Skip to main content
sharethis

"เมื่อถูกกล่าวหาว่าเป็นคนต่างด้าว เป็นคนถ่วงความเจริญ... บางครั้งหนูก็พูดไม่ออก...แต่ว่าจะบอกตัวเองมาตลอดว่า เราต้องพิสูจน์ให้ได้ ว่าเราเป็นขยะของสังคมจริงหรือเปล่า เราต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เราเป็นต่างด้าวจริงไหม เราต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าหนูเป็นตัวถ่วงความเจริญจริงไหม หนูผิดใช่ไหม...หนูต้องพิสูจน์ให้ได้ ก็ทำให้เรามีแรงที่จะเดินต่อไป และต้องหาคำตอบ หรือต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้" มึดา เด็กหญิงไร้สัญชาติจาก อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เอ่ยออกมาด้วยสีหน้าครุ่นคิด

เรียนรู้ชีวิต ประสบการณ์ ในศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน

"มึดา นาวานาถ" ขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้ย้ายมาอยู่ที่ ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน โดยมี "พี่หลวง" สันติพงษ์ มูลฟอง เป็นผู้อำนวยการ และเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนสบเมยวิทยาคม จนปัจจุบันอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5

เธอบอกเล่าว่า…เมื่อมาอยู่ในศูนย์ฯ แห่งนี้ เธอได้ร่วมจัดเวทีเสวนา เกี่ยวกับปัญหาชาวเขา และแนวทางแก้ปัญหา โดยประสานงานร่วมกับองค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น เด็กเกิดมาต้องมีสัญชาติ เรื่องการมีส่วนร่วม การรักษาพยาบาล รวมไปถึงเรื่องกิจกรรมวันเด็ก

มึดา ยังบอกเราอีกว่า ขณะนี้ได้ขยายเครือข่ายไป จัดกิจกรรมกันที่ เชียงราย แม่อาย กรุงเทพฯ ทำให้สังคม หรือสาธารณชนรู้จักปัญหาเด็กไร้สัญชาติกันมากขึ้น รู้ความจริงว่า ทำไมถึงไร้สัญชาติ รู้ถึงความรู้สึกของคนไร้สัญชาติกันมากขึ้น หลังจากที่เรียกกันว่า คนต่างด้าว คนถ่วงความเจริญ

เมื่อถามเธอ เวลามีคนมาพูดว่าอย่างนี้ รู้สึกอย่างไร?

"พูดไม่ออก...แต่ว่าจะบอกตัวเองมาตลอดว่า เราต้องพิสูจน์ให้ได้ ว่าเราเป็นขยะของสังคมจริงหรือเปล่า เราต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เราเป็นต่างด้าวจริงไหม เราต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าหนูเป็นตัวถ่วงความเจริญจริงไหม หนูผิดใช่ไหม...หนูต้องพิสูจน์ให้ได้ ก็ทำให้เรามีแรงที่จะเดินต่อไป และต้องหาคำตอบ หรือต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้" มึดา เอ่ยออกมาด้วยสีหน้าครุ่นคิด

ปัจจุบัน ภายในศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน ยังใช้เป็นบ้านพักฉุกเฉิน เป็นศูนย์ที่รับเด็กที่เดือดร้อนจริงๆ เช่น เด็กกำพร้า ไม่มีพ่อแม่ เป็นเด็กที่เสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ เด็กถูกทารุณ ก็จะมาอยู่รวมกันที่นี่ ที่ผ่านมาก็รับเด็กติดเชื้อบ้าง ปัจจุบันไม่มีแล้ว รวมไปถึงเด็กที่อยู่ไกลจากโรงเรียน ก็จะมาพักที่นี่

"มีการแบ่งหน้าที่ ซึ่งภายในศูนย์นี้ จะมีชุมชนที่เรียกกันว่า "บ้านปั๋นฮัก" มีการเลือกผู้นำ และเขาให้หนูเป็น "กำนัน" มีหน้าที่ดูแลน้องๆ ดูแลเรื่องการใช้จ่าย ทำกับข้าว ในแต่ละวันก็จะแบ่งหน้าที่กันว่า วันนี้จะทำอะไร วันนี้จะกินอะไร และในขณะนี้ กำลังจัดตั้งกองทุนข้าวสาร ในส่วนอาหารนั้น ถ้าเป็นหน้าฝนก็จะหาง่ายหน่อย จำพวกหน่อไม้ เห็ด ผัก แต่ก็มีการปลูกพืชผักสวนครัว อีกส่วนหนึ่งได้จากผู้ปกครองจัดส่งมาให้

เมื่อเราถามถึงความรู้สึกเกี่ยวกับ นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน

"หนูคิดว่า ถ้าไม่มีเขา หนูคงไม่มีวันนี้ ถ้าหากว่าหนูไม่ได้เรียนหนังสือ หนูคิดว่าคงจะแต่งงานไปแล้ว คือส่วนใหญ่จริงๆ เพื่อนๆ รุ่นเดียวกันตอนนี้แต่งงาน มีลูกกันไปหมดแล้ว แต่ตอนนี้หนูคิดอยู่อย่างเดียว คือ ตั้งเป้าความฝันให้สำเร็จ คือ ต้องเป็นนักกฎหมาย แม้ว่าเมื่อมาเรียนในมหาวิทยาลัย แล้วจะต้องเจอกับปัญหา แต่หนูคิดว่า ปัญหาข้างหน้าค่อยว่ากันทีหลัง มาอย่างไรแล้วก็ค่อยๆ แก้ไป ไม่ใช่ว่า คิดคาดการณ์ไว้ก่อนอย่างนั้นอย่างนี้ หนูคิดว่า ถ้าคิดกันอย่างนี้ ก็คงอยู่ที่เดิม คงไม่ก้าวออกมาอย่างนี้" มึดา บอกเล่าถึงความรู้สึก

เธอยังบอกว่า ทุกวันนี้ยังมีความหวังว่าจะได้สัญชาติไทย และภูมิใจนะที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย และบางครั้งก็รู้สึกว่าการได้เกิดเป็นคนไร้สัญชาติ ได้สอนให้เธอรู้จักชีวิตมากขึ้น

"เป็นเด็กไร้สัญชาติ นั้นได้สอนหนูหลายๆ อย่าง ทำให้หนูได้สามารถถ่ายทอดประสบการณ์ ทำให้หลายๆ คนมาต่อสู้กับชีวิต ทำให้เราได้เข้าไปสัมผัสและถ่ายทอดออกมาว่า จริงๆ แล้ว หลายคมเจอ ปัญหามันหนักกว่านี้อีกเยอะ ไม่ใช่แค่มีเราคนเดียวในโลกนี้ และทำให้เราสู้ต่อไป แม้ว่าเพื่อนๆ บางคนบอกว่า...เออ อยากเป็นเด็กไร้สัญชาติจังเลยเนาะ ได้ไปที่ไหนก็ไป คือ ถ้าหากไม่ได้เป็นเด็กไร้สัญชาติ หนูคิดว่าอาจจะเป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่ง ที่อยู่ไปวันๆ ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีสิ่งที่จะต่อสู้กับชีวิต อาจจะเป็นคนที่ล้มเหลวไปแล้วก็ได้ ไม่มีกำลังใจ ไม่มีแรงกายที่จะต่อสู้กับปัญหาต่างๆ หนูคิดว่า ปัญหาต่างๆ ที่เจอ ทำให้หนูเข้มแข็งมาจนถึงทุกวันนี้ได้" มึดา บอกกับเรา

เมื่อเราถามว่า...มีอะไรจะฝากบอกถึงนายกรัฐมนตรี หลังจากที่ไม่มีโอกาสพบตัว

เธอบอกว่า...อยากให้นายกฯ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีอำนาจในด้านนี้ อยากให้มาสนใจปัญหากันบ้าง เพราะว่าปัจจุบันถูกมองว่า ปัญหาเรื่องสัญชาติเป็นเรื่องเล็ก เป็นเรื่องของคนกลุ่มๆ หนึ่ง ไม่เกี่ยวกับเขา ไม่ใช่ประชากรของเขา เลยไม่สนใจ คืออยากให้เข้ามาสู่คนรากหญ้าจริงๆ อยากให้เขามาสู่ประชาชนที่ประสบกับปัญหาจริงๆ ว่าในหมู่บ้านนั้นมีอะไร อะไรอยู่ในนั้น เราน่าจะมาเปิดอกคุยกัน ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ แล้วต่อไปละคะ ต่อไปอนาคตข้างหน้าเด็กไทยจะเป็นอย่างไร ปัญหาก็จะเยอะขึ้น และปัญหาก็จะแก้ได้ไม่ทัน

ปัจจุบัน อยากให้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่อยากให้แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ อย่างเช่น การผลักดันคนออกไปนอกประเทศ ซึ่งไม่ใช่แก่นปัญหาจริงๆ ที่ผ่านมา เป็นนโยบายสั่งการลงมา แต่คนข้างล่างเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปฏิบัติ แต่ไม่ได้ติดตามว่า ได้ทำจริงหรือไม่ อยากจะให้เน้นทางด้านการปฏิบัติให้ได้มากที่สุด

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net