรม อย่างไรก็ตาม ในภายหลังเมื่อคนกลุ่มนี้ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนแล้ว และตรวจพบว่ามีภูมิลำเนาที่ชัดเจนในประเทศต้นทางให้ดำเนินการส่งกลับ แต่ในกรณีไม่สามารถส่งกลับได้ หรืออยู่ระหว่างกระบวนการกำหนดสถานะหรืออยู่ระหว่างการประสานประเทศต้นทางเพื่อตรวจสอบสถานะและภูมิลำเนา ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้สิทธิขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกัน กรณี 1

ยุทธศาสตร์การป้องกันการอพยพเข้ามาใหม่ของกลุ่มคนที่ไม่มีสถานะในเชิงสร้างสรรค์

1.ให้ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการกำหนดกลไกการพัฒนา ความสัมพันธ์ร่วมกันในด้านต่างๆ ทั้งสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในภูมิภาค

2.เพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติและการควบคุมทางทะเบียน โดยเฉพาะการแจ้งเกิดและการย้ายถิ่นที่อยู่เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ตัวบุคคลและการกำหนดสถานะในอนาคต

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท